Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันนี้ (9 สิงหาคม) ของทุกปี เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น “วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก” เพื่อเตือนใจประชาคมโลกว่า ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มน้อยอีกจำนวนมาก ที่มีวีถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่าง และถูกอำนาจรัฐผลักให้เป็นคนชายขอบของสังคม พวกเขาตกอยู่ในภาวะด้อยสิทธิและโอกาสกว่ากลุ่มคนที่ครอบงำสังคม โดยองค์การสหประชาชาติประเมินว่า ทั่วโลกมีชนเผ่าพื้นเมืองราว 370 ล้านคน กระจายอยู่ใน 90 ประเทศ พูดภาษาที่แตกต่างกันราว 7,000 ภาษา

สำหรับประเทศไทย มีกลุ่มคนที่ถือว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมืองประมาณ 60 กลุ่ม ประชากรกว่า 4.2 ล้านคน และมีการรวมตัวกันจัดตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยได้สถาปนาให้วันที่ 9 สิงหาคม เป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยตามสากล

เมื่อกล่าวถึงเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง 10 กลุ่ม หรือในอดีตทางราชการเรียกว่า “ชาวเขา” ซึ่งมีประชากรรวมกันราว 2 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม ถิ่นฐานที่อยู่ ที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม และความแตกต่างนี้กลายเป็นเงื่อนไขทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมายและนโยบายของรัฐ เช่น สิทธิในที่ดิน การได้รับสัญชาติ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาที่มีคุณภาพ 

สถานะของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงในสังคมไทย เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนชายขอบของชายขอบ ที่ถูกกดทับ กีดกัน ละเลย แบ่งแยก เลือกปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้แม้จะไม่สามารถพบได้ในกฎหมายและนโยบายที่เป็นทางการ หากแต่เป็นสิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์ประสบพบเจอทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ถูกเรียกตรวจค้น, ถูกยึดที่ดินทำกิน, ต้องทนใช้ถนนดินโคลน, ไม่มีไฟฟ้าใช้, ไม่มีระบบชลประทาน, ลูกหลานจำเป็นต้องเรียนในโรงเรียนที่คุณภาพต่ำ เป็นต้น      

สาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ยังคงถูกกีดกันสิทธิและโอกาส แม้สังคมไทยจะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แล้วก็ตาม คือ ทัศนะของรัฐและสังคมที่ยังมองกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงว่า ก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลจากการประกอบสร้างและผลิตซ้ำให้ภาพลักษณ์ของ “ชาวเขา” เป็นคอมมิวนิสต์ , ค้ายาเสพติด , และทำลายป่า ซึ่งทัศนะเช่นนี้ฝังอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไปในสังคม หรืออีกแง่มุมหนึ่งคือ กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงมีภาพลักษณ์ติดตัวว่าเป็นพวกที่ไม่ใช่คนไทย ค้ายา และทำลายป่าไม้ของชาติ ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงถูกกดทับและกีดกันสิทธิและโอกาสต่างๆ โดยที่คนในสังคมก็เห็นดีเห็นงามด้วย หรืออย่างน้อยก็ไม่รู้สึกผิด 

การมีกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้ ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะทำให้ได้รับสิทธิจริง จะเห็นได้ว่าแม้รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ บัญญัติรับรองให้ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน, รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ, และยังมีปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง แต่ความเสมอภาคเท่าเทียมและการห้ามเลือกปฏิบัติก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง      

ลำพังเพียงการเฉลิมฉลอง  หรือจัดงานรณรงค์แบบเทศกาลประจำ คงไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่กดทับมาอย่างยาวนานได้ หากแต่การที่จะได้มาซึ่งสิทธิ์ของคนกลุ่มน้อยในสังคมใด จะต้องเริ่มด้วยการตระหนักรู้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ก็มีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับคนทั่วไปในสังคม (Race Consciousness) และจะต้องยืนหยัดต่อสู้เรียกร้องอย่างเข้มแข็งและจริงจัง เพื่อขยายพื้นที่แห่งสิทธิ ทั้งการพยายามยืนยันใช้สิทธิที่มีอยู่ (แม้จะไม่มาก), เรียกร้องสิทธิที่พึงมีพึงได้, ผลักดันให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบาย การจะทำสิ่งเหล่านี้จะต้องใช้ความอดทน สติปัญญา การร่วมมือร่วมใจ แม้กระทั่งกำลังทรัพย์ ช่องแห่งสิทธิจึงจะค่อยๆ ถ่างขยายขึ้น 

หลายครั้งที่เราได้เห็นผู้นำในประเทศที่เจริญ ออกมาขอโทษต่อกาละเมิดสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ที่พวกเขาเคยกระทำในอดีต และพยายามแก้ไข สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงเพราะผู้มีอำนาจเกิดสำนึกขึ้นมาเอง หากแต่เกิดจากชนเผ่าพื้นเมืองต่อสู้เรียกร้องอย่างเข้มแข็ง จนสังคมตระหนักว่าพวกเขาถูกละเมิดอย่างไม่เป็นธรรม 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net