ARTICLE 19 ร่วมกับ 16 องค์กรสิทธิฯ ลงนามจี้ รบ.ไทย 'เพิกถอน' คำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ลิดรอนเสรีภาพ ปชช.

องค์กรนานาชาติอาร์ติเคิล 19 (ARTICLE 19) ร่วมกับ 16 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเพิกถอนคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ซึ่งคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพออนไลน์ของประชาชนชาวไทย

4 ส.ค. 2564 อาร์ติเคิล 19 (ARTICLE 19) ร่วมกับ 16 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างเทศออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลไทยที่ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการระงับเนื้อหาหรือข้อความที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวหรือข้อความที่มีเจตนาบิดเบือน ทั้งยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการเอาผิดผู้วิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาลบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งทางอาร์ติเคิล 19 ระบุว่าจ้อกำหนดดังกล่าวของรัฐบาลไทยนั้นมุ่งโจมตีเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน

องค์กรทั้งหมดที่ร่วมลงนามในส่วนท้ายของแถลงการณ์ฉบับนี้กังวลว่าข้อกำหนดดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่จำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และเป็นข้อบังคับที่รวบอำนาจเบ็ดเสร็จโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันและต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ทั้งหมดนี้ขัดต่อสิทธิในการแสวงหาและรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงส่งต่อข้อมูลและแนวคิดต่างๆ ของประชาชน

ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ซึ่งเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2564 นั้นเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2564 โดยในข้อ 11 ของข้อกำหนดดังกล่าวได้ระบุถึง “มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า... การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9(3) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548” นอกจากนี้ ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ซึ่งประกาศออกมาเพิ่มเติมยังให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการระงับเนื้อหาหรือข้อความที่เผยแพร่บนโลกกออนไลน์ รวมถึงให้อำนาจในการตรวจสอบข้อมูลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอีกด้วย

อาร์ติเคิล 19 ระบุว่าข้อกำหนดนี้ใน พ.ร.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ.2560 ทั้งยังขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นปกป้องและเคารพสิทธิเสรีภาพด้านการแสดงออกและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญานี้มาตั้งแต่ 29 ต.ค. 2539 นอกจากนี้ ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ของไทยยังบ่อนทำลายสิทธิด้านสาธารณสุขที่ไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) สนธิสัญญาฉบับนี้ระบุว่าประเทศที่ร่วมลงนามต้องรับประกันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณสุขของประชาชน รวมถึงรับประกันสิทธิในการแสวงหา รับรู้ และเผยแพร่ข้อมูลหรือแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีเกิดโรคระบาด

อาร์ติเคิล 19 กล่าวเพิ่มเติมในแถลงการณ์ว่า คำว่า “ความกลัว”, “ความมั่นคง”, “ความสงบเรียบร้อย” และ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” ที่เขียนไว้ในข้อกำหนดดังกล่าวนั้นมีความหมายที่ ‘คลุมเครือ’ และ ‘กว้างเกินไป’ ในการตีความ อีกทั้งยังไม่สามารถระบุขอบเขตของการตีความได้อย่างชัดเจน และไม่มีข้อจำกัด หรือคำนิยามใดๆ ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดหลักการทางกฎหมายของสนธิสัญญา ICCPR ที่ไทยเคยลงนามไว้

นอกจากนี้ เงื่อนไขข้อข้อกำหนดฉบับนี้ยังไม่สอดคล้องกับหลักการแห่งความได้สัดส่วนและความจำเป็น เนื่องจากบุคคลใดก็ตามที่ละเมิดข้อกำหนดนี้อาจต้องรับโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี หรือถูกปรับสูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท และหากเป็นข้อความที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ถือว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีอำนาจในการพิจารณาระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ที่เผยแพร่ข้อความ

ทั้งนี้ อำนาจของ กสทช. ได้ที่รับจากข้อกำหนดดังกล่าวถือว่ามีความย้อนแย้งกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งระบุไว้ว่าการระงับเนื้อหาหรือข้อมูลใดๆ ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ แต่ กสทช. ไม่ใช่หน่วยงานที่มีอำนาจในการตัดสินหรือพิจารณาคดี ข้อกำหนดนี้จึงถือว่าขัดต่อหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงขัดต่อหลักการของกฎหมายโดยทั่วไป

ถึงแม้ว่าการต่อสู้กับข้อมูลเท็จ (Disinformation) ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 จะมีความจำเป็น แต่จุดประสงค์นี้ควรดำเนินการโดยยึดหลักการแห่งความได้สัดส่วน และต้องมีคำนิยามที่ชัดเจนตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย รวมถึงต้องสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ วิธีการที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จและเกินขอบเขตอย่างการลงโทษหนักทางอาญา ค่าปรับที่สูง และการระงับ IP address ถือว่าขัดต่อหลักการตั้งแต่เริ่มต้น

ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ที่รัฐบาลไทยนำมาใช้ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนนั้นไม่ต่างอะไรจากกฎหมายฉบับอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ ม.112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญาและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่รัฐของไทยบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ และกล่าวหาประชาชนที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายดังกล่าวว่า “เผยแพร่ข่าวปลอม” ทั้งๆ ที่พวกเขาแค่แสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเท่านั้น

ในวันที่ 27 ก.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้มาตรการในข้อกำหนดดังกล่าวอย่างจริงจังต่อสื่อมวลชน คนมีชื่อเสียง และผู้ใช้สื่อทั่วไป ก่อนหน้านี้ในวันที่ 14 ก.ค. 2564 องค์การเภสัชกรรมยื่นฟ้อง นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ในข้อหาหมิ่นประมาท หลังจากที่ นพ.บุญ แสดงความคิดเห้นต่อการบริหารจัดการวัคซีนทางเลือกยี่ห้อโมเดอร์นา ต่อมาวันที่ 22 ก.ค. 2564 ดนุภา คณาธีรกุล หรือ ‘มิลลิ’ นักร้องชาวไทยถูกดำเนินคดีข้อหาดูหมิ่นนายกรัฐมนตรีด้วยการโฆษณาและถูกปรับเป็นเงิน 2,000 บาท

รัฐบาลไทยควรเพิกถอนหรือแก้ไขข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 โดยทันที ทั้งยังควรเพิกถอนหรือแก้ไขกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ ดังที่ได้กล่าวไปให้มีความสอดคล้องกับหลักการพื้นที่ของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และปรับปรุงกฎหมายต่างๆ เหล่านี้ให้สอดคล้องกับสนธิสัญญา ICCPR ที่ได้เคยลงนามและให้สัตยาบันไว้

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยต้องหยุดคุกคามหรือดำเนินคดีต่อประชาชนที่ใช้สิทธิในการแสดงออกและสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงต้องหยุดดำเนินคดีต่อประชาชนที่ถูกตั้งข้อหาตามกฎหมายดังกล่าวไปแล้วอีกด้วย

รายนามองค์กรที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับนี้

  1. Access Now
  2. Amnesty International Thailand
  3. ARTICLE 19
  4. Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA)
  5. Asian Network for Free Elections (ANFREL)
  6. ASEAN Parliamentarians for Human Rights
  7. Centre for Civil and Political Rights
  8. Civil Rights Defenders
  9. CIVICUS: World Alliance for Citizen Participation
  10. Committee to Protect Journalists
  11. FIDH – International Federation for Human Rights
  12. Human Rights Watch
  13. International Commission of Jurists
  14. Lawyers’ Rights Watch Canada
  15. Manushya Foundation
  16. Open Net Association
  17. People’s Empowerment Foundation

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท