Skip to main content
sharethis

'เมื่อใดมีม็อบ เมื่อนั้นมีคอนเทนเนอร์' #ม็อบ7สิงหา เมื่อการใช้คอนเทนเนอร์เปลี่ยน กทม. เป็นท่าเรือ อาจไม่ได้สกัดแต่ม็อบ แต่สกัดคนสัญจร-ผู้ใช้รถใช้ถนน และเศรษฐกิจการค้าของคนโดยรอบไปด้วย และเพื่อให้ทราบถึงความรู้สึกของคนธรรมดาต่อมาตรการนี้ คนข่าวจึงชวน 3 แม่ค้าหลังแนวตำรวจ-คอนเทนเนอร์ ร่วมสะท้อนมุมมองต่อมาตรการสกัดม็อบโดยตู้เหล็กยักษ์ และเรื่องที่อยากฝากถึงรัฐบาล 

  • ปิยดา (53) แม่ค้าอาหารตามสั่ง ถนนข้าวสาร อยากขอวัคซีนดีมาฉีดให้ประชาชน-เยียวยาทั่วถึง
  • สายพิณ (52) แม่ค้าขายไข่เจียว ซอยสามเสน 10 คอนเทนเนอร์มา-การค้าซบเซา
  • แม่ค้าจากย่านสะพานซังฮี้ ตั้งคอนเทนเนอร์อาจจะเกินเหตุไป 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา เยาวชนปลดแอก นัดรวมตัวประชาชนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เดินขบวนไปประท้วงที่พระบรมมหาราชวัง ก่อนเปลี่ยนแผนไปบ้านพัก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในราบ 1 เรียกร้อง 3 ข้อ ประยุทธ์ลาออก ลดงบฯ สถาบัน-กองทัพ นำมาช่วยเรื่องโควิด-19 และนำเข้าวัคซีน mRNA 

แน่นอนว่าภาพที่เห็นจนชินชา-ชินตาทุกครั้งที่มีการนัดรวมตัวชุมนุมต้านรัฐบาล คือคอนเทนเนอร์ที่เจ้าหน้าที่ทางการ นำมาวางสกัดประชาชนทั่ว กทม. สถานที่ราชการ เขตพระราชฐาน และกองทัพ 

แต่การวางตู้คอนเทนเนอร์ อาจจะไม่ได้สกัดม็อบอย่างเดียว แต่อาจสกัดผู้สัญจรไป-มา และคนทำมาค้าขายอีกด้วย เพื่อให้คนเข้าใจคนทำมาค้าขายมากขึ้น เมื่อ 7 ส.ค. 64 ผู้สื่อข่าวจึงชวนแม่ค้าหลังแนวคอนเทนเนอร์ มาร่วมสะท้อนความรู้สึกต่อมาตรการสกัดม็อบแบบผิดที่ผิดทาง และสิ่งที่อยากให้นายกฯ ช่วยแก้ไขในช่วงเศรษฐกิจซบเซายุคโควิด-19

ขอวัคซีนดีฉีดให้ประชาชน-เยียวยาทั่วถึง

"ออกมาขายตั้งแต่ตี 5 ก็นิดหน่อยไม่ได้เยอะ ไม่รู้จะทำยังไง ก็ต้องขาย ได้ สี่ ห้าร้อยก็ต้องขาย"

"ช่วงโควิด-19 ขายได้ 1,000-2,000 บาท วันนี้ลงทุนไป 2,700 บาท ตอนนี้ได้ หนึ่งพันกว่าบาท"

"วันนี้ไม่ได้ทุน ขายไปอย่างนั้น เย็นเมื่อไหร่ก็เก็บ อยู่จนสอง สามทุ่ม แต่ก่อนก็ยังได้ สามทุ่มก็เคอร์ฟิวแล้ว ก็ต้องรีบเก็บเข้าบ้าน ไปไหนก็ไม่ได้ มันก็ลำบากอะเนอะ พูดถึง"

ปิยดา อายุ 53 ปี เธอขายอาหารตามสั่ง อยู่แนวหลังตำรวจสกัดม็อบเยาวชนปลดแอก บริเวณถนนข้าวสาร ปิยดาเล่าต่อว่าเธอเริ่มมาขายอาหารตามสั่ง เพราะว่าเมื่อ มิ.ย.ที่ผ่านมา ร้านที่เธอทำงานเป็นเชฟในถนนข้าวสาร ต้องปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น 

ปิยดา แม่ค้าขายอาหารตามสั่ง ถนนข้าวสาร เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 64
 

เธอ กล่าวต่อว่า ในฐานะแม่ค้า เธอไม่ได้รับผลกระทบหรืออันตรายเท่าไร เวลามีม็อบ หรือคอนเทนเนอร์มาตั้งใกล้ๆ แต่อาจมีกังวลเรื่องความปลอดภัยบ้าง ถ้าเกิดมีกลุ่มผู้ชุมนุม หรือตำรวจเข้ามาบริเวณถนนข้าวสาร  

สำหรับเรื่องที่แม่ค้าขายอาหารตามสั่ง ถนนข้าวสาร อยากฝากถึงรัฐบาล มี 2 เรื่องหลัก คือ อยากให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีนคุณภาพดีมาฉีดให้ประชาชน และการเยียวยาที่อยากให้ทั่วถึงกว่านี้

"อยากให้ปรับปรุงใหม่ แก้ไขใหม่ ตอนนี้เศรษฐกิจแบบแย่มาก จากเงินเดือน 2-3 หมื่น เราไม่มีอะไรแล้ว ค่าเช่าเดือน 4-5 พัน และก็เงินเยียวยามันไม่ได้ได้ทุกคน ได้เป็นบางคน อย่างมาตรา 39 พอมันขาดส่งไป มันจะไม่ได้ และเงินนู่นเงินนี่ไม่เห็นจะได้ แต่ว่าคนอื่นเขาได้เป็นบางส่วน ม.33 ได้เป็นบางส่วน เราได้แค่คนละครึ่ง"

"อยากให้โควิด-19 ไม่มี วัคซีนเข้ามาฉีดให้เรา เอาวัคซีนให้คนที่เขายังไม่ได้ฉีด เอาดีๆ มาฉีดให้เราหน่อยเถอะ"

"ก็อยากได้ ที่มันดี ป้องกันเราได้ แบบถอดมาส์ก คุยกันอย่างประเทศนอก อยากให้ทำมาหากินดีเหมือนก่อน แย่จริงๆ ตอนนี้ แย่แบบสุด ๆ ขายวันหนึ่ง 4-5 พัน พันเดียวยังไม่ได้ กำลังคนซื้อไม่มี คนขายเราก็อยากได้สตางค์" ปิยดา ทิ้งท้าย 

คอนเทนเนอร์ตั้ง-การค้าขายซบเซา

"ถ้ารถผ่านไม่ได้ การค้าขายมันจะเงียบ"

ป้าสายพิณ อายุ 52 ปี อาชีพแม่ค้าขายไข่เจียว แถวซอยสามเสน 10 สะพานเทเวศร์ฯ เผอิญร้านของเธอตั้งอยู่หลังกำแพงตู้คอนเทนเนอร์มหึมาที่ตำรวจมาตั้งไว้ตั้งแต่ก่อนหกโมงเช้า เพื่อสกัดกลุ่มผู้ชุมนุม ม็อบ7สิงหา 

ป้าสายพิณ ขายไข่เจียว แถวซอยสามเสน 10 สะพานเทเวศร์ฯ เมื่อ 7 ส.ค. 64
 

เธอเล่าผลกระทบจากมาตรการตั้งคอนเทนเนอร์ว่าทำให้การสัญจรของประชาชน-รถยนต์ผ่านไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อการค้าบริเวณนี้ตามมา 

เธอเล่าต่อว่า ตำรวจเอาตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งบ่อยมาก เวลามีการชุมนุมของประชาชน และบางครั้งเวลามีตู้คอนเทนเนอร์มาตั้ง ตำรวจก็จะมาใช้ซ้อมควบคุมฝูงชน เธอดูแล้ว ก็เหมือนเขากำลังแสดงภาพยนตร์กันอยู่

"(ผู้สื่อข่าว - คอนเทนเนอร์มาตั้ง) บ่อยจ๊ะ... เมื่อก่อนก็ตั้งอย่างนี้ ๆ หน้าแบงก์ชาติ และเขาก็มาซ้อมกันตรงนี้ เขาซ้อมวิ่งข้ามตู้คอนเทนเนอร์ ซ้อมฉีดน้ำ ซ้อมจลาจล จะมีตำรวจที่ใส่ชุดดำๆ เขามาซ้อมเป็นกลุ่ม และก็มีพวกแสดงแบบประชาชน และก็วิ่งข้ามตู้คอนเทนเนอร์มา และเขาก็มาจับ เหมือนแสดงหนัง" ป้าสายพิณ กล่าว 

"คราวที่แล้ว (ผู้สื่อข่าว - คอนเทนเนอร์) มาตั้งตรงนั้น ขาย 3 แผงยังขายไม่หมด และตำรวจเอาข้าวกล่องมาเอง เราก็ขายไม่ออก" แม่ค้าขายไข่เจียว และเพื่อนแม่ค้าของเธอที่อยู่ข้างๆ กล่าว พร้อมระบุว่า การนำคอนเทนเนอร์มาตั้ง ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยขึ้นอะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเอาคอนเทนเนอร์มาตั้ง คิดว่ามันเป็นมาตรการที่เกินไปไหม 

"อาจจะเกินเหตุไปค่ะ น่าจะกลัวเกินเหตุ ตั้งปิดหน้า ปิดหลังหมดเลย” ป้าสายพิณ กล่าวถึงวิธีรับมือของตำรวจ พร้อมระบุว่า “อยากให้เปลี่ยน (ผู้สื่อข่าว - วิธีการรับมือม็อบ) ไปในทางที่มันดีกว่านี้ ไหนจะมาเจอเชื้อโรคอยู่แล้ว ยังมาเจอเรื่องพวกนี้อีก มันยิ่งหนักเข้าไปใหญ่"

"อยากให้เขา (ผู้สื่อข่าว - รัฐ) ทำอะไร อยากให้เขาทำให้ดี คิดให้ดีกว่านี้ ไม่รู้จะออกความคิดเห็นยังไง ป้าแค่คนบ้านๆ ทำงานแค่นี้ป้ายังใช้หนี้ใช้สินยังไม่พอ ยิ่งมาเจออย่างนี้ยิ่งไปไม่ถูก ค่าเช่าบ้านยังไม่พอจะจ่าย"

"มาตรการเยียวยาได้อยู่บ้าง แต่ป้าทำอะไรไม่เป็นหรอก ให้ไปลงโทรศัพท์ทำไม่เป็น มีแต่ถ้าเกิดว่าให้มาทางบัตรประชาชน ประกันสังคมอะไรพวกนี้ ได้อยู่ แต่ให้ไปลงเอาโทรศัทพ์ ป้าทำไม่เป็น" ป้าสายพิณ ทิ้งท้าย

แม่ค้าจากย่านสะพานซังฮี้ ตั้งคอนเทนเนอร์อาจจะเกินเหตุไป

"ปกติป้าขายอยู่ใต้สะพานปิ่นเกล้า แต่พอรู้ว่าเขาจะปิด ป้าก็รีบกลับมาที่ตรงนี้ 11 โมง ตอนแรกตลาดปิดก่อน และมีตำรวจมาบอก ป้าก็รู้แล้วละว่าเขาต้องปิด เพราะเขาเตรียมการอยู่แล้ว"

แม่ค้าอีกรายหนึ่ง มาร่วมสะท้อนความรู้สึกเรื่องมาตรการวางคอนเทนเนอร์สกัดม็อบ ผู้สื่อข่าวเจอเธอที่บริเวณสะพานพระราม 8 โดยเธอมองว่า การปิดตู้คอนเทนเนอร์อาจไม่กระทบเธอด้านยอดขายเท่าใด เพราะว่าเธอไม่ได้ขายมากมาย ขายพออยู่ได้ แต่ก็มองว่า การใช้ตู้คอนเทนเนอร์อาจจะเกินกว่าเหตุไป 

“สำหรับป้า รู้สึกว่าการใช้คอนเทนเนอร์มาสกัดการชุมนุม มันก็เกินนะ รุ่นก่อนๆ ไม่มีอย่างนี้ ก็ปล่อยธรรมชาติ เหลือง แดง เย้วๆ เฉยๆ เมื่อก่อนมันขายดีในม็อบ พวกป้าก็ไปขายหมูปิ้ง กินง่ายๆ ชอบด้วย” แม่ค้าคนเดิม กล่าว ก่อนจะเผยต่อว่า เธอขายของมาตั้งแต่สมัยพฤษภาทมิฬ ปี 2535 

แม่ค้าย่านพระราม 8 เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 64
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net