Skip to main content
sharethis

ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 22,086 ราย ป่วยสะสม 885,275 ราย รักษาหาย 23,672 ราย หายสะสม 667,556 ราย เสียชีวิต 217 ราย เสียชีวิตสะสม 7,343 ราย ยอดผู้รับวัคซีน (ถึง 13 ส.ค. 2564) สะสมทั้งหมด 23,192,491 โดส - สธ.เผยโควิดเพิ่มเสี่ยงหญิงตั้งครรภ์ แนะฉีดวัคซีนลดติดเชื้อถึงลูก

COVID-19: 14 ส.ค. 64 ไทยติดเชื้อเพิ่ม 22,086 ราย เสียชีวิต 217 ราย

14 ส.ค. 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 เปิดเผยยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่รวม 22,086 คน จำแนกเป็นติดเชื้อใหม่ 21,816 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ-ที่ต้องขัง 270 คน

นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตอีก 217 คน หายป่วยกลับบ้านเพิ่ม 23,672 คน และมีผู้ป่วยกำลังรักษา 210,376 คน

ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.64 จำนวน 856,412 คน หายป่วยสะสม 640,130 คน และเสียชีวิตสะสม 7,249 คน

ขณะที่เว็บไซต์ worldometers.info รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก เมื่อเวลาประมาณ 08.00 น. สะสม 206,908,220 คน หายป่วยสะสม 185,534,873 คน และเสียชีวิตสะสม 4,357,337 คน

สำหรับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก 10 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย บราซิล รัสเซีย ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนตินา โคลอมเบีย และสเปน ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 ของโลก

สธ.เผยโควิดเพิ่มเสี่ยงหญิงตั้งครรภ์ แนะฉีดวัคซีนลดติดเชื้อถึงลูก

เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2564 พล.อ.ท.นพ.การุณ เก่งสกุล ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์หญิงตั้งครรภ์ติดโควิด-19 เริ่มพบมากขึ้นหลังสงกรานต์ปี 2564 ข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่ ธ.ค. 2563 - 11 ส.ค.2564 พบหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด 1,993 คน คลอดแล้ว 1,129 คน (คิดเป็น 55% ) และกลุ่มนี้มีการฉีดวัคซีนเพียง 10 คน พบทารกติดเชื้อจากแม่ 113 คน คิดเป็น 11.8% ถือว่าสูงกว่าต่างประเทศมาก ส่วนหนึ่งเพราะเทียบกับข้อมูลจากประเทศที่ฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

“ที่น่าห่วงคือหญิงตั้งครรภ์ติดโควิดเสียชีวิตถึง 37 คน คิดเป็น 1.85% เทียบกับคนทั่วไปที่ติดเชื้อเสียชีวิต 0.83% ถือว่าสูงกว่าคนทั่วไป 2 เท่าครึ่ง ทารกเสียชีวิต 36 คน คิดเป็น 1.8% เป็นคลอดแล้วเสียชีวิตเลย 11 คน และเสียชีวิตภายใน 7 วันหลังคลอด 9 คน อีก 16 คน เสียชีวิตในท้องพร้อมแม่”
ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือการรับวัคซีน ซึ่งภูมิต้านทานจะถึงทารกด้วย ขณะนี้มีรายงานจากต่างประเทศแล้วว่าการฉีดแบบมิกซ์แอนด์แมชต์ได้ผลภูมิคุ้มกันสูง ไม่จำเป็นต้องเลือกวัคซีน แต่ควรรีบฉีดวัคซีนให้ได้ภูมิคุ้มกันขั้นแรกจากเข็มแรกก่อน และเมื่อตามด้วยเข็ม 2 ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

พล.อ.ท.นพ.การุณ กล่าวอีกว่า รกและสายสะดือมีหลอดเลือดจำนวนมาก ขณะที่โรคโควิด-19 เป็นโรคที่ทำให้หลอดเลือดชำรุดเสียหาย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์สูงมาก ทั้งภาวะความดันโลหิตสูง เลือดออกง่ายกว่าปกติ หลอดเลือดอุดตันที่ปอดมากกว่าปกติ รกลอกก่อนกำหนด จึงเป็นสาเหตุของการแท้งการคลอดก่อนกำหนด เด็กน้ำหนักน้อยกว่ากำหนด รวมถึงทำให้แม่เสียชีวิตได้ง่ายกว่าปกติ รวมถึงสรีระหญิงตั้งครรภ์ ช่วง 32 สัปดาห์หรือ 8 เดือน ครรภ์จะใหญ่ขึ้น น้ำคร่ำในมดลูกมีมากที่สุดประมาณ 1-1.3 ลิตร จึงดันมดลูกขึ้นไปทำให้ปอดขยายตัวลำบาก เกิดภาวะปอดแฟบตามธรรมชาติ ทำให้เกิดปัญหาหายใจล้มเหลวได้มาก

ส่วนกรณีหญิงตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนโควิดแล้วลูกเสียชีวิตในท้องนั้น ธรรมชาติของการตั้งครรภ์ สามารถพบทารกเสียชีวิตในท้องได้ประมาณ 1% มีหลายสาเหตุ ทั้งการติดเชื้อ หลอดเลือด สายสะดือ รก ความดันโลหิตสูง จะระบุว่ามาจากการฉีดวัคซีนคงไม่สามารถจะสรุปได้

วัคซีนปลอดภัย-จำเป็น สำหรับหญิงตั้งครรภ์

พล.อ.ท.นพ.การุณ กล่าวว่า วัคซีนมีความปลอดภัยและจำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ควรฉีดเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะใน 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือนแรกเป็นช่วงที่ร่างกายเด็กกำลังสร้างอวัยวะ ทุกอย่างเช่น ระบบสมอง ประสาท กล้ามเนื้อ ระบบต่อมไร้ท่อ ต้องไม่มียาหรือวัคซีนใดๆเข้ามาแทรกซ้อน สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์มีการระบุว่าห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ สามารถใช้ยาเรมเดซิเวียร์แบบฉีดได้ในกรณีอาการรุนแรงเช่นโควิดลงปอด

“ในช่วง 1 ปีของโควิดทำให้รู้ว่าไวรัสกระจายไปอยู่ในทุกส่วนของการตั้งครรภ์ ได้แก่ เลือดแม่ น้ำคร่ำรอบตัวเด็ก เนื้อรก หรือน้ำคัดหลั่งในช่องคลอด ไม่ว่าคลอดทางไหนมีสิทธิติดถึงลูกได้ รวมถึงผ่านน้ำนมไปได้ด้วย แต่ผ่านไปได้มากแค่ไหนกำลังมีการศึกษา ดังนั้น การให้นมบุตรยังมีความจำเป็น เพราะลูกจะได้ภูมิต้านทานจากโรคอื่นด้วย”

ศิริราชสร้างไอซียูสนาม หอผู้ป่วยวิกฤตโควิด เปิดทำการ 30 ส.ค. นี้

รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ จนทำให้ศักยภาพการให้บริการของห้องความดันลบใน รพ.ศิริราช เต็มทุกพื้นที่ แม้จะเร่งขยายและดัดแปลงพื้นที่เดิมเพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยหนักที่ขยายตัวขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวซับซ้อนหรือมีภาวะเร่งด่วนทางการแพทย์ ต้องทำการผ่าตัดรักษาเร่งด่วน แถมพ่วงติดเชื้อโควิดเข้าไปด้วย ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตความดันลบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการรักษา และเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าไปดูแลผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย

ดังนั้น รพ.ศิริราช จึงได้เร่งขยายพื้นที่บริเวณข้างสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ใกล้กับท่าเรือรถไฟ เพื่อจัดตั้งหอผู้ป่วยวิกฤติโรคโควิด 19 รองรับผู้ป่วยหนัก เป็นจำนวนรวม 20 เตียง จะสามารถเปิดทำการและรับผู้ป่วยได้ในวันที่ 30 สิงหาคม 2564 โดยได้รับความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจในการให้บริการเป็นอย่างดีจากบุคลากรทางการแพทย์ในเครือทั้ง 3 โรงพยาบาล คือ รพ.ศิริราช รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ทั้งนี้ ได้จัดเตรียมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และพยาบาลเข้าประจำตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยหนักครอบคลุมทั่วถึงทุกกลุ่มโรคที่ติดเชื้อโควิด

ไอซียูสนามศิริราช จัดสร้างขึ้นใหม่เพื่อเป็นหอผู้ป่วยวิกฤตโรคโควิด-19 โดยได้รับความร่วมมือในการออกแบบและจัดสร้างอาคารแบบโมดูลล่า จาก บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 แล้วเสร็จในวันที่ 28 ส.ค. 2564

รูปแบบการก่อสร้างอาคารแบบโมดูลล่า รวม 2 หลัง มีลักษณะสำเร็จรูปหรือเป็นทรงกล่อง เพื่อลดความซับซ้อนของโครงสร้างอาคาร ติดตั้งและประกอบได้อย่างรวดเร็ว ขนาดความจุผู้ป่วยหนักหลังละ 10 เตียง รวม 20 เตียง ลักษณะเป็นหอผู้ป่วยไอซียูรวม (Cohort ICU) ห้องความดันลบ ครบครันด้วยเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย มีห้องเล็กด้านหน้าสำหรับเปลี่ยนชุด PPE มีระบบสนับสนุนเพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ ระบบปรับสภาวะอากาศ (HVAC) โทรทัศน์วงจรปิด(CCTV) ศูนย์เฝ้าติดตามสภาวะผู้ป่วยวิกฤติ (Central Monitor) ระบบเรียกพยาบาลฉุกเฉิน (Nurse Call) ระบบพลังงานสำรองฉุกเฉิน (Emergency Power Supply) แก๊สทางการแพทย์ (Medical Gas) และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีอาคารสนับสนุนเพื่อเป็นที่ทำงานและที่พักบุคลากร ห้องเก็บยา และเวชภัณฑ์อีกจำนวน 5 ตู้ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับตู้คอนเทนเนอร์สำนักงานสำเร็จรูป มีครุภัณฑ์ที่จำเป็น ระบบปรับอากาศ อาคารห้องน้ำ ห้องอาบน้ำสำเร็จรูป 8 ตู้ อาคารที่จัดให้เป็นห้องเครื่องแก๊สทางการแพทย์ ซึ่งนับเป็นหัวใจหลักของการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งหน่วยงานสนับสนุนอื่น ๆ

ขณะนี้ไอซียูสนามศิริราช เพื่อผู้ป่วยวิกฤติโรคโควิด-19 ดำเนินการใกล้เสร็จเรียบร้อย และพร้อมรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเริ่มวันที่ 30 ส.ค. 2564 โดยใช้งบประมาณรวม 100 ล้านบาท

“ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งต้องร่วมมือกัน เร่งสร้างไอซียูสนาม รองรับผู้ป่วยวิกฤตนั้น ทาง รพ.ศิริราชจึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมสนับสนุนสร้างหอผู้ป่วยวิกฤติโรคโควิด 19 ได้ที่ ศิริราชมูลนิธิ กองทุน “ศิริราชสู้ภัยโควิด” ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 901-3-50034-4 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2419 7646-8 ในวันเวลาราชการ” รศ.นพ.วิศิษฎ์กล่าวทิ้งท้าย

สธ. เผยรพ.บุษราคัม-ศูนย์นิมิบุตร ดูแลผู้ป่วยโควิดเต็มศักยภาพ

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22,086 ราย หายป่วยกลับบ้าน 23,672 ราย เสียชีวิต 217 ราย ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีว่ามีผู้หายป่วยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โรงพยาบาลทุกสังกัดยังคงมีผู้ป่วยโควิด 19 รับการรักษาเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยอาการปานกลาง (สีเหลือง) และผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) โดยในส่วนของโรงพยาบาลบุษราคัม รับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ามารักษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูล ณ วันที่ 13 ส.ค. 2564

มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 3,473 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการปานกลางถึงค่อนไปทางหนัก 3,334 ราย และผู้ป่วยอาการหนัก 139 ราย ต้องใช้ออกซิเจนอัตราไหลสูง 132 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 7 ราย ส่วนศูนย์แรกรับและส่งต่อนิมิบุตร มีการรับผู้ป่วยไว้ดูแลถึง 211 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการปานกลาง 85 ราย และอาการหนัก 19 ราย เนื่องจากการหมุนเวียนผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดงยังทำได้จำกัด

นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ในส่วนภูมิภาคมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จากการเดินทางกลับภูมิลำเนา รวมถึงการติดเชื้อในครอบครัว สถานที่ทำงาน สถานประกอบการ และชุมชน จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนเดินทางเท่าที่จำเป็น พร้อมทั้งเคร่งครัดมาตรการป้องกันตนเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง/แออัด ส่วนผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ขอให้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตามที่สถานพยาบาลนัดหมาย เพื่อลดโอกาสเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิต ทั้งนี้ได้ให้ขยายจุดฉีดที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อให้กลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไปเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2] | สำนักข่าวไทย [1] [2]


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net