ถึงแล้ว! แอสตราฯ จากอังกฤษ 4.15 แสนโดส-ญี่ปุ่นบริจาคเครื่องผลิตออกซิเจนเพิ่ม ด้านสหรัฐฯ แจงตัวเลขไฟเซอร์

สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยโพสต์ภาพวัคซีนแอสตราเซเนกาจำนวน 415,000 โดสเดินทางถึงไทยแล้วเมื่อคืนนี้ ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศบริจาคเครื่องผลิตออกซิเจนให้ไทย 775 เครื่อง ด้านสถานทูตสหรัฐฯ ชี้แจงที่มาของตัวเลขวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดส (1,503,450 โดส) ไม่ใช่ 1.54 ล้านโดส คาดตัวเลขดังกล่าวอาจเกิดจากทางการไทยคิดเลข 'พลาด'

4 ส.ค. 2564 วานนี้ (3 ส.ค. 2564) เพจเฟซบุ๊กสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย UK in Thailand โพสต์ข้อความระบุว่าวัคซีนจากการบริจาคของรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่เพิ่งเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. นี้ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของเราทุกคนที่จะก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน ด้วยการช่วยลดการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดยจุดประสงค์ของการบริจาคเพื่อช่วยกระจายวัคซีนให้ถึงประชาชนทั่วประเทศมากขึ้นอย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และจุฬามณี ชาติสุวรรณ อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยรับมอบวัคซีนออกซฟอร์ด-แอสตราเซเนกา จำนวน 415,000 โดสในคืนนี้

การบริจาคครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการบริจาควัคซีนชุดแรกจำนวน 9 ล้านโดสของสหราชอาณาจักร ซึ่งจะเข้าสู่โครงการ COVAX จำนวน 5 ล้านโดส และบริจาคโดยตรงกับประเทศอื่นๆ อีก 4 ล้านโดส สหราชอาณาจักรยังมีแผนบริจาควัคซีนเพิ่มเติมอีก โดยจะบริจาคทั้งสิ้น 100 ล้านโดสภายในกลางปี 2565 เพื่อให้ทุกคนบนโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐบาลสหราชอาณาจักรระบุว่าวัคซีนที่บริจาคจะเริ่มส่งออกจากสหราชอาณาจักรภายในสิ้นเดือน ก.ค. โดยมีอินโดนีเซีย จาไมกา และเคนยาเป็นจุดหมายแรก ซึ่งวัคซีนที่บริจาคนี้เป็นวัคซีนออกซฟอร์ด-แอสตราเซเนกาที่ผลิตโดย Oxford Biomedica และบรรจุในเมือง Wrexham ในตอนเหนือของเวลส์ ทั้งนี้ อินโดนีเซียจะได้รับบริจาควัคซีนล็อตนี้ทั้งสิ้น 600,000 โดส จาเมกา 300,000 โดส และเคนยา 817,000 โดส นอกจากนี้ ยังมีอีก 9 ประเทศที่จะได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาจำนวน 4 ล้านโดจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร ได้แก่  ประเทศแอนติกาและบาร์บูดา, เบลิซ, กัมพูชา, กายอานา, ลาว, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม รวมถึงเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ประกาศในการประชุมสุดยอดผู้นำจี 7 เมื่อเดือน มิ.ย. 2564 ว่าสหราชอาณาจักรจะบริจาควัคซีนแอสตราเซเนกา 100 ล้านโดส โดยจะบริจาคให้ได้ 30 ล้านโดสภายในปีนี้ และตั้งเป้าบริจาคให้ครบภายในปีหน้า รัฐบาลอังสหราชอาณาจักรจะบริจาควัคซีนจำนวนนี้ 80 ล้านโดสจากทั้งหมด 100 ล้านโดสเข้าโครงการ COVAX ทั้งนี้บรรดาผู้นำจี 7 ต่างให้คำมั่นว่าจะช่วยกันให้ทั่วโลกได้ฉีดวัคซีนและหยุดยั้งการระบาดให้ได้ในปี  2565

โดมินิก ราบ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า สหราชอาณาจักรจะจัดส่งวัคซีนแอสตราเซนเนกาจำนวน 9 ล้านโดส ซึ่งเป็นชุดแรกจากทั้งสิ้น 100 ล้านโดสที่เราสัญญาไว้ว่าจะบริจาค เพื่อให้ประชาชนในส่วนต่างๆ ของโลกที่เปราะบางที่สุดได้รับวัคซีนโดยเร่งด่วน เราบริจาควัคซีนเพื่อช่วยประชาชนกลุ่มเปราะบางที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็เพราะเราทราบดีว่าเราจะไม่มีทางปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย

สหราชอาณาจักรยืนอยู่แนวหน้าของโลกในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งด้วยการทุ่มเงิน 90 ล้านปอนด์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนออกซฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า จนถึงปัจจุบันได้มีการจัดส่งวัคซีนนี้ให้ทั่วโลกไปแล้วกว่า 500 ล้านโดสในราคาทุนโดยไม่มีผลกำไร และในจำนวนนี้ถึง 2 ใน 3 ได้จัดส่งให้แก่กลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง

สหราชอาณาจักรเองเป็นผู้ริเริ่มความพยายามในการจัดตั้ง COVAX เมื่อปี 2563 โดยได้มอบเงินไปทั้งสิ้น 548 ล้านปอนด์เพื่อสนับสนุนการจัดหาวัคซีนให้กับกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ โครงการนี้จัดส่งวัคซีนไปแล้วกว่า 152 ล้านโดสในกว่า 137 ประเทศและดินแดน รวมทั้งประเทศรายได้ปานกลาง-ต่ำ 83 ประเทศ โดยร้อยละ 65 ของวัคซีนชุดแรกที่บริจาคก็คือวัคซีนออกซฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า ทั้งนี้ โครงการ COVAX มีเป้าหมายจัดส่งวัคซีน 1,800 ล้านโดสให้ประเทศรายได้ต่ำทั่วโลกภายในต้นปี 2565

ญี่ปุ่นบริจาคเครื่องผลิตออกซิเจนให้ไทย 775 เครื่อง

วานนี้ (3 ส.ค. 2564) สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) รายงานว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมบริจาคเครื่องผลิตออกซิเจนจำนวน 775 เครื่องให้แก่ประเทศไทย และบริจาคอีก 100 เครื่องให้แก่ประเทศลาว นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังบริจาคเครื่องดูดอากาศ (Suction pump) จำนวน 100 เครื่อง และเครื่องติดตามสัญญาณชีพ (Patient Monitor) จำนวน 100 เครื่องให้แก่ประเทศลาว รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 83.24 ล้านบาท โดยทั้งหมดนี้เป็นการบริจาคเพื่อช่วยเหลือทั้ง 2 ประเทศให้สามารถรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ได้

ก่อนหน้านี้ ช่วงต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศบริจาควัคซีนแอสตราเซเนกาจำนวน 1.05 ล้านโดสให้แก่ประเทศไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศญี่ปุ่นมาโดยตลอด ขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมเตรียมบริจาควัคซีนแอสตราเซเนกาจำนวน 600,000 โดสให้กับลาวผ่านโครงการ COVAX โดยกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นระบุว่าวัคซีนจำนวนดังกล่าวที่มอบให้ลาวจัดส่งแล้วเมื่อวานนี้ (3 ส.ค. 2564)

สถานทูตสหรัฐฯ แจงตัวเลขวัคซีน 1.5 ล้านโดสมาจากไหน

ในวันเดียวกัน สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ U.S Embassy Bangkok ชี้แจงตัวเลขวัคซีนบริจาคยี่ห้อไฟเซอร์ (Pfizer) จำนวน 1,503,450 โดสที่เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 30 ก.ค. 2564 ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

สถานทูตสหรัฐฯ อธิบายว่าทางการสหรัฐฯ ส่งวัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรกมาให้ไทย 257 กล่อง ซึ่ง 1 กล่องมี 5 ถาด และแต่ละถาดมีวัคซีนทั้งสิ้น 195 ขวด โดยวัคซีนไฟเซอร์ 1 ขวดแบ่งฉีดได้ทั้งหมด 6 โดส เมื่อนำตัวเลขทั้งหมดมาคูณกันจึงออกมาเป็นจำนวนวัคซีนทั้งสิ้น 1,503,450 โดส ซึ่งตัวเลขนี้เป็นตัวเลขยืนยันทางการ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีสื่อหลายสำนัก เช่น workpointTODAY, infoquest และ PPTV HD 36 ที่รายงานโดยอ้างอิงคำพูดของของธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งระบุว่าวัคซีนล็อตแรกที่สหรัฐฯ จะบริจาคให้ไทยมีทั้งหมด 1.54 ล้านโดส ซึ่งอาจเป็นการสื่อสารคลาดเคลื่อนด้วยเหตุผลทางคณิตศาสตร์ จนทำให้ประชาชนตั้งข้อสังเกตว่าตัวเลขวัคซีนที่ส่งมอบกับที่โฆษกกระทรวงต่างประเทศให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ไม่ตรงกัน

กรมควบคุมโรคสหรัฐฯ ยืนยันวัคซีนไฟเซอร์ต้องผสมน้ำเกลือก่อนฉีด

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส และสำนักข่าวอื่นๆ รายงานตรงกันว่า นพ.โอภาส การ์ยกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯ บริจาคจะถูกเก็บเข้าคลังวัคซีนในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส เมื่อกระจายไปหน่วยฉีดจะนำไปเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งจะอยู่ได้นาน 4 สัปดาห์จึงต้องรีบนำออกมาใช้ พร้อมระบุว่า "วัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนเข้มข้น จึงต้องผสมน้ำเกลือลงไปตามสัดส่วน แล้วดูดจากขวดใหญ่ไปฉีดให้ประชาชน ซึ่ง 1 ขวด จะฉีดได้ 6 คน" ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นไปตามคู่มือการเตรียมวัคซีนไฟเซอร์ของกรมควบคุมโรคสหรัฐฯ หรือ CDC

โดยข้อมูลจาก CDC ระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับมอบหมายให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์แก่ประชาชน ต้องนำวัคซีนมาเจือจางในน้ำเกลือธรรมดาที่มีความเข้มข้น 0.9% และไม่ผสมสารกันเสียเท่านั้น ทั้งนี้ CDC กำหนดปริมาณน้ำเกลือที่ใช้เป็นตัวทำละลายต้องอยู่ที่ 1.8 มิลลิลิตร โดยต้องค่อยๆ ฉีดน้ำเกลือเข้าไปในขวดบรรจุวัคซีนอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟองอากาศ หลังจากนั้นให้พลิกขวดวัคซีนคว่ำไปมาจำนวน 10 ครั้ง และห้ามเขย่าขวดโดยเด็ดขาด เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดแล้วจึงดึงเข็มน้ำเกลือออกและสามารถนำวัคซีนไปฉีดให้แก่ประชาชนได้จำนวน 6 เข็ม/ขวด

คู่มือการเตรียมวัคซีนไฟเซอร์ก่อนฉีด โดยกรมควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท