'ปิยบุตร' เสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ 10 ประเด็นสำคัญ

ความจำเป็นของยุคสมัย “ปิยบุตร” นำเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ - เสนอ 10 ประเด็นสำคัญ หวังประชาชน-สภา ร่วมผลักดันต่อ 

10 ส.ค. 2564 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล” นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ใจความโดยสรุปว่า วันนี้ 10 สิงหาคม เมื่อปีที่แล้ว มีการประกาศข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อโดยกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม แม้ประเด็นปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์จะถูกจุดติด แต่ก็ดูเหมือนว่าข้อเรียกร้องนี้อาจถูกพูดถึงในรายละเอียดน้อยลง ยิ่งในช่วงวิกฤต Covid-19 ส่งผลให้การชุมนุมทำได้ยากลำบาก ฝ่ายรัฐใช้อย่างเข้มข้น เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ค่อยๆ เลือนหายไป เพื่อมิให้ความเพียรพยายามของเยาวชนเสียเปล่า จึงได้ยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ขึ้นมา เพื่อใช้ประโยชน์ในการรณรงค์เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผ่านการใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ที่ ปิยบุตร นำเสนอได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงจากเดิมในสาระสำคัญ ได้แก่  

1. กำหนดพระราชสถานะประมุขของรัฐ ศูนย์รวมจิตใจ และความเป็นกลางทางการเมือง

2. กำหนดพระราชอำนาจ ขอบเขตของเอกสิทธิ์และความคุ้มกันพระมหากษัตริย์ให้ชัดเจน

3. เปลี่ยนกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ให้เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์

4. ยกเลิกองคมนตรี

5.เปลี่ยนแปลงกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ การเสนอพระนามองค์รัชทายาทหรือองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ

6. กำหนดให้พระมหากษัตริย์และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่

7. กำหนดกรณีที่พระมหากษัตริย์ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเปลี่ยนแปลงกระบวนการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสียใหม่ ให้สภาผู้แทนราษฎรเข้ามามีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบ

8. กำหนดระบบเงินรายปีแก่พระมหากษัตริย์ โดยให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการกำหนดวงเงินและอนุมัติ

9. ยกเลิกการลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตําแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า ให้คงไว้เพียงการลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยและอำนาจตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น อันได้แก่ รัฐมนตรี ตุลาการศาลยุติธรรม ผู้พิพากษา ตุลาการศาลปกครอง และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

10. ยกเลิกพระราชอำนาจในการยับยั้งการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้กฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภา

ปิยบุตร ระบุด้วยว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ อยู่ภายใต้ข้อจำกัดได้แก่ 1) ข้อจำกัดของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 255 ได้แก่ ต้องไม่เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ 2) ข้อจำกัดจากกรอบของรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ต้องยกร่างล้อไปกับโครงสร้าง การไล่เรียงหมวด บทบัญญัติในมาตราอื่น และถ้อยคำที่ปรากฏในมาตราอื่น เช่น คำว่า “พระมหากษัตริย์” คำว่า “หน้าที่และอำนาจ” ตลอดจนคำราชาศัพท์ต่างๆ

“ในส่วนของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในประเด็นอื่นๆ เช่น พระราชอำนาจในการยับยั้งการประกาศใช้กฎหมายเป็นการชั่วคราว การจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ การปฏิรูปส่วนราชการในพระองค์ หรือความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 112 เป็นต้น นั้น บางกรณีต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดอื่น มาตราอื่น หลายกรณีจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งผมจะยกร่างและนำเสนอต่อสาธารณชนในโอกาสต่อไป” ปิยบุตร ระบุ

สำหรับแนวทางแก้ไขกฎหมายระดับ พ.ร.บ. เบื้องต้นที่ นายปิยบุตร นำเสนอ อาทิ ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พร้อมกับยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น, แก้ไขกฎหมายทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แบ่งแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้ชัดเจน, แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับส่วนราชการในพระองค์ ได้แก่ ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560  ยกเลิกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหมไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 แล้วย้อนกลับไปใช้รูปแบบเดิมที่มีสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขานุการในพระองค์ มีสถานะเป็นกรม อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี 

ปิยบุตร ระบุทิ้งท้ายด้วยว่า ในส่วนของฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อยากให้ยอมรับข้อเท็จจริงว่า ณ วันนี้ มีคนจำนวนมากที่มองสถาบันกษัตริย์ไม่เหมือนอย่างที่พวกท่านคิดเชื่อมาทั้งชีวิต จำนวนคนที่มากนี้ มากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และในจำนวนที่มากนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นเยาวชนอนาคตของชาติด้วย จะไล่ล่าพวกเขาด้วย “นิติสงคราม” จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่มาปราบปรามอย่างรุนแรง จะเอาพวกเขาไปขังให้หมดทุกคน ก็ไม่มีทางที่พวกเขาจะเปลี่ยนความคิดที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ได้ ตรงกันข้าม ยิ่งทำกันแบบนี้ ก็จะยิ่งผลักให้พวกเขาราดิคัลมากขึ้น จนข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จะพัฒนาจนกลายเป็นข้อเรียกร้องแบบอื่นไป

“ยอมรับข้อเท็จจริงเหล่านี้เถอะครับ ทำความรู้จักมักคุ้นกับมัน มองมันในฐานะปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ผลย่อมเกิดจากเหตุ ปฏิกิริยาย่อมเกิดจากสภาพที่เป็นอยู่ ‘ช้างในห้อง’ ตัวนี้อยู่กับเรามานานแล้ว เราอาจตาบอดมองไม่เห็น เราอาจแกล้งมองไม่เห็น แต่ตอนนี้ ‘ช้างในห้อง’ ถูกเปิดออกมาหมดแล้ว ลองทำความเข้าใจกับสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องดู แล้วมาหาทางออกร่วมกัน การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือ ความจำเป็นของยุคสมัย เราหลีกหนีไม่ได้อีกแล้ว” ปิยบุตร ระบุ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท