Skip to main content
sharethis

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' เสนอเพิ่มงบลงทุนวิจัยไบโอเทคโนโลยีและสนับสนุนการผลิตหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ค้านการออกนิรโทษกรรมการจัดหาและบริหารจัดการวัคซีน ทบทวนการจัดซื้อ ATK คุณภาพต่ำ ระงับส่งออก 'แอสตราเซเนกา' ประเมิน 'ภูเก็ตแซนด์บ็อก-สมุยพลัส' ประคับประคองการท่องเที่ยวได้ระดับหนึ่ง เสนอผ่อนคลายกิจกรรมและพื้นที่เสี่ยงต่ำเพิ่มเติมเพื่อให้คนมีรายได้มีงานทำ การล็อกดาวน์มีประสิทธิผลน้อย

15 ส.ค. 2564 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการทางวิชาการ ม. รังสิต เปิดเผยว่า ตนประเมินว่าการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะยังคงเป็นปัญหาวิกฤตสำหรับประเทศไทยและโลกไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี และมีแนวโน้มที่เชื้อจะกลายพันธุ์มีสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต นโยบาย มาตรการและการดำเนินการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำได้อย่างน่าผิดหวังมากในหลายประเทศ ฉะนั้นการระบาดจะไม่สิ้นสุดได้ภายใน 1-2 ปี ต่างจากการแพร่ระบาดของอีโบลา ไข้หวัดนก ซาร์ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ การระบาดใหญ่อย่างรุนแรงของโควิดเป็นผลจากความไม่รู้ การคอร์รัปชัน การตัดสินใจทางนโยบายผิดผลาดและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การตอบสนองต่อการแพร่ระบาดล่าช้า รวมทั้งไม่สามารถบังคับใช้มาตรการสาธารณสุขดีพอของหลายรัฐบาลทั่วโลก

ขอเสนอเพิ่มงบลงทุนวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและสนับสนุนการผลิตหุ่นยนต์ทางการแพทย์และเภสัชกรรม บริการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล เสนอปรับงบประมาณ 2565 และ วางแผนงบปี 2566 ให้นำไปใช้ส่งเสริมงานวิจัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ นอกจากนี้การลงทุนวิจัยเกี่ยวกับหุ่นยนต์นาโน (Nano-Robot) จะเป็นการพลิกโฉมวงการแพทย์ในการต่อสู้กับโรคระบาดอุบัติใหม่ในอนาคต ควรส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานทางวิจัยศึกษาเรื่อง Micro and Nabo-robotic Technology for medical and Pharmaceutical Application นอกจากนี้ควรมีงบประมาณในการจัดหาหุ่นยนต์ที่ใช้ในการติดตามผู้ป่วยบนหอผู้ป่วย ทั้ง COVID-19 และ Non-COVID-19 เป็นหุ่นยนต์ที่แพทย์สามารถควบคุมจากระยะไกลผ่านระบบเครือข่ายโดยคอมพิวเตอร์ส่วนตัว โดยหุ่นยนต์จะมีกล้อง จอภาพ ไมโครโฟนและลำโพงเสียง รวมทั้ง หุ่นยนต์ผ่าตัด อย่างหุ่นยนต์ Da Vinci ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ และปัจจุบันนี้ได้ทำหน้าที่ผ่าตัดไปแล้วมากกว่า 200,000 ครั้ง หรือ หุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่ทำงานพื้นฐานซึ่งมหาวิทยาลัยของไทยหลายแห่งผลิตได้แล้ว รัฐบาลควรมีการส่งเสริมให้ หน่วยวิจัยเหล่านี้ในมหาวิทยาลัยจับคู่กับผู้ประกอบการเพื่อสามารถผลิตในเชิงอุตสาหกรรมและมีแรงจูงใจเชิงพาณิชย์ เช่น หุ่นยนต์ส่งของในโรงพยาบาล หุ่นยนต์ช่วยยกผู้ป่วยขึ้นเตียง หุ่นยนต์เช็ดตัวผู้ป่วย วัดอุณหภูมิ วัดและทดสอบการติดเชื้อ ขณะนี้ หุ่นยนต์ทางการแพทย์มีความสำคัญมากเพื่อลดการติดเชื้อของบุคลากรทางแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น
 
รศ.ดร. อนุสรณ์ ยังกล่าวอีกว่าไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมบุคลากรทางการแพทย์ที่พ่วงการนิรโทษกรรมความผิดผลาดในการจัดหาและบริหารจัดการวัคซีน หรือ พ่วงการนิรโทษกรรมความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สินและเศรษฐกิจอันเป็นผลของการดำเนินนโยบายที่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่มีความจำเป็นในการต้องออกกฎหมายใดๆเพิ่มเติมเพราะกฎหมายเท่าที่มีอยู่ บุคลากรทางการแพทย์ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการทำหน้าที่โดยสุจริตอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องออกทั้ง พ.ร.ก หรือ พ.ร.บ หากต้องมีการออก พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแบบนี้ ต่อไปการบริหารบ้านเมืองหรือการปฏิบัติราชการก็จะมีการทำงานโดยขาดความรอบคอบและระมัดระวัง และไม่ต้องรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น มีปัญหาการทำงานผิดผลาดอย่างร้ายแรง หรือ ประมาทเลินเล่อ ก็ไม่ต้องรับผิด ไม่ใช่การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี และ เป็นการบริหารที่ปราศจากหลักคุณธรรม ขาดความรับผิดชอบนะครับ โดยกฎหมายที่มีอยู่แล้วระบุว่า “ในกรณีการบริการสาธารณสุข ถ้าเป็นบุคลากรทางการแพทย์ของภาครัฐ คือ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ปี พ.ศ.2539 เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องรับผิดในทางส่วนตัว ยกเว้นว่า เกิดจากการจงใจ (ไม่สุจริต) หรือ ประมาท

ส่วนหากการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมฯ มีเจตนาแฝงเพื่อปกป้องการดำเนินการของ บุคคลและคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน ก็อย่าได้ไปอ้างเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่หน้าด่าน ปัจจุบันเรามีกฎหมายปกป้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่โดยสุจริต ไม่เห็นมีประเด็นอะไรต้องวิตกกังวลในการทำหน้าที่ หากความผิดผลาดไม่ได้เกิดจากการประมาทอย่างร้ายแรง ไม่ได้ทุจริต ไม่มีปัญหาอะไรเลยนะครับ ประเทศนี้ มี Rule of Law ประเทศถึงมีอนาคต ส่วนหากบุคลากรทางการแพทย์กลัวโดนฟ้องจากการทำหน้าที่ในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 ทางรัฐบาลหรือกระทรวงสาธารณสุข ก็อาจซื้อการประกันภัยหมู่เพื่อคุ้มครองความผิดทางแพ่งให้กับข้าราชการและบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ กรณีเป็นคดีอาญา บุคลากรทางการแพทย์ได้รับความคุ้มครองจากรัฐอยู่แล้ว ขณะเดียวกันในคดีอาญาเองก็มีเรื่องเกี่ยวกับการกระทำโดยความจำเป็นที่สามารถได้รับการยกเว้นความผิดไม่ให้มีโทษได้

นอกจากนี้เกิดการตั้งคำถามเรื่องการจัดซื้อ ATK ไม่มีคุณภาพโดยองค์การเภสัชกรรมจนกระทั่ง กลุ่มแพทย์ชนบทออกมาคัดค้าน  ATK จากประเทศจีน แต่หากผู้มีอำนาจจัดซื้อโดยใช้งบเงินกู้มาซื้อของไม่มีคุณภาพ จะแก้ปัญหาโควิดไม่ได้ ทั้งที่ การตรวจเชิงรุกด้วย ATK คุณภาพสูงจะเป็นมาตราหนึ่งช่วยสกัดการแพร่ระบาดของโควิดได้ คนที่จัดซื้อของไม่มีคุณภาพต้องรับผิดชอบ เหมือนซื้อ GT200 มาให้ทหารชั้นผู้น้อยใช้แล้วต้องไปเสี่ยงชีวิตในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเมืองไทยไม่มีใครรับผิด แต่คนขาย GT200 ชาวต่างประเทศติดคุกไปแล้วเพราะทำของไม่มีคุณภาพมาหลอกขาย  เดิม สปสช.เจาะจงจะซื้อชุดตรวจ ATK จำนวน 2 ยี่ห้อ ที่ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO รับรอง ทั้ง 2 ยี่ห้อมีผลคลาดเคลื่อนไม่ถึง 1% เพราะเขาซื้อแจกเขาใช้ทั่วโลกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อินโดนีเซีย ฯลฯ นอกจากนี้ ยังต่อรองราคาได้เหลือเพียง 120 บาท จากที่ WHO ซื้อประมาณ 150 บาท ส่วนอีกยี่ห้อหนึ่ง ขายให้ WHO ประมาณ 160 บาท แต่ลดให้เรา 140 บาท ทั้งหมดเป็นราคาที่รวมค่าขนส่ง สปสช.จึงผลักดันจนเป็นที่มาของการอนุมัติงบฯกว่า 1 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดองค์การเภสัชกรรมไม่ยึดหลักตามที่ สปสช. ส่งมาให้ แล้วไปจัดซื้อ ATKI จากจีนซึ่งคุณภาพต่ำ แม้นราคาถูก แต่ถ้าใช้ไม่ได้หรือไม่มีคุณภาพ มันก็คือการสูญเปล่าทางงบประมาณแล้วยังไม่ได้ทำให้การแก้ไขวิกฤติโควิดดีขึ้นด้วย หรืออาจแย่ลงไปอีก เพราะตรวจแล้วไม่รู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อแน่ หน่วยงานอาหารและยาของสหรัฐและหลายประเทศก็ไม่รับรองอีกต่างหาก เหตุผลที่ สปสช.ไม่สามารถทำเรื่องตรงไปที่องค์การเภสัชกรรมได้ เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในยุค คสช.ระบุว่า สปสช.ไม่มีสิทธิซื้อเอง ต้องตั้งเรื่องผ่านโรงพยาบาลราชวิถีที่เป็นตัวแทนเครือข่ายผู้ให้บริการ ไปให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดซื้อแทน” นี่ก็เป็น คำสั่งของ คสช ที่ไม่เข้าท่าและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตการณ์ที่สุด ควรพิจารณายกเลิก เรื่องจัดซื้อ ATK นี้ ถามว่า ใครต้องรับผิดชอบ ทำให้การแก้ปัญหาโควิดล่าช้า คนติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน คนตายเพิ่มขึ้นทุกวัน ต้องมีคนต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนี้ หากสุจริตก็ไม่เป็นไร แต่ หากกระทำโดยเจตนาไม่สุจริต ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นิรโทษกรรมไม่ได้ครับผม

รัฐบาลต้องใช้กฎหมายความมั่นคงทางวัคซีนเพื่อจำกัดจำนวนการส่งออก “แอสตร้าเซเนก้า” เพื่อนำมาใช้ในประเทศก่อน และเร่งฉีดวัคซีนทุกคนที่อยู่ในดินแดนประเทศไทย ก่อนที่ตัวเลขติดเชื้อรายวันจะพุ่งแตะ 30,000-40,000 คนและผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คนต่อวัน บริษัทแอสตร้าเซเนก้ามีโรงงานผลิตอยู่ในดินแดนประเทศไทย และ รัฐไทยมีอำนาจอธิปไตยสมบูรณ์ในการบังคับใช้กฎหมาย บริษัทต้องส่งมอบวัคซีนตามความต้องการของรัฐไทยเพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตของคนไทย รัฐบาลต้องรีบเจรจากับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ หากบริษัทเห็นว่า การปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายวัคซีนสำคัญกว่าชีวิตคนไทย รัฐบาลสามารถใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงทางวัคซีนเพื่อกำหนดสัดส่วนการส่งออกได้เฉพาะที่เกิน  6 ล้านโดสเป็นเวลาห้าเดือน เพื่อประเทศไทยจะได้มีวัคซีนใช้อย่างน้อย 6 ล้านโดสต่อเดือน แต่การตัดสินใจนี้จะอยู่ที่ นายกรัฐมนตรีผู้เดียว เดิมเป็นอำนาจของรัฐมนตรีสาธารณสุข เนื่องจากมีการออกพระราชกฤษฎีกาโอนอำนาจให้นายกรัฐมนตรี และ หวังว่า นายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจนี้ในการดูแลประชาชนชาวไทยและต้องดำเนินการระงับการส่งออกเกินสัดส่วนเพื่อให้วัคซีนเพียงพอใช้ภายในประเทศภายในเดือนนี้เป็นอย่างช้า รีบตัดสินใจก่อนทุกอย่างจะสายเกินเยียวยา ก่อนที่จะช้าเกินไปและระบบสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจต้องล่มสลายลง สามารถทำได้ตาม มาตรา 18 (2) แห่งพระราชบัญญัติความมั่นคงทางวัคซีน ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีสาธารณสุข (ตอนนี้โอนอำนาจให้นายกรัฐมนตรี) กำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวห้าเดือนเท่านั้น ไม่ได้ทำให้ “ไทย” เสียความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด เพื่อให้เราจะได้มีวัคซีนเพียงพอใช้ในประเทศเพื่อปกป้องชีวิตคนไทย สุขภาพและระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ควรเปิดให้ เอกชน และ โรงพยาบาลเอกชน สามารถนำเข้าวัคซีนได้ภายใต้การประกันของรัฐเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อบริษัทวัคซีน เป็นอีกช่องทางหนึ่งเพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอต่อการฉีด เพราะค่อนข้างชัดว่า ประสิทธิภาพหรือความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทยนั้นดี แต่ปัญหาคือ ไม่มีวัคซีนให้ฉีด

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า แม้นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และ “สมุยพลัส” จะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ได้ช่วยประคับประคองภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้บ้างและสามารถเป็นต้นแบบของการเปิดประเทศให้กับพื้นที่อื่นๆ ควรพิจารณาทยอยเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวที่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ดีและสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานสาธารณสุขได้อย่างเข้มงวดเคร่งครัดเพื่อชดเชยภาคส่งออกที่อาจชะลอตัวลงจากการติดเชื้อในโรงงานอุตสาหกรรมส่งออกเพิ่มขึ้น ขอเสนอผ่อนคลายกิจกรรมและพื้นที่เสี่ยงต่ำเพิ่มเติมเพื่อให้คนมีรายได้มีงานทำ การล็อกดาวน์มีประสิทธิผลน้อย ขณะนี้ต้องเร่งตรวจการติดเชื้อเชิงรุกและกันผู้ติดเชื้อออกจากบ้านและชุมชนหรือที่ทำงาน จึงต้องเร่งจัดซื้อ ATK คุณภาพสูงโดยเร็ว และเร่งฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส การกำหนดเพดานและจำกัดการส่งออกวัคซีนเป็นการชั่วคราวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของคนไทย ความเป็นความตายของประชากรไทยที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงและการป้องกันการล่มสลายของระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศเรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net