Skip to main content
sharethis

สหรัฐฯ มอบเงิน 50 ล้านเหรียญให้องค์กรนอกภาครัฐ (NGO) ของไทยใช้แก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 บริเวณแนวชายแดนไทย-พม่า และมอบเงินช่วยเหลืออีก 5 ล้านเหรียญให้หน่วยงานสาธารณสุขไทยเพื่อนำไปช่วยเหลือการปฏิบัติการของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า

11 ส.ค. 2564 วานนี้ (10 ส.ค. 2564) สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ระบุว่า ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ประกาศมอบความช่วยเหลือรอบใหม่ มูลค่ารวม 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่หน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานนอกภาครัฐของไทย เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาโควิด-19 โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-พม่า

ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ
 

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ระบุว่า เงินจำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากจำนวน 55 ล้านดอลลาร์ จะนำไปใช้ตอบสนองต่อความต้องการด้านมนุษยธรรม อันเป็นผลจากวิกฤตการณ์ในพม่า ความช่วยเหลือดังกล่าวจะมอบให้กับองค์การระหว่างประเทศและองค์กรนอกภาครัฐโดยตรง และจะช่วยประเทศไทยและหน่วยงานเหล่านี้ตอบสนองต่อวิกฤตการณ์โควิด-19 ตลอดจนตอบสนองความต้องการของประชากรกลุ่มเปราะบางตามแนวชายแดนไทย-พม่า ส่วนเงินมูลค่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐจะมอบให้หน่วยงานสาธารณสุขของประเทศไทย เพื่อให้นำไปช่วยสนับสนุนบุคลากรสาธารณสุขที่ให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชน ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพระบบสาธารณสุขของไทยในการป้องกัน ตรวจหา และตอบสนองต่อโรคโควิด-19

คำกล่าวโดยเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์
ณ ศูนย์ฉีดวัคซีน โรงพยาบาลเมดพาร์ค
10 สิงหาคม 2564

สวัสดีค่ะ สวัสดีทุกท่าน

ดิฉันอยู่ที่นี่วันนี้ ในฐานะตัวแทนของประธานาธิบดีไบเดน เพื่อเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่เรามีต่อชาวไทยระหว่างวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้

สหรัฐฯ ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศไทยมากว่า 200 ปี

เรามีความร่วมมือที่ครอบคลุมและแข็งแกร่งในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการค้าและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน ไปจนถึงพันธมิตรทางการทหารที่แน่นแฟ้น และความร่วมมือด้านสาธารณสุข

ความสัมพันธ์ของเรามีรากฐานอยู่บนค่านิยมที่ชาติของเราทั้งสองมีร่วมกันเหนือสิ่งอื่นใด

ด้วยเหตุนี้ ดิฉันจึงภูมิใจที่ได้มาที่โรงพยาบาลเมดพาร์คในวันนี้

ดิฉันรู้สึกยินดีที่มีโอกาสได้เห็นการดำเนินการของไทยในการฉีดวัคซีนและปกป้องประชาชนด้วยวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯ ได้มอบให้เมื่อเร็ว ๆ นี้

เมื่อเช้านี้ ดิฉันได้พบกับบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าผู้ซึ่งเป็นวีรบุรุษและวีรสตรีของไทย ในขณะที่พวกเขาได้รับวัคซีนเข็มแรก และดิฉันรู้สึกเกิดแรงบันดาลใจที่ได้ฟังเรื่องราวของพวกเขาในการปฏิบัติงานเพื่อรักษาชีวิต

ดิฉันยังได้รับฟังสรุปเกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีนเหล่านี้อย่างรวดเร็ว เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกคนในประเทศไทยปลอดภัย

นับตั้งแต่ที่เกิดการระบาดใหญ่ สหรัฐฯ ได้มอบเครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และอุปกรณ์สำคัญอื่น ๆ ให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อช่วยต่อสู้กับโรคโควิด-19

นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ชาวอเมริกันยังทำงานเคียงข้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทยในการต่อสู้กับไวรัสที่เลวร้ายนี้ด้วย

ในการยุติโรคโควิด-19 เราทราบดีว่า เราต้องทำงานร่วมกัน เชื้อโควิดนั้นไร้พรมแดน

ไวรัสนี้ไม่สนใจว่าเรามาจากประเทศไทย หรือสหรัฐฯ หรือเมียนมา หรือลาว และไม่มีชาติหนึ่งชาติใดจะสามารถหยุดโรคระบาดใหญ่ได้โดยลำพัง

การกำจัดเชื้อไวรัสนี้จะต้องใช้ความสามารถ ความเป็นผู้นำที่มีหลักการ และความร่วมมือของทุกชาติบนโลก

ประธานาธิบดีไบเดนได้ให้คำมั่นว่า สหรัฐฯ จะมอบวัคซีนให้กับทั่วโลก ท่านประธานาธิบดีเข้าใจดีว่า ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย

ดังนั้น เราจึงกำลังบริจาควัคซีนกว่า 500 ล้านโดสให้กับประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และปราศจากเงื่อนไขใด ๆ

สำหรับประเทศไทย เราได้จัดส่งวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งดิฉันเพิ่งจะได้เห็นการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลแห่งนี้ เรายังภูมิใจที่จะจัดส่งวัคซีนอีก 1 ล้านโดสเร็ว ๆ นี้ด้วย

เรายังทราบอีกว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการรับมือกับความต้องการด้านมนุษยธรรม อันเป็นผลจากวิกฤตการณ์ในพม่า

ดังนั้น ในวันนี้ ดิฉันภูมิใจที่จะประกาศว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะมอบความช่วยเหลือมูลค่า 55 ล้านเหรียญ โดยส่วนใหญ่จะเป็นความช่วยเหลือเพื่อการดำเนินการตอบสนองด้านมนุษยธรรม นอกจากนี้ เราจะให้ความช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนการรับมือต่อการระบาด ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาวะตึงตัวของระบบสาธารณสุขของไทย

โดยเราจะมอบความช่วยเหลือเกี่ยวกับโรคโควิด-19 จำนวน 5 ล้านเหรียญให้กับไทย ซึ่งจะให้การสนับสนุนบุคลากรสาธารณสุขที่ให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชน และเสริมสร้างศักยภาพระบบสาธารณสุขของไทยในการป้องกัน ตรวจหา และตอบสนองต่อโรคโควิด-19 ด้วย

ส่วนเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจำนวน 50 ล้านเหรียญนั้น จะมอบให้กับภาคีองค์การระหว่างประเทศและองค์กรนอกภาครัฐโดยตรง เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านอาหารกรณีฉุกเฉิน อุปกรณ์ช่วยชีวิต ที่พักพิง การให้บริการสาธารณสุขหลัก น้ำ การส่งเสริมสุขภาพ และบริการด้านสุขอนามัยต่าง ๆ แก่ประชากรกลุ่มเปราะบางจากเมียนมา ซึ่งรวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศกว่า 700,000 คน

ทั้งนี้ เงินช่วยเหลือดังกล่าวจะช่วยให้ไทย องค์กรนอกภาครัฐ และองค์การระหว่างประเทศสามารถตอบโต้วิกฤตการณ์โควิด-19 และตอบสนองต่อความต้องการของประชากรกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายแดนฝั่งไทย

ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ยากลำบากทั้งที่ประเทศไทยและในทั่วโลก และดิฉันอยากจะให้คนไทยทราบว่า สหรัฐฯ จะยืนเคียงข้างพวกท่านต่อไป

นอกจากนี้ ดิฉันยังอยากจะขอบคุณบุคคลเหล่านี้เป็นพิเศษ ได้แก่ พยาบาล หมอ บุคลากรสาธารณสุข อาสาสมัคร และทุกคนที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อหยุดไวรัสนี้และช่วยชีวิตคนมากมาย

ขอบคุณค่ะ

นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ยังรายงานเพิ่มเติมว่า ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ เข้าพบดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อโดยทั้งสองท่านได้เน้นย้ำถึงพันธไมตรีอันยาวนานระหว่างสหรัฐฯ และไทย ตลอดจนหารือถึงการทำงานร่วมกันในการรับมือกับโรคโควิด-19 ประเด็นสิทธิมนุษยชน และความท้าทายด้านมนุษยธรรมในภูมิภาค

ถ้อยแถลงจากการประชุมระหว่างเอกอัครราชทูต ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์
และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย
และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทย ณัฐพล นาคพาณิชย์

จัดเตรียมโดยโฆษกประจำคณะผู้แทนสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ โอลิเวีย ดัลทัน

เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เข้าพบรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ณัฐพล นาคพาณิชย์ วันนี้ที่กรุงเทพมหานคร ในทั้งสองการประชุม เอกอัครราชทูตโทมัส-กรีนฟิลด์ ย้ำถึงความแข็งแกร่งของพันธไมตรีอันยาวนานระหว่างสหรัฐฯ และไทย อีกทั้งยังเน้นถึงความมุ่งมั่นที่สหรัฐฯ มีต่อประชาชนไทยขณะที่เราทำงานร่วมกันเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 ซึ่งรวมไปถึงวัคซีนโควิด-19 จำนวน 1.5 ล้านโดสที่สหรัฐฯ ได้บริจาคให้เมื่อเร็ว ๆ นี้ และวัคซีนอีก 1 ล้านโดสที่ประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ว่าจะบริจาคให้ นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตโทมัส-กรีนฟิลด์ ยังได้กล่าวถึงการประกาศในวันนี้ว่า สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือรอบใหม่ มูลค่า 55 ล้านเหรียญ เพื่อช่วยการดำเนินการรับมือกับสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมและการระบาดใหญ่ในภูมิภาค

ในการประชุมกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย เอกอัครราชทูตโทมัส-กรีนฟิลด์ ได้แสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในพม่า และผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวต่อเสถียรภาพในภูมิภาค เอกอัครราชทูตโทมัส-กรีนฟิลด์ ยังได้เน้นถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานด้วย

เอกอัครราชทูตโทมัส-กรีนฟิลด์ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ณัฐพล นาคพาณิชย์ หารือถึงความสำคัญของความร่วมมือที่ต่อเนื่องระหว่างสหรัฐฯ และไทยในประเด็นต่าง ๆ มากมาย รวมถึงการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และความต้องการด้านมนุษยธรรม

ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ (ซ้าย)
ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ขวา)

 

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net