Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 วันนี้ (3 สิงหาคม 2564) เป็นวันครบรอบ 11 ปี การประกาศมติ ครม. ว่าด้วยการคุ้มครองวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตั้งประกาศจนถึงวันนี้ พูดได้เลยว่า 11 ปีผ่านไป คุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโดยรวม แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แนวปฏิบัติต่างๆ ที่ออกแบบไว้ให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจปฏิบัติตาม ก็ไม่เคยถูกหยิบยกมาทำตาม เช่น การรับรองสิทธิในที่ดิน, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, การศึกษา ปัญหานี้ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเท่านั้นที่ประสบปัญหา แต่รวมถึงทุกกลุ่ม แม้กระทั่งกลุ่มคนชายขอบของพื้นราบด้วย

แนวคิดของมติ ครม.ฉบับนี้คือ ต้องการสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ในการส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย โดยเริ่มต้นผลักดันให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการ ออกมติ ครม. สำหรับกลุ่มกะเหรียง เพื่อเป็นการนำร่องไปก่อน แล้วค่อยผลักดันยกระดับให้เป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมทุกกลุ่มชาติพันธุ์

แม้ว่าที่ผ่านมาผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายชาวบ้าน และชุมชนนำร่อง พยายามผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคารพสิทธิของชาวบ้านที่ถูกเขียนไว้ และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ โดยเฉพาะเรื่องที่ดินและสัญชาติ ซึ่งผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในคนที่พยายามผลักดันระดับพื้นที่ต่อเนื่องมาหลายปี แต่พบว่าหน่วยงานต่างๆ ไม่เคารพและปฏิบัติมติ ครม. ฉบับนี้ พวกเขายังคงบังคับใช้กฎหมายเดิมที่มีเนื้อหาขัดแย้งกับมติ ครม.นี้ และละเมิดสิทธิของชาวกะเหรี่ยงอย่างต่อเนื่อง 

กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบในสังคมที่มีประสิทธิภาพนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นภายใต้ระบบการปกครองที่ผู้มีอำนาจเป็นเผด็จการ ไม่ว่าใครจะขึ้นเป็นผู้อำนาจ พวกเขาย่อมใช้อำนาจนั้นกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของคนที่ทำให้เขามีส่วนได้เสีย ในกรณีนี้ หากผู้มีอำนาจขึ้นมาจากการเลือกหรือสนับสนุนของนายทุนหรือชนชั้นนำ พวกเขาย่อมใช้อำนาจนั้นเพื่อนายทุนหรือชนชั้นนำเป็นหลัก ในทางตรงกันข้าม หากผู้มีอำนาจขึ้นมาจากการเลือกของประชาชน พวกเขาย่อมใช้อำนาจเพื่อสนองต่อความต้องการของประชาชน หรืออย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็จะฟังเสียงของประชาชน   

มติ ครม. นี้ เกิดขึ้นช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แม้รัฐบาลจะได้ออกมติ ครม. นี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิในวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านได้รับสิทธิ์นั้นจริงๆ และรัฐบาลก็ไม่ได้พยายามทำให้เกิดการบังคับตามสิทธิเหล่านั้น ในที่สุดมติ ครม.ฉบับนี้ก็แทบไม่มีค่าในสายตาของฝ่ายราชการ โดยเฉพาะตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา ชาวกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมาก ถูกตรวจยึดและจับกุมดำเนินคดีที่ดินจำนวนมาก โดยอ้างคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่องทวงคืนผืนป่า โดยที่ มติ ครม. ฉบับนี้ไม่สามารถใช้เป็นเกราะคุ้มครองอะไรได้เลย นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2562 รัฐบาลเคยพยายามจะยกเลิกมติ ครม. ฉบับนี้ด้วยซ้ำไป แต่เมื่อมีองค์กรภาคประชาชนและนักวิชาการอกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ทำให้ยังไม่มีการยกเลิก แต่การมีอยู่ของมติ ครม. นี้ก็ยังไม่ส่งผลในทางรูปธรรม

การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะเป็นจริงได้ นอกจากประชาชนผู้เดือดร้อนจะต้องส่งเสียงเรียกร้องแล้ว เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำ แต่ในเมื่อผู้ใช้อำนาจรัฐในสังคมไทย ไม่ได้มาจากประชาชน และไม่พยายามใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของประชาชน ยิ่งเป็นเรื่องคนชายของขอบด้วยแล้ว การทำให้แนวคิดในคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นจริงจึงแทบเป็นไปไม่ได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net