Skip to main content
sharethis

ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ผู้ประกันตน ม.33 สลับวัคซีน และวัคซีนเดิม เริ่ม 16 ส.ค. 2564 นี้

พญ.นิธยาพร ลิมปะพันธุ์ รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม แจ้งผลการเตรียมความพร้อมสำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยคณะทำงานบริหารจัดการและกระจายวัคซีนได้เตรียมจัดศูนย์ฉีดวัคซีน เพื่อให้บริการผู้ประกันตนมาตรา 33 ในการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หลังจากที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับวัคซีนเข็มแรกจากประกันสังคมแล้ว เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้วกว่า 1.3 ล้านคน

พญ.นิธยาพร กล่าวว่า วัคซีนเข็มที่ 2 จะเริ่มฉีดในวันที่ 16 ส.ค. 2564 เป็นต้นไป เป็นวัคซีนยี่ห้อ AstraZeneca ทั้งหมด โดยแบ่งผู้ประกันตนตามสูตรการฉีด ดังนี้

สูตร 1 (AZ+AZ) คือผู้ประกันตนที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เป็น AstraZeneca และจะครบกำหนดฉีดเข็ม 2 ภายใน 12-16 สัปดาห์ จะฉีดเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนยี่ห้อ AstraZeneca เหมือนเดิม โดยผู้ประกันตนในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ได้รับเข็ม 1 ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. ถึง 21 ก.ค. 2564 จะได้รับเข็ม 2 ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. – 28 ก.ย. 2564

สูตร 2 (SV+AZ) แบบฉีดสลับวัคซีน ตามมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2564 คือผู้ประกันตนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นยี่ห้อ Sinovac จะได้รับเข็ม 2 ภายใน 3-4 สัปดาห์ เป็นยี่ห้อ AstraZeneca ทั้งหมดเช่นกัน โดยผู้ประกันตนในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ได้รับเข็ม 1 ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. – 6 ส.ค. 2564 จะได้รับเข็ม 2 ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม – 27 สิงหาคม 2564

และผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกลุ่มจังหวัดภาคผลิตสำคัญ 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และนครปฐม ที่ได้รับวัคซีนตามสูตร 2 (SV+AZ) ตั้งแต่ 22 ก.ค. – 13 ส.ค. 2564 จะได้รับเข็ม 2 เป็นยี่ห้อ AstraZeneca ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. – 27 ส.ค. 2564

โดยสำนักงานประกันสังคมได้เตรียมพร้อมศูนย์ฉีดวัคซีนกระจายทั่วพื้นที่ กทม.ทั้ง 12 เขตความรับผิดชอบ รวม 26 จุดฉีด และทั้ง 5 จังหวัดเรียบร้อยแล้ว จะส่งแจ้งนัดหมายให้ผู้ประกันตนทราบล่วงหน้าผ่าน SMS เข้าโทรศัพท์มือถือให้ผู้ประกันตนทราบโดยเร็วที่สุด

พญ.นิธยาพร กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ขอให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ทุกท่าน เมื่อทราบกำหนดนัดหมายแล้ว โปรดเตรียมตัวให้พร้อม เหมือนกันกับการฉีดเข็มแรก คือ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดการออกกำลังกายหนัก สวมเสื้อที่สะดวกในการฉีด เช่น เสื้อแขนสั้น

ที่สำคัญคือ เตรียมบัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง) ติดตัวมาด้วยในวันที่ฉีดวัคซีน และมาให้ทันตามกำหนดนัดหมาย เพื่อร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไปด้วยกัน

หากท่านอยู่ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็ม 2 ตามกำหนดข้างต้น แต่ไม่ได้รับ SMS นัดหมาย สามารถตรวจสอบวันนัดหมายฉีดวัคซีน เข็มที่ 2 ได้ที่หน้าเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th อีกช่องทางหนึ่ง หากไม่พบข้อมูล ขอให้รีบแจ้งนายจ้าง หรือ HR บริษัท ด่วน หรือหากมีข้อสงสัย ติดต่อสายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 12/8/2564

เสวนาชี้โรงงานไม่แคร์โควิดเร่งผลิตสินค้า พบแรงงานหญิงติดเชื้อจำนวนมาก

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาออนไลน์ เนื่องในโอกาสวันแม่ หัวข้อ “ท้อง-คลอดในวิกฤติโควิด ชะตากรรมแรงงานหญิงที่ถูกเมิน” นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากสถานการณ์ของคนงานและแรงงานหญิงในช่วงวิกฤติโควิดช่วงนี้ น่าเป็นห่วงมาก มีการติดเชื้อจำนวนมาก แต่โรงงานหลายแห่งก็ไม่ได้มีมีมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุก ไม่ดูแลเรื่องโรงพยาบาลสนาม ห่วงแต่เรื่องการผลิตให้ทันตามออเดอร์จากต่างประเทศ ทำให้มีการกระจายเชื้อไปในชุมชนมากมาย

นายจะเด็จ กล่าวอีกว่า ดังนั้นหน่วยงานรัฐและนายจ้างต้องให้ความสำคัญ ถ้าห่วงแต่เรื่องการผลิตอย่างเดียวการควบคุมโรคจะเป็นไปไม่ได้ ซึ่งที่จริงมีบางจังหวัดที่เคยผ่านวิกฤติโควิดมาแล้ว เช่น จังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม ที่มีการจัดการที่ดี ดังนั้นจึงเสนอว่า

1.โรงงานต่างๆ ควรจะมีการตรวจเชิงรุกที่ชัดเจน

2.ควรจะมีการสร้างโรงพยาบาลสนาม ที่มีมาตรฐานมีบุคลากรการแพทย์ในการดูแล และมียารักษา มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาหากมีอาการหนักขึ้น หากโรงงานไหนไม่มีพื้นที่สำหรับตั้งโรงพยาบาลสนามต้องมีการประสานงานกับท้องถิ่น ในการหาสถานที่ดำเนินการ

3.ร่วมมือกับสหภาพแรงงานในโรงงาน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือดูแลเรื่องการเจ็บป่วย หาทางออกกับปัญหาวิกฤตคราวนี้

และ 4.ต้องมีการเยียวยาตามสิทธิที่ลูกจ้างมีอยู่เดิม รวมถึงสิทธิในการเยียวยาเพิ่มเติมจากมาตรการของรัฐ ต้องสนับสนุนให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ มีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะเจอหลายกรณีที่คนงานหญิงตั้งครรภ์มีอาการรุนแรง บางคนถึงขั้นเสียชีวิต เพราะฉะนั้นการตรวจเชิงรุกให้กับแรงงานหญิงและกลุ่มต่างๆ หรือคนงานที่ท้องมีความจำเป็นมาก และสิทธิต่างๆ ของประกันสังคมต้องครอบคลุมและช่วยเหลือมากกว่านี้

ด้าน นางอรุณี ศรีโต กรรมการประกันสังคม กล่าวว่า ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ ในภาพแรงงานที่ตนดูแลอยู่นั้นมีจำนวนไม่มาก แต่เป็นกลุ่มที่เราต้องดูแลให้ดี เพราะ 1 คนท้องมี 2 ชีวิต จึงต้องมีการให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองอย่างเข้มข้น ต้องแยกตัวไม่ร่วมวงรับประทานอาหารกับคนอื่น อยู่ให้ห่างจากคนงานอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นายจ้างต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน ต้องจัดให้หญิงตั้งครรภ์ เป็นกลุ่มพิเศษต้องได้รับการดูแลพิเศษ เช่น สลับมาทำงานในส่วนที่ไม่ต้องเจอคนเยอะ เป็นงานที่ไม่หนักมาก

“สิ่งสำคัญ คือหากเจอคนเสี่ยงติดเชื้อในสถานที่ทำงาน นายจ้างจะต้องดูแล สนับสนุนให้พนักงานได้รับการตรวจหาเชื้อ ซึ่งต้องดูแลพนักงานทุกคน ไม่เฉพาะหญิงตั้งครรภ์เท่านั้น เพราะถ้าให้แรงงานไปหาตรวจเองก็จะมีค่าใช้จ่ายเป็นพัน และไม่ควรรอเฉพาะหน่วยงานภาครัฐเข้าดูแล เพราะตอนนี้มีการแพร่ระบาดเยอะ นายจ้างต้องดูแลลูกจ้างก่อนด้วย” นางอรุณี กล่าว

ส่วน นางอัณธิกา โคตะมะ รองเลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานกลุ่มย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า การระบาดของโควิด -19 ระลอกนี้แรงงานมีความยากลำบากมาก บางบริษัทไม่มีแม้กระทั่งที่ตรวจ หรือตรวจเจอเชื้อก็ไม่มีเตียงรักษา โดยเฉพาะในกลุ่มคนท้องยิ่งมีความลำบากมากกว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างล่าสุดในสถานประกอบการแห่งหนึ่ง มีพนักงานหญิงตั้งครรภ์หลายคน ที่น่าเสียใจคือมี 1 ราย อายุครรภ์ 8 เดือน เสียชีวิตโดยไม่ทันได้เห็นหน้าลูก แต่ที่น่าแปลกคือรัฐบาลบอกว่ารักษาโควิดฟรี แต่จากการพูดคุยกับสามีผู้เสียชีวิตพบว่า รพ.เอกชนที่รักษาเรียกเก็บเงิน 1.5 แสนบาท ก็ไม่รู้ว่าเป็นค่าอะไรบ้าง เพราะรายนี้มีการผ่าคลอด และทารกอยู่ในตู้อบ 7 วัน

“จากที่มีการติดตามข้อมูลการดูแลแรงงานในช่วงสถานการณ์โควิด โรงงานบางแห่ง ให้พนักงานหญิงตั้งครรภ์ใช้สิทธิลาคลอด 98 วันก่อนกำหนดได้ เพื่อลดการเดินทางลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ผู้หญิงหลายคนสู้อดทนเพื่อเก็บวันลาเอาไว้อยู่กับลูก ให้นมลูกหลังคลอดให้มากที่สุด แต่โรงงานบางแห่งก็ไม่ได้ดูแลอะไรเป็นพิเศษเลย ซึ่งเข้าใจว่านี่ไม่ใช่นโยบายของรัฐ จึงอยากให้รัฐมีการออกมาตรการดูแลคนท้องเพื่อให้โรงงานปฏิบัติตามด้วย อย่างน้อยที่เสนอไปคือน่าจะหยุดงาน 3-6 เดือน แล้วรับเงินเดือน 50-75% ก็ได้” นางอัณธิกา กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 11/8/2564

สวนลำไยเจอวิกฤต ขาดแรงงาน-ส่งออกจีนสะดุด หวั่นผลผลิตตกค้างฉุดราคา

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตลำไยภาคเหนือออกสู่ตลาดมาก โดยจังหวัดที่ปลูกมาก คือ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย มีผลผลิตรวมกันกว่า 88% ของลำไยทั้งหมด ซึ่งในฤดูกาลผลิตปีนี้ ผลผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทั้งกระทบร้อนและฝนตกชุก ทำให้ลำไยลูกเล็กแตกลาย แก่เร็วกว่าปกติ ขึ้นหัว ไม่สามารถนำไปใช้อบได้ ประกอบกับปัญหาด้านแรงงาน พบว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแรงงานในห่วงโซ่อุปทานลำไย ทั้งในส่วนของแรงงานชนเผ่า ที่ส่วนใหญ่ใช้มาตรการป้องกันโรคโดยปิดหมู่บ้าน จึงไม่สามารถลงมารับจ้างได้ แรงงานต่างด้าวที่ไม่สามารถเดินทางข้ามเขตได้ ส่วนแรงงานไทยจากภาคอื่นก็ต้องการออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อด้านตลาดรองรับ ซึ่งโดยปกติ 65% ของผลผลิตลำไย จะใช้ในการแปรรูปเป็นลำไยอบแห้ง และผลิตภัณฑ์อื่น

“แต่ในปีนี้ ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับคำสั่งซื้อจากจีนที่เป็นตลาดหลัก ทำให้ขาดความมั่นใจจึงชะลอการรับซื้อในช่วงนี้ รวมถึงเวียดนามมีผลผลิตมากขึ้น จึงนำเข้าลำไยรูดร่วงจากไทยเพื่อนำไปอบแห้งลดลง ด้านสหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เป็นผู้รวบรวมก็ขาดสภาพคล่องด้านเงินหมุนเวียนที่จะใช้รับซื้อลำไย” นายวัฒนศักย์กล่าว

นายวัฒนศักย์กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการด่วนให้กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดต้นทาง-ปลายทาง เซลส์แมนจังหวัด เซลส์แมนประเทศเร่งเข้าไปช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกลำไย รวมถึงผู้ประกอบการและผู้ส่งออก โดยด้านตลาดรองรับในประเทศ กรมการค้าภายในจะเร่งช่วยเหลือดูดซับผลผลิตลำไยในช่วงที่กระจุกตัวนี้ รวมกว่า 80,000 ตัน โดยช่วยค่าบริหารจัดการ 3 บาท/กก. ในการรับซื้อลำไย ของ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย แพร่ น่าน และพะเยา ทำสัญญาข้อตกลง (อมก๋อยโมเดล) กับผู้ซื้อ 6 ราย เป้าหมาย 4,788 ตัน ได้แก่ บิ๊กซี เดอะมอลล์ โลตัส แม็คโคร ตลาดกลาง และ P80 กระตุ้นการส่งออกโดยช่วย 5 บาท/กก. ซึ่งมีผู้ส่งออกลำไยที่ยื่นขอรับการสนับสนุน 31 ราย เป้าหมายส่งออก 59,482 ตัน เสริมสภาพคล่องโดยช่วยชดเชยดอกเบี้ย 3% 6 เดือน (คชก.) ให้สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ วงเงินกู้รายละ 50 ล้านบาท รวม 3,300 ล้านบาท ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก ธ.ก.ส. ที่ออกโครงการสินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร และ บสย. ที่ช่วยค้ำประกันสินเชื่อของ ธ.ก.ส. ฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปีแรก ภายใต้ โครงการ PGS ระยะที่ 9

นายวัฒนศักย์กล่าวอีกว่า กรมจะจัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคลำไย เป้าหมาย 2,350 ตัน ผ่านร้านธงฟ้า รถ mobile ผลไม้นำลำไยวิ่งไปจำหน่ายถึงหน้าบ้านประชาชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 30 คัน รณรงค์บริโภคลำไยผ่านห้างท้องถิ่น ห้างค้าส่งค้าปลีก ททบ.5 (เพิ่มการรับซื้อจากปกติ) โดยในส่วนสถานีบริการน้ำมัน ปตท. PT และบางจาก ได้ให้ความอนุเคราะห์พื้นที่จำหน่ายฟรีแก่เกษตรกร และอยู่ระหว่างประสานร่วมรณรงค์บริโภคลำไยกับกระทรวงพาณิชย์อีกด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 11/8/2564

สมาคมประมงขอนำเข้าแรงงานเพื่อนบ้าน เร่งฉีดวัคซีน พักหนี้เงินกู้ด่วน

นายบุญชู แพใหญ่ รองประธานกรรมการรักษาการแทนประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความอนุเคราะห์แก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของปัญหาแรงงานด้วยการ 1)ใช้อำนาจตาม ม.44 พ.ร.บ.กำหนดบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ 2560 ขอเปิดศูนย์ One Stop Service เพื่อนำเข้าแรงงาน MOU ภาคประมงที่จังหวัดระนอง- สระแก้ว และ อ.แม่สอด จ.ตาก

2.ขอแรงงานประมงทะเล กลุ่ม บต.48 กับ กลุ่ม MOU สามารถเปลี่ยนนายจ้างรวมแล้วไม่เกิน 3 รายเช่นเดียวกับแรงงานตามมติ ครม.วันที่ 13 ก.ค. 2564 3.ขอให้แรงงานประมงที่ติดโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาหายแล้วในช่วง 2-3 เดือนก่อนที่จะต้องถูกตรวจสุขภาพได้รับการ “ยกเว้น” ไม่ต้องตรวจโควิด-19 ใหม่ โดยให้นำใบรับรองแพทย์ว่า ได้รับการรักษาโควิด-19 ไปใช้แทนเพื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพได้ทันที และ 4.ขอให้มีการกำหนดค่าตรวจโควิด-19 แรงงานกรณีการเปลี่ยนนายจ้างให้เท่ากับการตรวจโควิด-19 ของแรงงานเพื่อต่อใบอนุญาตทำงาน จากปัจจุบันค่าตรวจการเปลี่ยนนายจ้างอยู่ที่ประมาณ 3,540 บาท ซึ่งแพงกว่าแบบต่ออายุที่ 2,300 บาท

นอกจากนี้ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ยังทำหนังสือไปถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติเพื่อเสนอขอความช่วยเหลืออันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้แก่ ขอผ่อนผันการควบคุมวันทำการประมงออกไปก่อน 3 ปี, เร่งเยียวยาเรือประมง(ขาวแดง)ที่ไม่สามารถออกทำการประมงได้(จากมาตรการ IUU ของรัฐ), ขอชะลอการเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้และพักชำระหนี้กลุ่มผู้ประกอบการประมง และ ขอให้หามาตรการช่วยเหลือชาวประมงให้ฉีดวัคซีนปัองกันโควิด-19 โดยด่วน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 11/8/2564

ครม. เคาะ 'เยียวยาประกันสังคม' ม.39 , 40 พื้นที่สีแดงเข้ม รับ 5,000 บาท

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.วันนี้ (10 ส.ค.) เห็นชอบเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่ควบคุมการระบาดสูงสุด (สีแดงเข้ม) ที่ให้มีการล็อกดาวน์ 29 จังหวัดตามประกาศของ ศบค.ตามที่ คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานเสนอ โดยให้มีการช่วยเหลือแรงงานประกันสังคมในกลุ่มนี้รวมประมาณ 6.6 ล้านราย ได้รับการช่วยเหลือคนละ 5,000 บาท

แบ่งเป็นวงเงินสำหรับมาตรา 39 ใน 29 จังหวัด วงเงิน 7.18 พันล้านบาท และวงเงินสำหรับมาตรา 40 ใน 29 จังหวัดวงเงินรวม 2.62 หมื่นล้านบาท

สำหรับคุณสมบัติของกลุ่มเป้าหมาย

- เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่มีสัญชาติไทย

- มีสถานะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ในฐานทะเบียนประกันสังคมที่มีสถานะ A (Active) ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด) หรือ ณ วันที่3 สิงหาคม 2564 (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 16 จังหวัด)

- เป็นผู้สมัครเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในฐานทะเบียนประกันสังคมที่มีสถานะรอชำระเงิน W (Wait) ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564

- กรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ต้องไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39

- กรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ต้องไม่เป็นข้าราชการหรือผู้รับบำนาญของกรมบัญชีกลาง

- กรณีเป็นผู้ประกันตนในฐานทะเบียนประกันสังคม (สถานะ Active) ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ต้องอยู่ใน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา.สงขลา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา

- กรณีเป็นผู้ประกันตนในฐานทะเบียนประกันสังคม (สถานะ Active) ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ต้องอยู่ใน 16 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ นครราชสีมา ระยอง ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ตาก อ่างทอง นครนายก สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี

- กรณีเป็นผู้สมัครเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด ที่มีสถานะ W (Wait) ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ที่อยู่ระหว่างรอชำระเงินสมทบ ต้องอยู่ในพื้นที่ 29 จังหวัด โดยให้ชำระเงินสมทบภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เพื่อเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สมบูรณ์ตามกฎหมาย

ก่อนหน้านี้นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับ กรุงเทพธุรกิจ ว่ากระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้ให้รายละเอียดแรงงาน และนายจ้างที่อยู่ในกลุ่มประกันสังคมมาตรา 39 และ 40 ใน 29 จังหวัดทั้งที่เป็นผู้ประกันตนเดิม และที่ลงทะเบียนใหม่ตามมติ ครม.ให้กับ สศช.เรียบร้อยแล้วเพื่อให้ได้กรอบและจำนวนที่แน่นอนเสนอให้ ครม.อนุมัติหลังจากก่อนหน้านี้อนุมัติในหลักการแล้ว

ทั้งนี้แรงงานในกลุ่มนี้ทั้ง 29 จังหวัดที่เข้าเงื่อนไข รวมทั้งอาชีพอิสระจะได้เงินเยียวยาเป็นจำนวน 5,000 บาท โดยในส่วนของ 13 จังหวัดแรกที่มีการประกาศล็อกดาวน์มีผู้ประกันตนในมาตรา 39 ประมาณ 1 ล้านราย ส่วนในมาตรา 40 เดิมมีผู้ประกันตนประมาณ 1 ล้านราย และมีการลงทะเบียนเพิ่มเติมมา 3.1 ล้านราย รวมเป็น 4.1 ล้านราย

สำหรับ 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร 2. กาญจนบุรี 3. ชลบุรี 4. ฉะเชิงเทรา 5. ตาก 6. นครปฐม 7. นครนายก 8. นครราชสีมา 9. นราธิวาส 10.นนทบุรี 11.ปทุมธานี 12.ประจวบคีรีขันธ์ 13.ปราจีนบุรี 14.อยุธยา 15.เพชรบุรี 16.ปัตตานี 17.เพชรบูรณ์ 18.ยะลา 19.ระยอง 20.ราชบุรี 21.ลพบุรี 22.สงขลา 23.สิงห์บุรี 24.สมุทรปราการ 25.สมุทรสงคราม 26.สมุทรสาคร 27.สระบุรี 28.สุพรรณบุรี และ 29.อ่างทอง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 10/8/2564

กม.ใหม่มีผลแล้ว ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจกว่า 3 แสนคนได้เพิ่มค่ารักษาโควิด-ทำศพ-ทุนบุตร

นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีและโฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความประสงค์ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจให้ดีขึ้น จึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พิจารณาปรับปรุงและกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยออกเป็นประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ รวม 4 ฉบับ ได้แก่ 1.ยกเลิกประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ค่าช่วยเหลือบุตรและค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร 2. หลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน 3. หลักเกณฑ์การจ่ายค่าช่วยเหลือบุตรและค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร 4. หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น สิทธิในการได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค ค่าใช้จ่ายเพื่อการตรวจสุขภาพ ปรับสิทธิในการได้รับค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเอกชนประเภทผู้ป่วยในให้สูงขึ้น และให้ลูกจ้างเบิกค่ารักษาพยาบาลโดยใช้ระบบการเบิกจ่ายตรง ได้รับค่าทำศพในอัตรา 3 เท่าของค่าจ้างรายเดือนเดือนสุดท้าย แต่ต้องไม่น้อยกว่า 40,000 บาท ทั้งยังได้ปรับเงินช่วยเหลือบุตรจากเดือนละ 50 บาท เป็นเดือนละ 200 บาท เพิ่มสิทธิการเบิกค่าช่วยเหลือการศึกษาบุตรรวมถึงการศึกษาในระดับปริญญาตรี และสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันโรคสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากการรักษาสำหรับตนเอง คู่สมรส หรือบุตรตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่สถานพยาบาลภายใน 15 วัน รวมถึงกรณีรัฐวิสาหกิจใดมีข้อกำหนดให้สิทธิการรักษาพยาบาลแก่บิดา มารดา ก็ให้มีสิทธิตามประกาศนี้ด้วย

โฆษก กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ลงนามในประกาศ คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ทั้ง 4 ฉบับ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 และราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 จึงทำให้เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จำนวน 3 ฉบับ และในเรื่องของหลักเกณฑ์และค่ารักษา กรณีติดเชื้อโควิด-19 มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2563 ซึ่งจะส่งผลให้พนักงานรัฐวิสาหกิจรวม 306,887 คน ได้รับการคุ้มครองในเรื่องของการดำเนินการกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเพื่อรองรับการจ่ายเงินคืนแก่สถานพยาบาลได้โดยเร็ว โดยมีเงินค่ารักษาพยาบาลที่ค้างจ่ายต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ โรงพยาบาล (รพ.) เอกชน รวมกว่า 32 ล้านบาท

ที่มา: มติชนออนไลน์, 10/8/2564

ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ เสนอรัฐบาลอัดเงิน 7 แสนล้าน ผ่าน 6 มาตรการ ช่วยตกงานกว่า 9 ล้านคน และผู้ประกอบการอีกกว่าแสนราย

ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 มีแนวโน้มสูงกว่าที่คาด โดยตัวเลขการคาดการณ์ผู้ติดเชื้อรายวันเข้าสู่กรณีเลวร้าย จากทั้งประสิทธิภาพของมาตรการล็อกดาวน์และประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้าต่ำกว่าที่คาด ทำให้มาตรการควบคุมการระบาดมีแนวโน้มลากยาวไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2564 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยค่าเฉลี่ยของการประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ของ 31 สำนักวิจัยลดลงจาก 3.4% (มี.ค. 2564) อยู่ที่ 1.8% (ส.ค. 2564)

การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนในวงกว้าง จากตัวเลขของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนพบว่า มีธุรกิจจำนวน 754,870 รายอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรืออยู่ใน 9 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง (คิดเป็น 93.9% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด) ซึ่งมีการจ้างงานถึง 24.8 ล้านคน (คิดเป็น 65% ของแรงงานทั้งหมด) และในจำนวนนี้มีแรงงานประมาณ 13.7 ล้านคนเป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

จากวิกฤตโควิด-19 ที่มีความรุนแรงและยาวนาน รวมถึงมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง มาตรการเยียวยาจึงมีความจำเป็นเพื่อควบคุมการระบาดและประคองให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยอยู่รอดต่อไปได้ วิจัยกรุงศรีจึงศึกษาเปรียบเทียบการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ในประเทศต่างๆ พบว่า มาตรการให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ และมาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือนเป็น 6 มาตรการที่มีความสำคัญและนโยบายที่มีอยู่อาจยังไม่เพียงพอ

1. มาตรการให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว: เน้นการสร้างแรงจูงใจและข้อบังคับเพื่อให้คนที่มีความเสี่ยงยอมกักตัวอยู่บ้าน เพื่อควบคุมการระบาด

2. มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน: เป็นมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือแรงงานผ่านภาคธุรกิจ เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนของธุรกิจและรักษาระดับการจ้างงาน เน้นการช่วยเหลือธุรกิจและแรงงานที่มีรายได้น้อย

3. มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ: เป็นมาตรการให้เงินช่วยเหลือครั้งเดียวเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง โดยจำนวนเงินช่วยเหลือขึ้นกับผลกระทบและความอ่อนไหวของธุรกิจ

4. มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน: รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านภาษี ด้านอุปกรณ์ป้องกันโรค ด้านที่อยู่ และด้านรายจ่ายจำเป็นอื่นๆ เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าอาหาร และค่าการศึกษา เป็นต้น

5. มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ: รวมถึงการลดต้นทุนค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์และต้นทุนค่าธรรมเนียมภาษี

6. มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือน: เน้นไปที่กลุ่มที่เข้าถึงความช่วยเหลือค่อนข้างยาก ได้แก่ กลุ่มเปราะบางและแรงงานนอกระบบ

มาตรการทั้งหมดนี้ช่วยบรรเทาผลกระทบของเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้น คาดว่าจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจจะเลิกกิจการใน 6 เดือนข้างหน้าได้มากถึง 169,175 ราย (จาก 221,658 รายที่ได้รับผลกระทบ) และช่วยรักษาการจ้างงานได้ถึง 7.4 ล้านตำแหน่ง (จากแรงงาน 9.3 ล้านคนที่มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างหรือลดเงินเดือน) ซึ่งช่วยลดปัญหาสภาพคล่องได้ถึง 2.75 ล้านครัวเรือน (จาก 3.89 ล้านครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ)

ในระยะยาว การระบาดของโควิด-19 ทำให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มลดลงจาก 3.5% ก่อนการระบาดของโควิด-19 เหลือ 3.0% จากการออกจากกิจการของธุรกิจ สินทรัพย์ที่ด้อยค่า และประสิทธิภาพของแรงงานที่ลดลง อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาทั้ง 6 มาตรการที่ทำการศึกษาจะช่วยให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยสามารถประคองตัวอยู่ที่ 3.25%

โดยทั้ง 6 มาตรการมีวงเงินรวมกันประมาณ 7 แสนล้านบาทในช่วง 6 เดือนข้างหน้า การใช้มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้นและสามารถสร้างรายได้ถึง 8.6 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2564-2568)

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 9/8/2564

แรงงาน 'เมียนมา-กัมพูชา' นับพันประท้วง จี้ปิดโรงงานชั่วคราว คัดกรองโควิด-ส่งรักษา

8 ส.ค. 2564 นายพิสิษฐ สิริสวัสดินุกูล นายอำเภอบ้านบึง จ.ชลบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านบึง พร้อมด้วย นายวัชรินทร์ สงฆ์รักษ์ ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอบ้านบึง เข้าตรวจสอบและระงับเหตุกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาและกัมพูชากว่า 1,000 คนรวมตัวกันประท้วงหน้าโรงงาน ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เรียกร้องให้โรงงานหยุดกิจการชั่วคราว และให้ตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิดส่งรักษา และนำกลุ่มเสี่ยงออกไปกักตัวด้านนอก ไม่ให้กักตัวอยู่ในโรงงาน จนเกิดการกระทบกระทั่งกับรปภ.ได้รับบาดเจ็บถูกนำตัวส่งรพ.

โดย นายวัชรินทร์ ได้พูดคุยทำความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้ประท้วงถึงระบบการกักตัว มีความจำเป็นที่จะต้องคัดแยกกลุ่มเสี่ยง แยกผู้ติดเชื้อ ผู้ใกล้ชิดคนป่วย บริหารจัดการ ส่งรักษา กักตัว สังเกตุอาการ โดยนายจ้างเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้ผู้ติดเชื้อออกไปแพร่เชื้อข้างนอก หรือรับเชื้อจากข้างนอกเข้ามาสู่โรงงาน

ขณะที่นายอำเภอบ้านบึง ระบุว่า จะเสนอให้ผวจ.สั่งปิดสถานประกอบการเบื้องต้นก่อนเป็นระยะเวลา 3 วัน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัวจัดเตรียมสถานที่และสิ่งต่างๆ เพื่อรองรับการเข้าสู่ Bubble and seal และให้ผู้บริหารได้พูดคุยกับพนักงาน ทำความเข้าใจกับกลุ่มพนักงานบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจ ได้ทราบข้อเท็จจริง

“อาจจะมีพนักงานส่วนหนึ่งที่เกิดความกังวลใจ ด้วยการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน ทำให้เกิดความวิตกกังวล เพื่อเป็นการป้องกันคลัสเตอร์ขนาดใหญ่เจ้าหน้าที่ได้พูดคุยทำความเข้าใจผ่านล่าม ทำให้กลุ่มแรงงานทั้งหมดยินยอมพร้อมใจกับข้อตกลง ต่างแยกย้ายกันกลับที่พัก คาดว่าแรงงานทั้งหมด 1,700 กว่าคน พร้อมที่จะเข้าระบบ Bubble and seal ตามที่เจ้าหน้าที่และเจ้าของโรงงานเตรียมพร้อมไว้”

ที่มา: มติชนออนไลน์, 8/8/2564

กรณีลูกจ้างได้รับเงินเยียวยา ม. 33 แล้วถูกนายจ้างหักเงินเยียวยา กสร.เตือนว่า ทำไม่ได้ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์

สืบเนื่องจากสื่อออนไลน์ได้มีการวิจารณ์ว่า สถานประกอบการแห่งหนึ่งทราบว่าลูกจ้างได้รับเงินเยียวยาของรัฐบาลมาแล้วนั้น จึงได้หักเงินเยียวยาออกไป

กสร. ขอชี้แจงประเด็นกรณีที่นายจ้างหักเงินเยียวยาที่ลูกจ้างได้รับสิทธิกรณีเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 จากเงินเดือน เป็นเหตุให้ลูกจ้างขาดรายได้ที่ควรได้รับ จำนวน 2,500 บาท ว่า เคสนี้นายจ้างเข้าข่ายละเมิดสิทธิ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีและโฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า สถานประกอบกิจการแห่งหนึ่งแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่าเมื่อลูกจ้างได้รับเงินเยียวยาของรัฐบาล ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้จ่ายเงินเยียวยาให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สำหรับ 9 กลุ่มกิจการ เฉพาะจังหวัดที่กำหนด โดยลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินเยียวยา จำนวน 2,500 บาทนั้น นายจ้างจะหักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากเงินเดือน โดยอ้างว่ารัฐบาลช่วยจ่ายเงินเดือนให้แล้ว

ในกรณีนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความกังวลและห่วงใยลูกจ้างอาจไม่ได้รับสิทธิตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการเยียวยาผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ขอเน้นย้ำว่า การกระทำดังกล่าวของนายจ้างถือเป็นการละเมิดสิทธิที่ลูกจ้างพึงได้รับ

จึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตรวจสอบพร้อมชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งกรมขอชี้แจงว่า กรณีเงินเยียวยาที่รัฐบาลจ่ายให้กับผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 คนละ 2,500 บาท เป็นเงินเยียวยาที่รัฐบาลจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้าง

ส่วนเงินค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในแต่ละเดือนเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานให้กับลูกจ้างที่ทำงานให้ ดังนั้นนายจ้างไม่สามารถนำเงินเยียวยา ตามมาตรา 33 ที่ลูกจ้างได้รับมาหักจากค่าจ้างได้ การหักค่าจ้างเช่นนี้ ถือเป็นการปฏิบัติไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

จึงขอเตือนนายจ้างที่คิดจะหักค่าจ้างลูกจ้างที่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล ไม่ว่าลูกจ้างจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม หากฝ่าฝืนมีความผิดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับลูกจ้าง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายสามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 7/8/2564

แรงงาน ประกาศด่วนให้นายจ้างผ่อนผันส่งใบรับรองแพทย์ ประกอบการลาป่วย

นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีและโฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยผู้ใช้แรงงาน

เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายใหม่และผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐมีมาตรการนำผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้าสู่ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อที่บ้าน (Home Isolation) การดูแลด้วยระบบชุมชน (Community Isolation)

รวมถึงมาตรการทางสาธารณสุขอื่นๆ จึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานออกประกาศเรื่อง ขอความร่วมมือนายจ้างผ่อนผันการให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์ประกอบการลาป่วย

ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2564 โดยมีประเด็นสำคัญคือ ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 32 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง การลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการ ในกรณีที่ลูกจ้างไม่อาจแสดงใบรับรองของแพทย์ต่อนายจ้างได้ ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

กรมขอความร่วมมือนายจ้างผ่อนผันการให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการประกอบการลาป่วย หรืออาจให้ลูกจ้างชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นผ่านระบบการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อนายจ้างหรืออาจขอให้ใช้หลักฐานอื่นแทน เพื่อลดภาระของลูกจ้างและบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว

โฆษก กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ในส่วนของสิทธิการได้รับค่าจ้างระหว่างลา ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาป่วย เท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี หรืออาจตกลงกันให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยเนื่องจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างลาแยกต่างหากจากสิทธิลาป่วยตามที่กฎหมายกำหนดก็ได้ โดยหากนายจ้าง ลูกจ้าง มีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายสามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546

ที่มา: TNN, 7/8/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net