มินอ่องหล่าย เซ็นแก้กฎหมายต้านผู้ก่อการร้าย เพิ่มโทษผู้ต่อต้านกองทัพ-หนุน NUG 

เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา มินอ่องหล่าย เซ็นแก้กฎหมายต้านการก่อการร้าย เพิ่มบทลงโทษผู้ที่สนับสนุนกิจกรรมต่อต้านเผด็จการ ด้านนักวิเคราะห์ชี้สื่อมวลชนที่รายงานสนับสนุนรัฐบาล NUG โดนเล่นด้วย เพราะถือว่าโฆษณาชวนเชื่อหนุนผู้ก่อการร้าย ในวันเดียวกัน มีรายงานทหารพม่าปล่อยเจ้าหน้าที่รัฐ และแพทย์บางส่วนออกจากเรือนจำ 

3 ส.ค. 64 สื่อท้องถิ่น อิระวดี รายงานวันนี้ (3 ส.ค.) พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า เซ็นแก้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา เสนอให้มีการลงโทษขั้นรุนแรงต่อผู้ที่สนับสนุนกิจกรรมต่อต้านเผด็จการทหาร 

กฎหมายที่เพิ่งได้รับการแก้ไข มีการเพิ่มโทษจำคุกจาก 3 ปี เป็น 7 ปี สำหรับการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการแนะนำ ชักจูง โฆษณาชวนเชื่อ และการเกณฑ์คนเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้าย หรือทำกิจกรรมการก่อการร้าย 

นักวิเคราะห์กฎหมาย ระบุว่า การแก้ไขกฎหมายต้านการก่อร้ายยังพุ่งเป้าไปที่สื่อมวลชนฝั่งตรงข้ามกองทัพ ที่รายงานข่าวสนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF เพราะกฎหมายให้อำนาจเผด็จการทหารดำเนินคดีสื่อโดยใช้ข้ออ้างโฆษณาชวนเชื่อด้วย

นักวิเคราะห์กฎหมาย กล่าวด้วยว่า ลักษณะที่เปลี่ยนไปของกฎหมายต้านการก่อการร้าย ทำให้เป็นการยากแก่ผู้ถูกกล่าวหาจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง โดยเมื่อเทียบในคดีอาชญากรรมอื่นๆ อัยการมีหน้าที่พิสูจน์ว่าจำเลยมีความผิด แต่ภายใต้กฎหมายต้านการก่อการร้าย ผู้ถูกกล่าวหาต้องพิสูจน์ว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์

ก่อนหน้านี้ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เผด็จการทหารแปะป้ายรัฐบาล NUG คณะรัฐมนตรี และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน ว่าเป็น ‘กลุ่มก่อการร้าย’ สำหรับการกระทำยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อกองทัพพม่า 

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 64 รัฐบาล NUG ตอบโต้กองทัพพม่า โดยระบุว่าเป็น ‘กลุ่มผู้ก่อการร้าย’ ซึ่งกระทำการก่อการร้ายต่อประชาชน สร้างหวาดกลัวต่อสาธารณชนโดยมีแรงจูงใจทางการเมืองที่จะควบคุมประเทศเมียนมา 

กองทัพพม่าปล่อยตัวหมอและเจ้าหน้าที่รัฐ

สำนักข่าว อิระวดี รายงานเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 64 ระบุว่า เผด็จการทหารปล่อยตัวเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ถูกทางการควบคุมตัวออกมาเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 64 รวมถึงแพทย์บางรายที่ถูกจับกุมเนื่องจากเข้าร่วมขบวนการอารยขัดขืน หรือที่พม่าเรียกชื่อเล่นว่า CDM อย่างไรก็ตาม ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐ และบุคลากรทางการแพทย์ ถูกขังในเรือนจำอีกหลายร้อยคน 

เจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลที่เข้าร่วมอารยขัดขืน จากแฟ้มภาพประชาไท 3 ก.พ. 2564

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 64 ที่ภูมิภาคเอยาวดี แพทย์ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่รัฐ ได้รับการปล่อยตัวทั้งสิ้น 27 ราย

ขณะที่นครย่างกุ้ง แพทย์ และเจ้าหน้าที่รัฐราว 20 ราย ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอินเส่ง เมื่อวันจันทร์ที่ 2 ส.ค. 64 หนึ่งในนั้นมี อ่องอ่องหน่ายมยิ้ด อธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติ ย่างกุ้ง ซึ่งถูกจับกุมตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 64 

อย่างไรก็ตาม กองทัพพม่าไม่ได้ระบุว่า มีผู้ถูกควบคุมตัวได้รับการปล่อยตัวกี่รายทั่วประเทศ

ทั้งนี้ รายงานจากองค์กรแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ Physician for Human Rights ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนในสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ผ่านมา 6 เดือนหลังรัฐประหารพม่า มีบุคลากรทางการแพทย์แบ่งเป็นแพทย์ราว 400 ราย และพยาบาลกว่า 180 ราย ถูกออกหมายจับเนื่องจากเข้าร่วมขบวนการ CDM 

ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ถึง 6 ก.ค. มีบุคลากรสาธารณสุข ถูกจับกุมทั้งสิ้น 157 คน ส่วนใหญ่เป็น แพทย์ พยาบาล และนักศึกษาแพทย์ มี 12 รายถูกสังหาร และ 32 คนได้รับบาดเจ็บขณะเข้าร่วมประท้วงต้านกองทัพพม่า คนที่เหลือยังเคลื่อนไหวในกลุ่ม CDM อยู่  

มินอ่องหล่าย เคยเรียกร้องให้บุคลากรทางการแพทย์กลับมาทำงานเมื่อไม่กี่สัปดาห์หลังการทำรัฐประหาร อ้างสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศทำให้ต้องการบุคลากรทางการแพทย์มาช่วย 

แต่เผด็จการทหารไม่เคยแสดงความจริงใจ โดยการยุติคดีแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้านรัฐประหาร ซ้ำยังจับกุมแพทย์อาสาที่ปฏิเสธทำงานในโรงพยาบาลรัฐ และกำลังทำงานรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงการแพร่ระบาดระลอกสาม

ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีแพทย์อาสา 5 คนถูกจับกุมขณะทำงานในชุมชนในเขตดาโกงเหนือ ในนครย่างกุ้ง เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด-19 หลังจากที่พวกเขาถุกเจ้าหน้าที่ทหารโทรไปหา และหลอกว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อล่อให้แพทย์อาสาไปหาที่พัก และทำการจับกุม นอกจากนี้ ทหารพม่ายังบุกไปที่สำนักงานของแพทย์อาสาอีกด้วย 

Global New Light of Myanmar ซึ่งเป็นสำนักข่าวของทางการพม่า และอิระวดี รายงานว่า ดร. ทาทาลิน อดีตผู้อำนวยการการจัดการเรื่องวัคซีนโควิดในสมัยรัฐบาลอองซานซูจี ถูกจับเมื่อวันที่ 10 มิถุนาที่ผ่านมา ด้วยข้อหา มาตรา 17(1) กฎหมายองค์กรนอกกฎหมาย และมาตรา 505(1) ตามประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากให้ความช่วยเหลือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านกองทัพ 

รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 64 ระบุจำนวนประชาชนที่ถูกทหารพม่าจับกุม และถูกคุมขังทั้งสิ้น 5,474 ราย โดยเป็นบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 70 คน และอีก 1,964 คนอยู่ในระหว่างการหลบหนี 
 

แปลและเรียบเรียงจาก

Myanmar Coup Chief Amends Counterterrorism Law

Myanmar Junta Releases Detained Doctors and Civil Servants

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท