Skip to main content
sharethis

4 ส.ค. 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ภายในประเทศ ประจำวันที่ 4 ส.ค. 2564 เวลา 11.30 น. โดยระบุว่าวันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งสิ้น 20,200 ราย ถือเป็นสถิติผู้ติดเชื้อสูงสุดนับตั้งแต่มีการระบาดของโรคเมื่อช่วงต้นปี 2563 โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันนี้คิดเป็น 40.51% ของผู้ที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อเมื่อวานนี้ (3 ส.ค. 2564) จำนวน 49,864 ราย

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่าเพิ่มเติมว่าผู้ติดเชื้อใหม่วันนี้มาจากการติดเชื้อภายในประเทศจำนวน 20,179 ราย ส่วนอีก 21 รายที่ตรวจพบเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศและตรวจพบในขณะกักตัว 14 วันในสถานกักกันตามมารตรการควบคุมโรค รวมยอดผู้ป่วยสะสมนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 ทั้งสิ้น 643,522 ราย และมีผู้ติดเชื้อนับจากการระบาดครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2563 จำนวนทั้งสิ้น 672,385 ราย โดยจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุด 3 อันดับแรกในวันนี้ คือ กรุงเทพมหานคร 4,118 ราย ชลบุรี 1,678 ราย และสมุทรสาคร 1,294 ราย

จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ประจำวันนี้จำแนกจากเกณฑ์การตรวจหาเชื้อทั้งสิ้น 4 รูปแบบ ได้แก่ การตรวจด้วยชุดตรวจแอนติเจนเทสต์คิต (ATK) พบผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 522 ราย การตรวจเชิงรุก 3,708 ราย การตรวจแบบวอล์กอิน 16,284 ราย และการติดเชื้อในเรือนจำอีก 187 ราย ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตในวันนี้มีทั้งหมด 188 ราย เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 41 ราย รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตสะสม 5,503 ราย นับตั้งแต่การระบาดครั้งแรกในปีที่ผ่านมา โดยอัตราผู้เสียชีวิตต่อจำนวนผู้ป่วยคิดเป็น 0.82%

 

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วประจำวันนี้อยู่ที่ 17,975 ราย มีผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ทั้งสิ้น 211,076 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 71,946 ราย อยู่ในโรงพยาบาลสนาม 139,130 ราย โดยในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดนี้ มีผู้ป่วยอาการหนัก 4,910 ราย และผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจำนวน 1,035 ราย ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคไม่ได้ระบุจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) แต่อย่างใด

นอกจากนี้ สำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร รายงานว่ากรุงเทพมหานครร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มช่องทางสายด่วน 50 เขตให้บริการประชาชนเพื่อรองรับภารกิจโควิด-19 รวมถึงเป็นส่วนที่ช่วยเชื่อมต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19 เข้าสู่ระบบการดูแลและรักษาพยาบาลโดยเร็วที่สุด

กรมควบคุมโรค เร่งหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 พร้อมกระจายวัคซีนฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมาย

วันนี้ (4 ส.ค. 2564) สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคจะเร่งดำเนินการค้นหา คัดกรองผู้ติดเชื้อ เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 จากเชื้อสายพันธุ์เดลตา ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย โดยเตรียมจัดส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนโรค (Operation) ที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัด และ กทม. เพื่อค้นหาผู้ป่วยเพิ่ม และแยกผู้สัมผัสเสี่ยงสูง/เสี่ยงต่ำ ให้เข้าระบบการเฝ้าระวัง ควบคุมการแพร่กระจายเชื้อให้อยู่ในวงจำกัดโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้เร่งกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ ตามการจัดสรรของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยในเดือน ส.ค.นี้ จะทยอยส่งวัคซีนให้จังหวัด จำนวน 10 ล้านโดส เพื่อฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และเพิ่มกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่มีโรคประจำตัว เพื่อลดอาการป่วยที่รุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิต รวมทั้งฉีดให้กับกลุ่มบุคลากรการแพทย์และบุคลากรด่านหน้า ซึ่งจะจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ไปให้จังหวัดในสัปดาห์นี้

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวต่อไปว่าสำหรับการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยตนเองด้วยชุดทดสอบ Antigen Test Kit (ATK) เป็นการตรวจหาเชื้อเบื้องต้นที่ช่วยให้รู้ผลได้เร็วขึ้น เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างรวดเร็ว เป็นไปตามแนวทางของกรมการแพทย์ หากผล ATK เป็นบวก จะเรียกว่าผู้ติดเชื้อเข้าข่าย สามารถรับยาและรักษาแบบแยกกักตัวที่บ้านได้ทันที หากต้องเข้าแยกกักตัวในชุมชน หรือในสถานพยาบาล ผู้ติดเชื้อเข้าข่ายควรได้รับการตรวจด้วยวิธี RT-PCR คู่ขนาน และระหว่างรอผลตรวจยืนยันจะต้องพยายามแยกออกจากผู้ป่วยโควิด-19 เนื่องจากผลตรวจด้วย  ATK ให้ผลบวกลวงได้ (ร้อยละ 3-5) ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคที่เบอร์โทรศัพท์ 1422

อย. เตือนอย่าซื้อยา "ฟาวิพิราเวียร์" กินเอง เพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต

ตามที่ปรากฏมีการขายยาฟาวิพิราเวียร์โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เตือนประชาชนอย่าซื้อยา 'ฟาวิพิราเวีย' กินเอง เพราะอาจได้ยาปลอมที่ไม่มีตัวยาสำคัญอยู่เลย หรือได้รับยาที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานทำให้เสียโอกาสในการรักษา และอาจได้รับอันตรายจากสารปนเปื้อน อีกทั้งการซื้อยาผ่านอินเทอร์เน็ต ผู้ป่วยอาจไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการใช้ยา ซึ่งปัจจุบันเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารับการรักษาในระบบที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ยาฟาวิพิราเวียร์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องสั่งจ่ายและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ จำเป็นต้องติดตามอาการข้างเคียงและผลการรักษาระหว่างการใช้ยา การใช้ยาในผู้ป่วยบางกลุ่มจำเป็นต้องคำนึงถึงประโยชน์และความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่จะตามมาโดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำ การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย ส่งผลให้ใช้ยาไม่ได้ผลเมื่อเกิดการติดเชื้อเป็นเหตุให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด

รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ไม่หวังดีหลอกขายยาให้แก่ประชาชน ทั้งมีการลักลอบนำยาของผู้ป่วยมาขายหรือเจตนาปลอมให้เชื่อว่าเป็นยาฟาวิพิราเวียร์หลอกขายตามอินเทอร์เน็ต ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากประชาชนสงสัยว่ายาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้รับเป็นยาปลอมสามารถสอบถามและแจ้งเบาะแสที่สายด่วน 1556 หรืออีเมล์ 1556@fda.moph.go.th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net