Skip to main content
sharethis

กรรมการสิทธิฯ แถลงสังเกตการณ์ #ม็อบ7สิงหา ขอให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง รัฐบาลต้องมีแนวทางให้สอดคล้องกับหลักการสากลของสหประชาชาติ  จนท.ต้องปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมโดยสงบกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงแบบแยกแยะ มีกลไกหรือช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันเพื่อให้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ระยะยาวขอสนับสนุนให้มีพื้นที่ปลอดภัยในการหารือเพื่อหาทางออกของปัญหาร่วมกันด้วยแนวทางสันติวิธี ด้าน 'ศรีสุวรรณ' ถาม กสม. ประชาชนไปด้วยสองมือเปล่า มีเพียงความคิดสร้างสรรค์เป็นอาวุธ จริงหรือไม่

9 ส.ค.2564 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยแพร่ แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่อง การสังเกตการณ์การชุมนุม 7 ส.ค.2564 กสม.ย้ำขอให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง 

โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่อง การสังเกตการณ์การชุมนุม 7 สิงหาคม 2564 กสม.ย้ำขอให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง 

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมืองของเครือข่ายกลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่ม REDEM บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 นั้น กสม.ขอยืนยันการปฏิบัติหน้าที่ในการสังเกตการณ์และเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นอิสระ ให้ความเป็นธรรม และรับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน

จากการสังเกตการณ์การชุมนุมในวันดังกล่าว กสม.มีข้อห่วงใยเป็นอย่างยิ่งในเรื่องการใช้ความรุนแรงเข้าปะทะกันของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและผู้ชุมนุมบางส่วน โดยมีข้อสังเกตเบื้องต้นว่า การจัดตั้งสิ่งกีดขวางเพื่อสกัดกั้นการชุมนุม การใช้อาวุธ อุปกรณ์ ตลอดจนขั้นตอนในการควบคุมฝูงชน ยังไม่ได้เป็นไปในลักษณะจากเบาไปหาหนัก ไม่ได้สัดส่วนและไม่สอดคล้องกับหลักสากล จนส่งผลให้ผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง สื่อมวลชน และประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก  

ด้านกลุ่มผู้ชุมนุม ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนได้ตระเตรียมและใช้อาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธในการตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ อันไม่เป็นไปตามหลักการการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จนทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมการชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง

เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต กสม.จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายพิจารณาร่วมกันดังนี้

1. ขอให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงโดยผู้ชุมนุมต้องใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธอย่างแท้จริง ขณะที่รัฐบาลต้องมีแนวทางในการจัดการและควบคุมฝูงชนให้สอดคล้องกับหลักการสากลของสหประชาชาติ (UN Basic Principle on the Use of Forces and Firearms by Law Enforcement Officials)โดยให้เป็นไปตามขั้นตอน และได้สัดส่วนที่เหมาะสม รวมทั้งใช้ความอดทนอดกลั้นในการรับฟังเสียงของประชาชนที่เห็นต่าง

2. ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมโดยสงบกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงแบบแยกแยะ ในกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงอันทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินของทางราชการ เจ้าหน้าที่จะต้องเร่งนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเร็ว เพื่อสร้างความกระจ่างให้แก่สังคมและลดความคลางแคลงใจต่อกันของทุกฝ่าย

3. ขอให้มีกลไกหรือช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้จัดการชุมนุมและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน เพื่อให้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อันจะช่วยให้ลดการเผชิญหน้าและความรุนแรงลง

4. การแก้ไขปัญหาในระยะยาว กสม.ขอสนับสนุนให้มีพื้นที่ปลอดภัยในการหารือเพื่อหาทางออกของปัญหาร่วมกันด้วยแนวทางสันติวิธี

ทั้งนี้ กสม.จะหยิบยกกรณีการชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ขึ้นตรวจสอบในรายละเอียดต่อไป อย่างไรก็ดี ภายใต้วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความอยู่ดีมีสุขของประชาชนในชาติ กสม.ขอเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายใช้สิทธิและเสรีภาพภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนอย่างสร้างสรรค์ โดยยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมถึงการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง พร้อมร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยการรับฟังเสียงของทุกฝ่าย เพื่อให้ประเทศชาติสามารถก้าวผ่านวิกฤตการณ์ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ไปได้

'ศรีสุวรรณ' ถาม กสม. กรณี ม็อบ "7 สิงหา" ประชาชนไปด้วยสองมือเปล่า มีเพียงความคิดสร้างสรรค์เป็นอาวุธ จริงหรือไม่

ขณะที่วันเดียวกัน ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นคำร้องต่อ กสม. เพื่อสอบถามว่า การชุมนุมสาธารณะเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมาเป็นไปโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ ประชาชนไปด้วยสองมือเปล่า มีเพียงความคิดสร้างสรรค์ จริงหรือไม่?

โดย ศรีสุวรรณ อ้างว่าข้อเท็จจริงที่โซเชียลมีเดีย และสื่อมวลชนรายงานนั้น ปรากฏการปะทะกันขึ้นโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ แก๊สน้ำตา กระสุนยาง รถฉีดน้ำ สกัดการเคลื่อนตัวชุมนุมของม็อบ ขณะเดียวกันผู้ชุมนุม ก็ปรากฏมีการใช้ หนังสติ๊ก ลูกแก้ว ลูกหิน ยิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการใช้พุ ตะไล ขวดน้ำมัน เพื่อใช้เป็นระเบิดเพลิงในการตอบโต้เจ้าหน้าที่ด้วย จนกระทั่งมีรถคุมขังนักโทษของตำรวจถูกเผาเสียหายไป 1 คัน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้เข้าร่วมชุมนุมต่างบาดเจ็บจากการปะทะกันไปหลายคน

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ กลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้ยื่นหนังสือต่อ กสม. เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและขอให้ลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุม เนื่องจากผู้ร้องอ้างว่า ใช้เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพการชุมนุมโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับใช้วิธีการคุกคามเสรีภาพผู้ร้องและผู้ชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง กสม.จึงมีมติมอบหมาย นางปรีดา คงแป้น ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี นางศยามล ไกยูรวงศ์ และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในวันดังกล่าวด้วย

"เมื่อความปรากฏว่า มีการปะทะกันขึ้น มีผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย มีทรัพย์สินของทางราชการเสียหายโดยชัดแจ้ง และมีผู้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ใช้ความรุนแรง ยั่วยุ ทั้งๆ ที่ประชาชนไปด้วยสองมือเปล่า มีเพียงความคิดสร้างสรรค์นั้น และเมื่อ กสม. ลงพื้นที่เพื่อติดตามเฝ้าระวังแล้วจะมีข้อสรุปว่า ผู้ชุมนุมได้ดำเนินการชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ประชาชนไปด้วยสองมือเปล่า จริงหรือไม่ และปฏิบัติการของรัฐในการควบคุมฝูงชนเป็นไปตามหลักสากล หลักความจำเป็นและได้สัดส่วนกับสถานการณ์หรือไม่ อย่างไร เพราะคำตอบของ กสม. สามารถนำไปใช้ประกอบในการแจ้งความหรือดำเนินคดีกับผู้ที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จต่อไปได้" ศรีสุวรรณ ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net