Skip to main content
sharethis

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองและกลุ่มชาวบ้านตำบลนาโกไม่เอาเหมืองแร่ ยื่นหนังสือถึง ผวจ.กาฬสินธุ์ ให้ยกเลิกคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ ชี้ผลกระทบต่อชาวบ้านหลายพันครัวเรือน เหตุอยู่ใกล้แหล่งน้ำซับซึมซึ่งเป็นต้นน้ำของชาวบ้าน ขณะที่พ่อเมืองน้ำดำรับลูกรื้อกระบวนการใหม่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม

ยื่นหนังสือถึง ผวจ.กาฬสินธุ์ ให้ยกเลิกคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทรายแก้ว

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2564 ที่ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์วันนี้ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมือง และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนนาโกไม่เอาเหมืองแร่  อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ได้เดินทางเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์เพื่อยื่นหนังสือขอให้ยกเลิกคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทรายแก้วของบริษัทเอกชนสามแห่งที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตในพื้นที่

โดยก่อนร่วมประชุมนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ได้กล่าวกับตัวแทนนักปกป้องสิทธิว่า เรามาคุยกันเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งจริงๆแล้วตนไม่ทราบข้อมูลของปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะไม่ได้จับเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น แต่วันนี้ตนเข้ามาเองอยากจะมาทราบข้อมูลด้วย  แต่อยากจะเรียนแจ้งกับชาวบ้านในวันนี้ว่าการประชุมในการพิจารณาแก้ไขปัญหาในครั้งนี้เราทำกันในรูปแบบของคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยเหตุด้วยผลดังนั้นการพูดจากในที่ประชุมจะต้องประกอบด้วยเหตุด้วยผล การใช้อารมณ์ความรู้สึกหรือคำพูดที่รุนแรง หรือคำพูดในลักษณะที่หยาบคายหรือแสดงความเกรี้ยวกราดไม่ได้ อยากให้ใช้คำพูดที่เหมาะสมเป็นสุภาพชนกัน ต้องคำนึงถึงความรู้ของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่นคำพูดที่ว่าจะขับไล่ผู้ว่านั้นดูแรงไปดูไม่มีเหตุไม่มีผลไม่สมควรจะใช้คำพูดลักษณแบบนี้ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่เคยเจอกันแต่ใช้คำพูดในลักษณะเช่นนี้ถ้าเป็นสุภาพชนไม่พึงกระทำ ถ้าท่านใดใช้คำพูดไม่เหมาะสมถ้าท่านไม่ออกผมออกเอง 

หลังจากนั้นตัวแทนของ นักปกป้องสิทธิกลุ่มฅนเหล่าไฮงามฯ  และนักปกป้องสิทธิกลุ่มคนนาโกฯ  ได้ร่วมกันสะท้อนถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่หากมีการทำเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่โดยนายบุญถม  ทะเสนฮด นักป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มคนนาโก ไม่เอาเหมืองแร่  ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านระบุว่า ตนอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มาอย่างยาวนานพื้นที่ที่เขาจะมีการทำเหมืองเป็นพื้นที่ตาน้ำเป็นแหล่งต้นน้ำของชุมชนหากมีการทำเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่จริง  จะทำให้ภูมิทัศน์ เสียภูมิประเทศ เสียที่ทำมากินของชาวบ้าน และผิดพรบ.แร่ปีพ.ศ.2560 มาตราที่ 17 วรรค 4 ที่ห้ามไม่ให้มีการทำเหมืองในพื้นที่น้ำซับซึม ตำบลนาโกเป็นตำบลที่มีข้าวเหนียวพันธ์ุกาฬสินธุ์ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพถ้าเกิดไปทำเหมืองก็จะทำให้พื้นที่ทำมาหากินพื้นที่ปลูกข้าวของเราเสียหาย และถนนก็จะเสียหายหากมีการบรรทุกทรายเกินน้ำหนัก ถนนหนทางจะทรุดโทรมทำให้เกิดอุบัติเหตุ และมีฝุ่น ดังนั้นที่มาในวันนี้ก็หวังว่าผู้ว่าราชการจังหวัดและอุตสาหกรรมจังหวัดคงจะให้ยุติการออกประทานบัตรและการประกาศเหมืองทั้งสองฉบับนี้อยากให้เห็นแก่ลูกหลานของเราในอนาคตต่อไป

ขณะที่นาง สรวีย์ พลกุล ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มคนนาโกไม่เอาเหมืองแร่อีกหนึ่งตัวแทนของชาวบ้านระบุว่า ตาน้ำของภาคอีสานจะไม่เหมือนกับตาน้ำของภาคอื่นตาน้ำของเราจะมีลักษณะเล็กและมีน้ำผุดอยู่ตลอดทั้งปี ซึ่งบริเวณพื้นที่ที่มีการขอทำเหมืองห่างจากตาน้ำเพียงแค่ 100 เมตร เรามีความสงสัยในหนังสือของทางจังหวัดที่กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เข้าไปตรวจสอบตาน้ำ การเข้าไปตรวจสอบใช้อะไรเป็นนิยามว่าตาน้ำแก้งหลงของเราไม่ใช่แหล่งน้ำซับซึม และหลักฐานที่ใช้กล่าวอ้างว่าไม่ใช่แหล่งน้ำซับซึมคืออะไร เพราะตรงส่วนนี้เราไม่ได้รับหนังสือแจ้งอะไรจากเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปทำการตรวจสอบเลย ในขณะที่ชาวบ้านมีพยานบุคคล มีภูมิปัญญา มีประวัติศาสตร์ที่จะใช้ยืนยันถึงการเป็นแหล่งน้ำซับซึมได้ ซึ่งหากมีการสร้างเหมืองในพื้นที่ดังกล่าวจริงจะทำให้สารเคมีจากการทำเหมืองไหลปนเปื้อนในแม่น้ำทั้งสามสายของเราแน่ นอกจากนี้ยังจะส่งผลกระทบด้านอื่นๆที่อีกเช่น ถนนดินเสื่อมโทรม ระบบการเกษตรของเราจะเปลี่ยนเพราะขาดน้ำที่ใช้ในการทำการเกษตร

ทั้งนี้หลังจากรับฟังข้อร้องเรียนจากตัวแทนชาวบ้านแล้วนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์กล่าวว่า ชาวบ้านมีสิทธิในการยื่นคำขอจะต้องได้รับสิทธินั้น ส่วนการพิจารณาคำขอเป็นไปตามกระบวนการของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งวันนี้ตนได้รับฟังข้อมูลจากชุมชน สิทธิชุมชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญจะต้องพึงมี ซึ่ง กม.รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2560 ได้เปิดให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดังนั้นการจะทำอะไรหรือกม.ต่างๆก็ต้องคำนึงถึงสิทธิของชุมชนนั้น ๆ ด้วย และในเมื่อยังมีปัญหาอยู่ตนก็คงไม่สามารถที่จะให้หน่วยงานเดินหน้าทำตามคำขอของผู้ประกอบการโดยที่ยังไม่ได้ตอบคำถามของชุมชนได้หมดจดทุกข้อคำถามไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำซึมน้ำซับ ซึ่งบริเวณแหล่างนั้นอาจจะต้องเป็นแหล่งของป่าต้นน้ำลำธารหรือเรื่องของกรรมสิทธิ์ และเรื่องของพื้นที่ต่างๆที่ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นมาคงต้องให้มีการตรวจสอบใหม่ทั้งหมดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมิใช่หน่วยงานอุตสาหกรรมหน่วงงานเดียว แต่หน่วยงานทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบ

“ ในขณะเดียวกันผมจะเชิญผู้ที่ยื่นคำขอทุกท่านมายืนยันความประสงค์ว่ายังคงจะยื่นคำขอเพื่อขอรับประทานบัตรเหมือแร่ทรายแก้วในพื้นที่นั้นอยู่อีกหรือไม่ จะเชิญมาสอบถามผลเป็นอย่างไรจะแจ้งให้ทราบ และในช่วงนี้เป็นช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดการจะจัดให้มีการประชุมใดๆ ยกตัวอย่างเช่นการประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นต่างๆในพื้นที่ตามหลักเกณฑ์ของทางอุตสาหกรรมที่เป็นองค์ประกอบของการได้มาซึ่งสัมปทานยังไม่สามารถจัดได้ แม้กม.จะกำหนดระยะเวลาไว้ก็ไม่สามารถจัดได้เนื่องจากมีคำสั่งจากศบค.โดยระบุว่าจังหวัดเราเป็นพื้นที่สีแดงการจัดชุมนุมประชุมอบรมสัมมนาต่างๆเกิน 20 คนไม่สามารถทำได้” ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์กล่าว

