Skip to main content
sharethis

11 ส.ค. 2564 วานนี้ (10 ส.ค. 2564) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation) ร่วมกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอีก 8 องค์กร ได้แก่ Duayjai Group กลุ่มด้วยใจ, เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษJasad, Patani Human Rights Organization Network, ภาคีSaveบางกลอย, Manushya Foundation, มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และ @ศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน ร่วมกันออกแถลงการณ์ขอให้สภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการจัดทำรายชื่อบุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง (Watchlist) เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการแสดงออก และคุกคามสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย พร้อมยื่นข้อเสนอ 4 ข้อ โดยเนื้อความในแถลงการณ์ระบุว่า

เมื่อวันที่ 8-9 ส.ค. 2564 ปรากฎตามหน้าสื่อออนไลน์ว่า มีเอกสาร “ลับที่สุด” เป็นบัญชีรายชื่อของบุคคลที่อ้างว่าจัดทำโดยกองบังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ทั้งหมด 183 คน โดยระบุว่าเป็นผู้ที่อยู่ใน Watchlist เป็นชายจำนวน 130 คน ช่วงอายุตั้งแต่ 17-64 ปี ในจำนวนนี้มีการระบุสีแดงหมายถึงอยู่นอกราชอาณาจักร 6 คน และหนึ่งในนี้เป็นผู้พิการทางสายตา เป็นหญิงจำนวน 53 คน เป็นผู้ที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 15-61 ปี เป็นผู้อยู่นอกราชอาณาจักรอยากน้อยหนึ่งคนและจากจำนวนนี้ทั้งหมดมีเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปีถึง 7 คน (ใน 7 คนนี้มีเด็กอายุ 15 ปีจำนวนสองคน) และบัญชีโซเชียลมีเดีย 19 บัญชี โดยเอกสารบัญชี “ลับที่สุด” ระบุรายชื่อ บุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง (“Watchlist”) ฉบับนี้ โดยมีชื่อกำกับท้ายหน้ากระดาษ “อัปเดต 1 มิ.ย. 64 เวลา 17.00 น. โดย พ.ต.อ. หญิง (ปกปิดชื่อ) สว.กก.สส.ปป.บก.ตม.2”

ผู้มีรายชื่อส่วนใหญ่พบว่าเป็นผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญามาตรา 112 หรือผู้ที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ เคลื่อนไหวคัดค้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงที่ผ่านมา หรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหรือทำงานในพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ผู้ทำหน้าที่ทนายความ นักกิจกรรมทางการเมือง เยาวชนนักกิจกรรม ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เป็นต้นโดยไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล หรือบุคคลที่อยู่ในกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แม้จะตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา หรือที่ศาลมีได้คำสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ปรากฎรายชื่ออยู่ใน Watchlist แต่อย่างใด

การจัดทำและเผยแพร่รายชื่อ Watchlist หรือการขึ้นบัญชีดำ บุคคลที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือเป็นภัยต่อรัฐบาลในลักษณะนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ Watchlist ในครั้งนี้ อาจเป็นครั้งที่ครอบคลุมรายชื่อบุคคลที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่จับตา เฝ้าระวัง และติดตามจำนวนมากที่สุดครั้งหนึ่ง

เมื่อ 6-7 ปี ก่อนหน้านี้ ทั้งก่อนและหลังการก่อการรัฐประหารล้มการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยนายพลบางคนในกองทัพที่สถาปนาตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ โดยเรียกตนเองว่า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)” ในปี 2557 ได้เคยมีกลุ่มการเมืองที่แฝงตัวอยู่ในหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคง ในลักษณะ “รัฐซ้อนรัฐ” และสื่อมวลชนบางกลุ่ม ได้สร้างและเผยแพร่ “ผังล้มเจ้า” ในช่วงปี 2553 หรือเอกสารความมั่นคงที่ชื่อ "ขบวนการหมิ่นสถาบัน" หรือเอกสารบัญชีรายชื่อผู้มีอิทธิพล บัญชี 4 ที่มีรายละเอียดเรื่องการแบ่งประเภทบุคคลเป้าหมายที่มีวิธีการดำเนินการตั้งแต่การ "พบปะ" ไปจนถึง "จับตายหากมีการขัดขืน" หลังรัฐประหารปี 2557

ด้าน สมยศ พฤกษาเกษมสุข หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากบัญชีล่าสุดนี้นำกลับมาเผยแพร่ผ่านทาง Facebook พร้อมแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นว่า ตนรู้สึกดีใจได้มีชื่อเรียงลำดับตัวอักษรอันดับที่ 94 ของเอกสารลับที่สุดบุคคลที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของเผด็จการ อันที่จริงปรากฏชื่อกันมาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว เป็นบันทึกทางการที่ยืนยันได้ดีถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพไม่เคยตกหล่นแม้แต่ปีเดียว

“ไม่ใช่เท่านี้ รัฐเผด็จการยังจัดทำบัญชีดำในชั้นความลับ Blacklist จำแนกระดับของบุคคลที่ต่อต้านเผด็จการในระดับที่สั่นสะเทือนอำนาจรัฐ เอกสารนี้เกิดขึ้นก่อนปฏิบัติการอุ้มฆ่าผู้ลี้ภัยการเมือง (มีคนส่งมาให้ดู) ซึ่งไม่มีหลักฐานอะไรชี้ชัดว่ามาจากหน่วยงานไหน หรือเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ดูกันเองก็แล้วกัน ว่ายังมีใครอีกบ้างที่อาจอยู่ในขั้นคำสั่ง “จับตาย” ใช้รหัส " D " หรือ " Delete "” สมยศ กล่าว

การสร้างและเผยแพร่ข้อมูลในลักษณะ “ผังล้มเจ้า” และ “ขบวนการหมิ่นสถาบัน” หรือในกรณีนี้คือ Watchlist ลับที่สุด ในกรณีนี้ ไม่ว่าจะกระทำของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ หรือกลุ่มการเมืองใดก็ตาม โดยมิใช่โดยคำสั่งหรือการอนุญาตของศาล ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เช่นในข้อบทที่ 17 และ 19 และอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนฉบับต่างๆ รวมทั้งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อบทที่ 16 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะการสอดแนมสิทธิในความเป็นส่วนตัวโดยปราศจากการตรวจสอบโดยศาลที่เป็นอิสระ สอดแทรกสิทธิในความเป็นส่วนตัว ข่มขู่คุกคามบุคคลเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและการเมือง การเคลื่อนไหวและการเดินทางไปต่างประเทฯ ถือเป็นละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

นอกจากนี้ การสร้างและเผยแพร่ Watchlist ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจและความเกลียดชังกันระหว่างประชาชน ทำให้เกิดการแบ่งขั้วฝ่ายและความขัดแย้งทางการเมือง ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและรุนแรงในหมู่ประชาชน โดยเป็นการตีตราว่าบุคคลที่ถูกขึ้นบัญชีดำเป็นผู้กระทำผิดทางอาญา(criminalization) เป็นภัยต่อสังคมและประเทศชาติ ซี่งผู้ที่ “จงรักภักดี” “รักชาติ” หรือ “พลเมืองดี” สามารถดำเนินการได้โดยพลการ ในลักษณะที่คุกคามต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีดำดังกล่าวได้ ดังตัวอย่างของผัง "ขบวนการหมิ่นสถาบัน" ที่ทุกวันนี้ผู้มีรายชื่ออย่างน้อย 9 รายกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง และบางคนถูกบังคับสูญหาย เช่น กรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น

ปัจจุบัน มีรายงานจากบุคคลใน Watchlist นี้ว่า พวกเขาได้ประสบกับการคุกคามหลายรูปแบบ เช่น การติดตามบุคคลตามบ้านพักติดตามที่บ้านตามทะเบียนบ้าน คุกคามด้วยวาจา หรือทาง Online มีรายชื่อส่งต่อหน่วยงานรัฐอื่นๆ มีหน่วยตำรวจไปแนะนำตัวต้อนรับตำแหน่งใหม่ เฝ้าที่หอพักนักศึกษาหรือที่บ้านพัก โทรตามสอบถามการเคลื่อนไหว ชวนกินกาแฟ ชวนกินเหล้า โทรถามตลอดเวลามีขบวนเสด็จฯ ในจังหวัดต่างๆ เช็คการเดินทางทางเครื่องบิน ขับรถตาม ส่งหมายเรียกเก่าไปที่บ้าน ไปบอกอาจารย์ประจำคณะว่า ทำไมให้คนแบบนี้เป็นผู้ช่วยของอาจารย์ รวมทั้งกดดันครอบครัวที่เป็นตำรวจ ไปห้องเรียนตามหาตัว ดักรอเจอที่คณะฯ ในมหาวิทยาลัย ขอข้อมูลกับผู้ใหญ่บ้าน ให้ผู้ใหญ่บ้านส่งข้อมูลถ้ากลับบ้านต่างจังหวัด ใช้ความสนิทเป็นมิตรแต่รายงานนาย มาติดตามตามตารางเรียน ขอตารางเรียนจากเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ติดตามไปร้านข้าว ร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งมีรายงานด้วยว่ามีการห้ามเดินทางออกนอกนอกประเทศทั้งที่ไม่ได้เป็นบุคคลที่มีคดีอาญาหรือมีคำสั่งห้ามจากศาล

ด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น องค์กรที่มีชื่อข้างท้ายนี้ จึงขอเรียกร้องดังต่อไปนี้

  1. ขอสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ Watchlist ที่ปรากฎเป็นข่าวเผยแพร่ดังกล่าว โดยการตั้งกระทู้ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร รวมทั้งที่มีชื่อของตนอยู่ในเอกสาร Watchlist นั้นด้วย และ/หรือโดยการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการชุดที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อให้ได้ความจริงจากรัฐบาล หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงความชอบด้วยกฎหมายของการจัดทำ เผยแพร่และการปฏิบัติเกี่ยวกับWatchlist ดังกล่าว ทั้งวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ในการจัดทำ ผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่ถูกขึ้นบัญชี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่ได้มีหมายจับ หรือศาลมีคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
  2. ขอให้หน่วยงานตามข้อ 1 ทั้งในสภาผู้แทนราษฏร และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตรวจสอบ watchlist บัญชีดำอื่นๆ ที่หน่วยงานของรัฐได้กระทำ แจกจ่าย และยึดถือปฏิบัติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน
  3. ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่สร้างหรือมี Watchlist ทำลายหรือถอนชื่อบุคคลต่างๆ ออกจาก Watchlist โดยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลที่ศาลมิได้มีคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และ
  4. ขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบอย่างมืออาชีพ และมีความสำนึกในการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน และยึดถือกฎหมายอย่างเคร่งครัด อย่าได้ตกเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ทางการเมืองอีกต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net