Skip to main content
sharethis

ในประเทศเบลารุสที่กำลังมีปัญหาเผด็จการปราบปรามประชาชนทำให้ผู้คนรู้สึกไม่ปลอดภัย นักวิ่งบางคนพยายามขอความคุ้มครองจากสนามบินโตเกียวเพราะไม่อยากกลับประเทศ แต่ก็มีโค้ชเบลารุส 2 รายพยายามบังคับให้นักกีฬาเหล่านี้บินกลับประเทศ ทำให้คณะกรรมการโอลิมปิก (IOC) สั่งปลดเครดิตความน่าเชื่อถือจากโค้ช 2 รายนี้เพื่อเป็นการลงโทษ

คณะกรรมการโอลิมปิก (IOC)

คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ปลดเครดิตความน่าเชื่อถือจากโค้ชชาวเบลารุส 2 รายคือ อาตูร์ ชิมัก และ ยูรี ไมเซวิค และทำให้ทั้งคู่ต้องออกจากหมู่บ้านโอลิมปิก หลังจาหที่ทั้งสองคนนี้พยายามบีบบังคับให้นักกีฬานั่งเครื่องบินกลับประเทศหลังจากที่นักกีฬาคนดังกล่าวต้องการการคุ้มครองจากสนามบินกรุงโตเกียวเพราะกลัวเสี่ยงชีวิตที่ต้องกลับไปอยู่ภายใต้เผด็จการอำนาจนิยม อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก

นักกีฬาที่ร้องขอในเรื่องนี้คือ คริสต์สินา สิมานูวสกายา เธอเรียกร้องให้มีการคุ้มครองจากสนามบินกรุงโตเกียวเพราะไม่อยากกลับไปที่เบลารุส ซึ่งในตอนนี้กำลังอยู๋ในสถานการณ์ที่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการลุกาเชงโกถูกปราบปรามจากรัฐบาล หลังจากที่มีกรณีข้อพิพาทเรื่องการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปีที่แล้ว โดยที่สิมานูวสกายาเป็นหนึ่งในนักกีฬาเบลารุส 2,000 คน ที่ลงนามในจดหมายเปิดผนึกขอให้มีการเลือกตั้งใหม่และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง

อย่างไรก็ตามในตอนนี้สิมานูวสกายาได้เดินทางไปพักพิงที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ แล้วเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมาหลังจากได้รับวีซ่าด้านมนุษยธรรม เธอบอกว่า "รู้สึกดีที่ปลอดภัย" และในวันที่ 5 ส.ค. นักการเมืองฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเบลารุสก็เปิดเผยว่าสิมานูวสกายาได้พบกับสามีของเธอที่รีบเดินทางไปพบเธอที่โปแลนด์แล้ว

ปัญหาของสิมานูวสกายาเกิดขึ้นในโตเกียวหลังจากที่เธอโพสต์อินสตาแกรมวิจารณ์เรื่องที่โคชของเธอบรรจุเธอในการแข่งขันโดยที่ไม่ได้บอกเธอก่อนล่วงหน้า ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เธอลงแข่งในประเภท 100 และ 200 เมตร แต่โค้ชของเธอกลับให้เธอลงแข่งในประเภท 4 x 400 เมตร โดยไม่ได้ปรึกษาเธอก่อน

สิมานูวสกายาบอกว่าเธอ "แค่ต้องการทำให้วิชาชีพทางกีฬาของเธอสำเร็จลุล่วงเท่านั้น" แล้วก็รู้สึกแปลกใจที่สถานการณ์กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวทางการเมืองจากที่มันเริ่มต้นมาจากประเด็นทางกีฬาเท่านั้น เธอไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองเช่นนี้

การที่โค้ชพยายามส่งตัวนักกีฬากลับเบลารุสนั้นทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากต่างชาติ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน กล่าวว่าเบลารุสได้ "ทำการกดขี่ลิดรอนในระดับข้ามประเทศอีกครั้ง" โดยที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลลูกาเชงโกเคยทำให้นานาชาติประณามจากการใช้กำลังเครื่องบินรบบังคับให้เครื่องบินพลเรือนจากสายการบินไรอันแอร์เที่ยวบนกรีซไปลิทัวเนียลงจอดเพื่อจับกุมตัวผู้ต่อต้านรัฐบาลในเที่ยวบินนั้น

นอกจากนี้ IOC ยังคงเพ่งเล็งเบลารุสมาก่อนหน้านี้แล้วในปี 2563 หลังจากที่ผู้นำเผด็จการที่มีอำนาจมายาวนานตั้งแต่ปี 2537 อย่างลูกาเชงโกและลูกชายของเขาวิกเตอร์ถูกสั่งแบนในการเข้าร่วมโอลิมปิกเพราะพวกเขาเล่นงานนักกีฬาด้วยสาเหตุเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง นอกจากนี้ก่อนหน้ากีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวไม่นาน ลูกาเชงโกยังแถลงต่อนักกีฬาในเชิงข่มขู่คุกคามว่าให้พวกเขาคิดดี ๆ ก่อนที่จะไปแข่งที่โตเกียว "ถ้าพวกคุณกลับมาโดยไม่ได้อะไรมาเลย มันก็ดีกว่าถ้าพวกคุณจะไม่กลับมาเลย"

เรื่องนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงที่มีเหตุการณ์สะเทือนขวัญจากการที่ตำรวจในยูเครนพบศพนักกิจกรรมชาวเบลารุสที่หายตัวไป วิตาลี ชิชอฟ ผู้ทำงานในเอ็นจีโอที่ช่วยให้ชาวเบลารุสลี้ภัย เขาถูกพบแขวนคออยู่ในสวนสาธารณะกรุงเคียฟ ตำรวจพยายามสืบสวนในทุกแนวทางรวมถึงแนวทางสมมติฐานว่าเป็นการ "ฆาตกรรมโดยจัดฉากให้ดูเป็นการฆ่าตัวตาย" ขณะที่นักกิจกรรมกล่าวหาว่าเป็นการที่ทางการเบลารุสกำจัดคนที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อรัฐบาล


เรียบเรียงจาก
IOC boots Belarusian coaches from Olympics over attempt to force sprinter to fly home, France 24, 06-08-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net