ขณะที่ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุว่าในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ เราห่วงใยผู้ที่มีบทบาทในการที่ปกป้องสิทธิชุมชน หลังจากที่มีการร้องขอให้เราประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดการฬสินธุให้ดูแลในเรื่องความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิเราก็ดำเนินการได้ทันที และที่ชาวบ้านกังวลว่าจะถูกทำร้ายก็เป็นหลักการและเจตนารมณ์ของกสม.ที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ อยู่แล้วดังนั้นการประสานงานให้เราประสานงานกับผู้ว่าก็เป็นสิ่งที่เราช่วยได้ในสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่หากในกรณีของการที่บริษัทขอประทานบัตรทำเหมืองแร่แล้วชาวบ้านคิดว่าไม่มีความโปร่งใสนั้น ก็สามารถส่งเรื่องร้องเรียนมาให้กสม.ตรวจสอบได้ เพื่อให้กระบวนการขั้นตอนตามกฎหมายในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตัดสินใจและมีความโปร่งใสได้จริง ซึ่งกสม.จะช่วยจัดหาผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในด้านสิ่งแวดล้อมสุขภาพช่วยพิจารณาได้ว่ารายงานข้อมูลที่ขออนุญาตสร้างเหมืองในพื้นที่นั้นมีความเหมาะสมในเชิงพื้นที่หรือไม่ ซึ่งกสม.จะช่วยเรียกข้อมูจากหน่วยงานรัฐมาเปิดเผยให้กับประชาชนเพื่อให้ขั้นตอนมีความโปร่งใสได้ส่วนจะมีโครงการหรือไม่มีโครงการนั้นก็เป็นการตัดสินใจของประชาชนในพื้นที่

สำหรับข้อกังวลเรื่องผลกระทบ การทำเหมืองทรายแก้ว ตำบลเหล่าไฮงาม อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัด กาฬสินธุ์ ที่ มีความเห็นว่าเป็นปัญหามีดังนี้

• ในพื้นที่ตาน้ำหนองจัน ซึ่งเป็นต้นน้ำไหลลงไปสู่ร่องน้ำลำห้วยเพื่อให้ชาวบ้านใช้ในการเกษตร การที่กฎหมายแร่กำหมดว่าไม่ให้ทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต้นน้ำและป่าน้ำซับซึม ตาม พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 มาตรา 17 วรรค 4 ก็ระบุว่า "พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามเข้าใช้ประโยชน์เด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม"

• หากการนำเอาแร่จากพื้นที่อื่นนอกเขตคำขอประทานบัตรมาไว้ในพื้นที่คำขอประทานบัตรจะต้องรวมเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่คำขอประทานบัตร ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า การแสดงเขตคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้วที่เอกชนยื่นต่ออุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ,การขนย้ายแร่ทรายแก้วโดยที่ยังไม่ได้รับประทานบัตรอาจจะเข้าข่ายการลักลอบทำเหมืองแร่ธาตุทรายแก้วโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งชาวบ้านเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการตรวจสอบ และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการลักลอบทำเหมืองแร่ทรายแก้วเถื่อนและตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มาซึ่งการตรวจสอบยังไม่เป็นที่สิ้นสุด ฉะนั้นรับคำขอประทานบัตรของบริษัทเอกชนครั้งใหม่ ซึ่งเป็นการยื่นคำขอในพื้นที่เดิมที่ยังมีข้อพิพาท อาจจะขัดกฎหมายแร่ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 และมีความเสี่ยงที่จะเป็นการทำเหมืองแร่เถื่อน

• ในสภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วประเทศ อุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ได้การปิดประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่องขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น โดยไม่ได้สนใจความเดือดร้อนของนักปกป้องสิทธิฯในพื้นที่ ทำให้นักปกป้องสิทธิฯต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อที่จะคัดค้านและปกป้องสิทธิด้านทรัพยากรธรรมชาติของตนเองและชุมชนในสภาวะที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19  และการปิดประกาศที่ไม่ครอบคลุมพื้นที่ของผู้มีส่วนได้เสีย มีการปิดประกาศในพื้นที่ หมู่ 10 ของตำบลเหล่าไฮงาม เพียงหมู่เดียวเท่านั้น ทั้งที่ผู้ได้รับผลกระทบที่มีที่ดินทำกินติดกับพื้นที่ขอทำเหมืองแร่นั้นไม่ได้มีเฉพาะชาวบ้านหมู่ 10 เท่านั้น การเลือกปิดประกาศเพียงที่เดียว ย่อมเป็นการปิดกั้น และละเมิดสิทธิผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net