Skip to main content
sharethis

ศบค.รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 21,882 ราย ป่วยสะสม 907,157 ราย รักษาหาย 21,106 ราย หายสะสม 688,662 ราย เสียชีวิต 209 ราย เสียชีวิตสะสม 7,552 ราย - สธ.เผยเร่งเพิ่มช่องทางตรวจ ATK เริ่มให้ รพ.สต. จัดทีมฉีดวัคซีนตามหมู่บ้าน - ภูเก็ตขยายต่ออีก 14 วัน คุมเข้มเข้า-ออกจังหวัด 17-31 ส.ค.นี้

COVID-19: 15 ส.ค. 64 ไทยติดเชื้อเพิ่ม 21,882 ราย เสียชีวิต 209 ราย

15 ส.ค. 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 21,882 คน แบ่งเป็นการติดเชื้อใหม่ 21,637 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 245 คน ผู้ป่วยตั้งแต่ 1 เม.ย.64 สะสม 878,294 คน หายป่วยเพิ่ม 21,106 คน หายป่วยสะสม 661,236 คน กำลังรักษา 210,943 คน เสียชีวิต 209 คน

ขณะที่กรมควบคุมโรค รายงานว่ามีผู้ติดเชื้อเข้าข่าย/Antigen Test Kit (ATK) เพิ่ม 1,586 คน ยอดสะสม 35,498 คน ส่วนผู้ที่อาการหนัก 5,615 คน ใช้ท่อช่วยหายใจ 1,172 คน

ทั้งนี้ แนะนำผู้ที่หายป่วยจาก COVID-19 และได้ออกจากโรงพยาบาลหลังเข้ารับการรักษาจนครบ 14 วัน หรือกลับมากักตัวที่บ้านจนครบ 14 วันแล้ว ไม่จำเป็นต้องแยกกักตัว แต่ขอให้คงการปฏิบัติตัวป้องกันโรคต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์ COVID-19 จะยุติ เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือฟอกสบู่เป็นประจำ เว้นระยะห่างทางสังคม หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง ไอมาก เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก ให้รีบติดต่อสถานพยาบาลเดิมหรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ภูเก็ตขยายต่ออีก 14 วัน คุมเข้มเข้า-ออกจังหวัด 17-31 ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2564 นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชหารในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ลงนามในคำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 4627/2564 เรื่อง มาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังต่อไปนี้

1. ห้ามบุคคลและผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท ยกเว้น เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ที่เดินทางมากับผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เข้าจังหวัดภูเก็ต ทั้งทางบก (ด่านตรวจท่าฉัตรไชย) ทางน้ำ (ท่าเรือ ทุกท่า) ในจังหวัดภูเก็ต และช่องทางภายในประเทศ (ท่าอากาศยานภูเก็ต) เว้นแต่เป็นบุคคล หรือผู้ขับขี่ยานพาหนะ ดังต่อไปนี้

1) รถฉุกเฉินทางการแพทย์ ผู้ป่วยฉุกเฉิน กู้ชีพ กู้ภัย
2) ขนส่งยา วัสดุอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ทางการแพทย์
3) ขนส่งสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค สินค้าทางการเกษตร ปศุสัตว์ อาหารสัตว์ หรือการขนส่งที่จำเป็นอื่น ๆ ต่อการดำรงชีพ
4) ขนส่งแก๊สหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง
5) ขนส่งเงินของธนาคาร สถาบันทางการเงิน
6) ขนส่งพัสดุและสิ่งพิมพ์
7) ขนส่งวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร และอะไหล่ที่ใช้ในการซ่อมบำรุง
8) ผู้ขนส่งสินค้าทางเรือ เพื่อนำเข้า - ส่งออกสินค้า ณ ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต , ท่าเรือคลังน้ำมัน ปตท.ภูเก็ต และพื้นที่ขนถ่ายสินค้าอื่น ๆ
9) ขนส่งเครื่องมืออุปกรณ์ วัสดุ วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วนประกอบซ่อมบำรุงพื้นฐานด้านโทรคมนาคม พลังงาน ยานยนต์ อากาศยาน และการอุตสาหกรรมอื่นๆ
10) ผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือปฏิบัติงานในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นการประจำ (มีเอกสารยืนยัน)
11) ผู้เดินทางมาตามโครงการเปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และผู้ขับขี่ยานพาหนะ (มีเอกสารยืนยัน)
12) ผู้ที่ได้รับคำสั่งหรือมีหนังสือมอบหมายจากต้นสังกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ในด้านการป้องกันและควบคุมโรคในจังหวัดภูเก็ต
13) ผู้ที่ได้รับคำสั่งจากส่วนราชการให้ไปหรือมาปฏิบัติภารกิจจำเป็นเร่งด่วนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
14) ผู้มีความจำเป็นในการเดินทางออกทางช่องทางระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต (ต้องมีตั๋วโดยสาร ของวันที่เดินทาง เท่านั้น)
15) ผู้ที่มีนัดหมายตามกระบวนการพิจารณาในชั้นศาล พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวน ซึ่งต้องมีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจนว่าหากเลื่อนเวลานัดหมายดังกล่าวจะทำให้กระบวนการพิจารณาเสียหายอย่างร้ายแรงหรือมีนัดหมายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายแก่คู่กรณีหรือส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง
16) กรณีผู้มีเหตุจำเป็นอื่น ๆ ที่ไม่สามารถเลื่อนกำหนดนัดหมายได้ หรือกรณีอื่นใดซึ่งมีปัญหาในทางปฏิบัติที่ต้องวินิจฉัยสั่งการ ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ประจำด่านตรวจเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาเป็นรายกรณี
โดยผู้ได้รับการยกเว้นตามกรณีดังกล่าวข้างต้น ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดซิโนแวค (Sinovac), ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ครบ 2 เข็ม หรือซิโนแวค (Sinovac) เข็ม 1 แอสตราเซนิกา (AstraZeneca) เข็ม 2 หรือได้รับวัคซีนชนิดแอสตราเซนิกา (AstraZeneca), ไฟเซอร์ (Pfizer), โมเดอร์นา (Moderna) จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson and Johnson) จำนวน 1 เข็ม มาแล้วเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน หรือเป็นผู้ที่หายจากอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19 มาแล้วไม่เกิน 90 วัน และต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen Test มาจากนอกพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางถึง

2. เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปี จนถึงผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์การได้รับวัคซีน ต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen Test มาจากนอกพื้นที่จังหวัดภูเก็ตโดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางถึง

3. กรณีนักเรียนนักศึกษาอายุไม่ถึง 18 ปี ที่ไม่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้และมีความจำเป็นต้องเดินทางผ่านเข้า-ออกจังหวัดภูเก็ตเพื่อการเรียนการศึกษา ให้หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษาหรือศึกษาธิการจังหวัดออกบัตรประจำตัวเป็นรูปแบบเดียวกัน แสดงต่อเจ้าหน้าที่เมื่อเดินทางผ่านเข้า-ออกจังหวัดภูเก็ต และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR และออกใบรับรองการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้มีผลใช้ได้ครั้งละไม่เกิน 1 เดือน

4. กรณีผู้มีนัดหมายฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 2 (ต้องมีใบนัดหมายการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ที่จังหวัดภูเก็ต) และต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen Test มาจากนอกพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางถึง

5. ต้องลงทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.gophuget.com เพื่อแจ้งข้อมูลในการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตล่วงหน้า และแสดงคิวอาร์โค้ด (QR Code) ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อก่อนเข้าจังหวัดภูเก็ต

6. การใช้เส้นทางคมนาคมและการตรวจคัดกรองการเดินทาง ผ่านทางด่านตรวจท่าฉัตรไชย ห้ามบุคคลและยานพาหนะทุกประเภทเข้าจังหวัดภูเก็ต ระหว่างเวลา 23.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ยกเว้ เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

ผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทางหรือแจ้งข้อมูลเท็จ ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและควบคุมโรคเป็นผลให้เชื้อโรคแพร่ออกไป อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ด้วย

เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับแห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และอาจได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17-31 ส.ค.2564

นอกจากนี้ ในวันเดียวกันยังมีคำสั่งมาตรการควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีผลตั้งแต่ วันที่ 15 ส.ค.2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

สธ.เผยเร่งเพิ่มช่องทางตรวจ ATK เริ่มให้ รพ.สต. จัดทีมฉีดวัคซีนตามหมู่บ้าน

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 และวัคซีน ตัวเลขการติดเชื้อวันนี้ (15 ส.ค.) ผู้ติดเชื้อใหม่ 21,882 ราย เสียชีวิต 209 ราย โดยมีผู้ป่วยปอดอักเสบ 5,615 ราย ใส่เครื่องช่วย 1,172 ราย การเสียชีวิตยังอยู่ที่ร้อยละ 0.85 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ร้อยละ 1 สำหรับค่ากลางอายุผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 68 ปี บ่งชี้ว่า ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด ร้อยละ 90 เป็นผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เมื่อป่วยจะมีอาการรุนแรง และนำไปสู่การเสียชีวิต ทั้งผู้สูงอายุและผู้มีโรคเสี่ยง จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเน้นให้รับวัคซีน เพื่อป้องกันความรุนแรง ทั้งนี้ภาพรวมการติดเชื้อทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า แม้ประเทศที่ได้รับวัคซีนมากแล้ว ก็ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมาก เช่น สหรัฐ อินเดีย อังกฤษ แต่ตัวเลขการเสียชีวิตลดลง ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพของวัคซีน

น.พ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยยังมีระดับสูง จำนวนผู้เสียชีวิตช่วงนี้เกิน 200 รายต่อวัน ซึ่งได้เพิ่มมาตรการดูแลให้ปลอดภัย และเพิ่มช่องทางตรวจ ATK ระดมฉีดวัคซีนผู้ที่เสี่ยงสูง ที่อยู่ในการบริหารจัดการ เพื่อให้ฉีดได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสภายในปีนี้ สำหรับการฉีดวัคซีนของไทย ถึง 14 ส.ค. เข็ม 1 ฉีดได้ ร้อยละ 24.8 เข็ม 2 ฉีดแล้วร้อยละ 7 โดยภาพรวมในประเทศอาเซียน ฉีดวัคซีนรวม 203,421,969 โดส โดยอินโดนีเซีย ฉีดมากสุด รองลงมาคือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย

นพ.เฉวตสรร ยังกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มให้วัคซีนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และนอกสถานพยาบาล เพื่อให้การเข้าถึงวัคซีนกว้างขวางยิ่งขึ้น หลังจากฉีดมาแล้ว 23 ล้านโดส มั่นใจความปลอดภัย และเห็นประสิทธิผลเรื่องป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตของวัคซีน รพ.สต. ซึ่งใกล้บ้าน เข้าถึงได้ จะจัดทีมบุคลากรทางการแพทย์ไปให้บริการให้ประชาชนด้วยรถโมบาย ฉีดที่วัด โรงเรียน อาคารเอนกประสงค์ ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

สำหรับผู้ป่วยโรคโควิดที่กลับสู่ชุมชน ทางคณะผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นทางวิชาการแล้วว่า 14 วันถือว่าพ้นจากระยะแพร่เชื้อแล้ว หากออกจาก รพ.ก่อน 14 วันก็ให้กักตัวจนครบ 14 วัน ก็ใช้ชีวิตได้ปกติ ด้วยวิถีใหม่คงมาตรการสาธารณสุข สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด

สำหรับเรื่องวัคซีนไฟเซอร์ลอตบริจาค ยืนยันมีกำหนดชัดเจนว่าส่วนไหนให้กับกลุ่มไหน ไม่มีวีไอพีแน่นอน หากพบความไม่ถูกต้องขอให้แจ้งได้ที่กระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ในวันพรุ่งนี้ จะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข งดการแถลงข่าว ขอให้ติดตามผลการประชุมจาก ศบค.ชุดใหญ่ต่อไป

ใช้ข้อมูลคาดการณ์ ปรับยุทธศาสตร์ ลดป่วยหนัก-เสียชีวิต

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีระบบฐานข้อมูลผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในทุกเรื่อง ทั้งยารักษา เวชภัณฑ์ จำนวนเตียง รวมทั้งการกระจายและการฉีดวัคซีน อัตราการป่วย เสียชีวิต เป็นต้น มีการประชุมติดตามวิเคราะห์ข้อมูล วางแผน รองรับการคาดการณ์แนวโน้มระยะ 14 วัน ทั้งการระบาด การใช้ทรัพยากรต่างๆ และปรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการการระบาดโควิด-19 ตลอดเวลา ใช้ยุทธศาสตร์ที่เน้นการลดอัตราการเสียชีวิตและการป่วยหนัก มีการประเมินและติดตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการการระบาดโควิด-19

จากข้อมูลช่วงวันที่ 6-12 สิงหาคม 2564 หรือสัปดาห์ที่ 34 ของปีนี้ พบการติดเชื้อทั้ง 77 จังหวัด เฉลี่ย 20,000 รายต่อวัน จำนวนผู้ติดเชื้อกระจายจาก กทม.และปริมณฑลไปภูมิภาค มากที่สุดในภาคอีสาน และมีผู้ป่วยอาการหนักมี 5,507 ราย ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคกลาง และไม่พบผู้ป่วยอาการหนัก 3 จังหวัด คือ กระบี่ พัทลุง และลำปาง

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ในภาพรวมของสัปดาห์ที่ 34 มีอัตราการป่วยตายของไทยอยู่ที่ 0.9% หรือคิดเป็น 105 ต่อประชากรล้านคน ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 559 ต่อประชากรล้านคน อัตราการเสียชีวิตต่อแสนประชากรพบว่ากระจุกตัวในภาคกลาง โดยจังหวัดที่อัตราการเสียชีวิตมากกว่า 5 ต่อแสนประชากร มี 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร อยู่ที่ 13 ต่อแสนประชากร, กทม. 10 ต่อแสนประชากร, สมุทรปราการ 6 ต่อแสนประชากร, ตาก 5.7 ต่อแสนประชากร และนครปฐม 5 ต่อแสนประชากร ส่วนเสียชีวิต 3-5 ต่อแสนประชากร มี 6 จังหวัด คือ ปัตตานี ปทุมธานี ระนอง ปราจีนบุรี ตราด และนครนายก เสียชีวิต 1.5-3 ต่อแสนประชากร มี 11 จังหวัด คือ อ่างทอง นราธิวาส พิจิตร อยุธยา ยะลา นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา นนทบุรี ราชบุรี ชลบุรี และระยอง และน้อยกว่า 1.5 ต่อแสนประชากรมี 44 จังหวัด และไม่พบผู้เสียชีวิต 11 จังหวัด คือ กระบี่ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ บึงกาฬ แพร่ ภูเก็ต ลพบุรี เลย สมุทรสงคราม และสุพรรณบุรี

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า จากการประชุมติดตามการทำงาน กระทรวงสาธารณสุขจึงตั้งเป้าหมายลดอัตราป่วยตายต้องไม่เกิน 1% ได้กำชับให้ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพ ติดตามอย่างใกล้ชิด จัดสรรทรัพยากรในการดูแลรักษาให้แต่ละจังหวัดอย่างเหมาะสม เช่น เครื่องช่วยหายใจ ยารักษา ตรวจเชิงรุก ค้นหาผู้ติดเชื้อเร็ว นำเข้าระบบการรักษาเร็ว ได้ยาเร็ว และเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด ให้ครอบคลุมตามเป้าหมายของพื้นที่ ภายใน 30 วัน หรืออย่างน้อย 1.9 แสนคนต่อวัน โดยฉีดเข็ม 1 ใน 29 จังหวัดควบคุมสูงสุด และเข้มงวดให้ได้ 70% ซึ่งขณะนี้มีเพียง กทม.ที่ฉีดกลุ่ม 60 ปีขึ้นไปได้ 90% และบางจังหวัด ได้แก่ ลพบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ฉีดได้ต่ำกว่า 20% สำหรับจังหวัดอื่นๆ ที่เหลือ ต้องฉีดให้ครอบคลุม 50% และเฝ้าระวังการระบาดในโรงงาน ตลาด และชุมชน เข้มงวดมาตรการ Bubble & Seal นอกจากนี้ ด้านทรัพยากรต่างๆ ทางกระทรวงสาธารณสุข มีการเตรียมการและสั่งซื้อเข้ามาตลอดเวลา ให้เพียงพอ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงมีการปรับแผน และติดตามกำกับทุกสัปดาห์ เพื่อให้การรับมือกับโควิดในทุกพื้นที่ ครอบคลุมในทุกด้าน

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2] | สำนักข่าวไทย [1] [2]




 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net