เจ้าหน้าที่ กต.สหรัฐ คุยรัฐบาลคู่ขนาน NUG ยื่นมือช่วยต้านโควิด-19-หนุนพม่ากลับสู่เส้นทาง ปชต.

ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ กต.สหรัฐ หารือร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐบาลคู่ขนานพม่า (NUG) เมื่อวันที่ 5 ส.ค. หนุนพม่ากลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย พร้อมยื่นมือช่วยชาวเมียนมาช่วงวิกฤตโควิด-19

เวนดี เชอร์แมน จนท.กต.สหรัฐฯ ขณะประชุมออนไลน์กับ ซินหม่าอ่อง ตัวแทนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 64 (ที่มา เพจเฟซบุ๊ก U.S. Asia Pacific Media Hub)

5 ส.ค. 64 สำนักข่าวท้องถิ่น อิระวดี รายงานวันนี้ (5 ส.ค.) เวนดี เชอร์แมน เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ ประชุมผ่านระบบออนไลน์กับตัวแทนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เมื่อวันที่ 5 ส.ค. โดยครั้งนี้เป็นการคุยกันครั้งแรกระหว่างรัฐบาลวอชิงตัน และฝ่ายตรงข้ามกองทัพพม่าอีกด้วย

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG คือ รัฐบาลคู่ขนานซึ่งถูกตั้งขึ้นเมื่อเดือน เม.ย. หรือ 3 เดือนหลังทหารพม่าก่อการรัฐประหาร รัฐบาลนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขับเคี่ยว แย่งชิงบทบาทการนำประเทศเมียนมากับฝากฝั่งกองทัพ ทั้งนี้ คณะรัฐบาลส่วนใหญ่ประกอบด้วยนักการเมืองจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD นักสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมการเมืองรุ่นใหม่ ตลอดจนนักการเมืองฝั่งชาติพันธุ์ และก่อนหน้านี้ กองทัพพม่าเคยแปะป้ายรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย

รายงานจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ เผยด้วยว่า เวนดี เชอร์แมน หารือร่วมกับซินหม่าอ่อง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ แห่ง NUG ซึ่งก่อนหน้ารัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ซินหม่าอ่อง เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรค NLD และเคยเป็นนักโทษการเมือง

“เราหารือเรื่องความพยายามที่กำลังดำเนินอยู่ เพื่อพาพม่ากลับเข้าสู่เส้นทางแห่ง ‘ประชาธิปไตย’ รวมถึงสานต่อการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย (ในพม่า)” เนด ไพร์ซ กล่าวในแถลงการณ์ 

นอกจากวิกฤตการเมือง สถานการณ์ในเมียนมายังไม่ค่อยสู้ดี หลังเจอมรสุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสาม และการถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง 

กต.สหรัฐฯ ระบุในข่าวประชาสัมพันธ์ด้วยว่า “นอกจากนี้ เรามีการหารือถึงความพยายามในการต่อสู้ต่อการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพม่า และตระเตรียมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนพม่า” 

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรแบบเจาะจงมากที่สุดแก่ผู้ที่มีส่วนร่วมกับคณะรัฐประหาร อย่างนายพลพม่า สมาชิกครอบครัวของนายพล ตลอดจนบริษัทที่มีทหารเป็นหุ้นส่วน หรือเป็นเจ้าของ 

ขณะเดียวกัน แอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศแห่งสหรัฐ เคยประชุมทางไกลร่วมกับ รัฐมนตรีต่างประเทศชาติสมาชิกอาเซียน พร้อมเรียกร้องให้มีการใช้มาตรการกดดันกองทัพพม่า เพื่อยุติความรุนแรง 

ทั้งนี้ รายงานสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP เผยตัวเลขนับตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหาร วันที่ 1 ก.พ. 64-4 ส.ค. 64 มีประชาชนเสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงของกองทัพพม่า ทั้งสิ้น 946 ราย มีผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น 7,051 ราย และถูกจองจำ 5,495 ราย 

 

แปลและเรียบเรียง

Senior US Diplomat Speaks With Myanmar’s Shadow Government

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท