'แอมเนสตี้-ผสานวัฒนธรรม' ออกแถลงต่อการใช้กำลังสลายชุมนุมเมื่อ 1 สิงหาฯ และการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

'แอมเนสตี้-ผสานวัฒนธรรม' ออกแถลงการณ์ต่อการใช้กำลังสลายชุมนุมของตำรวจเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2564 หลังจากปรากฏการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง การใช้ปืนจ่อศีรษะผู้ชุมนุมไปจนถึงการพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการดำเนินคดี สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนในการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพ

ภาพแถวตำรวจที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดถูกสาดสีจากผู้ชุมนุมที่ไปติดตามคนขับรถเครื่องเสียงที่ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2564 ถ่ายเมื่อเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2564 โดย Zee Faozee จาก iLaw

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์ต่อกรณีตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมที่ดินแดงเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2564 และสะท้อนปัญหาการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐ ในการดำเนินคดีเพื่อการปราบปรามการชุมนุมโดยอ้างว่าเป็นการป้องกันการระบาดของโควิด-19

แถลงการณ์ของแอมเนสตี้ฯ กล่าวถึง การสลายการชุมนุมโดยใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่บริเวณโรงพยาบาลทหารผ่านศึก เขตดินแดง กรุงเทพ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ชุมนุมและผู้อยู่ใกล้เหตุการณ์ได้รับบาดเจ็บและมีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 10 คนถูกจับกุมระหว่างและภายหลังการชุมนุม อีกทั้งในวันที่ 2 สิงหาคม ยังมีการจับกุมผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นด้านหน้าสโมสรตำรวจอีกอย่างน้อย 33 คน โดยหนึ่งในนั้นมีเยาวชนอายุ 17 ปี รวมอยู่ด้วย

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า การสลายการชุมนุมที่รุนแรงโดยการใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่มุ่งเป้าเพื่อการปะทะและการจับกุมต่อผู้ชุมนุม ถือเป็นการปราบปรามอย่างเป็นระบบต่อกลุ่มหรือบุคคลที่เห็นต่างซึ่งออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ทั้งนี้การใช้กฎหมายอย่างมิชอบเช่นนี้ยังตอกย้ำข้อกังวลต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎหมายที่คล้ายคลึงกันว่าเป็นเพียงข้ออ้างแบบเหมารวมและไม่ชอบด้วยกฎหมายตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยอ้างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้นจึงต้องมีการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยทันที

“การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งทำให้บุคคลในพื้นที่นั้นบาดเจ็บเป็นการบ่งบอกถึงการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างสิ้นเชิง พ.ร.ก.ฉุกเฉินและกฎหมายใกล้เคียงถูกใช้เป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ในการจำกัดสิทธิของผู้ที่เห็นต่างและต้องการที่จะออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิของตนเอง”

ผอ. แอมเนสตี้ฯ กล่าวต่อว่า เหตุตการณ์ทั้งสองวันทำให้เห็นถึงความพยายามอย่างมากของรัฐที่จะสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้ชุมนุมและผู้ที่เห็นต่างในสังคม ทั้งที่การเรียกร้องเพื่อสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม รวมทั้งการเรียกร้องการเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง ควรเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรับฟังเสียงจากประชาชน ไปปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่ใช่ใช้ดำเนินคดีเพื่อสร้างหวาดกลัวและทำให้คนในสังคมปิดปากเงียบ

