Skip to main content
sharethis

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) แถลงแสดงความผิดหวังต่อการที่กระทรวงข้อมูลข่าวสารของกัมพูชาตัดสินใจจัดตั้ง "คณะกรรมการสอดส่องเพื่อจริยธรรมทางวารสารศาสตร์" ชี้หน่วยงานขาดความเป็นอิสระ ขาดความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ และเห็นได้ชัดว่าจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับกลไกการเซ็นเซอร์ใหม่ของรัฐบาล

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) แถลงเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 เกี่ยวกับการจัดตั้ง "คณะกรรมการสอดส่องจริยธรรมทางวารสารศาสตร์" โดยรัฐบาลกัมพูชาเปิดเผยเรื่องนี้เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 สื่อฝ่ายรัฐบาลกัมพูชาระบุว่าคณะกรรมการนี้จะทำหน้าที่พิจารณาข้อร้องเรียนจากประชาชนต่อนักข่าวและสื่อต่างๆ เพื่อพิจารณาการทำงานข่าวในกัมพูชา และกำหนดทิศทางว่านักข่าวควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร

ทว่าในทางปฏิบัติ RSF มองว่าคณะกรรมการเหล่านี้จะเป็นข้ออ้างให้รัฐบาลใช้เรียกตัวและสั่งแบนนักข่าวหรือสื่อที่รายงานข่าวที่ทำให้รัฐบาลไม่พอใจเท่านั้น

RSF ระบุว่าในจำนวนคณะกรรมการทั้ง 15 ราย มี 11 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงข้อมูลข่าวสารและกระทรวงกิจการภายในของรัฐบาลกัมพูชาเอง โดยยินยอมให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นกรรมการได้แค่ 4 รายเท่านั้น หนึ่งในผู้ที่ได้รับแต่งตั้งซึ่งมาจากตัวแทนภาคประชาสังคมนี้คือ นพ วี (Nop Vy) ประธานสหพันธ์ผู้สื่อข่าวกัมพูชา (CamboJA)

นพเปิดเผยต่อ RSF ว่า สัดส่วนของคณะกรรมการปัจจุบันแสดงให้เห็นปัญหาอย่างชัดเจน เพราะขาดตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ อย่างเท่าเทียม ประธานสหพันธ์ผู้สื่อข่าวกัมพูชาเชื่อว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายสมาคมผู้สื่อข่าวควรจะมีผู้แทนอย่างทัดเทียมกันในคณะกรรมการนี้ หากจะ "มีการกำกับดูแลในทางที่จะเป็นการจำกัดเสรีภาพของนักข่าว" ไม่เช่นนั้นแล้วก็เป็นเรื่องรับไม่ได้

แดเนียล บาสตาร์ด หัวหน้าโต๊ะเอเชีย-แปซิฟิกของ RSF กล่าวว่าในขณะที่การทำให้สื่อต้องรับผิดชอบกับเนื้อหาที่ตัวเองนำเสนอเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประชาธิปไตย แต่เราก็ไม่ควรโดนหลอกจากการแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมสื่อขอกัมพูชาในครั้งนี้ เพราะคณะกรรมการนี้จะ "ปฏิบัติงานโดยไม่มีอิสระใดๆ เลยจากรัฐบาล" และ "ไม่มีความโปร่งใสในการตัดสินใจประเด็นของพวกเขา" รวมถึง "ไม่มีมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่นักข่าวที่ถูกลงโทษ"

"พูดอีกอย่างหนึ่ง นี่เป็นเครื่องมือใหม่สำหรับการเซนเซอร์และการข่มขู่คุกคาม ที่รัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรีฮุนเซนใช้ในการสั่งปิดปากสื่อที่กล้าจะตั้งคำถามต่อนโยบายของพวกเขา" บาสตาร์ดกล่าว

นักข่าวกัมพูชาหลายคนเปิดเผยต่อ RSF ว่า พวกเขากังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากคณะกรรมการจริยธรรมสื่อ เช่น มิน ภพ (Min Pov) จากวอยซ์ออฟเดโมเครซี (Voice of Democracy) กังวลว่าคณะกรรมการจะมีมาตรการในการตัดสินการทำงานของนักข่าวอย่างไร เพราะขณะนี้สื่อหลายแห่งที่กล้าตั้งคำถามกับการทำงานของรัฐบาลต่างถูกขึ้นบัญชีดำเป็นที่เรียบร้อย

สิเนต ยน (Sineat Yon) นักข่าวอิสระที่รายงานข่าวให้สื่อหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น Voice of Democracy,อัลจาซีรา (Al Jazeera), เดอะ เทเลกราฟ (The Telegraph) และเซาต์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (South China Morning Post) กล่าวว่า คณะกรรมการนี้ควรจะดำเนินงานโดยหน่วยงานอิสระ สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการทำให้นักข่าวสามารถใช้สิทธิของตัวเองได้อย่างเสรีภายใต้กฎหมายสื่อ และไม่ควรใช้กฎหมายอาญาเล่นงานพวกเขา

เมื่อเดือน ก.พ. 2563 ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเคยประณามรัฐบาลกัมพูชาเรื่องแผนการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตแบบ "เกรตไฟวอลล์" ของจีน นอกจากนี้ในรายงานปี 2561 ระบุถึงกัมพูชาว่า การที่นายกรัฐมนตรีฮุนเซนทำสงครามเต็มรูปแบบต่อสื่อทำให้สื่ออิสระเสียหายยับเยิน กัมพูชาถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 144 จาก ทั้งหมด 180 อันดับ ในดัชนีเสรีภาพสื่อโลกของ RSF ปี 2564

เรียบเรียงจาก

Cambodia to use “ethics committee” to censor journalists, RSF, 11-08-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net