Skip to main content
sharethis

ที่ประชุมอาเซียนเผยแพร่แถลงการณ์ร่วม ตั้ง เอรีวัน ยูซอฟ รมว.ต่างประเทศคนที่ 2 จากบรูไน เป็นผู้แทนพิเศษเยือนพม่า เพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมืองในพม่า-สำนักข่าวออสซี่เผยแพร่ภาพของชอน เทอร์เนล ที่ปรึกษาชาวต่างชาติของอองซานซูจี ครั้งแรกหลังเขาถูกกองทัพจับขังคุกนานเกือบ 6 เดือน โดยสื่อออสซี่พบรูปเขาในหนังสือพิมพ์ทางการพม่า

ภาพ เอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งบรูไนดารุสซาลาม คนที่ 2 เมื่อปี 2018 (ภาพจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ)

4 ส.ค. 64 ไทยพีบีเอสเวิลด์ ร่วมด้วย นิเคอิเอเชีย สื่อสัญชาติญี่ปุ่น รายงานว่า ตามที่มีแถลงการณ์ร่วมที่ประชุมอาเซียนเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 64 เปิดเผยว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีแห่งอาเซียน ซึ่งเป็นการประชุมผ่านระบบทางไกลที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อ 2 วันก่อนหน้า (2 ส.ค.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง เอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งบรูไนดารุสซาลาม คนที่ 2 เป็นผู้แทนพิเศษ แห่งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน โดยมีภารกิจสำคัญ เดินทางเยือนพม่าเพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์เมียนมา และประสานการเจรจาระหว่างขั้วกองทัพ และฝ่ายต่อต้าน 

ข้อความในแถลงการณ์ร่วม ระบุแสดงความยินดีต่อ เอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนพิเศษอาเซียน ซึ่งมีพันธกิจหลักคือการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจเพื่อให้สามารถเข้าถึงทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ในพม่าครั้งนี้ และเพื่อตระเตรียมตารางเวลาที่ชัดเจนเพื่อดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อจากที่ประชุมอาเซียน 

แถลงการณ์ร่วมระบุด้วยว่า มีความยินดีที่เมียนมาให้คำมั่นจะปฏิยัติตามฉันทามติ 5 ข้อในที่ประชุมสูงสุดแห่งอาเซียน สมัยพิเศษ (เมื่อ 24 เม.ย. 64) และการตอบรับต่อการปฏิบัติตามฉันทามติทั้ง 5 ข้อในช่วงเวลาอันเหมาะสม ซึ่งก่อนหน้านี้มีความกังวล เนื่องจากมีการรายงานแพร่สะพัดว่ากองทัพเมียนมาจะไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่เคยตกลงไว้ในที่ประชุม 

อย่างไรก็ตาม นิเคอิ สัมภาษณ์แหล่งข่าวในประเทศพม่า ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ-นามสกุล โดยเขาระบุว่า “ผมบอกไม่ได้ว่า จนถึงตอนนี้ คณะผู้แทนพิเศษจะได้รับอนุญาตเยือนเมียนมาได้เมื่อใด”

เดิมทีคณะผู้แทนพิเศษอาเซียน ตามกำหนดการจะเดินทางไปเยือนประเทศพม่าตั้งแต่เมื่อเดือน พ.ค. 64 แต่ถูกกองทัพพม่าปฏิเสธ พร้อมอ้างว่าต้องการให้ประเทศพม่ากลับมามีเสถียรภาพก่อน 

นับตั้งแต่นั้นมา การดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า และกองทัพพม่าก็ยังไม่มีท่าทีตอบรับคณะผู้แทนพิเศษแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 64 ครบรอบ 6 เดือนรัฐประหารพม่า กองทัพพม่าประกาศตั้งรัฐบาลรักษาการ มินอ่องหล่าย แถลงว่า กองทัพจะพร้อมจะให้ความร่วมมือกับคณะผู้แทนพิเศษของอาเซียนแล้ว ซึ่งเป็น 1 วันก่อนที่การประชุมเพื่อรับรองคณะผู้แทนพิเศษจะเริ่มขึ้น

ทั้งนี้ การเดินทางเยือนพม่าของคณะผู้แทนพิเศษจากอาเซียน เป็นส่วนหนึ่งในฉันทามติ 5 ประการที่เมียนมารับปากไว้ในที่ประชุมอาเซียนนัดพิเศษเมื่อ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยฉันทนมติ 5 ข้อ ได้แก่ 1) หยุดยั้งการใช้ความรุนแรงในประเทศพม่าโดยทันที และขอเรียกร้องทุกฝ่ายให้ใช้ความยับยั้งชั่งใจขั้นสูงสุด 2) ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้กระบวนการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ ในการแก้ปัญหาวิกฤติพม่าอย่างสันติ เพื่อประโยชน์ของประชาชน 3) ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานการเจรจา โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการอาเซียนให้ความช่วยเหลือ 4) อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ผ่านศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ หรือ AHA 5) สุดท้าย ผู้แทนพิเศษ  และคณะผู้แทน จะเดินทางเยือนประเทศพม่า เพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในวิกฤตการณ์ครั้งนี้
 
แถลงการณ์ร่วมของอาเซียน ระบุด้วยว่า สถานการณ์ในเมียนมาตามที่ปรากฏในย่อหน้าที่ 77 ระบุรัฐมนตรีการต่างประเทศ อาเซียน หารือถึงสถานการณ์ในเมียนมา และแสดงความกังวลถึงสถานการณ์การเมืองที่มีความรุนแรง รวมถึงรายงานผู้เสียชีวิต  

สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เรียกร้องให้มีการปล่อยตัว อองซานซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD แต่ทางเมียนมาไม่เห็นด้วยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว หลังจากการถกเถียงอย่างยาวนาน รัฐมนตรีต่างประเทศมีมติเห็นด้วยต่อถ้อยแถลงดังนี้ "เราได้รับฟังข้อเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง รวมถึงชาวต่างชาติ" ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของอองซานซูจี นามว่า ชอน เทอร์เนล ชาวออสเตรเลีย ซึ่งถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำอินเส่ง ในนครย่างกุ้ง โดยช่วงที่ผ่านมา นานาชาติยื่นคำร้องอุทธรณ์อย่างมากมายถึงกองทัพพม่า เพื่อให้มีการปล่อยเทอร์เนล 

ชอน เทอร์เนล นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลีย และเป็นที่ปรึกษาให้กับนางอองซานซูจี โดยเทอร์เนล ถูกกองทัพพม่าจับกุม และขังไว้ในคุกอินเส่งเกือบ 6 เดือน (เทอร์เนล ถูกขังในคุกอินเส่ง นครย่างกุ้ง เมื่อ 6 ก.พ. 64) ภาพล่าสุดของเขา ถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าวออสเตรเลีย ซิดนีย์มอร์นิงเฮอรัลด์ ซึ่งพบภาพถ่ายของเทอร์เนล ในข่าวของสำนักข่าวทางการพม่า The Global New Light of Myanmar เมื่อ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา 

ภาพของชอน เทอร์เนล ในเรือนจำอินเส่ง (ที่มา Global New Light of Myanmar)
 

สำนักข่าวออสซี่ ระบุว่า ในข่าวปรากฏภาพของเทอร์เนล จำนวน 2 ภาพ ขณะที่เขากำลังได้รับการฉีดวัคซีนภายในเรือนจำอินเส่ง 

ทั้งนี้ นี่เป็นครั้งแรกที่มีภาพของชอน เทอร์เนล เผยแพร่ออกมา หลังเขาถูกจับขังคุกในเรือนจำอินเส่ง นครย่างกุ้ง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการระบุชื่อของ ชอน เทอร์เนล ในข่าวหนังสือพิมพ์ แต่มีภาพปรากฏพร้อมกับพาดหัวบทความเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในเรือนจำอินเส่ง โดยมีผู้ต้องขังได้รับการฉีดวัคซีนวันแรก ทั้งสิ้น 610 คน จากผู้ต้องขังทั้งหมดราว 9,000 คน  

“นี่คือการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งแรกของผู้ต้องขังในเรือนจำ” คำพูดของเจ้าหน้าที่เรือนจำในบทความดังกล่าว 

ชอน เทอร์เนล ถูกกองทัพพม่า กล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายความลับทางราชการ ซึ่งเป็นกฎหมายตั้งแต่สมัยอาณานิคมอังกฤษ 

“ทนายความของชอน (เทอร์เนล) กล่าวว่า อัยการต้องการใช้เขา เล่นงานอองซานซูจี ด้วยข้อหาละเมิดกฎหมายความลับทางราชการ ดังนั้น มันดีกว่า ถ้าทำให้เขามีชีวิตอยู่ต่อไป” ภรรยาของชอน เทอร์เนล โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก  

มาริส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลีย กล่าวว่า รัฐบาลออสเตรเลียมองว่าการคุมขังชอน เทอร์เนล ไม่ชอบธรรม เพราะถือเป็นการกักขังโดยพลการ และเรียกร้องเอกอัครราชทูตเมียนมาปล่อยตัวเทอร์เนล


แปลและเรียบเรียงจาก

First images of Sean Turnell inside Myanmar jail as he receives jab

ASEAN picks Brunei diplomat for special envoy to Myanmar

Brunei Foreign Minister Appointed ASEAN Special Envoy to Myanmar

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net