Skip to main content
sharethis

13 ส.ค. 2564 องค์การแรงงานระหว่างประเทศคาดการจ้างงานในอาเซียนจะยังไม่ฟื้นตัวภายในปี 2565 โดยกลุ่มผู้หญิงและเยาวชนได้รับผลกระทบจากการตกงานมากที่สุด

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เผยแพร่รายงาน "โควิด 19 และตลาดแรงงานภูมิภาคอาเซียน: ผลกระทบและการตอบรับทางนโยบาย" ระบุว่า เมื่อคำนึงข้อจำกัดในการเคลื่อนย้าย ความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน และอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ไม่มีในสภาพการณ์การฟื้นตัวรูปแบบใดเลยที่คาดการณ์ว่าชั่วโมงการทำงานจะฟื้นตัวเต็มที่ภายในปี 2565

ในปี 2564 คาดว่าอาเซียนจะสูญเสียชั่วโมงการทำงานประมาณร้อยละ 7.4 ในสภาพการณ์การฟื้นตัวแบบพื้นฐาน และร้อยละ 7 และ 7.9 ในสภาพการณ์ที่เป็นแง่บวกและแง่ลบ เมื่อเทียบกับระดับของชั่วโมงการทำงานก่อนการระบาดใหญ่

ในไตรมาสแรกของปี 2564 ภูมิภาคนี้สูญเสียชั่วโมงการทำงานร้อยละ 6.1 และร้อยละ 6.2 ในไตรมาสที่ 2 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 คาดว่าสภาพตลาดแรงงานจะย่ำแย่ลงไปอีก อันเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นระลอกอย่างต่อเนื่อง

“วิกฤตการณ์ดังกล่าวได้เผยให้เห็นถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานในภูมิภาค ด้วยสถานการณ์ที่เป็นไปได้ว่าจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ความเร่งด่วนจึงเพิ่มขึ้นสำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียนในการเร่งนโยบายและโครงการต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการปรับตัวของธุรกิจ แรงงานและครัวเรือน และการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงขึ้นของงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน” ชิโฮโกะ อาซาดะ มิยากาวะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค องค์การแรงงานระหว่างประเทศกล่าว

รายงานฉบับนี้ระบุว่าในปี 2563 มีการจ้างงานแรงงานในภูมิภาคน้อยลงกว่าที่คาดการณ์หากไม่มีการระบาดใหญ่ 10.6 ล้านคน โดยภูมิภาคนี้สูญเสียชั่วโมงการทำงานร้อยละ 8.4 ในปี 2563 เทียบเท่ากับเวลาทำงานของแรงงานที่ทำงานเต็มเวลาจำนวน 24 ล้านคน ในขณะที่แรงงานมีรายได้ลดลงร้อยละ 7.8

ประเทศฟิลิปปินส์สูญเสียชั่วโมงการทำงานมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนในปี 2563 โดยลดลงร้อยละ 13.6 ในทางกลับกัน ชั่วโมงการทำงานในประเทศ อาทิ บูรไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศไทย พบว่ามีชั่วโมงทำงานลดลงร้อยละ 4.3–4.5 แรงงานสตรีและเยาวชนเป็นกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการตกงานมากที่สุด

เศรษฐกิจและตลาดแรงงานอาเซียนได้รับผลกระทบผ่านช่องทางต่างๆ จากการระบาดใหญ่ซึ่งรวมถึงมาตรการปิดเมืองที่รัฐดำเนินการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส การลดลงอย่างมากของการท่องเที่ยว การลดลงของการบริโภคภายในประเทศและผลกระทบต่างๆ จากห่วงโซ่อุปทานของโลก

ข้อมูลจากรายงานฉบับนี้ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2564 กลุ่มประเทศอาเซียนจัดสรรเกือบร้อยละ 16 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพื่อมาตรการการกระตุ้นทางการคลัง อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการดำเนินการเชิงนโยบายเพิ่มเติมในมิติด้านการคุ้มครองทางสังคม การสนับสนุนภาคธุรกิจ และการคุ้มครองแรงงาน เพื่อรับรองการฟื้นตัวที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางจากวิกฤตการณ์ในภูมิภาคอาเซียน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net