Skip to main content
sharethis

ช่วงที่กลุ่มติดอาวุธตอลีบัน รุกคืบหนักและเพิ่งจะยึดเมืองกันดาฮาร์เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอัฟกานิสถานและถือเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์มาได้ แหล่งข่าวจากหน่วยข่าวกรองหลายประเทศที่ทำการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของจีน มองว่าจีนเตรียมพร้อมจะยอมรับความชอบธรรมของกลุ่มตอลีบันถ้าหากกลุ่มติดอาวุธนี้สามารถยึดเมืองหลวงกรุงคาบูลเอาไว้

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 สื่อหลายแห่งรายงานเรื่องที่กลุ่มคิดอาวุธตอลีบันซึ่งกำลังรุกคืบยึดครองหัวเมืองต่างๆ ในอัฟกานิสถานตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาล่าสุดสามารถยึดเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับที่สองของอัฟกานิสถานอย่างกันดาฮาร์ได้สำเร็จ และนับเป็นเมืองหลวงประจำจังหวัดแห่งที่ 12 ที่กลุ่มตอลีบันสามารถยึดครองได้ ทำให้เกิดการประเมินว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่กลุ่มตอลีบันจะสามารถยึดเมืองหลวงกรุงคาบูลได้สำเร็จ และปฏิกิริยาของนานาชาติจะยอมรับกลุ่มตอลีบันในฐานะรัฐบาลใหม่หรือไม่

ในเรื่องนี้สื่อยูเอสนิวส์รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวจากฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯ และอีกหายประเทศที่วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของจีนว่า ทางการจีนดูมีท่าทีจะยอมรับกลุ่มตอลีบันในฐานะรัฐบาลที่ชอบธรรมของอัฟกานิสถาน ถ้าหากว่ากลุ่มตอลีบันสามารถยึดเมืองหลวงกรุงคาบูลไว้ได้สำเร็จหลังจากที่โค่นล้มรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตกแล้ว ถ้าหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงก็จะกลายเป็นการตัดช่องรัฐบาลโจ ไบเดน ในการต่อรองกับเครือข่ายกลุ่มติดอาวุธตอลีบัน

ตอลีบันส่งตัวแทนเยือนจีนช่วงโค้งสุดท้ายสหรัฐฯ ถอนทัพจากอัฟกานิสถาน

ทางการจีนเคยแถลงต่อหน้าสาธารณะกดดันให้กลุ่มตอลีบันเดินหน้าเจรจาข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาล อัชราฟ กานี ของอัฟกานิสถาน ซึ่งนักวิเคราะห์ก็มองว่าจีนเองก็ต้องการให้เกิดผลลัพธ์จากการเจรจาสันติภาพเช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ ต้องการให้เกิดอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตามจากการประเมินสถานการณ์ทางความจริงจากหน่วยงานข่าวกรองและการทหารของจีนทำให้นักวิเคราะห์มองว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้มีการกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มเครือข่ายตอลีบันอย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจะยอมรับความชอบธรรมของตอลีบันถ้าหากกลุ่มนี้ยึดกรุงคาบูลได้

ขณะที่โฆษกทำเนียบขาว เจน ซากี แถลงว่า "ถ้าหากตอลีบันต้องการให้นานาชาติยอมรับว่าพวกเขามีความชอบธรรมจริง ปฏิบัติการเหล่านี้จะไม่ทำให้พวกเขาได้รับการยอมรับความชอบธรรมอย่างที่พวกเขาใฝ่หา ... พวกเขาควรจะใช้พลังตรงนี้ไปกับกระบวนการสันติภาพมากกว่าที่จะใช้วิธีทางการทหาร พวกเราขอเรียกร้องอย่างหนักแน่นให้พวกเขาทำตามนี้"

ในรายงานชุดล่าสุดจากทางการสหรัฐฯ ระบุว่าจีนจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่พวกเขาเคยไปลงทุนไว้ถ้าหากเกิดเสถียรภาพในอัฟกานิสถาน ในช่วงไม่นานนี้จีนได้เข้าไปเพิ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในอัฟกานิสถานไว้ตั้งแต่การสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างประเทศที่ฉนวนวาคาน โดยที่มีการตั้งข้อสังเกตจากทางการอัฟกานิสถานว่าถนนเส้นนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับจีนจากการที่จีนแสดงความสนใจในการเข้ามาลงทุนภาคส่วนเหมืองแร่ในอัฟกานิสถาน แต่ลักษณะความต้องการเสถียรภาพในอัฟกานิสถานของจีนก็เป็นไปเพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นที่พวกเขาสร้างไว้ที่ประเทศใกล้เคียงอย่างปากีสถานในฐานะโครงการริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือที่มีฉายาว่าเส้นทางสายไหมใหม่มากกว่า

ทั้งนี้ ตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังเคยพบปะหารือกับตัวแทนจากกตอลีบันบ่อยครั้งขึ้นและมีการพบปะครั้งใหญ่เมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ในเทียนจิน ในการหารือครั้งนั้นตัวแทนจีนกล่าวในทำนองว่าจะ "ไม่แทรกแซง" กิจการของอัฟกานิสถาน และเรียกร้องให้ตอลีบันเองก็อย่ายุ่งเกี่ยวกับกลุ่มที่จีนอ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงในมณฑลซินเจียง

อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีผู้วิเคราะห์ไว้ว่าทางการจีนทำข้อตกลงในเรื่องอัฟกานิสถานโดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเป็นประชาธิปไตยในแบบสหรัฐฯ ทำให้จีนไม่มีข้อผูกมัดในการทำข้อตกลงกับกลุ่มอย่างตอลีบัน แต่ผู้อำนวยการของโครงการจีนจากหน่วยงานคลังสมองศูนย์สติมสัน หยุ่นซุน ก็วิเคราะห์ว่าต่อให้จีนสนับสนุนตอลีบันมันก็ยังไม่ชัดเจนว่ากลุ่มตอลีบันจะให้ในสิ่งที่จีนต้องการได้หรือไม่

หยุ่นซุนประเมินอีกว่ามีความเป็นไปได้ที่อัฟกานิสถานอาจจะล่มสลายไปสู่สงครามกลางเมืองแบบยาวนานซึ่งจะกลายเป็นสิ่งที่ทำลายผลประโยชน์ของทั้งจีนและอำนาจต่างประเทศอื่นๆ ที่พยายามหาผลประโยชน์จากอัฟกานิสถาน หยุ่นซุนประเมินว่าเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการยอมรับความชอบธรรมของตอลีบันสำหรับจีนจึงไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์เพียงอย่างเดียวแต่เป็นการที่พวกเขาจะสามารถตอกหน้าสหรัฐฯ ได้ว่า สงครามอัฟกานิสถานจากสหรัฐฯ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมานั้นไม่ได้ผล

กรณีการรุกคืบยึดเมืองกันดาฮาร์ล่าสุดนั้นเป็นหนึ่งในการรุกคืบระลอกล่าสุดของตอลีบันหลังจากที่สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรประกาศจะถอนทัพออกจากอัฟกานิสถานซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดสงครามที่ยาวนาน โดยกำหนดการถอนทัพทั้งหมดจะเกิดขึ้นภายในวันที่ 31 ส.ค. นี้ และถึงแม้จะมีสถานการณ์รุกคืบจากตอลีบันล่าสุด ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็ยังยืนยันคำเดิมว่าจะถอนทัพสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน

"พวกเราใช้งบประมาณไปมากกว่าหนึ่งล้านล้านดอลลาร์ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา พวกเราฝึกซ้อมและติดอาวุธที่เป็นยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ให้กับกองกำลังอัฟกานิสถานมากกว่า 300,000 หน่วย ... พวกเขาต้องต่อสู้เพื่อตัวเอง" ไบเดนแถลงเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ก่อนหน้าการรุกยึดหัวเมืองหลายเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ตามปฏิกิริยาของสหรัฐฯ ต่อการยึดกันดาฮาร์ในวันที่ 13 ส.ค. คือการส่งกองกำลังเข้าไปช่วยเหลือลำเลียงคณะทำงานสถานทูตออกจากประเทศอีกทั้งยังเตือนให้ประชาชนชาวสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานโดยทันทีทางเครื่องบินที่สามารถขึ้นได้ ผู้ใดไม่สามารถซื้อตั๋วเครื่องบินได้ให้ติดต่อกับสถานทูตเพื่อสิทธิกู้ยืมสำหรับส่งตัวกลับประเทศ

การรุกคืบกันดาฮาร์ครั้งล่าสุดนี้กลายเป็นชัยชนะเชิงสัญลักษณ์และนับเป็นการสร้างข้อได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ให้กับตอลีบันเอง กรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างปี 2535-2539 ที่กลุ่มตอลีบันสามารถยึดเมืองกันดาฮาร์ได้ก่อนที่จะสามารถโค่นล้มรัฐบาลอัฟกานิสถานในกรุงคาบูลแล้วประกาศให้เป็นรัฐอิสลามในเวลาต่อมา


เรียบเรียงจาก
China Preparing to Recognize Taliban if Kabul Falls: Sources, US News, 12-08-2021
Taliban capture Kandahar, Afghanistan's second-largest city, Axios, 13-08-2021
US to send troops to help evacuate personnel in Afghanistan, as Kandahar becomes latest city to fall, CNN, 13-08-2021

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Afghan_Civil_War_(1992%E2%80%931996)#:~:text=On%2025%20April%201992%2C%20a,tried%20to%20conquer%20Kabul%20for


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net