ศบค.เปิดตัว koncovid.com ช่วยหาจุดตรวจโควิด-19 ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งสูง ทุบสถิตินิวไฮอีกครั้ง

5 ส.ค. 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตประจำวันนี้ (5 ส.ค. 2564) โดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมควบคุมโรค พบว่า วันนี้มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR จำนวน 20,920 ราย มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 700 ราย และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการตรวจหาเชื้อโดยใช้ชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) จำนวน 4,009 คน หากนับยอดผู้ติดเชื้อจากการตรวจหาเชื้อทั้ง 2 รูปแบบเท่ากับว่าวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งสิ้น 24,929 ราย

สำหรับผู้ติดเชื้อที่ทราบผลจากการตรวจแบบ RT-PCR นั้นแบ่งเป็นการตรวจแบบวอล์กอินจำนวน 17,312 ราย การตรวจเชิงรุกในพื้นที่ชุมนุม 3,338 ราย และเป็นการตรวจพบเชื้อจากในเรือนจำ 262 ราย โดยในจำนวนทั้งหมดนี้มีผู้ติดเชื้อจำนวน 8 รายที่เดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ในระหว่างกักตัวในสถานกักกันตามมาตรการรัฐ รวมจำนวนผูัติดเชื้อตั้งแต่พบการระบาดของโรคเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 693,305 ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตประจำวันนี้มีทั้งสิ้น 160 ราย ลดลงจากเมื่อวาน 28 ราย รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 นับตั้งแต่ปีที่แล้วจำนวน 5,663 ราย

ขณะเดียวกัน วันนี้มีผู้ป่วยที่รักษาตัวหายแล้วจำนวนทั้งสิ้น 17.926 ราย กำลังรักษาตัวอยู่ในขณะนี้ 213,910 ราย แบ่งเป็นการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 87,150 ราย อยู่ในโรงพยาบาลสนาม 71,879 ราย รักษาตัวที่บ้านหรือ Home Isolation) จำนวน 46,330 ราย และอื่นๆ อีก 8,551 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในการแถลงข่าวประจำวันว่าผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในวันนี้ร้อยละ 67 เป็นผู้สูงอายุ ส่วนอีกร้อยละ 23 เป็นคนอายุน้อยที่มีประวัติมีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค แต่โดยรวมแล้วร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดนั้นเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว นอกจากนี้ ผู้เสียชีวิต 2 รายในวันนี้เป็นหญิงตั้งครรภ์

ส่วนวัคซีนไฟเซอร์สำหรับฉีดกระตุ้นภูมิเข็มที่ 3 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์นั้น ตอนนี้ได้จัดส่งไปยังโรงพยาบาลต่างๆ แล้ว โดยโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์แล้ว ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันบำราศนราดูร ส่วนจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ โรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทรบุรี โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลสมุทรสาคร โรงพยาบาลนครนายก โรงพยาบาลสระบุรี และโรงพยาบาลระยอง นอกจากนี้ นักเรียน/นักศึกษาไทยที่กำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศสามารถลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนไฟเซอร์ได้ผ่าน QR Code ตามระบบของกรมควบคุมโรค หลังการลงทะเบียนแล้วจะได้รับอีเมลยืนยันผลการลงทะเบียน และจะได้รับ SMS ยืนยนัการนัดหมาย โดย นพ.อภิสมัยกล่าวว่าขอให้นักเรียนนักศึกษาที่กำลังจะไปศึกษาต่อและมีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนไฟเซอร์ ให้รีบติดต่อลงทะเบียนโดยด่วน

ภาพ QR Code และขั้นตอนการลงทะเบียนฉีดวัคซีนไฟเซอร์สำหรับบุคคลที่กำลังจะไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ
(ภาพจากยูทูบไลฟ์ ThaiPBS)

สำหรับ 3 จังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 4,140 ราย สมุทรปราการ 1,326 ราย ชลบุรี  1,311 ราย ตามมาด้วยอีก 7 จังหวัด คือ สมุทรสาคร นนทบุรี นครราชสีมา สระบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ พญ.อภิสมัย ยังชี้แจงเรื่องชุดตรวจโควิด-19 ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติให้จำหน่ายแก่ประชาชนเพื่อให้สามารถตรวจหาเชื้อเองได้ โดยระบุว่าชุดตรวจดังกล่าวมี 2 ประเภท คือ การตรวจหาแอนติเจน และการตรวจหาแอนติบอดี ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมโรคเน้นย้ำไว้ว่าต้องซื้อชุดตรวจหาแอนติเจน หรือแอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen Test Kit) เท่านั้น พร้อมกำชับประชาชนให้ตรวจสอบดีๆ ก่อนซื้อ อีกทั้งชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท ยังแบ่งได้เป็น 2 ประเภทย่อย ได้แก่ ชนิดโพรงหลังจมูก (Nasopharynx) ซึ่งมีความยุ่งยากซับซ้อน จึงไม่อนุญาตให้ประชาชนใช้เอง ต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ส่วนอีกชนิด คือ ชุดตรวจชนิดโพรงจมูก (Nasal) ซึ่งประชาชนสามารถตรวจเองได้ มีขั้นตอนซับซ้อนน้อยกว่า ในขณะนี้ อย. อนุมัติชุดตรวจชนิดโพรงจมูกแล้ว 17 ยี่ห้อ และมีแนวโน้มจะอนุมัติเพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้ พญ.อภิสมัย ให้ข้อมูลว่าประชาชนสามารถเข้าไปดูวิดีโอวิธีการใช้ชุดตรวจและวิธีการเก็บตัวอย่างได้ในเว็บไซต์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากตรวจ ATK รอบแรกแล้วผลเป็นลบ แนะนำให้กักตัวสังเกตอาการ 2-3 วัน แล้วตรวจซ้ำ เพราะการตรวจแบบ ATK มีความคลาดเคลื่อนประมาณ 13%

พญ.อภิสมัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่ประชาชนต้องการเข้ารับการตรวจหาเชื้อแบบแอนติเจน เทสต์ คิท ตามจุดตรวจต่างๆ แต่เมื่อเดินทางไปถึงแล้วกลับพบว่าจุดตรวจหรือสถานบริการเหล่านั้นไม่รับตรวจแล้ว ศบค. จึงร่วมมือกับทีมอาสา Tech for Thailand แก้ไขปัญหาด้วยการเปิดเว็บไซต์ค้นโควิดดอตคอม (koncovid.com) ซึ่งรวบรวมสถานที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไว้ให้ โดยสามารถพิมพ์รหัสไปรษณีย์ หรือคลิกที่จุดสีต่างๆ ที่แสดงบนแผนที่ เพื่อดูรายละเอียดของจุดตรวจต่างๆ โดยจะเน้นไปที่ กทม. อย่างไรก็ตาม พญ.อภิสมัยระบุว่าก่อนเดินทางไปตรวจหาเชื้อ ควรโทรศัพท์สอบถามจุดตรวจตามข้อมูลที่ขึ้นไว้ในเว็บไซต์ก่อน เนื่องจากข้อมูลของแต่ละจุดตรวจสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ซึ่งทาง ศบค. และทีมอาสาพัฒนาเว็บไซต์จะพยายามอัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ หากศุนย์บริการตรวจโควิด-19 ตรวจสอบแล้วไม่พบศูนย์ให้บริการของตนเองในแผนที่หรือต้องการเปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ สามารถโทรแจ้งรายละเอียดได้ที่เบอร์สายด่วน 50 เขตใน กทม.

ภาพแผนที่แสดงจุดตรวจโควิด-19 ในเว็บไซต์ koncovid.com

 

เปิดตัว 'ซุปเปอร์ไรเดอร์' ทีมจิตอาสาส่งยาถึงบ้านจนกว่าจะหาย

สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า วันนี้ (5 ส.ค. 2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย สามารถพักรักษาตัวที่บ้านได้ แต่ต้องขึ้นทะเบียนและแยกรักษาตัวที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน หรือจนกว่าอาการจะหาย ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้จัดหน่วยส่งยาด่วนที่เรียกว่า “ซุปเปอร์ไรเดอร์” ซึ่งเป็นประชาชนจิตอาสา ขณะนี้มีจำนวน 60 คน เพื่อนำชุดอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูแลรักษาอาการที่บ้าน ประกอบด้วย ยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้ ยาฟ้าทะลายโจร ปรอทวัดไข้ เครื่องตรวจวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เจลแอลกอฮอล์ ล้างมือ หน้ากากอนามัย ป้องกันการแพร่เชื้อ ขณะนี้ส่งมอบไปแล้วกว่า 100 ราย

ขณะเดียวกันกรมควบคุมโรคยังได้จัดทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด 19 เชิงรุกหรือที่เรียกว่า ซีซีอาร์ทีม (Comprehensive COVID-19 Response Team : CCR Team) จากสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง จำนวน 12–15 ทีม ร่วมกับ กทม. และเครือข่ายอื่นๆ เข้าค้นหาผู้มีความเสี่ยงที่อยู่ในชุมชนทั้ง 6 โซน ใน 50 เขตของกทม. ซึ่งแต่ละทีม จะทำการควบคุมโรค ตรวจคัดกรองการติดเชื้อด้วยชุดเอทีเค ได้วันละประมาณ 1,000 ราย ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยติดเตียง รวมทั้งประเมินระบบการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ตามพื้นที่เสี่ยงสำคัญ เช่น แคมป์ก่อสร้าง ตลาดสด ชุมชน และให้ความรู้ในการป้องกันโรคโควิด-19 ด้วย ประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วย สงสัยอาจติดเชื้อโควิด-19 สามารถโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท