Skip to main content
sharethis

สุรพศ ทวีศักดิ์ ผู้เขียน อำลาพุทธราชาชาตินิยม วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ หรือ ป.อ. ปยุตฺโต ผู้ผลิตงานเขียนที่มีอิทธิพลต่อวงการพุทธศาสนาจำนวนมาก แต่มันคือการสืบต่อแนวคิดพุทธราชาชาตินิยม ซึ่งขัดฝืนยืนต้านหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน และเราจะอำลาจากมันได้อย่างไร

  • สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ หรือ ป.อ. ปยุตฺโต สร้างงานเขียนที่มีอิทธิพลต่อวงการพุทธศาสนาจำนวนมาก โดยนำหลักพุทธศาสนามาประยุกต์ สนับสนุนว่าไม่ควรแยกศาสนาออกจากรัฐ พุทธศาสนาควรเป็นศาสนาประจำชาติและเป็นหลักของเสรีภาพทางศาสนา การบังคับเรียนวิชาพุทธศาสนาในหลักสูตรของชาติ และศีลห้าครอบคลุมหลักสิทธิมนุษยชน
  • แนวคิดดังกล่าวของ ป.อ.ปยุตโต เป็นการนำหลักพุทธศาสนามารับใช้และสืบทอดอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ซึ่งสุรพศเรียกว่า พุทธราชาชาตินิยม ซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน
  • งานของ ป.อ.ปยุตโต มักนำเสนอด้านบวกของพุทธศาสนาที่เป็นคุณต่ออุดมการณ์ราชาชาตินิยมโดยไม่กล่าวถึงด้านลบ ขณะเดียวกันก็เอ่ยถึงด้านลบของรัฐโลกวิสัย หลักสิทธิมนุษยชน เพียงด้านเดียวเช่นกัน
  • แนวคิดธรรมาธิปไตยใช้สำหรับสั่งสอนตรวจสอบประชาชนและนักการเมือง แต่ใช้สนับสนุนกษัตริย์และชนชั้นนำ
  • ศีลห้าไม่สามารถทดแทนหลักการสิทธิมนุษยชนได้เพราะศีลห้าไม่มีแนวคิดเรื่องสิทธิตั้งแต่แรก
  • สุรพศเสนอให้ยกเลิกการบังคับเรียนวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียน

พุทธศาสนา ในที่นี้หมายถึงพุทธศาสนาที่อิงกับอุดมการณ์ราชาชาตินิยม หรือที่สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนาเรียกว่า พุทธราชาชาตินิยม กำลังเผชิญความท้าทายอย่างสำคัญ เมื่อมันไม่ยังคงเอื้ออวยแนวคิดแบบจารีตและสวนทางกับหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ในเสวนาหนังสือ 'อำลาพุทธราชาชาตินิยม...วิพากษ์แนวคิดชาตินิยมแบบพุทธของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)' ของสุรพศ จัดโดยสำนักพิมพ์ Illumination Edition เขาได้หยิบเอางานและแนวคิดของปัญญาชนพุทธแถวหน้าอย่างสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) มาวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อแสดงให้เห็นว่างานของ ป.อ.ปยุตโตและอิทธิพลของมันส่งผลต่อความคิด ความเชื่อเกี่ยวกับพุทธราชาชาตินิยมอย่างไร

และเราจะอำลาจากมันได้อย่างไร

สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา ผู้เขียน "อำลาพุทธราชาชาตินิยม"

การสืบทอดแนวคิดพุทธราชาชาตินิยมของ ป.อ.ปยุตโต

สุรพศกล่าวว่าต้องยอมรับว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ หรือ ป.อ. ปยุตโต สร้างงานที่มีคุณค่าต่อวงวิชาการด้านพุทธศาสนามากซึ่งก็คือหนังสือพุทธธรรม พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลศัพท์ประมวลธรรมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และงานอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งยังนำหลักพุทธธรรมไปประยุกต์กับเรื่องต่างๆ เช่น พุทธปรัชญาการศึกษา เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ รัฐศาสตร์แนวพุทธ นิติศาสตร์แนวพุทธ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการและตัว ป.อ. ปยุตโต เองที่กล่าวว่า หนังสือพุทธธรรมเป็นการนำเสนอความรู้จากพระไตรปิฎก เป็นงานวิชาการบริสุทธิ์ ที่ไม่มีตัวตนของผู้เขียนอยู่เลย ซึ่งสุรพศตั้งข้อสังเกตในทางปรัชญาว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ใครสามารถสร้างงานวิชาการโดยไม่มีตัวตนของตัวเองอยู่เลย

“วิธีการนำเสนองานของท่านเจ้าคุณ ป.อ. ปยุตโต ไม่ว่าจะพูดเรื่องปรัชญาการศึกษา เรื่องศาสนาประจำชาติ หรือเรื่องอะไรก็ตาม ท่านก็จะคิดคล้ายๆ กับที่เสนอในพุทธธรรมว่ากำลังนำเสนอความรู้ความจริงที่บริสุทธิ์ แต่หนังสืออำลาพุทธราชาชาตินิยมของผมกำลังจะบอกว่ามันไม่เพียว ก็คือว่าท่านกำลังเสนอหลักการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาโดยอ้างอิงคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นหลักการ แล้วท่านก็ยืนยันว่าไม่ควรแยกศาสนาออกจากรัฐ พุทธศาสนาควรเป็นศาสนาประจำชาติไทยและเป็นหลักของเสรีภาพทางศาสนา ยืนยันว่าควรมีการบังคับเรียนวิชาพุทธศาสนาในหลักสูตรของชาติ จริยธรรมพุทธเป็นจริยธรรมของชาติ การยืนยันเหล่านี้เมื่อเต็มไปด้วยข้ออ้างอิงหลักฐานทางวิชาการ ข้อมูลความรู้มากมาย”

แต่เมื่อนำแนวคิดแบบ Secularism กับเสรีนิยมมาตั้งคำถามกลับเห็นความย้อนแย้ง ที่ชัดเจนคือหลักการความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐที่ ป.อ.ปยุตโต คิดว่าครอบคลุม สิ่งที่พระพุทธเจ้าเสนอไว้เมื่อ 2,500 ปีที่แล้วยังใช้ได้กับสังคมไทยในปัจจุบัน และอ้างความเห็นของบุคคลต่างๆ อ้างประวัติศาสตร์ความต่อเนื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาในอดีต และอ้างความเห็นของกษัตริย์ในอดีตว่าอุปถัมภ์ศาสนาอย่างไร โดยไล่ตั้งแต่ศิลาจารึกสุโขทัย สมเด็จพระนารายณ์ พระเจ้าตากสิน รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 เพื่อให้เหตุผลสนับสนุนว่าทำไมจึงควรมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ รัฐควรอุปถัมภ์ส่งเสริมพุทธศาสนา และใช้จุดยืนดังกล่าวปฏิเสธการแยกศาสนาออกจากรัฐ

สุรพศเห็นว่าเป็นความพยายามสืบทอดแนวคิดพุทธราชาชาตินิยม

ภาพปกหนังสือ อำลาพุทธราชาชาตินิยม โพสต์โพสต์เพจ Illuminations Editions

ไม่มีเสรีภาพทางศาสนาในพุทธราชาชาตินิยม

สุรพศกล่าวว่าหากดูกลุ่มคนที่ยืนยันให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ยืนยันการไม่แยกศาสนาออกจากรัฐ ยืนยันสถาบันศาสนจักรของรัฐ หรือมีระบบองค์กรสงฆ์ที่ขึ้นกับรัฐจะพบว่า มีการอ้างอิงงานของ ป.อ.ปยุตโตเป็นหลัก

“โดยสรุปคือสิ่งที่ท่านคิดว่ากำลังเสนอหลักการที่ครอบคลุมความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐว่าเป็นมาตรฐานสากล เป็นหลักการทั่วไป ในหนังสือผมกำลังบอกว่ามันไม่ใช่ มันเป็นการเสนอหลักการเฉพาะ เอาไอเดียของรัฐพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ของรัฐพุทธศาสนาไทยมาสนับสนุนหรือ Justified ข้อเสนอของท่าน

“ผมพูดไว้ตั้งแต่บทนำแล้วว่าแม้แต่เสรีภาพทางศาสนาของพระยังไม่มีเลย ภายใต้ระบบที่ยังไม่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ พระไม่ได้มีเสรีภาพทางศาสนา เช่นมหาเถรสมาคมมีคำสั่งห้ามพระภิกษุสามเณรจัดเสวนา อภิปราย แสดงความคิดเห็น หรือร่วมชุมนุมสนับสนุนเสรีภาพ ประชาธิปไตย แต่มีคำสั่งให้สอนประชาชนให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในแง่นี้ก็ไม่มีเสรีภาพแล้ว

“เสรีภาพทางศาสนามันครอบคลุมกว่านั้น หมายความว่าเราเลือกนับถือศาสนาอะไรก็ได้ เลือกเปลี่ยนศาสนาก็ได้ แล้วเสรีภาพทางศาสนาก็สัมพันธ์กับเสรีภาพในการพูด การแสดงออก เมื่อคุณพูดหรือแสดงออกในทางสนับสนุนประชาธิปไตยไม่ได้เพราะติดกฎอำนาจทางกฎหมายของมหาเถรสมาคมก็แสดงว่าคุณไม่มีเสรีภาพ สันติอโศกไม่มีแม้แต่เสรีภาพที่จะเลือกใช้คำว่าพระภิกษุ ภายใต้ระบบแบบนี้ที่ยังไม่ได้บัญญัติเป็นศาสนาประจำชาติยังไม่มีเสรีภาพแล้ว อันนี้เป็นปัญหาของท่าน ป.อ. คือประเด็นข้อเท็จจริงแบบนี้ไม่นำมาพูด”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ประยุทธ์ ปยุตฺโต)ป. อ. ปยุตฺโต ภาพจากวิกิพีเดีย

ตรรกะวิบัติของ ป.อ.ปยุตโต

สุรพศยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ป.อ.ปยุตโต มักอ้างว่าเวลาผู้อื่นเสนอความเห็นจะนำความจริงมาพูดไม่หมด ซึ่งเขากล่าวว่า ป.อ.ปยุตโตจะอธิบายหลักการของพุทธที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วอ้างข้อเท็จจริง อ้างประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของไทย โดยเลือกเฉพาะด้านบวก ส่วนด้านที่เป็นปัญหาต่อเสรีภาพกลับไม่พูดถึง

“ขณะเดียวกันเวลาที่ท่านจะวิจารณ์ Secular State ของอเมริกา ของยุโรป ท่านก็เลือกจะมองเฉพาะข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหา ความขัดแย้งทางศาสนา ความแตกแยก แต่ท่านไม่เอาหลักการของ Secularism มาอธิบายเลยว่ามีหลักการยังไง เพราะฉะนั้นเวลาท่านบอกว่าคนอื่นพูดความจริงไม่หมด มันก็ย้อนศรมาถึงท่านเอง”

งานของ ป.อ.ปยุตโต ยังกล่าวถึงหลักการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาโดยอ้างหลักคำสอนของพุทธเป็นหลักการ อ้างประวัติศาสตร์ว่ารัฐกับศาสนาต่อเนื่องมาอย่างไร โดยกล่าวถึงในด้านบวกว่าสมัยที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 กษัตริย์ผู้ปกครองรู้เรื่องพุทธศาสนาดีจึงให้การอุปถัมภ์ แต่พอถึงยุคประชาธิปไตย ผู้ปกครองรู้เรื่องตะวันตก แต่ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของตัวเอง

“เนื้อหาส่วนหนึ่งก็วิจารณ์การแยกศาสนาจากรัฐในอเมริกา พูดถึงว่า Secular State แบบอเมริกันนำไปสู่ความตีบตันทางอารยธรรม ซึ่งไอเดียที่พุทธเสนอเกิดขึ้นในบริบทที่สังคมยังไม่ได้แยกศาสนาจากรัฐ จะเอามาใช้กับสังคมประชาธิปไตยได้เหรอ แล้วก็แย้งเรื่องข้อเท็จจริงว่าในยุคประชาธิปไตย รัฐไม่ได้สนับสนุนจริงหรือเปล่า หรือจริงๆ แล้วรัฐได้ให้อะไรต่างๆ อยู่ แต่แม้จะให้อยู่ ผมก็กำลังจะบอกว่ามันก็ขัดหลักเสรีประชาธิปไตย ขัดหลักการโลกวิสัย เราจะไปอ้างประวัติศาสตร์และหลักการที่พุทธศาสนาวางไว้เพื่อให้ความชอบธรรมว่ารัฐกับศาสนาไม่ควรแยกจากกันในปัจจุบันและควรอุปถัมภ์ศาสนามากขึ้น ผมคิดว่าเป็นตรรกะวิบัติ”

สุรพศยกความเห็นของ ป.อ.ปยุตโตที่กล่าวถึงพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีสหรัฐที่ยังต้องสาบานต่อคัมภีร์ไบเบิ้ลว่าไม่ได้ปลอดจากศาสนาอย่างแท้จริง ซึ่งประเด็นนี้เขาโต้แย้งว่า

“เราก็สามารถตั้งคำถามกลับไปได้ว่าการทำเช่นนั้นมีผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ มันทำให้ประธานาธิบดีเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา แตะต้องไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้หรือเปล่า ในขณะที่บ้านเราประกาศว่ามีปฐมบรมราชโองการว่าจะปกครองโดยธรรม อันนี้เราตั้งคำถามไม่ได้ คำประกาศนี้มันนำมาสู่การเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ แตะไม่ได้เลย แต่พิธีสาบานตนที่เอามือแตะในไบเบิ้ลมันไม่เกี่ยว

ธรรมาธิปไตยที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของพุทธไทย

“แล้วผมก็จะมีคำถามต่อไปว่าเวลาเราอ้างธรรมาธิปไตยมาวิจารณ์การเมือง ผมก็วิจารณ์ให้เห็นว่าเราอ้างเพื่อมาตั้งคำถามกับนักการเมือง กับประชาชน เพื่อสอนให้นักการเมืองกับประชาชนมีธรรมาธิปไตย แล้วประชาธิปไตยของเราก็จะดี ผมเลยตั้งคำถามตรงไปตรงมาว่าแล้วนักการเมืองเขามีสัญญาประชาคมว่าจะปกครองโดยธรรมเหรอ เขาได้รับเลือกตั้งเข้ามา เขาประกาศนโยบายไว้หรือเปล่าว่าจะใช้ธรรมาธิปไตยปกครอง เขาไม่ได้ประกาศ เมื่อเขาไม่ได้ประกาศก็ต้องใช้หลักการประชาธิปไตยมาตรวจสอบ

“แต่คนที่ประกาศว่าปกครองโดยธรรมคือกษัตริย์ แล้วทำไมพระไม่เอาธรรมาธิปไตยไปตั้งคำถามกับกษัตริย์ แต่พระอวยอย่างเดียว คือเวลาพูดถึงกษัตริย์ก็จะเอาพระราชกรณียกิจต่างๆ มาแล้วอ้างให้เข้ากับหลักทศพิศราชธรรม แต่คำถามที่อานนท์ นำภาและคนอื่นๆ ตั้งกับสถาบันกษัตริย์ทำไมไม่ยกขึ้นมาแล้วเอาทศพิศราชธรรมไปตรวจสอบ เพราะว่ากษัตริย์มีพันธะกับประชาชนเมื่อประกาศว่าจะปกครองโดยธรรม แต่เราใช้ทศพิศราชธรรมไปอวยกษัตริย์อย่างเดียว แล้วใช้หลักธรรมาธิปไตยมาตั้งคำถามกับประชาชน กับนักการเมือง ผมบอกว่ามันผิดฝาผิดตัว

“และในที่สุดการอ้างธรรมาธิปไตยแบบนี้สะท้อนว่า ผู้ที่อ้างไม่เคารพต่อความรับผิดชอบต่อการเคารพปกป้องหลักการประชาธิปไตย ประเด็นที่สองมันถามต่อไปได้ว่าแล้วคุณเคารพปกป้องหลักพุทธธรรมจริงหรือไม่ คำตอบของผมคือคุณไม่ได้ปกป้องด้วยซ้ำ”

สุรพศยกตัวอย่างปัญญาชนพุทธบางคนที่เคยกล่าวว่า ถ้าเผด็จการโดยธรรมก็เป็นสิ่งที่ดี เขาตั้งคำถามกลับว่าขณะที่ปัญญาชนพุทธเห็นว่าการคอร์รัปชั่นผิดหลักอทินนาทาน แต่รัฐประหารซึ่งเป็นการปล้นอำนาจประชาชนทำไมจึงไม่ผิด

ดังนั้น การตีความพุทธศาสนาในทางสังคมการเมืองสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แบบ ป.อ.ปยุตโต ในที่สุดแล้วจึงขัดหลักการโลกวิสัยและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทย ที่แย่กว่านั้นคือทำให้พุทธธรรมต่างๆ ที่อ้างมาทำงานไม่ได้

อีกทั้งการอธิบายเรื่องธรรมาธิปไตยของ ป.อ.ปยุตโตก็ขัดแย้งกันเอง สุรพศเล่าถึงกรณีที่ ป.อ.ปยุตโตให้สัมภาษณ์กรณีการเสียสัตย์เพื่อชาติของสุจินดา คราประยูร ภายหลังการรัฐประหารปี 2534 ว่า ถ้าสุจินดาไม่ได้มีเจตนาโกหกตั้งแต่แรก การกลับคำเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมืองย่อมถือว่าเป็นการเสียสละตนเอง ไม่ถือเป็นการผิดศีลข้อมุสา แต่เป็นการผิดธรรมซึ่งเบากว่าศีล

แต่พอกล่าวถึงประชาธิปไตยกลับบอกว่าต้องถือธรรมเป็นใหญ่ ป.อ.ปยุตโตยังอธิบาย ธรรมาธิปไตย ว่าหมายถึงหลักเกณฑ์กติกาที่ถูกต้องชอบธรรมที่สังคมตกลงกันกำหนดขึ้น แต่ในช่วงหลังกลับบอกว่าธรรมาธิปไตยไม่เกี่ยวกับระบบหรือกฎ หากเป็นเรื่องคุณสมบัติในตัวคน ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่พูดตอนตน

“ผมถึงบอกว่าการอธิบายก็ไม่เคลียร์ เกิดความสับสน แล้วยังมีเรื่องอื่นที่ท่าน Overclaim ที่พูดว่า ถ้าหมู่มนุษย์ปฏิบัติตนอยู่ในศีลห้า สิทธิมนุษยชนก็ไม่จำเป็น แล้วท่านเสนอให้เอาหลักศีลห้ามาตีความบัญญัติเป็นกฎหมาย ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ผิดพลาดอย่างไม่น่าจะผิดพลาดเลย เพราะแนวคิดศีลห้าไม่มีแนวคิดของสิทธิตั้งแต่แรก มันไม่สามารถเป็นรากฐานของสิทธิมนุษยชนได้เลย หลักศีลห้าไม่สามารถครอบคลุมเรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิปัจเจกบุคคล ความเสมอภาค”

อำลาพุทธราชาชาตินิยม

สุรพศเสนอในหนังสือของตนว่าควรยกเลิกการบังคับเรียนวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียนเพราะขัดหลักเสรีภาพทางศาสนา

“ในสถานการณ์แบบนี้ มันหมายความว่ามีคนส่วนหนึ่งรู้สึกอยากออกจากพุทธราชาชาตินิยมที่อ้างว่าสร้างความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวให้คนในชาติ ปรากฏว่ามันไม่ใช่ เพราะถ้าฝ่ายหนึ่งออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกวิชาพุทธศาสนา เรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ มันก็ต้องเจอกับพุทธราชาชาตินิยมที่ปกป้องอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แล้วอุดมการณ์นี้ไม่ได้ปกป้องความสามัคคีจริง มันจะมองว่าคนที่ไม่จงรักภักดีเป็นอันตราย ต้องขจัด ที่บอกว่ามันเป็นอุดมการณ์ที่ทำให้สังคมไทยเป็นเอกภาพ มีความสามัคคี ปรากฏว่ายิ่งนานวันยิ่งไม่ใช่

“ยกตัวอย่างการท้าทายกับคุณค่าสมัยใหม่ของวัชรยาน ทำไมเขาตีความพุทธธรรมให้สอดคล้องกับสิทธิเสรีภาพ คุณค่าสมัยใหม่ได้ แล้วทำไมเราไม่ได้ เพราะอะไร ผมก็ไม่มีคำตอบเด็ดขาด ข้อเสนอผมเป็นข้อเสนอให้เกิดการถกเถียงต่อ สิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบันผมมองว่ามันตายแล้ว ไปต่อไม่ได้แล้ว”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net