อัยการโคลอมเบียจะดำเนินคดีกับอดีตนายพลที่เกี่ยวข้องกับเหตุสังหารพลเรือน

อดีตผู้บัญชาการทหารระดับสูงของโคลอมเบีย มาริโอ มอนโตยา อูริเบ มีโอกาสถูกดำเนินคดีจากกรณีการเอื้อให้เกิดการสังหารพลเรือนชาวโคลอมเบียจำนวนมาก โดยอ้างว่าพวกเขาเป็นกลุ่มติดอาวุธเพื่อหาผลประโยชน์จากการทำยอดสังหารกลุ่มกบฏในช่วงปี 2545-2551

สำนักงานอัยการแห่งรัฐของโคลอมเบียระบุว่าจะมีการดำเนินคดีกับอดีตนายพลผู้บัญชาการทหาร  พล.อ.มาริโอ มอนโตยา อูริเบ ในข้อหาวิสามัญฆาตกรรม 104 ศพ ซึ่งเป็นเรื่องอื้อฉาวที่ถูกตั้งชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ "ผลบวกลวง"

พล.อ.มาริโอ มอนโตยา อูริเบ (ที่มา: แฟ้มภาพ/Wikipedia)

เหตุการณ์ "ผลบวกลวง" ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในสมัยระหว่างปี 2545-2551 ซึ่งเป็นช่วงที่อัลวาโร อูริเบ เป็นประธานาธิบดี ในตอนนั้นกองกำลังได้สังหารพลเรือนทั่วไปแล้วแปะป้ายให้ว่าพลเมืองเหล่านั้นเป็นกลุ่มกบฏติดอาวุธที่ถูกสังหารในสงครามซึ่งทหารเหล่านั้นทำไปเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์จากกองทัพ

คำว่า "ผลบวกลวง" (False Positive) เป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่ระบุถึงการตรวจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตรวจโรคหรือตรวจทางการแพทย์อื่นๆ เช่นการตั้งครรภ์แล้วพบว่าผลเป็นบวกหรือพบว่ามีโรคหรือมีภาวะต่างๆ แต่ในความเป็นจริงผู้คนไม่ได้เป็นโรคหรือมีภาวะต่างๆ เหล่านั้นจริง ซึ่งหมายถึงเครื่องมือหรือการตรวจวัดผลผิดพลาด แต่การนำมาตั้งฉายาให้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในโคลอมเบียช่วงสมัยอูริเบนั้นสะท้อนให้เห็นว่าคนของกองทัพอ้างแปะป้ายประชาชนว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธทั้งที่ประชาชนเหล่านั้นเป็นแค่พลเรือนทั่วไป แต่กลับต้องมาเสียชีวิตเพราะการแปะป้ายตบตา

ศาลยุติธรรมการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง (JEP) เปิดเผยว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นมีประชาชนอย่างน้อย 6,402 ราย ที่ถูกสังหาร แต่ก็มีกลุ่มของเหยื่อบางคนที่ระบุว่าตัวเลขจริงอาจจะมากกว่านี้

ในปัจจุบันมอนโตยา อูริเบ เกษียณอายุแล้ว มีดำเนินคดีเขาในข้อกล่าวหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงระหว่างเดือน พ.ย. 2550 ถึง พ.ย. 2551 ที่มีการสังหารผู้คนรวม 104 รายมีเด็กเสียชีวิตอย่างน้อย 5 ราย

ถึงแม้ว่าจะมีคำสั่งจากกระทรวงกลาโหมและจากกองทัพให้มีการเน้นการจับกุมแทนการสังหาร แต่มอนโตยาก็ไม่ได้ถ่ายทอดคำสั่งนี้ต่อเพื่อที่เขาจะได้รับผลประโยชน์เป็นรางวัลจากกองทัพที่มอบให้กับตัวเลขการเสียชีวิตของฝ่ายตรงข้ามของการสู้รบ การที่เขาไม่ถ่ายทอดคำสั่งต่อนี้เองที่ทำให้มอนโตยาจะถูกดำเนินคดีฆาตกรรรมระดับรุนแรง (aggravated homicide) หลายกระทง

เอกสารสำนักงานอัยการระบุว่า มอนโตยาในตอนนั้นยังคงมีการประเมินผลผู้บัญชาการต่างๆ จากตัวเลขของเหยื่อที่พวกเขาอ้างว่าเป็น "การเสียชีวิตจากการสู้รบ" ต่อไป นอกจากนี้มอนโตยายังคงเดินหน้ากดดันเหล่าผู้บัญชาการทหารในประเทศให้ปฏิบัติตามนโยบายที่ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ของปฏิบัติการโดยอาศัยแต่เพียงตัวเลขการเสียชีวิตที่พวกเขาอ้างว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามที่ "เสียชีวิตจากการสู้รบ" เป็นเครื่องมือชี้วัดอย่างเดียวเท่านั้น

ก่อนหน้ามอนโตยาเคยปฏิเสธว่าตัวเองไม่ก่ออาชญากรรมเหล่านี้ ขณะที่ทนายความของมอนโตยา แอนเดรส การ์ซอน กล่าวต่อสื่อในโคลอมเบียว่าคดีนี้ยังคงอยู่ภายใต้การสืบสวนจากศาลยุติธรรมการเปลี่ยนผ่านจึงยังไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของสำนักงานอัยการแห่งรัฐ

มอนโตยายังลงลอยนวลอยู่ในตอนนั้น เขาเคยเป็นผู้บัญชาการระดับสูงระหว่างปี 2549-2551 จนกระทั่งในปี 2561 เขาก็มอบตัวกับศาลยุติธรรมการเปลี่ยนผ่าน

มีเจ้าหน้าที่ทหารหลายนายที่ถูกจับกุมตัวและถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาเกี่ยวข้องกับการสังหาร มีบางส่วนที่ปรากฏตัวเพื่อให้การต่อศาลทำให้พวกเขาได้รับการตัดสินโทษที่เบากว่าภายใต้ระบบยุติธรรมปัจจุบัน

ศาลยุติธรรมการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหรือ JEP มีการก่อตั้งขึ้นในโคลอมเบียภายใต้ข้อตกลงสันติภาพปี 2559 เพื่อลงโทษอดีตสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ FARC และกลุ่มผู้นำกองทัพรัฐบาลโคลอมเบียที่เคยก่ออาชญากรรมสงครามมาก่อน

ภายใต้ระบบกระบวนการยุติธรรมทั่วไปของโคลัมเบียมอนโตยาอาจจะได้รับการลงโทษจำคุก 50 ปี ถ้าหากมีการตัดสินว่ามีความผิด แต่ภายใต้ระบบศาล JEP เขาอาจจะได้รับการลงโทษคุมขังระหว่าง 5-8 ปี และอาจจะไม่ต้องรับโทษคุมขังในเรือนจำ

เรียบเรียงจาก

Colombia ex-army chief will be charged over extra judicial killings, IOL, 02-08-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท