สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 30 ก.ค.-5 ส.ค.2564

เชียงใหม่ แรงงานรับจ้างเก็บลำไยขอขึ้นทะเบียนแล้ว 21,408 ราย ย้ำให้ทำตามมาตรการที่คณะกรรมการโรคติดต่อกำหนด

5 ส.ค. 2564 นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังจากเกิดคลัสเตอร์การระบาดในสวนลำไย ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด–19 สำหรับเกษตรกรชาวสวนลำไย ผู้ประกอบการกิจการรับซื้อลำไยและผู้รับจ้างเก็บลำไยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในกลุ่มเกษตรกรลำไย โดยให้เกษตรกรรับจ้างเก็บลำไยมาขึ้นทะเบียนแรงงาน ล่าสุด พบว่า มีผู้มาขอขึ้นทะเบียน แล้วรวมทั้งสิ้น 21,408 ราย แยกเป็นแรงงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 18,063 ราย และแรงงานต่างถิ่น (นอกพื้นที่) จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3,345 ราย

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การปฏิบัติตามมาตรป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ จึงเห็นควรปรับปรุงมาตรการเพิ่มเติมให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ตามคำสั่งที่ 101/2564 เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 สำหรับเกษตรกรชาวสวนลำไย ผู้ประกอบการกิจการรับซื้อลำไยและผู้รับจ้างเก็บลำไยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

โดยให้ผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานรับจ้างเก็บลำไย สามารถไปลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอตามภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ประจำของตนเอง โดยสามารถดำเนินการยื่นเรื่องผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเกษตรตำบล พร้อมทั้งให้เข้ารับการอบรมเรื่อง การเก็บลำไยคุณภาพ ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด–19 และการดูแลตนเองตามมาตรการ ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

หากกรณีที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสั่งให้เข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด–19 ต้องปฏิบัติตามคำสั่งโดยทันที ส่วนการรับจ้างเก็บลำไยนั้น ให้ทำในเขตอำเภอของตนเองเท่านั้น หากมีการเคลื่อนย้ายแรงงานรับจ้างไปต่างพื้นที่ เช่น ต่างอำเภอหรือต่างจังหวัด ให้ถือว่าเป็นแรงงานต่างถิ่น ซึ่งจะต้องแจ้งให้สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือแจ้งฝ่ายปกครองทราบต่อไป

สำหรับการจ้างงานเก็บลำไยในจังหวัดเชียงใหม่ นั้น ผู้ว่าจ้างจะต้องจ้างแรงงาน ที่มีบัตรประจำตัวขึ้นทะเบียนแล้ว หากเป็นแรงงานนอกเขตจังหวัดเชียงใหม่ จะต้องเป็นแรงงานต่างถิ่นที่ได้ขึ้นทะเบียน ก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เท่านั้น โดยให้เจ้าของสวนลำไยหรือผู้ประกอบการรับซื้อลำไย คอยกำกับให้ผู้รับจ้างเก็บลำไย ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด– 19 ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดไว้ คือ จะต้องทำการตรวจสอบเอกสารบันทึกประจำวันของแรงงานทุกครั้ง ขณะเดียวกันต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ในการวัดไข้ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ให้เพียงพอต่อแรงงาน ต้องสวมหน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลตลอดเวลาในการทำงาน พร้อมทั้งให้คอยสังเกตอาการ ผู้รับจ้างเก็บลำไย ไม่ให้มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก ก่อนเข้าทำงานทุกครั้ง ส่วนการรับประทานอาหาร ให้ทำการแยกอาหารและภาชนะใส่น้ำดื่มจากบุคคลอื่น

ทั้งนี้ หากพบผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว จะถือว่ามีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยเริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 5/8/2564

ก.แรงงานสั่ง บ.ควอลิตี้ฯ ย่านดอนเมือง จ่ายค่าจ้าง-เงินสิทธิประโยชน์ พนักงาน 22 คน 3 ล้าน หลังเลิกจ้าง ล่าสุดเพิ่งดำเนินการเเค่ 2 คน เป็นเงิน 2.9 หมื่น นิติกรแจ้งดำเนินคดีบริษัทฯ เเล้ว

5 ส.ค. 2564 นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีและโฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงเเรงงาน กล่าวชี้แจงประเด็นกรณีลูกจ้างบริษัท ควอลิตี้ พลัส เอสเทติค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอาง ตั้งอยู่ที่เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร หลังพบลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ได้รับเงินเยียวยาตามกฎหมาย

โดยกรณีนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว จึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งดำเนินการและหาข้อยุติ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าในระหว่าง ก.พ. 2564 ลูกจ้างจำนวน 18 คน มายื่นคำร้องกับพนักงานตรวจแรงงานว่านายจ้างเลิกจ้างและค้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานมีหนังสือเชิญนายจ้างมาพบเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564 เพื่อตรวจสภาพการจ้างการทำงานของสถานประกอบกิจการ พบว่านายจ้างแจ้งว่าได้เลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมีการค้างจ่ายค่าจ้างลูกจ้างและเงินสิทธิประโยชน์อื่น ๆ จริง

ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างและเงินสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างตามที่ค้างจ่าย หลังจากนั้นมีลูกจ้างของบริษัทมายื่นคำร้องเพิ่มเติมจนถึงเดือนพ.ค. 2564 อีก 4 คน รวมเป็น 22 คน โดยพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 321,245 บาท ค่าล่วงเวลา 7,024 บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 331,591 บาท และค่าชดเชยการเลิกจ้าง 2,019,186 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้กับจากลูกจ้างทั้งหมด 22 คน

ทั้งนี้ นายจ้างได้ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานโดยจ่ายเงินค่าจ้างให้ลูกจ้างเพียง 2 คน เป็นเงิน 29,211 บาท พร้อมดอกเบี้ย

สำหรับกรณีของลูกจ้างที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและไม่นำคดีไปสู่ศาล รองอธิบดี กสร. ระบุ นิติกรของกรมได้แจ้งความดำเนินคดีอาญานายจ้าง ณ สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง และได้ประสานลูกจ้างผู้ร้องให้นำคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไปดำเนินคดีแพ่งนายจ้างต่อศาลแรงงาน เพื่อดำเนินการติดตามสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างตามกฎหมายต่อไป

พร้อมได้แนะนำให้ลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างกรณีไม่ได้รับค่าชดเชย หรือสิทธิประโยชน์อื่น เช่น ค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นต้น ยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง โดยลูกจ้างบริษัทนี้จะมายื่นคำขอในวันที่ 10 ส.ค. นี้

นางโสภา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่สถานประกอบกิจการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมีการเลิกจ้างลูกจ้างนั้น นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย ให้กับลูกจ้างตามสิทธิที่พึงได้รับ ซึ่งเป็นสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่ลูกจ้างทุกคนต้องได้รับ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หากนายจ้าง ลูกจ้าง มีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายสามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546

ที่มา: thaich8, 5/8/2564

จ๊อบส์ ดีบี เผยข้อมูลอัตราการฟื้นตัวของภาคธุรกิจพิจารณาจำนวนความต้องการแรงงาน พบ “ธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” คว้าตัวเลขสูงสุด ในขณะที่ “ธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยว” ยังคงได้รับผลกระทบสูงสุดตลอดกว่า 1 ปี

จ๊อบส์ ดีบี รายงานสถิติข้อมูลสถานการณ์การจ้างงานในช่วงครึ่งปีแรก พบว่า ข้อมูล อัตราการว่างงานไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 สูงสุดในประเทศไทยเมื่อเทียบกับ 5 ปีย้อนหลัง และสูงที่สุดตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด อยู่ที่ 1.96% จากการลดจำนวนแรงงานและฤดูกาลโยกย้ายประจำปี ในทางกลับกันความต้องการแรงงานในประเทศไทยทั้งจากบนแพลตฟอร์มหางาน และช่องทางสื่อกลางออนไลน์อื่นๆในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2564 กลับฟื้นขึ้นมา 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 โดยมีอัตราการแข่งขันที่ 80 ใบสมัครต่อ 1 ประกาศงาน

โดยกลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดยังคงเป็น 1) สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 15.3% 2) สายงานไอที คิดเป็น 14.8% 3) สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 10.0% ตามลำดับ ในด้านมุมมองกลุ่มธุรกิจพบว่า ธุรกิจที่มีอัตราการฟื้นตัวสูงสุดพิจารณาจำนวนความต้องการแรงงาน ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 2) กลุ่มธุรกิจประกันภัย 3) กลุ่มธุรกิจการผลิต ในขณะที่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยว คิดเป็น 51% 2) กลุ่มธุรกิจบริการเฉพาะกิจ คิดเป็น 22% 3) กลุ่มธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม คิดเป็น 21% อย่างไรก็ตาม จ๊อบส์ ดีบี มีกำหนดจัดมหกรรมหางานออนไลน์ ในช่วงเดือนกันยายน ที่กำลังจะมาถึง

น.ส.พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จ๊อบส์ ดีบี ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ตลาดแรงงานไทยหลังวิกฤตการณ์โควิดระลอกที่ 3 และ 4 ในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2564 พบว่า ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 อัตราการว่างงานรายไตรมาสในประเทศไทยสูงสุดเมื่อเทียบกับ 5 ปีย้อนหลัง และสูงที่สุดตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด อยู่ที่ 1.96% ในขณะที่จำนวนความต้องการแรงงานในประเทศไทยทั้งจากบนแพลตฟอร์มหางาน และช่องทางสื่อกลางออนไลน์อื่นๆในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2564 ฟื้นขึ้นมา 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563

ทั้งนี้จากข้อมูลจำนวนประกาศงานบน จ๊อบส์ ดีบี ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 พบว่า กลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1) สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 15.3% 2) สายงานไอที คิดเป็น 14.8% 3) สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 10.0% ในขณะที่กลุ่มสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุด ได้แก่ 1) สายงานการจัดซื้อ คิดเป็น +43.0% 2) สายงานขนส่ง คิดเป็น +37.4% 3) สายงานประกันภัย คิดเป็น +36.4%

ในด้านการฟื้นตัวของภาคธุรกิจโดยพิจารณาจำนวนความต้องการแรงงาน พบว่า ธุรกิจที่มีสัดส่วนจำนวนประกาศงานสูงสุด ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจไอที คิดเป็น 9.6% 2) กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็น 6.2% 3) กลุ่มธุรกิจการค้าปลีก-ส่ง คิดเป็น 5.5% และธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็น +52.6% 2) กลุ่มธุรกิจประกันภัย คิดเป็น +48.0% 3) กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็น +41.7% นอกจากนี้ยังพบว่า อัตราการแข่งขันลดลงในเชิงจำนวนอยู่ที่ 80 ใบสมัครต่อ 1 ประกาศงาน และยอดจำนวนใบสมัครงานเพิ่มขึ้น 12%

นอกจากนี้ จ๊อบส์ ดีบี ยังได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของโลกอย่าง บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) และ เดอะ เน็ตเวิร์ก (The Network) ได้ทำแบบสำรวจ “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนทางานยุคใหม่” (Global Talent Survey) ซึ่งมีบทสรุปรายงานด้วยกัน 3 ฉบับ ได้แก่ “รายงานฉบับที่ 1 : Where – สถานที่ทำงานแบบไหนที่คนทำงานยุคใหม่ต้องการ และการทำงานแบบเวอร์ชวล” “รายงานฉบับที่ 2 : How - วิถีชีวิตเปลี่ยน พนักงานต้องการทำงานแบบไหน” และ “รายงานฉบับที่ 3 : What – เจาะลึกความต้องการ งานอะไรที่คนทำงานอยากทำมากที่สุด” โดยสำรวจความคิดเห็นคนทำงานกว่า 200,000 คน ใน 190 ประเทศ จาก 20 กลุ่มอาชีพ จัดทำขึ้นในช่วงปลายปี 2020 เพื่อศึกษาเทรนด์ของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปในหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19

จากรายงานพบว่า หลังวิกฤตโควิด คนทำงานเปลี่ยนความคิดเรื่องวิถีในการเลือกสถานที่ทำงาน โดยคนทำงานสามารถปรับตัวกับการทำงานระยะไกลได้ดีขึ้น โดยกว่า 73% ของคนทำงานเลือกที่จะทำงานแบบผสมผสานระหว่างการทำงานที่ออฟฟิศสลับกับการทำงานระยะไกล และความต้องการในการเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลา ลดลงเหลือเพียงแค่ 7% นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจัยหลักที่คนทำงานให้ความสำคัญมากที่สุดในการเข้าทำงานหลังวิกฤตโควิด-19 ได้แก่ 1) อัตราเงินเดือนและผลตอบแทน 2) ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน 3) ความรู้สึกภาคภูมิใจกับงาน

ทั้งนี้ในส่วนของการเปิดรับต่อการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่เพิ่มเติม พบว่า 71% ของคนไทยในช่วงอายุ 21 – 40 ปี มีความพร้อมในการพัฒนาทักษะเดิมและการสร้างทักษะสำหรับบทบาทงานใหม่ โดยสายงานที่ต้องการฝึกอบรมทักษะใหม่ อาทิ สายงานช่างและการผลิต สายงานสื่อและสารสนเทศ สายงานขาย ในด้านช่องทางการเรียนรู้ที่คนทำงานในประเทศไทยใช้ในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพมากที่สุด ได้แก่ 1) การสอนงานขณะปฏิบัติงาน 2) การเรียนรู้ด้วยตัวเอง 3) สถาบันการศึกษาออนไลน์ ตามลำดับ

โดยยิ่งไปกว่านั้นจากวิกฤตโควิด-19 ยังได้ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนดัชนีเชิงบวกในการทำงาน ได้แก่ 1) การใช้เครื่องมือดิจิทัล อยู่ในระดับ 0.80 คะแนน 2) ความร่วมมือภายในทีม อยู่ในระดับ 0.46 คะแนน 3) ความยืดหยุ่นในการทำงาน อยู่ในระดับ 0.44 คะแนน ซึ่งดีกว่าค่าคะแนนทั่วโลก รวมถึงยังพบว่าคนทำงานรุ่นใหม่จำนวน 53% จะไม่เลือกเข้าทำงานกับองค์กรที่ไม่มีค่านิยมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามที่คาดหวัง และคนทำงานในภาพรวมจำนวน 63% จะไม่เลือกเข้าทำงานกับองค์กรที่ไม่สนับสนุนเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศและวัฒนธรรมความเชื่อ

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด จ๊อบส์ ดีบี ในฐานะแพลตฟอร์มหางานชั้นนำของเอเชีย กำหนดการจัดมหกรรมหางานออนไลน์ ในช่วงเดือนกันยายน ที่กำลังจะมาถึง

ที่มา: สยามรัฐ, 4/8/2564

อนุมัติงบกลาง 407 ล้านบาท อบรม-ฝึกอาชีพแรงงานกลับถิ่นฐาน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น กรอบวงเงิน 407ล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ

โดยอว.ระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ทำให้ประชาชนในภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งทางเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นจะดำเนินการรวบรวมกลุ่มสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และต้องการกลับสู่ถิ่นฐานเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาการเกษตรของชุมชน มาเข้าสู่โครงการอบรมฯนี้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นภาคเหนือ 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 21 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคตะวันตก 5 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด รวม 2,574 กลุ่ม จำนวน 25,740 ราย

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า สำหรับโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP) พืชและเห็ดเศรษฐกิจ หมอดินNew Normal และพืชสมุนไพร รวมทั้งเพื่อรองรับแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นทักษะอาชีพด้านการเกษตรด้วยศาสตร์พระราชา เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 เพื่อเป็นทางรอดและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน และเพื่อสร้างต้นแบบศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี และส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้รวม 514.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ย 200,000 บาท/ปี/ครัวเรือนหรือต่อเครือข่าย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 3/8/2564

‘ครม.’ ขยายมาตรการช่วยเหลือแรงงาน-ผู้ประกอบการ 29 จว.พื้นที่สีแดงเข้ม ปรับกรอบวงเงินเพิ่มเป็น 6 หมื่นล้าน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน ผู้ประกอบการ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พร้อมขยายกรอบวงเงินการให้ความช่วยเหลือ เพิ่มเป็น 60,000 ล้านบาท จากเดิม 30,000 ล้านบาท รายละเอียด ดังนี้ 1.ปรับเพิ่มพื้นที่ดำเนินการจากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ได้แก่ กทม. กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยะลา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สุพรรณบุรีและอ่างทอง

นายอนุชากล่าวต่อว่า 2.กลุ่มเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ ยังคงครอบคลุมกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่อยู่ในระบบประกันสังคม 3.ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ คือ กิจการในระบบประกันสังคมจะครอบคลุม 9 สาขาและในกลุ่มผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะในปัจจุบันที่ผ่านการคัดกรองแล้วและไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิจากกระทรวงการคลัง จำนวน 5 กลุ่ม 4.รูปแบบการให้ความช่วยเหลือเป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม และ 5.ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ กลุ่ม 13 จังหวัดเดิม ได้แก่ กรกฎาคม-สิงหาคม 2564 (2 เดือน) กลุ่ม 16 จังหวัดที่เพิ่มเติม คือ สิงหาคม 2564 (1 เดือน)

“กระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายให้เร่งจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทำให้ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการลดผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม เพื่อนำเข้าที่ประชุมเพื่อให้ ครม.พิจารณาต่อไป” นายอนุชากล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 3/8/2564

คนขับแท็กซี่อายุ 65 ปีลงมา สามารถสมัครประกันสังคม ม.40 เพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาทได้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับข้อร้องเรียนจากนายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย กรณีคนขับแท็กซี่ที่มีอายุ 65 ปีลงมา และมีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด สามารถสมัครมาตรา 40 เพื่อจะได้รับการเยียวยา 5,000 บาท ซึ่งจะครบทุกคนหรือไม่นั้นว่า ในเรื่องนี้มีระบบการตรวจสอบอยู่แล้ว หากมีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะและอยู่ในพื้นที่ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดจะได้รับการเยียวยา ส่วนกรณีอายุเกิน 65 ปี กระทรวงแรงงานจะหารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อแก้ไขระเบียบหลักเกณฑ์ และนำเข้าคณะรัฐมนตรี ส่วนกลุ่มที่ตกหล่นยังไม่ได้ลงทะเบียนจะนำเข้าคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อไม่ให้มีการตกหล่น ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรีได้ในวันที่ 10 สิงหาคม เพื่อให้สามารถโอนเงินเยียวยา 5,000 บาท ได้ในวันที่ 24 ส.ค. 2564 นี้

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 2/8/2564

ส.อ.ท.เปิดผลสำรวจโควิด-19 กระทบแรงงานขาดฉุดการผลิต-จ้างงานลดลง จี้รัฐเร่งฉีดวัคซีนกลุ่ม ม.33

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 8 ในเดือนกรกฎาคม 2564 ภายใต้หัวข้อ “การจัดการปัญหาแรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19” พบว่าผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่มองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น จนส่งผลทำให้กำลังการผลิตลดลงและกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นี้ จึงเสนอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 ในสถานประกอบการ รวมทั้งรักษาศักยภาพในการผลิตและการส่งออกของประเทศ

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 166 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 75 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า อัตราการจ้างงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดนั้น ส่วนใหญ่ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถคงอัตราการจ้างงานเท่าเดิม คิดเป็น 53.6% มีการจ้างงานลดลง 10-20% คิดเป็น 31.3% มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 10-20% คิดเป็น 10.3% และมีการจ้างงานลดลงมากว่า 50% คิดเป็น 4.8%

ในส่วนของผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พบว่าโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนได้รับผลกระทบทำให้ต้องลดกำลังการผลิตลงน้อยกว่า 30% คิดเป็น 45.2% โรงงานที่ไม่ได้รับผลกระทบคิดเป็น 26.5% โรงงานที่กำลังการผลิตลดลง 30-50% คิดเป็น 20.5% และโรงงานที่กำลังการผลิตลดลงมากกว่า 50% คิดเป็น 7.8% เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ แรงงานบางส่วนต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาโรค หรือกักตัว รวมทั้งการปิดโรงงานชั่วคราวตามข้อกำหนด คิดเป็น 51.8% รองลงมา สถานประกอบการไม่สามารถหาแรงงานสัญชาติไทยได้เพียงพอต่อความต้องการ คิดเป็น 49.4% และมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกพื้นที่ของแรงงานข้ามจังหวัดคิดเป็น 41.6%

สำหรับมาตรการที่ภาครัฐควรนำมาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การสนับสนุนเงินอุดหนุนในการจ้างแรงงานไทย และขยายโครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ คิดเป็น 50% รองลงมาเป็นการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมทดแทนการใช้แรงงาน คิดเป็น 48.8% และการอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU เฉพาะแรงงานที่ได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้ว มีการทำประกันสุขภาพ และต้องผ่านการกักตัว 14 วัน เข้ามาทำงาน คิดเป็น 45.8%

กรณีที่ภาครัฐจะมีการเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU ควรมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องใด พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การเตรียมความพร้อมระบบคัดกรอง ติดตาม และประเมินสถานประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว คิดเป็น 69.9% รองลงมา การจัดตั้งศูนย์ One Stop Service สำหรับนายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว คิดเป็น 66.9% และการปรับลดขั้นตอนเอกสารที่ไม่จำเป็น และปรับมาดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็น 65.1%

ทั้งนี้ FTI Poll ยังได้เจาะลึกถึงมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานประกอบการอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การเร่งจัดหาวัคซีนและเร่งฉีดให้แรงงาน ม.33 คิดเป็น 92.8% รองลงมา การสนับสนุนด้านการรักษาพยาบาลแรงงานที่ติดเชื้อ และสนับสนุนยา อาหาร และเวชภัณฑ์ให้แก่แรงงานที่ติดเชื้อในการรักษาตัวที่บ้าน (Home isolation) คิดเป็น 69.9% และการลดเงินสมทบประกันสังคมเหลือ 1% ถึงสิ้นปี 2564 คิดเป็น 66.9%

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท.ยังมองว่ามาตรการที่ภาคเอกชนมีความพร้อมและสามารถที่จะดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในสถานประกอบการได้ พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การมีระบบคัดกรองแรงงานก่อนเข้าโรงงาน และการเฝ้าระวังผู้ปฏิบัติงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงตามมาตรการ Bubble & Seal คิดเป็น 83.1% รองลงมา การจัดหาวัคซีนทางเลือกให้แก่แรงงานในสถานประกอบการ คิดเป็น 68.1% และการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด (D-M-H-T-T-A) คิดเป็น 65.7%

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 2/8/2564

ไทยไลอ้อนแอร์หยุดบินยื่นประกันสังคมเยียวยาพนักงาน

สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ออกประกาศ แจ้งหยุดกิจการชั่วคราว (เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา) เนื่องจากเหตุสุดวิสัยตามมาตรการของภาครัฐ โดยได้แจ้งพนักงานว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ยังมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และตามที่มีประกาศมาตรการของภาครัฐ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประกาศจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แนว ปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศในเส้นทางการ บินภายในประเทศ ในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระมาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2564

ข้อ 3 ห้ามมิให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศปฏิบัติการบินรับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออกพื้นที่ที่ กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ซึ่งมีผลบัง คับใช้ ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะ สิ้นสุดไป หรือมีประกาศอื่นใด

จากการติดตามตัวเลขจำนวนยอดผู้ติดเชื้อ รายวันซึ่งยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีท่าทีจะลดลงนั้น (อ้างอิง : ศูนย์ ข้อมูล Covid-19 กรมประชาสัม พันธ์ )

สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ซึ่งมีฐานปฏิบัติการในพื้นที่สีแดงเข้ม จึงไม่สามารถปฏิบัติ การบินได้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 จนถึงปัจจุบันและจะยังคงไม่สามารถปฏิบัติการบินได้อีกระยะหนึ่ง

ด้วยเหตุดังกล่าวบริษัทจึงมีคำสั่งให้พนักงานพักงานด้วยเหตุสุดวิสัยนี้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคมเป็นต้นมา โดยฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะดำเนินการเพื่อขอรับประ โยชน์ทดแทนจากสำนักงานประกันสังคมให้พนักงาน ทั้งนี้ทางบริษัทจะพิจารณาเงินเยียวยาตามความเหมาะสมให้ต่อไป

โดยจะประกาศให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง ทางสายการบินฯ ขอให้พนักงานทุกท่านเชื่อมั่นว่ามาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการระยะ สั้นเท่านั้น และเราพร้อมจะกลับมาปฏิบัติการบินทันที เมื่อได้รับอนุญาตจากภาครัฐ

ที่มา: TNN,1/8/2564

เตรียมโรงแรม 21 แห่ง รองรับแรงงานไทยจากต่างประเทศเดินทางกลับบ้าน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด–19 ยกเลิกสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine: SQ) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา จึงมอบหมายกรมการจัดหางานจัดเตรียมสถานที่กักกันแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากการทำงานในต่างประเทศ โดยเชิญชวนสถานประกอบการธุรกิจโรงแรมที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเป็นสถานที่กักกันทางเลือก (Alternative Quarantine: AQ) จากกระทรวงสาธารณสุข

ซึ่งมีสถานประกอบการที่สนใจเสนออัตราค่าใช้จ่ายสำหรับการบริการแบบครบวงจร ในราคาพิเศษสำหรับแรงงานไทย จำนวน 87 แห่ง หลังพิจารณาจากอัตราค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและคุ้มค่าสำหรับแรงงานแล้ว คณะทำงานได้คัดเลือกสถานประกอบการธุรกิจโรงแรมเข้าร่วมเป็นสถานที่กักกันทางเลือก (AQ) ทั้งสิ้นจำนวน 21 แห่ง โดยมีให้เลือกทั้งแบบห้องพักเดี่ยว และห้องพักคู่ มีค่าใช้จ่ายการบริการแบบครบวงจรตลอดระยะเวลาการกักตัว 14 วัน แบ่งเป็นห้องพักเดี่ยว 20,000 – 24,000 บาท/ห้อง และห้องพักคู่ 32,450 – 47,800 บาท/ห้อง ขึ้นอยู่กับโรงแรมที่ผู้ใช้บริการสมัครใจเลือก ซึ่งนอกจากช่วยให้แรงงานไทยประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งได้ใช้บริการสถานที่กักกันที่มีมาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรคแล้ว ค่าใช้จ่ายที่แรงงานจ่ายยังสร้างรายได้ให้สถานประกอบการธุรกิจโรงแรมที่ประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิดไปพร้อมกัน

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การจองสถานที่กักกันทางเลือก (Alternative Quarantine: AQ) สำหรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากการทำงานในต่างประเทศ จะต้องแนบสำเนาแบบรายการการเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร (แบบจง. 12) หรือสำเนาหลักฐานรอยตราประทับของพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจคนหางานที่แสดงว่าแรงงานไทยนั้นได้แจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

กรณีแรงงานไทยไม่มีเอกสารหรือหลักฐานดังกล่าว ให้ติดต่อขอรับหนังสือรับรองการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ณ สำนักงานแรงงานไทย สถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยที่ประจำอยู่ในประเทศที่แรงงานนั้นทำงานอยู่ โดยแรงงานไทยเป็นผู้ดำเนินการจองสถานที่กักกันและชำระค่าใช้จ่ายเต็มจำนวนแก่สถานประกอบการจนแล้วเสร็จก่อนเดินทางกลับ เพื่อนำเอกสารการจองห้องพักประกอบการยื่นขอใบ Certificate of entry: COE เพื่อเข้าราชอาณาจักรกับสถานเอกอัครราชทูตในประเทศนั้นๆ ซึ่งหากแรงงานไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง สามารถติดต่อสำนักงานแรงงานในต่างประเทศหรือสถานเอกอัครราชทูตในประเทศนั้นๆ ให้ช่วยดำเนินการ หรือประสานกับเจ้าหน้าที่ของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศเพื่อติดต่อญาติในประเทศไทยให้ดำเนินการได้

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 31/7/2564

"กลุ่มหกล้อ - แบคโฮ" เรียกร้องพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

กลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุก 6 ล้อ และรถแบคโฮในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล นำรถบรรทุกที่มาร้องเรียนที่กระทรวงการคลัง เพื่อให้ช่วยเหลือการผ่อนปรนระบบไฟแนนซ์ที่ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการรายได้ลดลง จากสถานการณ์โควิด-19 แต่ต้องจ่ายชำระกับสถาบันการเงิน

นายเจริญชัย หอมนาน ตัวแทนผู้ประกอบการรถบรรทุก 6 ล้อ และรถแบคโฮ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการกว่า 10,000 คน เริ่มประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากไม่มีคนจ้างงาน และรายได้ลดน้อยลง แต่การผ่อนจ่ายค่างวดรถ และค่าครองชีพประมาณเดือนละ 60,000 บาท ยังอยู่เหมือนเดิม

โดยสถาบันการเงินบางแห่งเริ่มติดตามทวงถามการผ่อนจ่ายแล้ว จึงอยากขอให้กระทรวงการคลังพูดคุยกับสถาบันการเงินและขอให้พักชำระหนี้ ทั้งต้นและดอกเบี้ย เพราะบางแห่งแม้จะให้พักผ่อนจ่าย แต่ยังคิดดอกเบี้ย หรือให้จ่ายค่างวดครบ 3 เดือน ในเดือนที่ 4 ทำให้ได้รับผลกระทบ

ขณะที่นายชื่นชอบ คงอุดม ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมารับหนังสือร้องเรียนกับตัวแทน กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะนำข้อร้องเรียนของกลุ่มผู้ประกอบการไปตรวจสอบ เนื่องจากแต่ละคนมีประเด็นที่แตกต่างกัน และแม้ว่าแนวทางของกระทรวงที่ออกมาให้พักชำระหนี้อย่างน้อย 2 เดือน แต่ยังไม่ครอบคลุมกับผู้ประกอบการบางกลุ่ม โดยเรื่องนี้ทางกระทรวงและจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาความเดือดร้อนในเรื่องดังกล่าวด้วย

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุก ระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนกับกรรมาธิการแรงงานของสภาผู้แทนราษฎรไว้แล้ว ส่วนความเดือดร้อนของผู้ประกอบการหลายคนขณะนี้ที่รับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวก็ต้องยอมให้ยึดรถคืนไปบ้างแล้ว

ที่มา: Thai PBS, 30/7/2564

โรงงานเริ่มทำ Bubble and seal จี้ขอวัคซีนจากรัฐให้แรงงาน ม.33

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการร่วมหารือกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงกระทรวงแรงงาน โดย ส.อ.ท.ได้ชี้แจงถึงความเดือนร้อนด้วยสถานการณ์ตอนนี้คือแรงงานภาคอุตสาหกรรม ม.33 เคว้ง มีอัตราการฉีดวัคซีนค่อนข้างต่ำเพียงแค่ 10% เท่านั้นเพราะไม่มีวัคซีนให้ฉีด ขณะที่กระทรวงแรงงานเองจะพยายามจัดสรรให้ภายในเดือน ส.ค. 2564 นี้ 8 แสนโดส แต่ยังคงไม่เพียงพอ จึงขอเพิ่มเป็น 1.5 ล้านโดส ขณะเดียวกันก็ได้หารือกับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ขอวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอีก

ทั้งนี้หลังจากที่ ส.อ.ท. ได้จัดตั้ง “คณะทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19” อย่างเร่งด่วนภายใต้มาตรการ “ป้องกัน รักษา เยียวยา” เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน สังคม สมาชิกและผู้ประกอบการไทยนั้น ส.อ.ท. ยังได้จัดเตรียมแนวทางการป้องกันและรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในภาคอุตสาหกรรม โดยจะเริ่ม 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.การจัดอบรมวิธีการใช้ชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน ATK อย่างถูกต้อง โดยให้ตรวจอย่างน้อย 20% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด

2.การจัดอบรมการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการด้วยการทำ Bubble and seal โดยไม่ต้องปิดโรงงานสำหรับสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ส่วนสถานประกอบการที่มีพนักงานน้อยกว่า 200 คน แนะนำให้ใช้มาตรฐาน Thai Stop Covid ของกระทรวงอุตสาหกรรม และ 3.การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการรูปแบบ Community Isolation รับรองโดยสาธารณสุขจังหวัดและดูแลโดยโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคม ซึ่งสถานประกอบการแต่ละแห่งจะต้องมี Heathy Leader อย่างน้อย 2 คน

นอกจากนี้ จะมีการนำระบบแจ้งเตือนผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ (Exposure Notification Express: ENX) ที่พัฒนาขึ้นโดย Google และ Apple มาใช้เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดลดการติดเชื้อและการเสียชีวิต ซึ่ง ส.อ.ท. เสนอตัวเป็นผู้ดูแลระบบและประสานงาน โดยจะนำร่องเพื่อใช้งานในภาคอุตสาหกรรมก่อน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 30/7/2564

ศบค.ชี้โควิดระบาด ตจว.อีสาน-กลาง-เหนือ เหตุแรงงานกลับภูมิลำเนา ส่วนใต้ติดในพื้นที่

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ในช่วงตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.ภาพรวมการติดเชื้อในพื้นที่ต่างจังหวัด พบว่า เพิ่มขึ้นจากการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับไปในพื้นที่เดิม สำหรับจำนวนผู้ติดโควิด-19 รายเขต และรายจังหวัด จำแนกตามประเภทผู้ป่วยข้อมูล ณ วันที่ 23-29 ก.ค.นี้ จะเห็นว่า ภาคกลางและภาคเหนือมีผู้ที่ติดเชื้อในพื้นที่ โดยเฉพาะที่จังหวัดตาก พบว่า ติดเชื้อในพื้นที่เป็นจำนวนมาก จังหวัดสุโขทัย เป็นการนำเข้าเชื้อมาในพื้นที่ ส่วนในพื้นที่ภาคอีสานในเขต 7 ประกอบด้วย ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และขอนแก่น และเขต 8 ประกอบด้วย อุดรธานี สกลนคร นครพนม หนองบัวลำภู เลย หนองคาย และบึงกาฬ โดยทั้งเขต 7 และ เขต 8 พบว่า มีการนำเชื้อเข้ามาในพื้นที่ของแรงงานอย่างเห็นได้ชัด และเขต 9 ประกอบด้วย นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ และชัยภูมิ และเขต 10 ประกอบด้วย อุบลราชธานีศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ก็พบว่า มีการนำเชื้อเข้ามาในพื้นที่เช่นเดียว ส่วนภาคใต้ เขต 11 ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช ระนอง สุราษฎร์ธานี ชุมพร ภูเก็ต พังงา และกระบี่ เขต 12 ประกอบด้วย สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ตรัง และสตูล พบว่าเป็นการติดเชื้อในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 30/7/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท