Skip to main content
sharethis

'แพลตฟอร์มดิจิทัล' อาจจะช่วยเปลี่ยนแปลงการหาเลี้ยงชีพให้แก่ผู้ลี้ภัยวัยหนุ่มสาวแอฟริกาในทางที่ดีขึ้น ตามรายงานของ ILO ฉบับใหม่ แต่จำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้เข้าถึงอุปกรณ์และเครือข่ายสื่อสาร ทักษะทางดิจิทัล รวมถึงการทำธุรกรรมทางดิจิทัล


เศรษฐกิจดิจิทัลสามารถให้โอกาสในการทำงานแก่ผู้ลี้ภัยวัยหนุ่มสาวได้จำนวนมาก หากได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง | ที่มาภาพประกอบ: Vodafone Foundation & UNHCR/Sala Lewis (อ้างในรายงานของ ILO)

ช่วงเดือน ส.ค. 2564 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เผยแพร่รายงาน Towards decent work for young refugees and host communities in the digital platform economy in Africa: Kenya, Uganda, Egypt ซึ่งระบุว่าเศรษฐกิจดิจิทัลสามารถให้โอกาสในการทำงานแก่ผู้ลี้ภัยวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก แต่การประกันว่าสภาพการทำงานที่ดีนั้นอาจจะต้องมีการริเริ่มแนวทางใหม่ ๆ ในการดำเนินการ

รายงานฉบับนี้ พบว่างานแพลตฟอร์มดิจิทัลมีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้กับผู้ลี้ภัย เนื่องจากพวกเขามักประสบปัญหาในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในท้องถิ่น ผู้ลี้ภัยอาจหันไปใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่โดดเด่น เช่น Jumia หรือ Upwork หากไม่มีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแรงงานท้องถิ่นที่พวกเขาลี้ภัยไปอยู่อาศัย

ขาดโอกาสเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ต


ผู้ลี้ภัยทั่วโลกส่วนใหญ่ร้อยละ 93 ใช้เครือข่าย 2G ในการสื่อสาร พวกเขาและเธอมีโอกาสน้อยกว่าประชากรทั่วไปถึงร้อยละ 50 ที่จะมีโทรศัพท์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ | ที่มาภาพประกอบ: UNHCR/ Frederic Noy

แต่มีข้อกังวลเกี่ยวกับงานของผู้ลี้ภัยบนแพลตฟอร์มดิจิทัลอยุ่เหมือนกัน คือการขาดงานที่ดีและขาดโอกาสเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ต

ทั้งนี้ เคนยา ยูกันดา และอียิปต์ 3 ประเทศที่ ILO ได้ทำการศึกษา พยายามที่จะลงทุนในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลและใช้กลยุทธ์ระดับชาติเพื่อเพิ่มการเข้าถึงดิจิทัล ในปี 2563 มีประชากรเคนยาเพียงร้อยละ 22.5 ที่ใช้อินเทอร์เน็ต เทียบกับร้อยละ 57 ในอียิปต์ และร้อยละ 24 ในยูกันดา

ในขณะที่ผู้ลี้ภัยทั่วโลกส่วนใหญ่ร้อยละ 93 ยังใช้แค่เครือข่าย 2G ในการสื่อสาร พวกเขาและเธอมีโอกาสน้อยกว่าประชากรทั่วไปถึงร้อยละ 50 ที่จะมีโทรศัพท์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ยิ่งเป็นผู้ลี้ภัยวัยหนุ่มสาวการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็มีข้อจำกัดมากยิ่งขึ้น

ความท้าทายที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ปัญหาในการขอใบอนุญาตทำงาน กระแสไฟฟ้าและสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่ค่อยสเถียร การขาดการเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ที่เหมาะสม รวมทั้งข้อจำกัดในการเข้าถึงกลไกการชำระเงินดิจิทัล

หนึ่งในทีมผู้เขียนรายงานฉบับนี้ระบุว่าความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ความไม่เท่าเทียมกันในทักษะและความรู้ด้านดิจิทัล ถือเป็นอุปสรรคเฉพาะที่ประชากรผู้ลี้ภัยจำนวนมากต้องเผชิญในการเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัลและงานผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล

ส่งเสริมงานดิจิทัลในหมู่ผู้ลี้ภัยวัยหนุ่มสาว


รายงานฉบับนี้ของ ILO มีข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมงานดิจิทัลในหมู่ผู้ลี้ภัยวัยหนุ่มสาว ด้วยการสร้างทักษะดิจิทัลที่หลากหลายในหมู่ผู้ลี้ภัยเพื่อเพิ่มการจ้างงานในอนาคต | ที่มาภาพประกอบ: UNHCR/Michele Sibiloni

ทั้งนี้พบว่ามีการริเริ่มอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัลให้แก่ผู้ลี้ภัยบ้างแล้ว เริ่มมีการฝึกอบรมเขียนโค้ด อบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาดิจิทัล (TVET) ในค่ายผู้ลี้ภัยคาคูมาในเคนยา ชุมชนผู้ลี้ภัยบิดีบิดีในยูกันดา และที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เป็นต้น

รายงานฉบับนี้ยังมีข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมงานดิจิทัลในหมู่ผู้ลี้ภัยวัยหนุ่มสาวดังต่อไปนี้: 

- ปรับปรุงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้ลี้ภัยและมิติที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการจ้างงาน

- พยายามอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในการสร้างทักษะดิจิทัลที่หลากหลายในหมู่ผู้ลี้ภัย ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสการจ้างงานในอนาคต ทั้งนี้ควรมีการประสานงานร่วมกับองค์กรธุรกิจเพื่อจับคู่ทักษะกับความต้องการแรงงาน

- สนับสนุนองค์กรธุรกิจที่จ้างงานผู้ลี้ภัย ด้วยความช่วยเหลือทางการเงินและทางเทคนิค - รวมถึงองค์กรเพื่อสังคมและแพลตฟอร์มเพื่อสังคม - รวมทั้งส่งเสริมงานที่สร้างค่าตอบแทนและสภาพการทำงานที่ดีขึ้นสำหรับพนักงานประจำหรือคนทำงานอิสระ

- ปรับปรุงการปรึกษาหารือทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับแรงงานดิจิทัล ระหว่างสหภาพแรงงานและนายจ้าง ให้กับคนทำงานในค่ายผู้ลี้ภัย

- จัดการกับอุปสรรคการดำรงชีวิตทางดิจิทัลที่เกิดกับผู้ลี้ภัย ทั้งทางกฎหมายและการเมือง 


ที่มาเรียบเรียงจาก
Digital labour platforms offer young refugees a possible route to decent work (ILO, 12 August 2021)
Towards decent work for young refugees and host communities in the digital platform economy in Africa: Kenya, Uganda, Egypt (ILO, 12 August 2021)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net