Skip to main content
sharethis

ตำรวจอเมริกันที่ปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ (Capital Hill) เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ฆ่าตัวรายเป็นรายที่ 3 ขณะที่ตำรวจอีก 4 นายซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในวันนั้นขึ้นให้การในการไต่สวนชั้นคณะกรรมาธิการชั้น ส.ส. เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมาในฐานะพยานผู้เห็นเหตุการณ์ โดยคณะกรรมาธิการฯ ให้คำมั่นว่าจะสอบสวนเรื่องราวทั้งหมดอย่างตรงไปตรงมา ด้านกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เผยแจ้งความเอาผิดผู้ก่อเหตุเบื้องต้นแล้ว 550 ราย

3 ส.ค. 2564 สำนักข่าว CNN รายงานว่าหนึ่งในตำรวจที่รับผิดชอบเหตุการณ์การจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ (Capitol Hill) เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 เสียชีวิตแล้วจากการฆ่าตัวตาย โดยตำรวจนายนี้ถือเป็นตำรวจรายที่ 3 ที่ฆ่าตัวตายหลังจากเกิดเหตุดังกล่าว

คริสเตน เมตซ์เกอร์ โฆษกกรมตำรวจนครบาล (MPD) แถลงว่า กันเธอร์ ฮาชิดะ (Gunther Hashida) ตำรวจที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในทีมจู่โจมเร่งด่วน ภายใต้การบังคับการของแผนกปฏิบัติการพิเศษ ได้เสียชีวิตลงแล้ว โดยพบเป็นศพในบ้านพักส่วนตัว เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา

“เราในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อการจากไปของฮาชิดะ เราจะรำลึกถึงฮาชิดะและสวดภาวนาไปพร้อมๆ กับครอบครัวและเพื่อนๆ ของเขา” เมตซ์เกอร์กล่าว

ฮาชิดะรับราชการตำรวจในสังกัดกรมตำรวจนครบาลมาตั้งแต่ พ.ศ.2546 และเป็นตำรวจนายที่ 3 ที่ฆ่าตัวตายหลังจากปฏิบัติภารกิจปราบการจลาจลในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยตำรวจ 2 รายแรกที่ฆ่าตัวตายก่อนหน้านี้ คือ เจฟฟรีย์ สมิท ตำรวจนครบาลที่รับราชการมานานถึง 12 ปี และโฮเวิร์ด ลีเบนกูด ตำรวจประจำรัฐสภา (USCP) ที่รับราชการนานกว่า 16 ปี อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับล่าสุดของวุฒิสภาสหรัฐฯ กลับระบุว่าสมิทและลีเบนกูดเสียชีวิตหลังจากปฏิบัติหน้าที่ที่อาคารรัฐสภา

นอกจากตำรวจทั้ง 3 นายที่เสียชีวิตจากฆ่าตัวตาย ยังมีตำรวจอีกหนึ่งนายที่เสียชีวิตภายใน 1 วันหลังเสร็จสิ้นภารกิจปราบการจลาจลที่อาคารรัฐสภา นั่นคือ ไบรอัน ดี ซิกนิก ตำรวจประจำรัฐสภาที่เสียชีวิตจากอาการเส้นเลือดอุดตันเฉียบพลัน โดยหัวหน้าตำรวจนิติเวชแห่งกรุงวอชิงตันดีซีระบุในผลการชันสูตรศพเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาว่าเป็นการตายจากสาเหตุธรรมชาติ

CNN รายงานเพิ่มเติมโดยอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DOJ) ซึ่งระบุว่ามีประชาชนมากกว่า 550 คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจลาจลที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 และนำมาสู่การไต่สวนมูลเหตุคดีครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา

การไต่สวนคดีที่อเมริกันชนและทั่วโลกจับตามอง

แฮร์รี ดันน์ หนึ่งในตำรวจประจำรัฐสภาผู้ปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าว ให้การเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมากับคณะกรรมาธิการไต่สวนในชั้นรัฐสภาในฐานะพยานผู้เห็นเหตุการณ์ โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายที่ปฏิบัติหน้าที่ปกป้องอาคารรัฐสภาสามารถเข้ารับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญหรือนักบำบัดได้ หากพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ

“ผมอยากใช้ช่วงเวลานี้เพื่อบอกกับเพื่อนตำรวจทุกนายเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกที่พวกเขากำลังเผชิญ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในวันที่ 6 ม.ค. ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าพวกคุณอยากเข้ารับคำปรึกษา ไปพูดคุยกับนักบำบัด สิ่งที่เราเจอในวันนั้นแผลที่ทำให้จิตใจเราบอบช้ำ และถ้าคุณรู้สึกเจ็บปวด โปรดเข้ารับบริการให้คำปรึกษาซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐจัดให้สำหรับเรา” ดันน์กล่าว

