Skip to main content
sharethis

จีนปฏิเสธองค์การอนามัยโลก (WHO) ตรวจสอบเกี่ยวกับต้นตอของไวรัสที่ก่อโรค COVID-19 ไปมากกว่านี้ หลังเริ่มมีกระแสกดดันให้มีความโปร่งใสเกี่ยวกับข้อมูลโรคในช่วงแรกเริ่มมากกว่านี้ และมีสมมุติฐานว่าต้นตอไวรัสอาจมาจากนักวิทยาศาตร์ของห้องแล็บอู่ฮั่นติดเชื้อจากการเก็บตัวอย่างค้างคาวในภาคสนาม

ทางการจีนประกาศเมื่อเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ยอมทำตามคำเรียกร้องขององค์การอนามัยโลกให้มีการเปิดสืบสวนที่มาของโรค COVID-19 ในจีนอีกครั้งโดยอ้างว่าเป็นการสืบสวนที่เป็น "ความพยายามทางการเมือง" มากกว่าจะเป็นเรื่อง "เชิงวิทยาศาสตร์ที่พวกเขาสนับสนุน"

การปฏิเสธของจีนเกิดขึ้นหลังจากที่มีสมมุติฐานล่าสุดน่าจะมาจากความผิดพลาดของนักวิทยาศาสตร์จีนจากแล็บในอู่ฮั่นช่วงที่พวกเขากำลังเก็บตัวอย่างไวรัสจากค้างคาวในภาคสนาม

ผู้ที่ตั้งสมมุติฐานในเรื่องนี้คือ ปีเตอร์ เอ็มบาเร็ก หัวหน้าทีมสืบสวนขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ทำหน้าที่สืบสวนหาที่มาของต้นกำเนิด COVID-19 เขาเปิดเผยอีกว่าทางการจีนไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ พวกเขาต้องการสืบสวนเพื่อพิสูจน์สมมุติฐานที่ว่านี้แต่ก็ต้องเจอ "ทางตัน" จากการไม่ให้ความร่วมมือของจีน ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นแต่หนึ่งในสมมุติฐาน

เอ็มบาเร็กกล่าวอีกว่าก่อนหน้านี้คณะสืบสวนของ WHO ถูกกดดันให้ต้องระบุสรุปว่าสาเหตุที่มาของ COVID-19 มาจากการรั่วไหลของศูนย์ทดลองในเมืองอู่ฮั่นนั้น "เป็นเรื่องที่เป็นไปได้น้อยมาก" ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะกับจีน แต่ทีมของเอ็มบาเร็กก็บอกว่าพวกเขามองว่ากรณีข้อสมมุติฐานเรื่องแล็บอู่ฮั่นมีความเป็นไปได้

ผู้ที่วานให้มีการเขียนรายงานเรื่องการสืบสวนในครั้งนี้คือรัฐบาลโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้มีการเสนอรายงานเรื่องที่มาของไวรัสหลังจากการสืบสวนในจีนภายในสิ้นเดือน ส.ค. นี้ และเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา WHO ก็เรียกร้องให้มีการตรวจสอบพิจารณาเชิงลึกในเรื่องนี้ แต่จีนก็ปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือ

ทาง WHO เองสามารถส่งทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติเข้าไปตรวจสอบได้เป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ม.ค. 2564 หนึ่งปีหลังจากการเริ่มต้นระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งสื่อสเตรทไทม์มองว่าเป็นการถูกประวิงเวลาและมีความเป็นการเมืองอย่างมาก อย่างไรก็ตามในรายงานรอบแรกของการสืบสวนเมื่อเดือน ม.ค. ระบุไปในทำนองเดียวกับรายงานของจีนคือไม่ประสบความสำเร็จในการหาข้อสรุปว่าต้นตอของไวรัสมาจากไหน

อย่างไรก็ตามจีนกำลังเผชิญกับแรงกดดันให้มีการเข้าไปสิบสวนในเรื่องนี้มากขึ้นหลังจากที่การระบาดหนักคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 4 ล้านคนและทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก

เซอร์ เอียน ดันแคท สมิทธ์ ประธานร่วมของพันธมิตรรัฐสภาข้ามประเทศรับมือจีน (Inter-Parliamentary Alliance on China หรือ IPAC) กล่าวว่าประชาคมนานาชาติควรจะต้องเร่งหาสาเหตุว่าต้นเหตุของไวรัสที่ก่อโรค COVID-19 นี้มาจากไหน นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ WHO ดำเนินตามกระบวนการและขอให้จีนเปิดเผยยอมรับถึงเรื่องต้นตอของไวรัส โดยที่สมิทธ์เชื่อว่าต้นตอของไวรัสมาจากการรั่วไหลจากศูนย์ทดลองอู่ฮั่นแต่การที่จีนไม่ยอมรับในเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่ "แย่และเย่อหยิ่งจองหอง"

เอ็มยาเร็กตั้งข้อสังเกตว่าศูนย์วิจัยเรื่องไวรัสอยู่ห่างจากตลาดสดอู่ฮั่นเพียงไม่มาก รวมถึงแม้แต่ เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ประธาน WHO ก็บอกว่าการสืบสวนเบื้องต้นเกี่ยวกับห้องทดลองไวรัสอู่ฮั่นยังไม่มากพอ นอกจากนี้ในวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา WHO ยังเรียกร้องให้จีนแชร์ข้อมูลดิบเกี่ยวกับกรณี COVID-19 รายแรกๆ เพื่อสิบสวนรายละเอียดของต้นกำเนิดโรคได้

แต่ทางการจีนก็โต้ตอบกลับ โดยที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศหม่าเจาซวี่กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าทางการจีนไม่ยอมรับการที่ WHO "ละทิ้งผลการรายงานร่วมกัน" จากเดือน ม.ค. ปีนี้ นอกจากนี้ยังปฏิเสธไม่ยอมรับการสืบสวนรอบใหม่โดยอ้างว่าการสืบสวนเบื้องต้นในครั้งแรก "ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกและจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว"

อย่างไรก็ตามประชาคมวิทยาศาสตร์โลกส่วนหนึ่งได้ตั้งสมมุติฐานเกี่ยวกับเรื่องความผิดพลาดจากศูนย์ทดลองไวรัสอู่ฮั่นไว้เป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ของสาเหตุต้นตอ COVID-19 มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว


เรียบเรียงจาก
Covid may have begun with Chinese scientist collecting bat samples, says WHO investigator, Yahoo! News, 13-08-2021
China rejects need for further WHO coronavirus origins probe, Strait Times, 13-08-2021
China slams WHO plan to audit Wuhan lab in study of Covid-19 origins, France 24, 22-07-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net