กองทัพพม่าตั้งรัฐบาลรักษาการ มินอ่องหล่ายนั่งเก้าอี้นายกฯ จัดเลือกตั้งอีก 2 ปีข้างหน้า

ครบรอบ 6 เดือนรัฐประหารเมียนมา กองทัพพม่าตั้งรัฐบาลรักษาการ ‘มินอ่องหล่าย’ ตั้งตัวเองเป็นนายกฯ ลั่น จัดการเลือกตั้งอีก 2 ปีข้างหน้า ผู้สังเกตการณ์ชี้ไม่มีข้อไหนใน รธน.ให้ตั้งรัฐบาลรักษาการ-ทหารพม่าจิ้ม ‘วีระศักดิ์ ฟูตระกูล’ เป็นทูตพิเศษอาเซียน รับรองสัปดาห์นี้ 

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเมียนมา (ที่มา Khit Thit Media)
 

3 ส.ค. 64 สำนักข่าวท้องถิ่นเมียนมา รายงานเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 64 ครบรอบ 6 เดือน กองทัพพม่าทำรัฐประหาร พลเอก (พล.อ.) อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลรักษาการ หลังออกมากล่าวแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ให้คำมั่นจะจัดการเลือกตั้งอีก 2 ปีข้างหน้า 

เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ในช่วงระหว่างอ่านแถลงการณ์ผ่านช่องโทรทัศน์ของทางการ มินอ่องหล่ายไม่มีการเอ่ยถึงการได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หรือตำแหน่งคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลรักษาการแต่อย่างใด  

แต่ในวันเดียวกัน สื่อโทรทัศน์ของทางการพม่า มีการประกาศต่อว่า มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีตำแหน่งต่างๆ ในคณะรัฐบาล (ครม.) รักษาการ ซึ่งมีมินอ่องหล่าย นั่งเก้าอี้นายกฯ และรองนายกฯ คือนายพลโซวิน ซึ่งเป็นเบอร์ 2 ของกองทัพพม่า นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในระดับรัฐ และในระดับภูมิภาค 

ทั้งนี้ การแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่ในแต่ละรัฐ และภูมิภาค ประกอบด้วย หัวหน้ารัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง รัฐมนตรี 6 ตำแหน่ง และอัยการสูงสุด 1 ตำแหน่ง 

นครย่างกุ้ง และนครมัณฑะเลย์ สองเมืองที่ใหญ่ที่สุดในเมียนมา จะมีรัฐมนตรีในรัฐบาลระดับภูมิภาค ตามลำดับ โดยมีนายกเทศบาลทำหน้าที่รักษาการรัฐมนตรี

เผด็จการทหารแต่งตั้งเจ้าหน้าที่กองทัพยศพันเอก ทำหน้าที่เป็นหัวหน้ากระทรวงกิจการความมั่นคงและชายแดนในแต่ละรัฐและภูมิภาค ขณะที่ ตำรวจยศพันตำรวจเอก จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม

ในถ้อยแถลงของมินอ่องหล่าย อ้างว่า การจัดการเลือกตั้งใหม่จะเป็นตามรัฐธรรมนูญปี 2008 (พ.ศ. 2551) 

มินอ่องหล่าย กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญอนุญาตให้มีประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี และต่ออายุได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน ซึ่งกองทัพประกาศใช้เมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกของการทำรัฐประหาร ส่วนกองทัพพม่าใช้เวลาอีก 6 เดือน เพื่อเตรียมการจัดเลือกตั้ง 

“สถานการณ์ฉุกเฉินจะเสร็จสิ้นในเดือน ส.ค. 2023 (พ.ศ. 2566)” มินอ่องหล่าย กล่าว

มินลวินอู ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์กับ RFA ระบุว่า ข้อกำหนดที่เพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นการ ‘ละเมิดรัฐธรรมนูญ’ 

"ไม่มีข้อกำหนดใดในรัฐธรรมนูญ (ค.ศ. 2008 หรือ พ.ศ. 2551) ที่อนุญาตให้มีการตั้งรัฐบาลรักษาการ" ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน กล่าว 

ในการแถลง มินอ่องหล่าย กล่าวหาพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ว่าทุจริตเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน พ.ย. 2563 จนทำให้เอ็นแอลดี มีชัยเหนือพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ของทหารพม่าไปอย่างถล่มถลาย 

ทั้งนี้ หลังทำรัฐประหาร ทหารพม่าเคยประกาศว่าจะกลับมาจัดการเลือกตั้งภายในปี พ.ศ. 2564 แต่จนตอนนี้ สิ่งที่ทหารพม่าทำมีเพียงยกเลิกผลการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วเท่านั้น 

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพที่กองทัพตั้งขึ้นมาเอง ประกาศให้ผลการเลือกตั้งทั่วไป 2020 ของพม่าเป็นโมฆะ 

คณะกรรมการฯ อ้างเหตุผลว่า ตรวจสอบแล้ว พบการทุจริตบัตรเลือกตั้งมากกว่า 11 ล้านใบ พร้อมกล่าวหาว่า พรรคเอ็นแอลดีละเมิดมาตรการคุมโรคโควิด-19 ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งฯ เพื่อพยายามรักษาอำนาจในฐานะพรรครัฐบาล ไปอีก 5 ปี  

ด้านผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งทั้งในและนอกประเทศไม่เห็นด้วยกับข้อกล่าวหาของกองทัพ และระบุว่า ผลการเลือกล่าสุดชอบธรรม และสะท้อนเสียงส่วนใหญ่ของชาวเมียนมา 

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์การเมืองพม่า มองถ้อยแถลงของกองทัพพม่าครั้งล่าสุด เป็นหลักฐานทั้งความอ่อนแอ และความมุ่งมั่นของกองทัพพม่าที่ต้องการรักษาอำนาจการเมือง 

เต่งอู รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม แห่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ระบุว่า เผด็จการทำแบบนี้ เพื่อหลอกคนในกองทัพด้วยกันเอง ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ 

“ประเทศกลายเป็นรัฐล้มเหลวแล้ว และกองทัพเองก็รู้สึกใจสลายเช่นกัน ดังนั้น เขาจึงหลอกคนในกองทัพ (เผด็จการ) ว่า มันไม่ใช่เรื่องของการเลือกตั้งอย่างแน่นอน แต่เพื่อให้กองทัพอยู่ในระเบียบ” 

นักสังเกตการณ์การเมืองพม่ามาอย่างยาวนาน ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ-นามสกุล เนื่องด้วยความกังวลด้านความปลอดภัย กล่าวว่า การแถลงของกองทัพในวันที่ 1 ส.ค. 64 และการประกาศตั้ง ครม. เป็นแผนของเผด็จการทหาร เพื่อให้ตัวเองสามารถอยู่ในอำนาจต่อเนื่องไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด 

“ค่อนข้างมั่นใจว่า เขาพยายามรักษาอำนาจในฐานะรัฐบาลระยะยาว” ผู้สังเกตการณ์ กล่าว 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พม่าอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลรักษาการ ย้อนไปเมื่อปี 1958 หรือ พ.ศ. 2501 อูนุ ในฐานะนายกรัฐมนตรีของพม่าในเวลานั้น เคยขอให้กองทัพนำโดยนายพล เนวิน ปกครองประเทศเป็นเวลา 2 ปี ช่วงวิกฤตการเมืองพม่า 

แม้ว่าเนวิน คืนอำนาจตามวาระที่ได้วางได้ แต่ต่อมา เขาทำรัฐประหารในปี 1962 หรือ พ.ศ. 2505 แผ้วถางพม่าไปสู่การปกครองภายใต้รัฐบาลทหารยาวนานถึงครึ่งศตวรรษ 

เผด็จการไม่พยายามชี้ให้เห็นถึงเหตุผลอันสมควรว่าทำไมรัฐบาลรักษาการถึงต้องอยู่บนรากฐานของรัฐธรรมนูญ แต่ในถ้อยแถลง มินอ่องหล่าย ย้ำว่า การทำรัฐประหารเป็นไปตามหลักรัฐธรรมนูญ และให้คำมั่นต่อการสร้างสหภาพตามระบอบประชาธิปไตย และสหพันธรัฐ

เขาระบุด้วยว่า สภาทหารจะทำงานร่วมกับคณะทูตพิเศษจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน 

“เมียนมาพร้อมจะทำงานร่วมกับอาเซียนตามกรอบการทำงานของอาเซียนแล้ว รวมถึงการเจรจาร่วมกับคณะทูตพิเศษในประเทศเมียนมา” ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่า กล่าว 

รอยเตอร์ รายงานว่า รัฐมนตรีต่างประเทศชาติสมาชิกอาเซียนมีแผนหารือสัปดาห์นี้ (2-6 ส.ค.) เพื่อตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่า จะมีคณะทูตคนไหนได้รับการแต่งตั้ง โดยมีภารกิจสำคัญเพื่อยุติความรุนแรงในเมียนมา และยกระดับการเจรจาระหว่างฝั่งเผด็จการ และขั้วตรงข้าม

เดิมทีคาดการณ์กันว่า ทูตพิเศษจะเดินทางเยือนเมียนมาในราวเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แต่จนถึงเมื่อเร็วๆ นี้ทางการเมียนมาก็ไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะตอบรับเรื่องนี้แต่อย่างใด การยอมรับทูตพิเศษให้เดินทางเข้าประเทศนี้ เป็นส่วนหนึ่งในความตกลง 5 ประการที่เมียนมารับปากไว้ในที่ประชุมอาเซียนนัดพิเศษ เมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการยุติความรุนแรงในทันทีและการยอมรับการให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมจากอาเซียน 

อ่องเมียวมิน รัฐมนตรีกระทรวงสิทธิมนุษยชน แห่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ กล่าวว่า อีกเหตุผลที่กองทัพเลือกเปลี่ยนตัวเองไปสู่การเป็นรัฐบาลพลเรือน เพื่อให้ตัวเองได้รับการยอมรับจากนานาชาติ พวกเขาต้องการยอมรับการยอมรับจากนานาชาติอย่างแท้จริง 

“แต่เขาประเมินค่าต่ำไปว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้า หรือชื่อเรียก จะไม่เปลี่ยนความคิดของประชาชน หรือมาตรการทางกฎหมายของนานาชาติได้” อ่องเมียวมิน กล่าวเพิ่ม 

ทั้งนี้ หลังกองทัพพม่าทำรัฐประหาร สถานการณ์ประเทศพม่าเดินเข้าสู่ความเป็นรัฐล้มเหลวเข้าไปทุกที ความสามัคคีภายในชาติแหลกสลาย ประชาชนจำนวนมากลุกฮือประท้วงต่อต้านทหารพม่าทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐทั้งแพทย์ และพยาบาล ก็ประท้วงหยุดทำงานให้รัฐ จนกว่ากองทัพจะคืนอำนาจให้ประชาชน

กลับกัน แม้จะเผชิญเสียงต่อต้านจำนวนมาก แต่รัฐบาลพม่ากลับตอบโต้ผู้เห็นต่างด้วยความรุนแรง รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP ระบุว่า หลังกองทัพพม่าทำรัฐประหารมา 6 เดือน มีประชาชนและผู้ประท้วงถูกจับกุมแล้วทั้งสิ้นอย่างต่ำ 5,474 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างต่ำ 945 ราย 

เศรษฐกิจประเทศพม่าถดถอยในทุกมิติ จำนวนประชากรพม่ามีแนวโน้มยากเพิ่มขึ้น ประมาณ 2 เท่าในปีนี้ อ้างอิงจากรายงานของธนาคารโลก

นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ หลายเดือนที่ผ่านมา พม่าต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสาม รายงานตัวเลขจากทางการล่าสุด (3 ส.ค.) เปิดเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม มีจำนวนทั้งสิ้น 306,354 ราย โดยในจำนวนนี้ มีผู้ป่วยใหม่ทั้งสิ้น 3,689 ราย ผู้เสียชีวิต 330 ราย (ผู้เสียชีวิตสะสม 10,061 ราย)  

มินอ่องหล่าย แถลงด้วยว่า วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นในพม่าตอนนี้ เป็นเพราะ ‘ผู้ก่อการร้าย’ พยายามต่อต้านการปกครองของทหาร

“การประท้วงทั่วประเทศหลัง 1 ก.พ. ตอนนี้กลายสภาพเป็นพวกอนาคิสต์ และจากนั้น การความขัดแย้งด้วยอาวุธ” มินอ่องหล่าย กล่าวเพิ่ม  

เลือก “วีระศักดิ์ ฟูตระกูล” เป็นทูตพิเศษอาเซียน รับรองสัปดาห์นี้ 

สำนักข่าวมติชน อ้างรายงานสำนักข่าวรอยเตอร์ และสำนักข่าวเกียวโด เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 64 ระบุว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐประหารเมียนมา แถลงทางโทรทัศน์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมนี้เว่า รัฐบาลทหารเมียนมาพร้อมให้การต้อนรับ ทูตพิเศษของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่จะเดินทางเข้าประเทศเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการหารือกับทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกจากวิกฤตการณ์ในเมียนมาโดยสันติ

วีระศักดิ์ ฟูตระกูล สมาชิกวุฒิสภา (ที่มา เพจเฟซบุ๊ก กระทรวงการต่างประเทศ Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand)
 

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ยังประกาศให้สัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้ง “แบบหลายพรรคการเมืองที่เป็นเสรีและยุติธรรม” อย่างช้าที่สุดในเดือนสิงหาคม 2023 หลังจากที่การประกาศภาวะฉุกเฉิน 2 ปีหมดอายุลง

ทั้งนี้ เกียวโด รายงานด้วยว่า ผู้นำสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ของคณะรัฐประหาร ระบุว่า ทางอาเซียนได้เสนอชื่อผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นทูตพิเศษ 3 คนให้กับทางการเมียนมาพิจารณาแล้ว และรัฐบาลพม่าเลือกนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เคยเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำเมียนมามาแล้ว และขณะนี้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาของไทยให้ทำหน้าที่ทูตพิเศษดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกตัวผู้ทำหน้าที่ทูตพิเศษดังกล่าวจะมีการรับรองอย่างเป็นทางการในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่จะมีขึ้นแบบทางไกลเสมือนจริงระหว่างวันที่ 2-6 สิงหาคมนี้
 

แปลและเรียบเรียง

Myanmar Junta Chief Takes on ‘Caretaker’ Government PM Role, Raising Constitutional Questions

Myanmar junta chief named head of ‘caretaker government’, pledges election in two years

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท