Skip to main content
sharethis

13 ส.ค. 2564 กลุ่มโมกหลวงริมน้ำถูกคุมตัวขณะเตรียมกิจกรรมเดินชมวัง ถือพวงหรีดไว้อาลัยผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 และเรียกร้องพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ปฏิรูปแนวทางการดำรงตน สุดท้ายเสียค่าปรับตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ 1 หมื่นบาท ตร.ปล่อยตัวแล้วยังสะกดรอยตามต่อ

เวลา 14.20 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ กลุ่มนักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม หลังเริ่มกิจกรรม "เดินชมวัง" ที่กำแพงพระบรมมหาราชวัง โดยผู้ร่วมกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น 6 คน ถูกนำตัวไปยัง สน.พระราชวัง

โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำเล่าให้ฟังหลังได้รับการปล่อยตัวจาก สน.พระราชวัง ว่า แผนงานในวันนี้คือจะถือพวงหรีดเดินรอบวัง เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้ที่เสียชีวิตจากการระบาดโควิด-19 พอวางของ เตรียมตัวจะเดิน ตำรวจก็มายึดพวงหรีดและสิ่งของไปหมด เมื่อถามตำรวจว่าใช้กฎหมายอะไร ตำรวจบอกว่าผิดซึ่งหน้าอยู่แล้ว ความผิดสำเร็จแล้ว ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง และฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำกล่าวว่า ตนโต้แย้งไปแล้ว ตำรวจบอกว่า ดอกไม้ร่วงลงถนนแล้ว พยายามต่อรองว่าจะเก็บดอกไม้ขึ้นมา ตำรวจบอกว่าได้ทำความผิดไปแล้ว และขอดูบัตรประชาชน เมื่อตอบกลับไปว่าใช้สิทธิในการไม่ให้ดูบัตร ตำรวจก็บอกว่าตนขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ และถูกจับขึ้นรถตำรวจไป สน.พระราชวัง

เมื่อถึงสถานีตำรวจ กลุ่มก็ได้ไลฟ์สดขึ้นเพจโมกหลวงริมน้ำในระหว่างที่พูดคุยกับตำรวจที่ สน.พระราชวัง หลังจากปิดไลฟ์ ตำรวจก็ให้เงื่อนไขว่าจะให้ผิด พ.ร.บ.ความสะอาดฯ อย่างเดียว ปรับคนละ 2,000 บาท และลบการกระทำทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบในกระบวนการที่เกี่ยวกับ สน.พระราชวัง ได้แก่ ภาพถ่ายและไลฟ์ ตนมีคิวปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้า และไม่อยากเสียเวลาจึงรับเงื่อนไข โดยตำรวจลดจำนวนคนที่ถูกปรับจาก 6 คน เป็น 5 คน เสียค่าปรับรวม 10,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์จ่ายไป

โสภณเล่าต่อไปว่า เมื่อออกจาก สน. เหลือเพื่อนกับตนรวมสองคน จึงมีแผนว่าจะไปยืนอ่านจดหมายที่สำนักงานองคมนตรีแล้วถ่ายทอดสด ระหว่างที่เดินก็มีตำรวจสะกดรอยตามมา ทีแรกนึกว่าคิดมากไปเอง แต่พอมาถึงสำนักงานองคมนตรีก็มีรถตู้ตำรวจมาปาดหน้าแล้วถามว่า “จะไปไหนครับ” ก็เลยเห็นว่าไม่ปกติ จึงตอบไปว่ากลับบ้าน

จากนั้นเมื่อโสภณลองเดินวนไปวนมา แล้วเปลี่ยนสถานที่อ่านจดหมายไปแถวรั้วสำนักงานองคมนตรี เมื่อจะเริ่มไลฟ์ก็มีทั้งเจ้าหน้าที่ในและนอกเครื่องแบบรวมราว 10 คนเดินเข้ามาชาร์จ บางคนบอกว่าเป็นทหารนอกเครื่องแบบ บางคนบอกว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ จึงได้ต่อรองว่า ขออ่านจดหมายแล้วไลฟ์สด แล้วจะเดินกลับจะได้ไหม ก็มีคนบอกว่าต้องถามนายก่อน พอนายอีกคนมา ก็พูดเหมือนกันว่าขอถามนายก่อน

โสภณเล่าว่า สุดท้ายมีตำรวจจาก สน.พระราชวัง มาบอกว่าห้ามไลฟ์สด ห้ามอ่านจดหมายตรงนี้ จึงตัดสินใจเดินทางไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อขึ้นรถ ซึ่งระหว่างทางก็โดนตำรวจสะกดรอยตาม

“เวลาเราทำงานกลุ่ม จะมีการประเมินความเสี่ยงตลอด เราก็รู้สึกว่าการเดินถือพวงหรีดรอบวังรอบเดียวแล้วยื่นหนังสือ มันสันติวิธีมากเลย ถ้ามาตรฐานคำว่าความมั่นคงสูงมากพอ เราจะไม่โดนจับ ไม่โดนหมายอะไร

“แต่ก็ตามคาดว่าประเทศนี้มันไม่มีความปลอดภัยขนาดนั้นอีกต่อไปแล้ว เขารักษาความปลอดภัยกับสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่ให้ความปลอดภัยกับประชาชนเลย” สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำกล่าว

โสภณเล่าต่อว่า หลังคุยกับทางสำนักงานองคมนตรี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบอกว่าต้องยื่นผ่านจดหมาย ผ่านไปรษณีย์ ครั้งต่อไปคงตั้งหลักก่อน พร้อมเล่าอีกว่า ผกก.สน.พระราชวัง กล่าวว่า รู้ไหมว่าแกนนำราษฎรคนอื่นๆ เคยผ่าน สน. นี้มาแล้วทั้งนั้น แต่ไม่มีใครห่ามแบบพวกคุณเลยที่มาชาร์จเข้าถึงกำแพงวังขนาดนี้

“อยากจะฝากเป็นคำถามให้สาธารณชนว่า เจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์ แต่ให้ความสำคัญกับประชาชนได้ครึ่งหนึ่งของสถาบันกษัตริย์หรือเปล่า สิ่งที่เราเจอคือมันไม่ใช่แล้ว” โสภณกล่าว

13 สิงหาคม 2564

เรียน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์

เรื่อง ขอให้กษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ปฏิรูปแนวทางการดำรงตน

สืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ร่วมกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถาบันกษัตริย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนในวงกว้างทั้งในแง่ความประพฤติ และความชอบธรรมในการทำงานและดำรงตน โดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ขอยกประเด็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 เรื่องงบสถาบันกษัตริย์ อ้างอิงจาก เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เล่มที่ 17 รายจ่ายเรื่อง การดำเนินงานด้านเลขานุการในพระองค์ และการถวายความสะดวก แด่พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศ์ และพระอนุวงศ์ โดยรายจ่ายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินงานด้านเลขานุการในพระองค์และถวายความสะดวก ถวายความปลอดภัย แด่พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศ์ และพระอนุวงศ์ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้อง รวดเร็ว โดยตามแผนงบประมาณฯ รายจ่ายส่วนนี้จะใช้ไปทั้งสิ้น 8,761,390,800 บาท ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งปัญหาด้านสาธารณสุขที่อุปกรณ์การแพทย์ยังขาดแคลนในหลายพื้นที่ ประชาชนต้องล้มตายเพราะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่จำเป็นได้ ด้วยทรัพยากรสาธารณสุขที่ไม่มากพอ บุคลากรทางการแพทย์ต้องจำใจปฏิเสธคนไข้แม้รู้ว่าการปฏิเสธนั้น อาจทำให้คนไข้เสียชีวิต ด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และนโยบายรัฐที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ดังเดิม ส่งผลให้ประชาชนต้องลำบากจากการมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ บ้างต้องกู้หนี้ บ้างต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน หรือร้ายแรงที่สุด ประชาชนต้องล้มตายจากพิษเศรษฐกิจ แม้ว่ากษัตริย์วชิราลงกรณ์ฯ จะมีการพระราชทานเงินประมาณ 2,850 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา แต่กลุ่มโมกหลวงฯ กลับมองว่า เป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ยังไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับงบประมาณส่วนพระมหากษัตริย์ อีกทั้งงบประมาณนี้ยังช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไม่ทั่วถึง

ประเด็นที่ 2 การที่ประชาชนถูกกล่าวหาด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมามีการกล่าวหาประชาชน จากความผิดดังกล่าวจำนวนมาก ทั้งที่หลายกรณีพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาไม่สอดคล้องกับข้อบัญญัติกฎหมาย หลายรายเพียงนำข่าว นำข้อวิพากวิจารณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มาพูดในพื้นที่สาธารณะเพียงเท่านั้น การกระทำดังกล่าวทำให้เกิดคำถามจากประชาชนว่า หากข่าว หรือข้อวิพากษ์วิจารณ์นั้นไม่เป็นความจริง ผู้พูดจะถูกดำเนินคดีได้อย่างไร หรือความจริงแล้วข้อมูลที่ผู้ถูกกล่าวหาพูดจะเป็นความจริง พวกเขาจึงถูกดำเนินคดี กรณีตัวอย่างที่กลุ่มโมกหลวงริมน้ำกล่าวมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์จากประชาชนเท่านั้น การถกเถียงของประชาชนถึงการดำรงและดำเนินไปของสถาบันกษัตริย์ต่าง ๆ นั้นเป็นเหตุที่นำไปสู่ความเสื่อมของสถาบันกษัตริย์ได้ ในการนี้กลุ่มโมกหลวงริมน้ำจึงขอเสนอแนวทางเพื่อให้สถาบันกษัตริย์ดำรงสถาพรต่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศา-นุวงศ์ทุกพระองค์ มีใจความดังนี้

1. ขอให้กษัตริย์วชิราลงกรณ์ พระบรมวงศ์ และพระอนุวงศ์ หรือผู้รับผิดชอบงบประมาณ โอนงบประมาณจากการดำเนินงานด้านเลขานุการในพระองค์ และการถวายความสะดวกคืนสู่ประชาชน และส่วนงานที่ต้องรับมือต่อปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะส่วนงานด้านสาธารณสุข ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา

2. ขอให้กษัตริย์วชิราลงกรณ์ พระบรมวงศ์ และพระอนุวงศ์ดำรงตนอยู่ภายใต้กฏหมาย เฉกเช่นประชาชนทุกคน เพราะเราต่างก็เป็นมนุษย์ปุถุชนไม่ต่างกัน

3. เมื่อมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ หรือข่าวลือในวงกว้างถึงสถาบันกษัตริย์ กษัตริย์วชิราลงกรณ์ พระบรมวงศ์ หรือพระอนุวงศ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นนั้น ๆ ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยพระองค์เองหรือให้ผู้แทนชี้แจง ทั้งนี้เพื่อให้สาธารณชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง

หากกษัตริย์วชิราลงกรณ์ พระบรมวงศ์ และพระอนุวงศ์สามารถปฏิบัติตนได้ตามข้อเสนอของกลุ่มโมกหลวงริมน้ำแล้ว สถาบันกษัตริย์ย่อมกลับมาดำรงอยู่ได้อย่างสถิตสถาพร สถาบันกษัตริย์และประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติเมื่อพระองค์ยอมรับฟัง และปรับตัวเข้าหาประชาชน

ด้วยความปรารถนาดี

กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ

ทั้งนี้ ข้อมูลการพระราชทานเงินประมาณ 2,850 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ใน เดือน ก.ค. 2564 ที่เพจโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไม่สามารถเข้าถึงได้ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. 2564 และประชาไทพบข้อมูลคล้ายกันนี้เคยถูกรายงานตั้งแต่ปี 2560-2563 และกรมประชาสัมพันธ์รวมรายงานอีกครั้งเมื่อ 25 เม.ย. 2564 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net