ด้าน อาควิลิโน โกเนลล์ ตำรวจรัฐสภาอีกนายที่ขึ้นให้การในวันเดียวกันเล่าถึงเหตุการณ์จลาจลที่อาคารรัฐสภา พร้อมกล่าวถึงผลกระทบที่มีต่อเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย “สำหรับคนส่วนใหญ่ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ม.ค. นั้นเกิดขึ้นแค่ไม่กี่ชั่วโมง แต่สำหรับเรา คนที่ติดอยู่ในนั้น [เหตุการณ์]ยังไม่จบ”

ภาพเหตุการณ์จลาจลเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 บริเวณหน้ารัฐสภาสหรัฐฯ
(ภาพโดย Blink O'fanaye)
 

คณะกรรมาธิการไต่สวนในชั้นรัฐสภาครั้งนี้ มีทั้ง 9 คน นำโดย ส.ส. จากพรรคเดโมแครต 7 คน และ ส.ส. จากพรรครีพับลิกันอีก 2 คน ได้แก่ ลิซ เชนีย์ และอดัม คินซิงเกอร์ ซึ่งเป็น 2 ใน 8 คนจากพรรครีพับลิกันที่ยกมือโหวตเห็นชอบกับการถอดถอนโดนัลด์ ทรัมป์ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี โดยทั้ง 9 คนนี้ได้รับการคัดเลือกและรับรองโดยแนนซี เพโลซี ประธานสภาคองเกรสของสหรัฐฯ

ไมเคิล ฟาโนน ตำรวจนครบาลอีกนายที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าวให้การในชั้นคณะกรรมาธิการฯ ว่าเขาได้รับคำสั่งให้เข้าไปช่วยเหลือตำรวจประจำรัฐสภา ฟาโนนบอกว่าจุดมุ่งหมายของเขาคืออาคารรัฐสภาด้านหน้าฝั่งตะวันตก ซึ่งมีผู้ชุมนุมหลายพันคนกำลังปะทะกับเจ้าหน้าที่อยู่ ซึ่งเขาอธิบายภาพเหตุการณ์ขณะนั้นว่า ‘ไม่มีอะไรเลยนอกจากความรุนแรง’ พร้อมระบุว่าการฝ่าผู้ชุมนุมเพื่อเข้าไปปกป้อง ส.ส. ที่เอาแต่ปฏิเสธที่จะพูดถึงเหตุการณ์ในวันนั้น ทำให้เขารู้สึกเหมือนตกนรก

“ความเพิกเฉยที่[ส.ส.]แสดงออกต่อเพื่อนร่วมงานของผมนั้นช่างน่าอัปยศอย่างยิ่ง” ฟาโนนกล่าวพร้อมทุบโต๊ะ ก่อนจะบอกว่าบรรดา ส.ส. ที่เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ในวันนั้น และเอาแต่ปฏิเสธว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นกลุ่มคนทรยศที่กลืนน้ำลายตัวเอง ลืมคำสาบานที่เคยให้สัตย์ไว้ก่อนเข้ารับตำแหน่ง

ขณะที่แดเนียล ฮอดเจส ตำรวจนครบาลอีกนายที่ขึ้นให้การ อธิบายต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่าทำไมเขาถึงเรียกผู้ชุมนุมว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ โดยฮอดเจสอ้างว่าเขายึดตามหลักประมวลกฎหมายการก่อการร้ายภายในประเทศ พร้อมชี้แจงเพิ่มเติมว่าเขารู้สึกสับสนอย่างมาก เพราะผู้ชุมนุมไม่ฟังคำสั่งแต่กลับยั่วยุเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เขายังเห็นผู้ชุมนุมบางส่วนถือ ‘ธงชาติแถบน้ำเงิน (Thin Blue Line Flag)’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้สนับสนุนและให้กำลังใจตำรวจซึ่งเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ แต่ในขณะเดียวกัน ธงดังกล่าวก็เป็นสัญลักษลักษณ์ของขบวนการสนับสนุนการเหยียดเชื้อชาติสีผิว รวมถึงสนับสนุนลัทธิเชิดชูคนผิวขาว (White Supremacy) โดยธงดังกล่าวถูกแบนแล้วให้หลายรัฐของสหรัฐฯ

ธงชาติแถบน้ำเงิน (Thin Blue Line Flag)
ที่มา Wikipedia
 

ดันน์ให้การเพิ่มเติมว่าหนึ่งในผู้ชุมนุมตะโกนด่าทอเขาด้วยคำหยาบคายและคำต้องห้าม เช่น การใช้ N-words เรียกเขา โดยดันน์บอกว่าไม่เคยมีใครเรียกเขาด้วยคำหยาบคายเช่นนี้ในระหว่างที่เขาปฏิบัติหน้าที่และสวมชุดเครื่องแบบตำรวจชัดเจน นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ถามเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 4 นายว่าในวันนั้น พวกเขาปกป้องสิ่งใดอยู่ ซึ่งฮอดเจสตอบว่า ‘ประชาธิปไตย’

“ผมทำไปเพื่อประชาธิปไตย เพื่อชายและหญิงที่ปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. และ ส.ว. ทำเพื่อกันและกัน ทำเพื่ออนาคตของประเทศ” ฮอดเจสกล่าว

เจมี่ แรสกิน ส.ส.จากพรรคเดโมแครตบอกกับฮอดเจสว่าเขาและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ คือ “ฮีโร่ของอเมริกันชนทั้งปวง” พร้อมบอกว่ากลุ่มคนที่โจมตีและคำร้ายเขาคือกลุ่มกบฎนิยมฟาสซิสต์ และกลุ่มคนเหล่านั้นจะถูกจดจำไว้ตลอดกาลว่าเป็นกลุ่มกบฎนิยมฟาสต์ซิสต์

คณะกรรมาธิการฯ สอบถามตำรวจทั้ง 4 นายต่อว่าต้องการจะจะให้คณะกรรมาธิการฯ เปิดการไต่สวนในเรื่องใดอีก ซึ่งฟาโดนตอบว่าแคมเปญ ‘หยุดขโมย (Stop the Steal)’ ของทรัมป์ ซึ่งนำมาสู่เหตุการณ์จลาจลในที่สุด พร้อมบอกว่าอีกสิ่งหนึ่งที่เขาต้องการเห็น คือ การสอบสวนเพิ่มเติมว่าสมาชิกสภาคองเกรสมีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการจลาจลในวันนั้นหรือไม่ ขณะที่ฮอดเจสหวังว่าการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะต้องไม่มีผู้มีอำนาจหรือมือที่มองไม่เห็นเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด ด้านดันน์กล่าวในทำนองเดียวกันว่าเขาต้องการเห็นตัวผู้กระทำความผิดจากการไต่สวนครั้งนี้

“ถ้ามือปืนถูกจ้างมาเพื่อฆ่าใครสักคน มือปืนก็ต้องเข้าคุก แต่ไม่ใช่แค่มือปืนเท่านั้นที่ต้องเข้าคุก ผู้ว่าจ้างก็ต้องโดนด้วย ผมอยากให้คุณเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง” ดันน์กล่าว

คณะกรรมาธิการฯ มุ่งหาต้นตอของ ‘การโกหกคำโต’ ที่นำมาสู่เหตุจลาจล

เบนนี ทอมป์สัน ส.ส.พรรคเดโมแครตจากรัฐมิสซูรี และประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวในถ้อยแถลงเปิดการไต่สวนว่าเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยและตำหนิกลุ่มคนที่เพิกเฉยต่อความสำคัญของเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมระบุว่าผู้ก่อการจลาจลถูกขับเคลื่อนโดย “การโกหกคำโต” เกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะต้องสืบสาวราวเรื่องเพื่อหาสาเหตุของการจลาจล และฟื้นฟูความเสียหายทั้งหมดที่เกิดจากเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาให้จงได้

ด้าน ลิซ เชนีย์ ส.ส.จากพรรครีพับลิกันซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการฯ เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการกระทำและการเคลื่อนไหวของทรัมป์ในวันที่ 6 ม.ค. 2564 อย่างละเอียด ขณะที่อดัม คินซิงเกอร์ ส.ส.รีพับรีกันอีกคนกล่าวว่าเหตุการณ์จลาจลที่อาคารรัฐสภาเทียบไม่ได้กับการชุมนุม Black Lives Matter เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันผิวดำที่เสียชีวิตจากการที่ตำรวจใช้กำลังเข้าจับกุม

“การละเมิดกฎหมายกับการปฏิเสธหลักนิติธรรมแห่งกฎหมายนั้นแตกต่างกัน การก่ออาชญากรรมหรืออาชญากรรมร้ายแรง กับการก่อรัฐประหารนั้นก็แตกต่างกัน ประชาธิปไตยไม่ได้นิยามขึ้นในวันที่เลวร้ายของพวกเรา แต่พวกเราถูกนิยามขึ้นจากการลุกขึ้นยืนอีกครั้งหลังผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้าย” คินซิงเกอร์กล่าว พร้อมระบุว่าสมาชิกพรรครีพับลิกันหลายคนมองว่าเหตุการณ์นี้เป็นเพียงการต่อสู้ระหว่าง 2 ขั้วการเมือง แต่จริงๆ แล้วมันคือยาพิษที่สร้างความสูญเสียให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและครอบครัว เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในรัฐสภา และชาวอเมริกันที่สมควรได้รับรู้ความจริง รวมถึงคนรุ่นก่อนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในสมรภูมิสงครามเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชในการปกครองตนเองของสหรัฐอเมริกา

“ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหยุดการกระทำอันโหดร้าย หยุดการสมคบคิดที่จุดไฟแห่งความรุนแรงที่สร้างความแยกแยกให้กับประเทศ และสำคัญที่สุด เราต้องต่อต้านคนที่เห็นด้วยกันเรื่องนี้” คินซิงเกอร์กล่าว

เรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net