Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2564 ครป. และ 5 องค์กรประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชนแถลงข่าวห่วงใยสถานการณ์ความรุนแรง - 'กษิต' เสนอให้นายกฯ ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ผู้นำกองทัพและ ผบ.ตร.ร่วมหาทางออกให้บ้านเมือง

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2564 คณะกรรมการณรงค์เพื่อการปฏิรูปประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน ร่วมกันแถลงข้อห่วงใยต่อสถานการณ์ทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีแนวโน้มจะขยายความรุนแรงขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ และเรียกร้องให้รัฐใช้หลักสิทธิมนุษยชนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง อำนวยความสะดวกการชุมนุมและการควบคุมฝูงชนชุมนุมตามหลักปฏิบัติสากล ไม่ควรให้ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองพร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะเฉพาะหน้าเพื่อปลดล็อคความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ โดยให้นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทน์โอชา ลาออกจากตำแหน่งและใช้กลไกรัฐสภาเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกนายกฯ ใหม่ ส่วนการชุมนุมทางการเมืองให้เป็นตามกรอบรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชน 

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันจับตาสถานการณ์ความรุนแรงร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยสร้างบรรยากาศสันติประชาธรรมในการพูดคุยหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองโดยไม่ใช้ความรุนแรงทั้งกายภาพและทางวาจาที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) การจงใจยั่วยุหรือสร้างเงื่อนไขให้เกิดสถานการณ์ หรือสนับสนุนในการสร้างความรุนแรงทางสังคมหรือต่อผู้อื่น ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดอคติและความเกลียดชังทางสังคมจนเกิดการสนับสนุนให้เกิดการกระทำผิดทางอาญาจนเกิดความรุนแรงทางสังคมที่ขยายบานปลายออกไปได้ 

สืบเนื่องจากจะมีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยนำโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอดและ REDEM รวมถึงกลุ่มประชาชนปกป้องสถาบันฯ เกิดขึ้นพร้อมกันในวันพรุ่งนี้ คณะกรรมการณรงค์เพื่อการปฏิรูปประชาธิปไตย (ครป.) จึงได้จัดแถลงข่าวออนไลน์ข้อห่วงใยต่อสถานการณ์ทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น โดยนายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. ได้อ่านแถลงการณ์ 5 องค์กรประชาธิปไตยและสิทธิมนุษชน เรื่องการ "ใช้หลักสิทธิมนุษยชน หยุดอาชญากรรมแห่งรัฐและความรุนแรงทางสังคมโดยสันติ" ซึ่งประกอบด้วย โดย คณะกรรมการณรงค์เพื่อการปฏิรูปประชาธิปไตย (ครป.), คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และสถาบันสังคมประชาธิปไตย โดยเห็นว่าทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงทางสังคมในสถานการณ์ที่ประเทศเกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงนั้น ทุกฝ่ายโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องใช้หลักสิทธิมนุษยชนเป็นวิธีการจัดการปัญหา เพื่อหยุดอาชญากรรมแห่งรัฐและความรุนแรงทางสังคมโดยสันติ ซึงมีข้อห่วงใยต่อสถานการณ์ทางการเมืองและขอเรียกร้อง โดยสรุปสาระสำคัญ คือ 

1. คัดค้านการต่ออายุ พรก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 2 เดือน เนื่องจากประกาศใช้มากว่า 1 ปี 4 เดือนนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และเป็นการทำลายระบบนิติรัฐ-นิติธรรม ทำให้กลไกรัฐตามปกติไม่สามารถทำงานได้ รวมถึงคัดค้านการออกประกาศข้อกำหนด ฉบับที่ 30 ของนายกรัฐมนตรี และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ฉบับที่ 9 ของพล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นการรอนสิทธิ์พลเมืองและละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยข้ออ้างการระบาดของโรคโควิด ทั้งที่สามารถใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ได้ 

2. การชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อต่อต้านและขับไล่รัฐบาลนั้น เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างสันติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยและหลักสิทธิมนุษยชนที่กฎหมายอื่นจะเหนือกว่าไม่ได้ โดยเฉพาะเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ควรจะต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ใช้สิทธิทางการเมืองดังกล่าว และขอให้ผู้ชุมนุมจัดการชุมนุมโดยสันติ อดทน อดกลั้นและช่วยกันจัดการปัญหาเฉพาะหน้าไม่ให้เกิดการยั่วยุ การใช้ความรุนแรงและปลุกระดมความเกลียดชัง รวมถึงประสานงานเตรียมทีมแพทย์อาสากรณีมีคนบาดเจ็บเฉพาะหน้า ขอให้สถาบันการศึกษาและวัดเป็นพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone)

3. เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดความคิดการสลายการชุมนุมที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากการชุมนุมที่ผ่านมายังไม่ปรากฏลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงจนเป็นเหตุถึงขั้นที่รัฐบาลต้องตัดสินใจใช้มาตรการในการสลายการชุมนุมและพึงระวังการละเมิดหลักการสลายการชุมนุม กฎและมาตรฐานสากลในการใช้กำลัง และอย่าใช้ทหารเข้ามาแก้ปัญหาการเมือง โดยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อยุติความรุนแรงและการสร้างเงื่อนไขการปะทะ โดยออกมาตรการเท่าที่จำเป็นเพื่อปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่ากับประชาชนกลุ่มใด 

4. ขอเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อรับผิดชอบต่อปัญหาความแตกแยกรุนแรงที่เกิดขึ้นและสามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ หาไม่แล้วการหลงยึดติดในอำนาจอาจทำให้สังคมเกิดกลียุคขึ้นในไม่ช้า

5. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมืองร่วมกัน โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างจริงจัง และเน้นการเจรจาในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญจะต้องเข้ามามีบทบาทในการยุติการขยายความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง รวมถึงบทบาทของรัฐสภาในการหาทางออกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ขอให้รัฐสภาเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเร่งด่วนเพื่อเป็นทางออกในวิกฤตประชาธิปไตย รวมถึงการปฏิรูปสถาบันต่างๆ ให้ส่งเสริมและสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลให้มีการเสนอเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยขอให้สมาชิกจากพรรคร่วมรัฐบาลยกมือออกเสียงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อแสดงความรับผิดชอบร่วมกันก่อนสถานการณ์จะบานปลายจนไร้ทางออก

นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธาน ครป. ได้เน้นย้ำการเจรจาหาทางออกเป็นกลไกสำคัญในการคลี่คลายความขัดแย้ง โดยขอให้รัฐยุติการฟ้องร้องและการจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองซึ่งสร้างความขัดแย้งและความร้าวฉานของสังคม รวมถึงสร้างภาระให้กระบวนการยุติธรรม ขอให้กลุ่มมวลชนหรือผู้ที่มีความเห็นต่างหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรงกับการชุมนุมของกลุ่มที่เห็นต่างจนเกิดการปะทะขยายความขัดแย้งไปไกลเกินกว่าที่จะจัดการได้ เจ้าหน้าที่มีหน้าที่บริหารจัดการมิให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างผู้เห็นต่างที่ต่างก็มีกำลังของตนเองโดยเด็ดขาด

ประธาน ครป. กล่าวว่า รัฐบาลควรระงับการใช้กำลังอาวุธ ยึดแนวทางสันติวิธี  เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนทุกนาย ไม่สมควรพกพาอาวุธปืน หรือวัตถุระเบิดเข้าใกล้พื้นที่การชุมนุมโดยเด็ดขาด เพื่อแสดงความจริงใจในการบริหารจัดการชุมนุมตามหลักสันติวิธี เช่นเดียวกับฝ่ายผู้บริหารจัดการการชุมนุมก็ต้องกำชับให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมและฝ่ายรักษาความปลอดภัยยึดหลักสันติวิธีอย่างเคร่งครัด จึงจะเกิดความชอบธรรมแก่การปฏิบัติภารกิจ หากการใช้อาวุธตั้งอยู่บนฐานความรู้สึกที่ โกรธ เกลียดชัง และหวาดกลัว เต็มไปด้วยอคติ ย่อมนำมาซึ่งความรุนแรงและก่อให้เกิดสูญเสียในที่สุด  และต้องสำนึกไว้เสมอว่า อย่าให้เกิดการนองเลือดในรัชสมัยนี้ หรือยุคสมัยใดๆ อีกเลย หากท่านทั้งหลายมีความจงรักภักดีด้วยความจริงใจ สังคมเราได้สูญเสียมามากเพียงพอแล้วในเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีต

"หนทางที่ดีที่สุด รัฐบาล หรือรัฐสภาควรมีบทบาทในการจัดการปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้หลักรัฐศาสตร์ ด้วยการ "เปิดพื้นที่การเจรจาหารือในสาระสำคัญอย่างเปิดเผย" เฉกเช่นประเทศอารยะ ในรูปแบบ Public Inquiry หรือ Public Consultation เพื่อให้เกิดบรรยากาศในการสร้างความเข้าใจในประเด็นปัญหาข้อเรียกร้อง หรือข้อพิพาท ด้วยสติปัญญา และนำมาสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ไม่สมควรที่จะทิ้งให้ปัญหาเรื้อรัง ค้างคาใจ จนก่อให้เกิดความรุนแรงที่ขยายตัวมากยิ่งขึ้นดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากรัฐบาลไม่อยู่ในวิสัยที่จะ "เปิดพื้นที่กลาง" ในการเจรจาหารือเช่นนี้ ประธานรัฐสภาย่อมมีบทบาทสำคัญยิ่งในการ "เปิดพื้นที่กลาง" เช่นนี้ขึ้นได้ ซึ่งเรา เชื่อว่าน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการคลี่คลายปัญหาได้เป็นอย่างดี" นายบุญแทน กล่าว

นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และที่ปรึกษา ครป. กล่าวว่าตนขอเรียกร้องไปยังนายกฯ ประธานรัฐสภา หัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัติ ประธานศาลฎีกา ฝ่ายตุลาการ รวมทั้งผู้นำกองทัพและผู้บัญชาการตำรวจทุกนาย ร่วมหาทางออกให้บ้านเมือง และให้ยึดถือจารีตประเพณีและหลักปฏิบัติสากลในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก สิทธิทางการเมืองและสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ในการสั่งการหรือดำเนินการใดกับผู้ชุมนุมหรือผู้เห็นต่าง โดยอย่าอ้าง พรก.ฉุกเฉินฯ มติคณะรัฐมนตรี หรือการดำเนินมาตรการต่างๆ ว่าอยู่ในกรอบกฎหมายปกติ เนื่องจากเป็นคำโกหกเพราะใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับผู้เห็นต่างทั้งสิ้น

"ที่ผ่านมาการเข้าสู่อำนาจของนายกฯ และรัฐธรรมนูญนอกจากไม่เป็นประชาธิปไตยแล้วยังทำลายประชาธิปไตยอีกด้วย และทุกภาคส่วนไม่เคยมีคำตอบให้ประชาชนที่เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นอกจากการดำเนินคดีและจับเข้าคุก จึงทำให้เกิดการประท้วงที่ยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ เสนอให้ทุกภาคส่วนทบทวนการทำงาน กฎหมาย หรือคำสั่งใดที่ละเมิดรัฐธรรมนูญหรือหลักสากลให้รีบแก้ไข และยังไม่สายที่นายกฯ จะหันหน้ามาเจรจาพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป เนื่องจากภาคประชาชนไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ" นายกษิตกล่าว

นางอังคณา นีละไพจิตร  อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าการที่รัฐใช้ความรุนแรงและกฎหมายที่ไม่ได้สัดส่วนกับความผิดในการจัดการกับการชุมนุมทางการเมืองในรอบปีที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามหลักการตามข้อ 21 ของกติกา ICCPR ในการให้คุ้มครองการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นกรณีปิดกั้นพื้นที่รัฐสภาไม่ให้ผู้ชุมนุมมาเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมือวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 การฉีดนำใส่ผู้ที่มาชุมนุมโดยสันติ และการที่ตำรวจใช่ปืนจ่อศีรษะผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา รวมทั้งข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนที่ถูกปฏิเสธ ซึ่งถือเป็นการทำลายประชาธิปไตยที่ร้ายแรง ล้วนส่งผลให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น

นางอังคณามองว่า การชุมนุมของประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลกเนื่องจากรัฐล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรค และเรียกร้องให้รัฐยุติการแก้ไขปัญหาโดยใช้อำนาจนำ ควรใช้หลักรัฐศาสตร์ ในการแก้ไขความขัดแย้งและหาทางออกด้วยการเจรจาร่วมกันไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องจริงใจและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และเรียกร้องให้นายกฯ ยุติท่าทีแข็งกร้าว โดยลาออก ยุบสภาฯ เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนต่อไป

นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ครป. และที่ปรึกษาสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เห็นว่า ความตึงเครียดในปัจจุบันเป็นผลมาจาการบริหารงานการแก้ไขสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ล้มเหลวและการใช้กฎหมายพิเศษของรัฐเพื่อคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมือง จะนำไปสู่การสูญเสียในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน แต่ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะจบลงอย่างไร โดยมองว่ากลไกของรัฐ ฝ่ายนิติบัญญัติและตุลการในการแก้ไขปัญหาไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ สืบเนื่องมาตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 และรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เอื้อและค้ำจุนให้กลุ่มอำนาจบางส่วนในกองทัพและนักการเมือง เข้ามามีอิทธิผลและแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้กลไกต่างๆ ที่มีอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไม่สามารถทำงานได้และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ

นายสมชาย มองว่าการแก้ไขปัญหาโควิดต้องแก้ไขที่การเมือง โดยในตอนนี้ นายกฯ ควรลาออกเพราะเป็นน็อตตัวสำคัญที่กีดขวางระบบไม่ให้สามารถทำงานได้ หรือการยุบสภาซึ่งอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาในเชิงระบบ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้มีรัฐบาลชั่วคราวมาบริหารประเทศช่วงนี้ รวมทั้งการแก้ไขเฉพาะหน้าให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อปลดล็อคส.ว. นอกจากนี้นายสมชายยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เผชิญหน้ากันใช้ความอดทน ละเว้นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง รวมทั้งสื่อมวลชนกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ได้เสนอข่าวตามข้อเท็จจริงและพยายามรายงานข่าวไปในทางสร้างสรรค์ ไม่บิดเบือนความจริง และไม่ยุยงให้เกิดความรุนแรง

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ที่ปรึกษา ครป. อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ของประเทศไทยตอนนี้เสมือนตกอยู่ในหลุมดำของความขัดแย้งที่ร้ายแรงกว่าอดีต และเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤต อันเป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิดต่อสังคม สุขภาพกาย สุขภาพจิต และความยากจน ทำให้มองเห็นความล้มเหลวของภาครัฐในการจัดการแก้ไขปัญหาทั้งเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องการจัดการวัคซีนซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในเวลานี้

"การชุมนุมเรียกร้องของเยาวชนและนักศึกษาควรเป็นเรื่องที่ชื่นชมยินดีและเป็นสิทธิที่ชอบธรรม เพราะทำเพื่อปกป้องอนาคตของตนเองไม่ให้ตกอยู่ในหลุมดำต่อไป แต่กลับถูกบิดเบือนว่าเป็นการทำลายชาติ ยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก หรือล้มล้างสถาบัน ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนท่าที หันมามารับฟังประชาชนเพื่อหาทางแก้ปัญหาวิกฤตโควิดร่วมกัน โดยใช้หลักนิติรัฐ และนิติธรรม" นพ.นิรันดร์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net