แอมเนสตี้ฯ จี้ รบ.ไทยเลิกใช้ กม.ปิดปากนักสิทธิฯ พร้อมให้กำลังใจ 'นักกิจกรรม-นักสิทธิ' เข้ารับทราบข้อกล่าวหา

เจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ พร้อมนักกิจกรรมอีก 4 คนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีเสวนารำลึก 1 ปี 1 เดือน 'ต้า' วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ถูกอุ้มหาย ตำรวจแจ้งข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงเพิ่ม ปรับคนละ 700 บาท แอมเนสตี้ฯ จี้รัฐหยุดใช้กฎหมายปิดปากประชาชน 

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ซ้ายสุด) ภัทรานิษฐ์ เยาดำ(คนที่ 2 จากซ้าย) และพรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า(กลางภาพ) 

4 ส.ค.2564 ภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พร้อมกับนักกิจกรรมอีก 4 คนเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนที่ สน.นางเลิ้ง หลังจากที่เมื่อวานนี้ (3 ส.ค. 2564) มีรายงานว่าภัทรานิษฎ์ และนักกิจกรรมอีก 5 คน รวมทั้งสิ้น 6 คน ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ จากการจัดกิจกรรม 'คืน-ยุติธรรม' เพื่อรำลึกถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหาย เนื่องในวาระครบ 1 ปี 1 เดือน การหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้า ผู้ลี้ภัยการเมืองไทย ซึ่งจัดโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล แยกพาณิชยการ เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564

ศูนย์ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนรายงานผ่านทวิตเตอร์ว่าคดีนี้มีรายงานผู้ถูกออกหมายเรียก 6 คน ได้แก่ ภัทรานิษฐ์ เยาดำ, ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ผู้จัดกิจกรรม, พรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า จากกลุ่มราษฎรมูเลตู, วรชาติ อหันทริก, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ ภูมิ (นามสมมติ) จากกลุ่มนักเรียนเลว แต่ในวันนี้มีเพียง 5 คนเท่านั้นที่เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยมีประชาชนและตัวแทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมเดินทางมามอบดอกไม้เพื่อให้กำลังใจ

ภัทรานิษฐ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ว่า ทางพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาตามพ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ เพิ่มอีก  1 ข้อหากับทั้ง 5 คน ทั้งนี้พนักงานสอบสวนแจ้งว่าไม่ได้แจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากในวันนั้นมีคนที่มารวมตัวกันไม่เกิน 20 คน 

เจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ฯ ยังกล่าวอีกว่าแต่ทางพนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณืว่าได้ร่วมกันจัดกิจกรรมครั้งนี้ด้วย แต่เนื่องจากเธอเป็นเพียงคนที่ถูกเชิญไปพูดในเสวนาเท่านั้นจึงยืนยันให้พนักงานสอบสวนตัดประเด็นนี้ออก

ทั้งนี้ผู้ต้องหา  4 คน ได้แก่ ภัทรานิษฐ์, ทานตะวัน, พรหมศร และภูมิเลือกที่จะจ่ายค่าปรับเป็นเงินคนละ 700 บาท เนื่องจากเห็นว่าหากสู้คดีก็จะเป็นภาระทางคดี แต่วรชาติจะขอสู้คดีต่อไป

ภัทรานิษฐ์ให้สัมภาษณ์อีกว่าหลังจากกระบวนการแจ้งข้อหาเสร็จสิ้นกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ทางตำรวจ สน.นางเลิ้งมีการเรียกเธอไปคุยเกี่ยวกับรูปแบบและขอบข่ายงานขององค์กร ไปจนถึงประเด็นการใช้สิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุมและแนวทางที่เจ้าหน้าที่ควรทำในการเจรจา

ภัทรานิษฐ์ เยาดำ(เสื้อขาว) ภาพโดยกันต์ แสงทอง
 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการรายงานและกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่น่าตกใจ และการกระทำของรัฐในวันนี้แสดงให้เห็นถึงความกลัวของรัฐที่ไม่ยอมรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชน ในทางกลับกัน รัฐกลับมุ่งแสวงหาช่องทางทั้งในทางกฎหมายและวิธีการอื่นๆ เพื่อกีดกั้น จำกัดสิทธิและสร้างความหวาดกลัวแก่คนที่ออกมาเคลื่อนไหว ให้อยู่ในความเงียบและยุติการทำงานในที่สุด

หากแต่ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เป็นประเด็นเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นการขับเคลื่อนของคนทั่วโลกที่เห็นถึงความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียมกันของคนในสังคม การกดขี่ของรัฐที่กระทำต่อกลุ่มคนชายขอบหรือกลุ่มเปราะบางกลายเป็นประเด็นระดับโลกที่ทั้งประชาชนและรัฐต่างให้ความสำคัญ ในประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามหลักการ อีกทั้งยังปฏิบัติตรงกันข้ามจะกลายเป็นรัฐส่วนน้อยที่กำลังจะหายไปจากความชื่นชมของคนในสังคมและประชาคมโลก

"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการใช้กฎหมายปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพียงเพราะการทำงานของพวกเขาในการสร้างความรู้ ความเข้าใจในประเด็นสิทธิมนุษยชน อีกทั้งเรายังเรียกร้องให้รัฐสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานในประเด็นสิทธิมนุษยชนแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหาย นักกิจกรรม รวมทั้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย" ปิยนุชกล่าว

ด้านตัวแทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องทางการไทยยุติการใช้กฎหมายปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ แต่กลับต้องมาถูกดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่รัฐ และเรียกร้องให้รัฐเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติตามพันธกรณีของตนอย่างจริงจังเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสร้างบรรยากาศที่ทุกคนสามารถใช้สิทธิในการแสดงออกและพูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างเสรีและปลอดภัย

ตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Defenders) ที่ยืนยันสิทธิของคนทุกคนที่จะคัดค้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยหนทางสันติ ปฏิญญาฯ ดังกล่าวยังห้ามมิให้กระทำการโต้กลับ ข่มขู่และคุกคามด้วยรูปแบบอื่นๆ ต่อบุคคลใดก็ตามที่กระทำการโดยสันติเพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะในระหว่างหรือนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพของพวกเขา

อีกทั้งประเทศไทยได้รับรองมติของที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติซึ่งเรียกร้องให้ทุกชาติคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังนั้นประเทศไทยจึงมีหน้าที่ชัดเจนที่จะต้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของตนอย่างจริงจังเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสร้างบรรยากาศที่ทุกคนสามารถพูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นได้อย่างเสรีและปลอดภัย

'เอ้ เดอะวอยซ์' เลื่อนรายงานตัวที่ สน.นางเลิ้ง

ขณะเดียวกัน ในวันนี้ประชาชนอีก 1 คนที่มีกำหนดเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้ง คือ กุลจิรา ทองคง หรือเอ้ เดอะวอยซ์ ซึ่งกุลจิราโพสต์ภาพเอกสารหมายเรียกจาก สน.นางเลิ้ง ในข้อหาชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.รักษาความสะอาด, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ลงวันที่ 21 ก.ค. 2564 และระบุให้เข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 4 ส.ค. 2564 เวลา 10.00 น. แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นความผิดจากกรณีใด นอกจากนี้ กุลจิราได้รายงานเพิ่มเติมผ่านอินสตาแกรมตนเองว่าวันนี้จะยังไม่เข้าพบพนักงานสอบสวน โดยขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 31 ส.ค. ที่จะถึงนี้แทน

 

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท