Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวท้องถิ่น 'อิระวดี' เผยเบื้องหลังก่อนยูซอฟ ทูตบรูไน ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะทูตพิเศษอาเซียน คลี่คลายวิกฤตการเมืองเมียนมา หลังตอนแรกมีกระแสข่าวว่า กองทัพพม่าอยากได้ 'วีระศักดิ์ ฟูตระกูล' อดีตทูตไทยประจำย่างกุ้ง เป็นทูตพิเศษอาเซียน 

เอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งบรูไนดารุสซาลาม คนที่ 2 เมื่อปี 2018 (ภาพจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ)

4 ส.ค. 64 สำนักข่าว ‘อิระวดี’ รายงานเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 64 เผยเบื้องหลังเกมการทูต แต่งตั้งหัวหน้าคณะทูตพิเศษอาเซียน คลี่คลายวิกฤตเมียนมา โดยการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศชาติสมาชิกอาเซียนหวังแต่งตั้งให้เสร็จสรรพในวันที่ 2 ส.ค. 64 แต่ต้องเลื่อนออกไปหลังพม่าไม่เห็นด้วยในนาทีสุดท้าย  

จิม ล็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน จากประเทศเวียดนาม และเอรีวาน ยูซอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คนที่ 2 แห่งบรูไนดาลุสซาลาม เดินทางไปกรุงเนปิดอ เมื่อ 5-6 มิ.ย. 64 เพื่อหารือเรื่องการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษ และคณะที่ปรึกษา (ซึ่งขณะนั้น บรูไนดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน) ในรายชื่อแคนดิเนตซึ่งร่างโดยสมาชิกอาเซียน ถูกนำขึ้นมาพิจารณา และดูเหมือนว่าจะมี 2 รายชื่อที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากฝั่งกองทัพพม่า คือ ฮัสซัน วีระจุฑา อดีต รมว.ต่างประเทศของอินโดนีเซีย และรอง รมว.ต่างประเทศจากไทย คือ วีระศักดิ์ ฟูตระกูล 

ขณะที่ประธานอาเซียนยังไม่ทันได้เอ่ยอะไรขึ้นมา ก็มีข่าวแพร่สะพัดในสิงคโปร์หลังจากการเดินทางไปกรุงเนปิดอของประธานอาเซียนว่า กองทัพพม่าจิ้ม ‘วีระศักดิ์ ฟูตระกูล’ เป็นผู้แทนพิเศษเรียบร้อยแล้ว โดยเหตุผลหลักน่าจะมาจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญซึ่งสัมพันธ์กับทางฝั่งพม่ามานาน โดยก่อนหน้านี้ วีระศักดิ์เคยทำงานเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำนครย่างกุ้งในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ขณะที่สื่อจาการ์ตาถึงกับเลิ่กคิ้ว เนื่องจากอยากเห็นฮัสซัน ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตพิเศษเช่นกัน

จนมาถึงเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 64 รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการต่างประเทศชาติสมาชิกอาเซียนหยิบยกสถานการณ์ในเมียนมาขึ้นมาหารืออีกครั้งในที่ประชุมระดับ รมว.ต่างประเทศ อาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ณ เทศบาลนครฉงชิ่ง ประเทศจีน และในการประชุมครั้งนั้น มีตัวแทนดูแลกิจการต่างประเทศของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ซึ่งกองทัพพม่าคุมอยู่ วันนาหม่องลวิน เข้าร่วมด้วย

วันนาหม่องลวิน กล่าวว่า เนปิดอยังหนุนหลัง ‘วีระศักดิ์’ เป็นผู้แทนพิเศษอาเซียนอยู่ อย่างไรก็ตาม นางเร็ตโน เลสตารี เปรียนซารี มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศแห่งอินโดนีเซีย ยังต้องการดันฮัสซัน เป็นผู้นำคณะผู้แทนพิเศษอาเซียนเช่นกัน 

อิระวดี อ้างอิงแหล่งข้อมูลจากอาเซียน เผยด้วยว่า จู่ๆ มาเลเซียขอร่วมวงไพบูลย์ ส่งชื่อของอดีตนักการทูตระดับสูงอย่าง ราซาลี อิสมาอิล อดีตผู้แทนพิเศษเมียนมา เข้ามาเป็นแคนดิเดตคณะผู้แทนพิเศษอาเซียนครั้งนี้ด้วย     

ทั้งนี้ ก่อนหน้าการประชุมนี้ ประเทศไทยเคยเสนอความคิดว่า ผู้แทนพิเศษของอาเซียน ไม่ควรมีแค่รายชื่อเดียว แต่ควรเป็นกลุ่มนักการทูตที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละพื้นที่หรือประเด็นมากกว่า นั่นคือไอเดียแรกที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารืออย่างเป็นทางการ แต่วันนาหม่องลวิน กล่าวในที่ประชุมโดยเสนอว่า คณะผู้แทนพิเศษจะต้องได้รับการตรวจสอบ และเห็นชอบจากกองทัพพม่าก่อนที่จะมีการตัดสินใจขั้นสุดท้าย และด้วยเหตุนี้เองทำให้การตัดสินใจตั้งคณะผู้แทนพิเศษอาเซียนจึงต้องชะลอออกไป และประธานอาเซียนต้องมาทบทวนอีกครั้งว่า ใครจะเป็นแคนดิเดตที่เหมาะสมที่สุดที่จะมาทำหน้าที่นี้ และสุดท้ายก็ยังไม่มีฉันทามติว่ากระบวนการควรเดินต่อไปยังไง 

การประชุมที่เทศบาลนครฉงชิ่ง ถือเป็นการเซ็ตเวทีสำหรับการต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งผู้แทนพิเศษอาเซียนที่ถูกทำให้ลากยาวออกไป ทั้งเวทีระหว่างอาเซียนกับกองทัพพม่า และการขับเคี่ยวระหว่างภายในชาติสมาชิกอาเซียนด้วยกันเองเพื่อแย่งชิงตำแหน่งทูตพิเศษนี้ ตลอดมหากาพย์ ประธานอาเซียนต้องเผชิญความลำบากใจที่จะระงับสิทธิ์การตัดสินใจต่อประเด็นวิกฤตการเมืองพม่าของชาติสมาชิกอาเซียนบางชาติ แม้จะรู้ว่าเป็นสิทธิที่ประธานสามารถทำได้ ซึ่งนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การคัดเลือกผู้แทนพิเศษถูกลากยาวออกไป    

สิ่งที่ทำให้กระบวนการยุ่งยากขึ้นคือข้อเท็จจริงที่ว่าปลายเดือน มิ.ย. 64 และต้นเดือน ก.ค. 64 ประธานอาเซียนต้องเข้าร่วมประชุม G7 และการประชุมที่เกี่ยวข้องกับ G20 ในช่วงเดือนรอมฎอนโดยในช่วงนั้น จะไม่มีการหารือเรื่องผู้แทนพิเศษ โดยการประชุมเพื่อคุยหาตัวแทนนี้เพิ่งได้กลับมาคุยอีกครั้งในช่วงกลางเดือน ก.ค.

เมื่อ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา มีประชุมรัฐมนตรีการต่างประเทศของชาติสมาชิกอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เป็นการประชุมอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ การเลือกผู้แทนพิเศษอาเซียนถูกนำขึ้นมาหารืออีกครั้ง ครั้งนี้ไม่มีตัวแทนจากกองทัพพม่าเข้าร่วม และชาติสมาชิก ณ ตอนนั้น ตกลงกันเสร็จสรรพว่าจะให้เอรีวัน รับหน้าที่ผู้แทนพิเศษอาเซียน

ข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงเผยว่า ประเทศไทยตัดสินใจในการประชุมครั้งนั้นว่าจะถอนชื่อวีระศักดิ์ออกจากแคนดิเดต เพื่อให้ประธานอาเซียนทำงานได้สะดวกและง่ายขึ้น ขณะที่ทางอินโดนีเซียยอมถอยเช่นกัน จึงทำให้ เอรีวัน ยูซอฟ จากบรูไน ถูกเสนอชื่อขึ้นเป็นแคนดิเดตหัวหน้าทีมทูตพิเศษโดยทันที ขณะที่ฮัสซัน วีระศักดิ์ และราซาลี จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา แบ็กอัปจากข้างหลัง และทั้งสามคนก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ นอกจากนี้ นักการทูตระดับสูงจากกัมพูชาจะได้เข้ามาอยู่ในทีมด้วย เนื่องจากกัมพูชามีวาระเป็นประธานอาเซียนชาติต่อไป  

สองวันก่อนการประชุมวันที่ 2 ส.ค. 64 อย่างไรก็ตาม พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ยังยืนยันจะต้องเป็นวีระศักดิ์เท่านั้น พร้อมกล่าวเพิ่มว่า ข้อเสนอใหม่ของอาเซียน ทำให้การเลือกผู้แทนพิเศษไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อไปได้ นี่เป็นสถานการณ์ที่น่าสนใจมาก ที่จะบอกว่าอย่างน้อย เมียนมารู้ล่วงหน้าว่า เอรีวัน ยูซอฟ จะเป็นหัวหน้าทีมทูตครั้งนี้ กองทัพพม่ายืนยันว่า เขาจะขอพิจารณาข้อเสนอที่จะให้เอรีวัน เป็นหัวหน้าทีมครั้งนี้ 

ในการประชุมเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา กองทัพพม่ายังไม่ยอมรับข้อเสนอของอาเซียน ทำให้แถลงการณ์ร่วมซึ่งมีกำหนดการเผยแพร่ในวันที่ 2 ส.ค. ต้องชะลอออกไป ขณะที่สมาชิกอาเซียนบางประเทศโดยเฉพาะสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ยืนยันว่าพม่าต้องสัญญาว่าจะปล่อยนักโทษการเมือง ซึ่งรวมถึงนางอองซานซูจี เช่นเดียวกับชาวต่างชาติที่ถูกทางการจับกุม นอกจากนี้ ทางอาเซียนเรียกร้องอย่างแน่วแน่ที่จะให้ใส่ข้อความในแถลงการณ์ร่วม ให้มีการดำเนินการตามฉันทามติทั้ง 5 ข้อของอาเซียนให้เร็วที่สุด เพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์เมียนมา 

เอพี รายงานด้วยว่า แม้จะถูกกองทัพพม่าปฏิเสธในวันที่ 2 ส.ค. แต่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจัดการประชุมขึ้นอีกนัดหนึ่งในวันพุธ (4 ส.ค.) และในที่สุดก็สามารถโน้มน้าวรัฐบาลทหารให้ยอมรับยูซอฟ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนพิเศษได้

อย่างไรก็ตาม นิเคอิ ระบุว่า แม้จะมีการแต่งตั้งทูตพิเศษแล้ว แต่ยังไม่แน่ชัดว่า ผู้นำทหารพม่าจะอนุญาตให้เข้าถึงอองซานซูจี ที่ถูกควบคุมตัวร่วมกับผู้นำทางการเมืองคนอื่นๆ หรือไม่ และเมื่อใด และยังไม่มีกำหนดการเผยด้วยว่า ทหารพม่าจะอนุญาตให้เข้าประเทศเมื่อใด

หลังจาก 6 เดือนของการเข้าไปร่วมพูดคุยกับทางกองทัพพม่า แสดงให้เห็นว่าประธานอาเซียนมีเจตนาต้องการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อวิกฤตการณ์ครั้งนี้ทุกฝ่าย และดำเนินการอย่างระมัดระวังที่สุดต่อการตัดสินใจในแต่ละครั้ง แหล่งข้อมูลที่ให้สัมภาษณ์กับอิระวดี ระบุว่าเขาผิดหวังต่อท่าทีของเนปิดอที่ตอบสนองต่อความพยายามของอาเซียน เพื่อยุติสถานการณ์วิกฤตการเมืองพม่า ในจุดหนึ่ง ผู้ให้สัมภาษณ์ระบุว่า ประธานอาเซียนถึงกับขู่จะตัดสายสัมพันธ์กับทางพม่าอีกด้วย      

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อาเซียนตั้ง เอรีวัน ยูซอฟ ทูตบรูไน เป็นผู้แทนพิเศษ คลี่คลายวิกฤตเมียนมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net