ในแถลงการณ์ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่าจากชุมนุม #คาร์ม็อบเมื่อวันที่ 1 ส.ค.นั้น หลังจากมีการประกาศยุติการชุมนุมแล้วตั้งแต่เมื่อเวลา 16.30 น. แล้วแต่มีบางส่วนที่มุ่งหน้าไปยังหน้ากรมทหารราบที่ 1 ก่อนพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการใช้กำลังสลายการชุมนุมอย่างไม่ถูกต้องตามหลักสากลว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม มีการใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และรถฉีดน้ำแรงดันสูง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีเหตุรุนแรงจากฝ่ายใด และไม่มีการประกาศเตือนล่วงหน้าตามขั้นตอนของหลักสากล ต่อมาเวลา 17.30 น. ผู้ชุมนุมบางคนมีการขว้างปาสิ่งของ ขณะที่เจ้าหน้าที่ใช้ปืนกระสุนยางและแก๊สน้ำตาในการตอบโต้ และสถานการณ์ต่อเนื่องไปจนถึงที่บริเวณแยกดินแดง โดยตำรวจเข้าสลายการชุมนุมในช่วงเวลา 19.00-20.00 น.ไปจนกระทั่งเหตุการณ์สงบในเวลาประมาณ 22.00 น.

แถลงของมูลนิธิผสานยังระบุอีกว่าในเหตุการณ์ดังกล่าวยังปรากฏภาพตำรวจชุดควบคุมฝูงชนใช้ปืนจ่อไปที่ศีรษะผู้ชุมนุมโดยที่ผู้ชุมนุมที่กำลังขับจักรยานยนต์หนี แต่พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่าเป็นยุทธวิธีตามมาตรฐนสากลและเป็นการตักเตือนให้กลับเคหสถานเนื่องจากใกล้เคอร์ฟิวแล้ว

ทั้งนี้จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้บาดเจ็บจำนวน 5 คน เป็นตำรวจ 4 นาย จากการถูกขวางปาสิ่งของและเป็นประชาชาชนอีก 1 ราย ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางยิงเข้าที่ศีรษะ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ร่วมชุมนุม 3 คน นอกจากนี้ยังดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทั้งหมด 10 คน โดยอ้างความผิดฐานละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และอื่น ๆ และยังมีการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ที่ถูกจับกุมจำนวน 3 คน เนื่องจากมีการยึดมือถือทำให้ไม่สามารถติดต่อทนายความได้ และเมื่อกว่าทนายความจะทราบเรื่องและติดตามไปก็ทำบันทึกจับกุมแล้วและในบันทึกยังระบุว่าผู้ถูกจับกุม “ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา” ด้วย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีข้อเรียกร้องต่อกรณีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่และการใช้กฎหมายในการดำเนินคดี ดังนี้

1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของตำรวจทุกหน่วย จะต้องทบทวนให้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) เพื่อให้การควบคุมฝูงชนเป็นไปตามหลักสากล ได้แก่ กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญานี้ ไปจนถึงเสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

2. การกระทำดังเช่น การเข้าปราบปรามการชุมนุมโดยสงบ ด้วยการใช้อาวุธปืนกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และรถฉีดน้ำโดยไม่ได้มีการประกาศล่วงหน้า หรือการเอาปืนจ่อศีรษะผู้ชุมนุมซึ่งขับขี่จักรยานยนต์อยู่ ไม่มีอาวุธ และไม่มีท่าทีการใช้ความรุนแรงตามภาพสื่อที่ปรากฏ ถือว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอนตามมาตรฐานสากล ไม่จำเป็น เกินกว่าเหตุ และอาจทำให้เข้าใจว่า เจ้าหน้าที่มุ่งหมายผู้ชุมนุมคนดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรง

3. อีกทั้งการจับกุมโดยไม่เคารพสิทธิในการมีทนายความของผู้ถูกจับกุม และการตั้งข้อหา เช่น ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการชุมนุมบนยานพาหนะของตนเอง แสดงให้เห็นว่า มีการบิดเบือนเจตนาของกฎหมาย เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมและกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมือง กระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการสลายการชุมนุม จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการทบทวน ตรวจสอบ และปรับปรุง โดยองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐฝ่ายปกครอง กระทรวงยุติธรรม หรือองค์กรภาคประชาสังคมและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศ จำเป็นจะต้องตรวจสอบการฝึกอบรมตำรวจกองกำลังอารักขาและควบคุมฝูงชน ไปจนถึงการปฏิบัติจริงว่า ได้มีการสร้างความเข้าใจและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท