Skip to main content
sharethis

เสวนา “บิดาแห่งกฎหมายไทย : ความรู้ ความทรงจำ และอำนาจ” รองศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ ชวนตั้งข้อสังเกตและถกเถียง 3 เรื่อง ตั้งแต่ เรื่องเล่าแบบขนบที่นักกฎหมายมีต่อพระองค์เจ้ารพีฯ คำถามต่อบิดาแห่งความรู้ บิดาแห่งกฎหมาย และความล่าช้าของการสร้างอนุสาวรีย์บิดาแห่งกฎหมายไทย จนถึงการปั้นพระองค์เจ้ารพีฯ ให้เป็นบิดาแห่งกฎหมายไทย

เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมาเฟซบุ๊คเพจ “ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง” ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อเรื่อง “บิดาแห่งกฎหมายไทย : ความรู้ ความทรงจำ และอำนาจ” ขึ้น โดยมี สมชาย ปรีชาศิลปกุล รองศาสตราจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ร่วมเสวนา  เนื่องในโอกาสที่วันที่ 7 สิงหาคม เป็นวันรพี หรือวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) ซึ่งถูกยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งกฎหมายไทย” นักกฎหมายและนักเรียนกฎหมายต่างถือเอาวันที่ 7 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันที่รำลึกถึงคุณูปการของพระองค์เจ้ารพีฯ ที่มีต่อวงการกฎหมายไทย

สมชาย ชวนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับระหว่างทางของการสถาปนาพระองค์เจ้ารพีฯ เป็นบิดาแห่งกฎหมายไทย ทั้งในเรื่องสถานะและความหมายของการเป็นบิดาแห่งกฎหมายที่มีความยอกย้อนในทางประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย

ทั้งนี้สมชายกล่าวว่า ความรู้และความทรงจำที่ให้อำนาจต่อการสถาปนาบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งย่อมมิใช่ความรู้ความทรงจำอันเปลือยเปล่า แต่ล้วนมีความหมายหรือนัยยะที่ดำรงอยู่ในการสถาปนานั้น

สมชายย้ำว่าพระองค์เจ้ารพีฯ เป็นบุคคลที่มีตัวตนและมีบทบาทต่อวงการกฎหมายไทยในทางประวัติศาสตร์จริง แต่สถานะของบุคคลบางคนในทางประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องที่ตรงไปตรงมา หากแต่มีความสัมพันธ์กับเงื่อนไข เวลา และปัจจัยอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

สมชาย ปรีชาศิลปกุล รองศาสตราจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยสมชายชวนตั้งข้อสังเกตและถกเถียงผ่านประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 เรื่องเล่าแบบขนบที่นักกฎหมายมีต่อพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์

หากลองให้นักเรียนกฎหมายหรือคนในแวดวงกฎหมายอธิบายเกี่ยวกับอัตชีวประวัติหรือความสำคัญของพระองค์เจ้ารพีฯ เราจะพบเรื่องเล่าในขนบที่มีท่วงทำนองเดียวกันในการนำเสนอภาพลักษณ์ของพระองค์เจ้ารพีฯ ในลักษณะที่อธิบายว่าพระองค์เจ้ารพีฯ เป็นโอรสของรัชกาลที่ 5 เรียนจบกฎหมายมาจากอังกฤษ และกลับมาทำงานด้านกฎหมายในประเทศไทย

สมชายกล่าวว่า บริบทในขณะนั้นชนชั้นนำไทยต้องการปรับตัวให้มีความเป็นอารยะ จึงได้ส่งลูกหลานไปเรียนวิทยาการจากทางโลกตะวันตก พระองค์เจ้ารพีฯ ถูกส่งไปเรียนกฎหมายที่ประเทศอังกฤษ มีการเล่ากันว่าพระองค์เป็นคนเรียนเก่ง พอเรียนจบกลับมาก็เข้ามาทำงานในระบบราชการและเป็นคนวางรากฐานด้านการศาลและกระบวนการยุติธรรมของไทย

ผลงานสำคัญที่พระองค์เจ้ารพีฯ ได้ทำไว้มีอยู่ 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ หนึ่ง การสร้างโรงเรียนกฎหมาย สอง การปฏิรูปงานศาลให้เป็นระบบมากขึ้น และสาม การพัฒนาระบบกฎหมายไปสู่สมัยใหม่ ถ้ามองในแง่นักเรียนกฎหมายการที่พระองค์เจ้ารพีฯ จัดตั้งโรงเรียนสอนกฎหมายขึ้นมาและยังทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือเองอีกด้วย ย่อมมีคุณูปการสำคัญอย่างมาก ถือเป็นการสร้างให้มีโรงเรียนกฎหมายเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย มีหลักสูตรที่ผู้จบออกมาจะสามารถได้รับปริญญา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้

พระองค์เจ้ารพีฯ จึงถือเป็นบุคคลที่บุกเบิกและทุ่มเทต่อปฏิรูปการศึกษากฎหมายในไทยอย่างมาก ลูกศิษย์ของพระองค์เจ้ารพีฯ มักจะบอกว่าพระองค์ยึดหลักการทำงานที่ว่า “My life is service” ต่อมาคำนี้เปรียบเสมือนเป็นคำกล่าวที่แสดงถึงชีวิตการทำงานของพระองค์เจ้ารพีฯ  

ขณะเดียวกันช่วงบั้นปลายชีวิตของพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์เจ้ารพีฯ ได้ลาออกจากกระทรวงยุติธรรม โดยรัชกาลที่ 6 ขอให้กลับมาทำงานอีกครั้ง แต่พระองค์เจ้ารพีฯ ได้มีคำถามกลับมาว่า “แล้วธุรกิจโรงสีที่เราทำอยู่ใครจะรับผิดชอบ” สมชายชี้ว่าข้อนี้เป็นจุดที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า

“น่าสนใจว่า My life is service มัน service ขนาดไหน service ขนาดที่ว่าไม่เห็นแก่ประโยชน์ของตนเองเลยหรือไม่ ในหมู่นักเรียนกฎหมายอาจจะไม่ได้มองแง่มุมนี้ พระองค์เจ้ารพีฯ ก็อาจจะเป็นปุถุชนธรรมดาคนหนึ่งที่เมื่ออยู่ในตำแหน่งก็ทำงานอย่างทุ่มเท แต่จะมีการทุ่มเทขนาดไหน การประเมินคงต้องเป็นไปอีกแง่มุมหนึ่ง”

หากมองตามเรื่องเล่าแบบขนบพระองค์เจ้ารพีฯ ย่อมถือว่าพระองค์เป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนาระบบกฎหมายของสยามให้เปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบกฎหมายสมัยใหม่ จึงเหมาะสมแก่การเป็นบิดาแห่งกฎหมายไทย ซึ่งนักกฎหมายและนักเรียนกฎหมายส่วนใหญ่แทบจะไม่ถกเถียงหรือโต้แย้งต่อเรื่องเล่าแบบขนบที่ถูกส่งต่อกันมาเท่าใดนัก อาจกล่าวได้ว่าเรื่องเล่าแบบขนบเป็นเรื่องเล่าที่ครอบงำความเข้าใจของนักเรียนกฎหมายต่อบิดาแห่งกฎหมายไทยเป็นอย่างยิ่ง

“ข้อถกเถียงที่ผมเคยได้ยิน น่าจะเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คือเราควรเรียกพระองค์เจ้ารพีฯ ว่า “บิดาแห่งกฎหมาย” หรือ “พระบิดาแห่งกฎหมาย” เป็นการถกเถียงกันในเชิงของการใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมกับสถานะว่าจะเป็นพระบิดาหรือบิดากันแน่ ซึ่งผมจะไม่ไปถกเถียงเรื่องนี้ และผมคิดว่าผมจะเรียกว่าเป็นบิดาแห่งกฎหมายไทย เพราะผมเข้าใจว่ากฎหมายไทยไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์ใดๆ ฉะนั้นเมื่อใครจะมาเป็นบิดาจึงไม่ควรต้องไปใส่พระบิดาให้”

ประเด็นที่ 2 คำถามต่อบิดาแห่งความรู้ บิดาแห่งกฎหมาย และความล่าช้าของการสร้างอนุสาวรีย์บิดาแห่งกฎหมายไทย

สังคมไทยเคยมีบิดาแห่งความรู้คนใดบ้างที่เป็นสามัญชน ?

สมชายตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดสถานะของบิดาแห่งความรู้ในสังคมไทยจึงถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มของเจ้าหรือเครือข่ายของชนชั้นนำไทยเท่านั้น เห็นได้จากสถานะของบิดาแห่งความรู้หลายคนที่เป็นเจ้า เช่น กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย, พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย, กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน บิดาแห่งการรถไฟไทย ฯลฯ

น้อยมากที่ในสังคมไทยจะมีบิดาแห่งความรู้ที่มาจากสามัญชน

ศิลป์ พีระศรี เป็นหนึ่งในสามัญชนเพียงไม่กี่คนที่ไม่ได้เป็นชนชั้นนำ และถูกยอมรับในวงกว้างให้เป็นบิดาแห่งศิลปะ ที่สำคัญศิลป์ พีระศรี เป็นชาวต่างชาติไม่ใช่คนไทย

ทำให้เกิดคำถามว่า การที่สถานะของการเป็นบิดาแห่งความรู้ในสังคมไทยถูกทำให้ยึดโยงอยู่กับเจ้าหรือเครือข่ายของชนชั้นนำนั้นมีความหมายอื่นๆ แฝงอยู่ด้วยใช่หรือไม่ สมชายอธิบายว่า นี่อาจเป็นการปรับตัวของชนชั้นนำไทยเพื่อให้เข้ากับระบบกฎหมายสมัยใหม่ เนื่องจากภายหลังรัชกาลที่ 5 มาระบบความรู้ของไทยหลายอย่างไม่อาจเทียบเคียงฝรั่งได้ เช่น การจะอธิบายปรากฎการณ์เรื่องสุริยุปราคาหรือจันทรุปราคาจำเป็นต้องใช้ความรู้ทางดาราศาสตร์แบบฝรั่งมาอธิบาย ไม่ใช่ตำราโหราศาสตร์แบบไทยๆ ความรู้แบบไทยถูกสั่นคลอน เป็นเหตุให้ชนชั้นนำต้องปรับตัวให้เข้ากับความรู้สมัยใหม่

“ชนชั้นนำพยายามปรับตัวให้เข้ากับความรู้แบบสมัยใหม่ แต่ว่าในแง่หนึ่งการที่จะเป็นคนไปสร้างความรู้เองมันก็ยังเกิดขึ้นไม่ได้ สิ่งที่ชนชั้นนำไทยทำคือการเป็นกลุ่มคนที่นำความรู้แบบตะวันตกเข้ามาในสังคมไทย บิดาแห่งการรถไฟ บิดาแห่งกฎหมาย บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ ทั้งหมดล้วนเป็นการนำเอาความรู้แบบฝรั่งเข้ามา

สถานะของการเป็นบิดาแห่งสาขาวิชาความรู้ ย่อมเป็นการที่ชนชั้นนำไทยยังสามารถยืนอยู่บนจุดสูงสุดของระบบความรู้ แม้จะเป็นระบบความรู้ของฝรั่งก็ตาม”

 

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ “บิดา” หรือ “บิดาบุญธรรม” แห่งกฎหมายไทย

ธาวิต สุขพานิช อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยตั้งคำถามไว้ในบทความชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการเป็นบิดาแห่งกฎหมายของพระองค์เจ้ารพีฯ ที่นักกฎหมายและนักเรียนกฎหมายอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญในแง่มุมทางประวัติศาสตร์มากนัก โดยธาวิตตั้งข้อสังเกตว่า “เอาเข้าจริงพระองค์เจ้ารพีฯ ควรเป็นแค่บิดาบุญธรรม ไม่ควรเป็นบิดาตัวจริง” ด้วยเหตุผลว่า เนื่องจากตอนที่รัชกาลที่ 5 เริ่มต้นปฏิรูประบบกฎหมายพระองค์เจ้ารพีฯ สนับสนุนให้ใช้กฎหมายแบบ Common law ตามที่ได้ไปร่ำเรียนมาจากอังกฤษ ขณะที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพสนับสนุนให้ใช้กฎหมายแบบ Civil law หรือระบบประมวลกฎหมายที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสุดท้ายแล้วรัชกาลที่ 5 เลือกใช้ระบบกฎหมายแบบ Civil law เพื่อย่นระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายให้รวดเร็วขึ้น การเปลี่ยนไปสู่ระบบ Common law ที่ยึดถือตามคำพิพากษาของศาลย่อมต้องใช้ระยะเวลานานในการวางรากฐาน

หากมองในแง่นี้ ธาวิตเสนอว่าพระองค์เจ้ารพีฯ ควรเป็นบิดาบุญธรรมของระบบกฎหมายไทยมากกว่าบิดาที่แท้จริง เพราะระบบกฎหมายที่พระองค์สนับสนุนไม่ใช่ระบบกฎหมายที่ถูกนำมาใช้จริงในสังคมไทย

ความล่าช้าของการสร้างอนุสาวรีย์บิดาแห่งกฎหมาย

สมชายชวนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความล่าช้าของการสร้างอนุสาวรีย์บิดาแห่งกฎหมายให้แก่พระองค์เจ้ารพีฯ ดังนี้

อนุสาวรีย์ของพระองค์เจ้ารพีฯ ที่เป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปในวงกว้างคือ อนุสาวรีย์พระองค์เจ้ารพีฯ ที่ตั้งอยู่หน้าศาลยุติธรรม ซึ่งทุกวันที่ 7 สิงหาคมของทุกปีจะมีนักกฎหมายและนักเรียนกฎหมายมาวางพวงมาลา เพื่อรำลึกถึงพระองค์เจ้ารพีฯ โดยอนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2507 นักกฎหมายมักเข้าใจว่าอนุสาวรีย์นี้เป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกของพระองค์เจ้ารพีฯ แต่ในความเป็นจริงอนุสาวรีย์นี้ไม่ใช่อนุสาวรีย์แห่งแรกของพระองค์เจ้ารพีฯ

อนุสาวรีย์พระองค์เจ้ารพีฯ หน้าศาลยุติธรรม

ก่อนหน้านี้ หลังจากที่พระองค์เจ้ารพีฯ สิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. 2463 มีการสร้างอนุสาวรีย์แห่งแรกเพื่อรำลึกถึงพระองค์ขึ้นในพ.ศ. 2470 โดยตั้งไว้ที่โรงเรียนกฎหมายที่พระองค์เจ้ารพีฯ จัดตั้งขึ้น (ปัจจุบันถูกรื้อไปแล้ว) ซึ่งในขณะนั้นอนุสาวรีย์ที่ถูกสร้างขึ้นไม่ได้มีแค่พระองค์เจ้ารพีฯ เพียงคนเดียว แต่ยังมีการสร้างอนุสาวรีย์ของเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (โรแลง ยัคมินส์) ด้วย

ด้านซ้าย พระองค์เจ้ารพีฯ ด้านขวา เจ้าพระยาอภัยราชา ปัจจุบันอนุสาวรีย์ทั้ง 2 นี้ถูกเก็บไว้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

สมชายเรียกอนุสาวรีย์ทั้ง 2 นี้ว่าเป็น “อนุสาวรีย์แฝด” เนื่องจากเป็นอนุสาวรีย์ที่มีขนาดเท่ากัน ใช้วัสดุชนิดเดียวกันในการสร้าง และตั้งอยู่คู่กันภายในโรงเรียนกฎหมาย ด้านหนึ่งการมีอนุสาวรีย์แฝดตั้งคู่กันเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งพระองค์เจ้ารพีฯ และเจ้าพระยาอภัยราชามีความสำคัญทัดเทียมกันในช่วงเวลานั้น  คำถามคือ เหตุใดเมื่อมีการสร้างอนุสาวรีย์ใหม่ที่หน้าศาลยุติธรรมในพ.ศ. 2507 อนุสาวรีย์ฝาแฝดฝรั่งอย่างเจ้าพระยาอภัยราชาถึงหายไป เหลือเพียงอนุสาวรีย์ของพระองค์เจ้ารพีฯ ตั้งเด่นอยู่เพียงผู้เดียว

“ทำไมนักกฎหมายฝรั่งถึงหายไป หรือนักกฎหมายฝรั่งถูกทำให้หลงลืมไปอย่างไรบ้าง”

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โรงเรียนกฎหมายถูกยุบ มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นมาแทน ทรัพย์สินของโรงเรียนกฎหมายถูกโอนมายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งอนุสาวรีย์แฝด 2 หลังนี้ด้วยเช่นกัน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเป้าหมายที่แตกต่างจากโรงเรียนกฎหมายอย่างชัดเจน โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วางตัวเองให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความรู้และระบบประชาธิปไตยให้แก่ผู้เรียนและประชาชน ขณะที่โรงเรียนกฎหมายต้องการผลิตตุลาการขึ้นในสังคมไทย อนุสาวรีย์แฝดที่ถูกย้ายมาจากโรงเรียนกฎหมายจึงไม่อาจถูกนำมาตั้งเด่นอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ ด้วยอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้อนุสาวรีย์ของคนที่ถูกยอมรับให้ตั้งเด่นอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ เช่น ปรีดี พนมยงค์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และสัญญา ธรรมศักดิ์ ทั้งหมดล้วนเป็นบุคคลที่มีคุณูปการต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยตรง ขณะที่พระองค์เจ้ารพีฯ และเจ้าพระยาอภัยราชามีคุณูปการต่อโรงเรียนกฎหมาย แต่ไม่ได้มีคุณูปการโดยตรงต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งผลให้อนุสาวรีย์แฝดทั้ง 2 หลังจึงถูกเก็บเงียบไว้ภายในมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม การที่ในพ.ศ. 2507 มีการสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์เจ้ารพีฯ เพียงคนเดียว ยังทำให้เห็นว่า เจ้าพระยาอภัยราชา “ถูกทำให้ลืม” ในประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

“เจ้าพระยาอภัยราชาถูกทำให้ลืมในในประวัติศาสตร์กฎหมายไทย อนุสาวรีย์ที่มีการสร้างให้เจ้าพระยาอภัยราชาในแง่หนึ่งอาจจะแสดงถึงการยอมรับต่อบทบาทในด้านกฎหมาย ซึ่งเจ้าพระยาอภัยราชามีบทบาทสำคัญอย่างมิอาจปฎิเสธได้ แต่เราก็อาจจะมีคำถามว่าทำไมตอนที่สร้างอนุสาวรีย์ในยุคโรงเรียนกฎหมายช่วง 2470 ถึงต้องสร้างรูปปั้นของเจ้าพระยาอภัยราชาควบคู่กันไปด้วย

เรื่องนี้เป็นผลจากการตอบสนองกรณีที่รัฐบาลไทยต้องการที่จะแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคระหว่างไทยกับตะวันตก เจ้าพระยาอภัยราชาเป็นคนเบลเยี่ยม ซึ่งเบลเยี่ยมก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับไทย สิ่งที่รัฐบาลเบลเยี่ยมตอบกลับมาคือยินดีที่จะดำเนินการเรื่องแก้ไขสนธิสัญญา แต่รัฐบาลเบลเยี่ยมมีข้อเรียกร้องขอให้ช่วยสร้างอะไรเพื่อเป็นที่ระลึกต่อคนเบลเยี่ยมที่บทบาทในสังคมไทยได้หรือไม่ ทางฝ่ายไทยจึงเสนอว่าจะสร้างอนุสาวรีย์ของเจ้าพระยาอภัยราชาคู่กับพระองค์เจ้ารพีฯ

ในแง่นี้การสร้างอนุสาวรีย์ของเจ้าพระยาอภัยราชาไม่ได้มาจากการผลักดันของนักกฎหมายไทยทั้งหมด แต่มาจากปมประเด็นระหว่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมีนัยยะสำคัญ”

เมื่อเห็นบริบทแวดล้อมเช่นนี้แล้ว สมชายชี้ว่าสิ่งที่ต้องขบคิดควบคู่กันไปคือ เรื่องการสูญเสียเอกราชทางการศาลในช่วงเวลานั้น หากนักกฎหมายไทยไม่มีอำนาจในการตัดสินคดีโดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศที่จะถูกดึงกลับไปยังศาลกงสุล นักกฎหมายถือว่าเรื่องนี้เป็นการเสียเอกราช ประเทศไทยจะไม่มีเอกราชสมบูรณ์หากยังไม่ได้รับเอกราชทางการศาล

สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นคนหนึ่งที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ได้อย่างดี สัญญาบันทึกไว้ว่า เหตุที่ตั้งใจไปเรียนต่อต่างประเทศก็เพื่อจะกลับมาไล่ศาลกงสุลไปให้หมด

ฉะนั้น เมื่อไม่มีการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง การสร้างอนุสาวรีย์บิดาแห่งกฎหมายไทยพ.ศ. 2507 จึงเหลือเพียงการสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์เจ้ารพีฯ แต่เพียงผู้เดียว

“การสร้างอนุสาวรีย์ของเจ้าพระยาอภัยราชาจึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการต่อรองอย่างหนึ่งระหว่างไทยกับตะวันตกในช่วงเวลาดังกล่าว”

ประเด็นที่ 3 ปั้นพระองค์เจ้ารพีฯ ให้เป็นบิดาแห่งกฎหมายไทย

สมชายย้ำว่า เวลาที่นักกฎหมายหรือนักเรียนกฎหมายคิดถึงบิดาแห่งกฎหมายไทย ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่สามารถตอบได้จากเพียงแค่การมองว่าพระองค์เจ้ารพีฯ ไปเรียนกฎหมายจากต่างประเทศและจบกลับมาทำงานพัฒนาระบบกฎหมาย เมื่อเสียชีวิตก็ได้รับการยกย่อง แต่เบื้องหลังของการสถาปนาบิดาแห่งกฎหมายไทยยังมีการปั้นพระองค์เจ้ารพีฯ ให้เป็นบิดาแห่งกฎหมายภายใต้เงื่อนไขและปัจจัยอื่นแฝงอยู่

ภายหลังจากที่พระองค์เจ้ารพีฯ เสียชีวิต ในช่วงแรกการจัดงานรำลึกถึงพระองค์ยังจำกัดอยู่ในวงแคบเพียงแวดวงตุลาการ และเป็นเพียงการเชิญพระมาสวดยังไม่ได้มีพิธีใหญ่โต แม้จะมีการตั้งมูลนิธิเพื่อส่งเสริมการศึกษากฎหมายเกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่มีการกล่าวถึงหรือยกย่องให้พระองค์เจ้ารพีฯ เป็นบิดาแห่งกฎหมายไทย

“ในระยะแรกที่พระองค์เจ้ารพีฯ เสียชีวิตลงไม่มีการกล่าวถึงว่า พระองค์เจ้ารพีฯ เป็นบิดาแห่งกฎหมายไทย อย่างมากที่สุดมีการกล่าวเพียงว่าเป็นปฐมาจารย์ หรืออาจารย์คนแรกๆ ของนิติศาสตร์ไทย”

การยกย่องให้พระองค์เจ้ารพีฯ เป็นบิดาแห่งกฎหมายในวงกว้างมีที่มาจาก 2 ส่วนด้วยกัน หนึ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการปั้นพระองค์เจ้ารพีฯ ให้เป็นบิดาแห่งกฎหมาย โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ริเริ่มต้นจัดงานวันรพีขึ้นเมื่อพ.ศ. 2505 เนื่องจากในสมัยนั้นระบบอาจารย์ประจำยังไม่มีความเข้มแข็ง คณะนิติศาสตร์ยังจำเป็นต้องพึ่งพาอาจารย์ที่มาจากกระทรวงยุติธรรมหรือผู้พิพากษา เช่น พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ คณบดีคนแรกของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มาจากจบมาจากโรงเรียนกฎหมาย ถัดมาพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์, พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ ก็ล้วนเป็นลูกศิษย์ของพระองค์เจ้ารพีฯ ที่มาจากโรงเรียนกฎหมายเช่นกัน  

“ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นลูกศิษย์ของพระองค์เจ้ารพีฯ ถ้าใครเคยอ่านหนังสือที่เป็นของลูกศิษย์พระองค์เจ้ารพีฯ จะรู้ว่าลูกศิษย์ของพระองค์เจ้ารพีฯ จะเทิดทูนพระองค์เป็นอย่างมากทั้งที่เป็นลูกศิษย์โดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งหมายความว่าความรู้ความเข้าใจของนักกฎหมายที่เป็นผู้พิพากษาและมาเป็นอาจารย์ประจำหรือคณบดีได้ถ่ายทอดเอาอารมณ์ความรู้สึกและความเข้าใจที่ตนเองเคยมีไปสู่สถาบันการศึกษาในคณะนิติศาสตร์ กลายเป็นปัจจัยภายในที่ทำให้คณะนิติศาสตร์ริเริ่มจัดงานวัดรพีขึ้นในปี 2505 แง่นี้ยังแสดงให้เห็นเครือข่ายลูกศิษย์ของพระองค์เจ้ารพีฯ ที่มาฝังความรู้ลงไป

ขณะที่อีกปัจจัยหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา เป็นช่วงเวลาที่ในทางการเมืองมีการฟื้นฟูแนวความคิดแบบกษัตริย์นิยมขึ้นมาในสังคมไทย หมายความว่าถ้าเป็นช่วงเวลาหลัง 2475 ไม่สามารถจัดงานวันรพีในธรรมศาสตร์ไม่ได้แน่ แต่พอมาถึงทศวรรษ 2500 บัดนี้งานวันรพีสามารถจัดได้ ไม่ใช่เพราะปัจจัยภายในที่เป็นลูกศิษย์ของพระองค์เจ้ารพีฯ อย่างเดียว แต่เงื่อนไขทางสังคมมีความประจวบเหมาะ เปิดโอกาสให้แนวความคิดแบบกษัตริย์นิยมสามารถค่อยๆ หยั่งรากลงในสังคมได้ การจัดงานวันรพีที่ให้ความสำคัญกับชนชั้นนำในการปฏิรูปกฎหมายจึงค่อยๆ ถือกำเนิดขึ้น”

นอกจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีส่วนสำคัญในการปั้นพระองค์เจ้ารพีฯ ให้เป็นบิดาแห่งกฎหมายแล้ว สมชายย้ำว่า อนุสาวรีย์พระองค์เจ้ารพีฯ หน้าศาลยุติธรรมที่ถูกสร้างขึ้นในพ.ศ. 2507 ก็มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากถือเป็นการเปิดการสถาปนาพระองค์เจ้ารพีฯ ไปสู่แวดวงกฎหมายไทย ทั้งหน่วยงาน และสถาบันการศึกษา เหตุเพราะเป็นอนุสาวรีย์ที่ถูกสร้างขึ้นในพื้นที่สาธารณะ กล่าวได้ว่าอนุสาวรีย์หน้าศาลยุติธรรมเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้การรำลึกถึงพระองค์เจ้ารพีฯ ในวันรพีกลายเป็นเรื่องเอิกเกริกมากขึ้น

ขณะเดียวกันบทความเรื่อง “พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีฯ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” โดยพัฒนจักร (นามปากกา) ที่ตีพิมพ์ในวารสารบทบัณฑิตย์ เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2511 เป็นบทความสำคัญอีกชิ้นหนึ่งและเป็นบทความชิ้นแรกๆ ที่เขียนถึงอัตชีวประวัติของพระองค์เจ้ารพีฯ ไว้อย่างละเอียด บทความชิ้นนี้มีส่วนสำคัญในการเขียนประวัติศาสตร์ให้บิดาแห่งกฎหมายไทย เนื่องจากเป็นบทความต้นแบบที่งานเขียนเกี่ยวกับพระองค์เจ้ารพีฯ มักอ้างถึง

อย่างไรก็ตาม สมชายมองว่า บทความชิ้นนี้มีความคลาดเคลื่อนของเนื้อหาบางส่วนอยู่บ้าง และการที่นักกฎหมายและนักเรียนกฎหมายอ้างถึงบทความชิ้นนี้ต่อกันอย่างไม่มีการตรวจสอบ ย่อมแสดงให้เห็นว่านักกฎหมายไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์เท่าที่ควร ซึ่งในปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับประวัติของพระองค์เจ้ารพีฯ ก็ยังไม่ไปไกลกว่าโครงเรื่องที่บทความชิ้นนี้วางไว้ ทั้งนี้บทความชิ้นนี้ยังออกมาภายใต้ช่วงเวลาของการฟื้นฟูแนวคิดกษัตริย์นิยมให้กลับมาในสังคมไทยอีกด้วย

“บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูแนวคิดกษัตริย์นิยมขึ้นในสังคมไทย ช่วงพ.ศ. 2511 ในแง่หนึ่งการเชิดชูพระองค์เจ้ารพีฯ ให้เป็นบิดาแห่งกฎหมายไทย คือการทำให้การปฏิรูปกฎหมายไทยสู่ความเป็นสมัยใหม่ถูกนำโดยชนชั้นนำไทยที่มีความสามารถ

ถ้าพูดในภาษาของ อ.ธงชัย วินิจจะกูล นี่คือการเขียนประวัติศาสตร์แบบที่เรียกว่า “ราชาชาตินิยม” การปฏิรูประบบความรู้ต่างๆ เกิดขึ้นโดยชนชั้นนำไทยที่มีความสามารถ และทำให้สังคมไทยเปลี่ยนผ่านจากสังคมจารีตมาสู่สังคมที่แตกต่างไปจากเดิม”

ในแง่นี้ การที่พระองค์เจ้ารพีฯ ไม่ได้ถูกยกย่องทันทีภายหลังจากที่สิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. 2463 แต่ว่าการยกย่องพระองค์เจ้ารพีฯ ให้เป็นบิดาแห่งกฎหมายไทยกลับมาเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2500 พร้อมกับการจัดงานเฉลิมฉลอง พิธีกรรม และเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ สมชายมองว่ากระบวนการทั้งหมดเป็นการปั้นพระองค์เจ้ารพีฯ ให้เป็นบิดาแห่งกฎหมายไทย

สมชายทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า พระองค์เจ้ารพีฯ เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง เป็นโอรสของรัชกาลที่ 5 และมีผลงานในด้านการปฏิรูปกฎหมายรวมไปถึงการสร้างโรงเรียนกฎหมายจริง แต่สถานะของการเป็นบิดาแห่งกฎหมายของพระองค์ถูกสร้างขึ้นในภายหลังจากที่พระองค์เจ้ารพีฯ สิ้นพระชนม์ไปแล้วมากกว่า 4 ทศวรรษ

“สถานะของการเป็นบิดาแห่งกฎหมายของพระองค์เจ้ารพีฯ ถูกสร้างขึ้นในภายหลัง หลายประเด็นถูกสร้างและกลายเป็นความจริง โดยไม่มีการตรวจสอบ รวมถึงหลายประเด็นถูกหลงลืมหรือละเลยไป เช่นประเด็นนักกฎหมายฝรั่งที่ถูกทำให้หลงลืมไปในปัจจุบัน บางอย่างถูกสร้าง บางอย่างถูกละเลย บางอย่างถูกทำให้หลงลืม

ผมอยากจะเน้นย้ำว่า สถานะของบิดาแห่งกฎหมายไทยเป็นส่วนหนึ่งของกระแสความคิดและการต่อสู้ในทางการเมืองอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ เวลาที่เราจะยกย่องใคร เมื่อเราให้ความสำคัญลงไปย่อมจะมีความหมายบางอย่างที่ติดตามมากับสถานะนั้นด้วย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net