Skip to main content
sharethis

ญี่ปุ่นให้คนทำงานภาครัฐลางานแบบได้ค่าจ้าง 10 วันต่อปี เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากประเทศมีอัตราการเกิดต่ำ

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ยูโกะ คาวาโมโตะ ประธานสำนักงานบุคลากรแห่งชาติ (National Personnel Authority) ของญี่ปุ่น ได้แถลงว่าคนทำงานภาครัฐลางานแบบได้ค่าจ้าง 10 วันต่อปี เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก เริ่ม ม.ค. 2565

"ภาครัฐจะริเริ่มการสนับสนุนดังกล่าว" คาวาโมโตะ กล่าว และเธอหวังว่านโยบายดังกล่าวของภาครัฐจะกระตุ้นให้ภาคเอกชนปฏิบัติตาม

การสำรวจออนไลน์ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ. 2564 ที่ได้ทำการสอบถามคนทำงานภาครัฐทั่วประเทศประมาณ 47,000 คน พบว่าร้อยละ 1.8 กำลังเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก ในขณะที่ร้อยละ 10.1 ระบุว่าพวกเขาและเธอมีประสบการณ์ในการรักษาภาวะมีบุตรยากมาแล้ว และร้อยละ 3.7 พวกเขาได้พิจารณาเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก

ในบรรดาผู้ที่ได้รับการรักษาภาวะมีบุตรยากหรือกำลังพิจารณาว่าจะรักษาภาวะมีบุตรยากร้อยละ 62.5 ระบุว่า "เป็นเรื่องยากมาก" ที่จะรักษาสมดุลกับการทำงาน ขณะที่ร้อยละ 11.3 กล่าวว่า "เป็นไปไม่ได้" สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือต้องไปพบแพทย์บ่อย ๆ ปัญหาด้านค่าใช้จ่าย และตารางเวลาการบำบัดที่ไปทับกับเวลางาน

นโยบายใหม่ของสำนักงานบุคลากรแห่งชาติ มีเป้าหมายเพื่อแบ่งเบาภาระให้คนทำงานภาครัฐที่เป็นพนักงานประจำทำงานเต็มเวลาและพนักงานชั่วคราว สามารถลางานโดยได้รับค่าจ้างได้ 5 วัน และมีเวลาเพิ่มอีก 5 วันหากจำเป็นและยังอนุญาตให้ลางานอย่างยืดหยุ่นขึ้น เช่น หยุด 2-3 ชั่วโมงไปพบแพทย์ในช่วงเวลาทำงาน

นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ สุกะ ได้ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงการรักษาภาวะมีบุตรยากในประเทศ และผลักดันให้เข้าไปอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565

จำนวนเด็กที่เกิดใหม่ในญี่ปุ่นลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 840,832 คน ในปี 2563 และยังมีแนวโน้มลดลงอีกจากผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่น 

อัตราการเจริญพันธุ์โดยรวม [จำนวนบุตรเกิดรอดโดยเฉลี่ยต่อสตรีในวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 15-49 ปี) ในช่วงเวลาหนึ่ง แสดงในรูปของอัตราส่วนต่อสตรี 1,000 คน] ของญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.34 ลดลงจากปีก่อนหน้า 0.02 จุด

ที่มาเรียบเรียงจาก
Japan to give public employees paid leave for infertility treatment (THE JAPAN TIMES, 14 August 2021)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net