Skip to main content
sharethis

อัยการจังหวัดเพชรบุรีเร่งสั่งฟ้องชาวบางกลอย จำนวน 27 คน วันที่ 18 ส.ค.นี้ ชาวบ้านขอชะลอกระบวนการทางคดี เหตุเสี่ยงติดโควิด-19 จากการเดินทางมาเมืองเพชรบุรี ด้านภาคีเซฟบางกลอย จวกรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์หลังขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน

ภาคีSaveบางกลอย บุก ทส. ค้านขึ้นมรดกโลกบางกลอย เมื่อวันที่ 26 ก.ค. (ถ่ายโดย กันต์ แสงทอง)
 

สืบเนื่องจาก ตามที่พนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี มีกำหนดนัดรายงานตัวเพื่อรับฟังคำสั่งส่งฟ้องคดีต่อศาล กรณี นายหน่อแอะ มีมิ และชาวบ้านบางกลอย 27 คน ในความผิด พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2563 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2548 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ในนัดที่ 2 วันที่ 28 ส.ค.นี้ เวลา 10.00 น. อัยการเจ้าของสำนวนแจ้งว่าจะส่งฟ้องคดีต่อศาลในวันนัดดังกล่าว อีกทั้งจะมีการเรียกเยาวชน 2 คนให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานในวันนี้ที่ 17 ส.ค. 

17 ส.ค. 2564 ภาคีเซฟบางกลอย ออกแถลงการณ์ เรื่อง “สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังประกาศกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก” ขอเรียกร้องให้มีการชะลอกระบวนการทางคดี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ไม่สู้ดีในจังหวัดเพชรบุรี

แถลงการณ์ระบุว่า การเร่งรัดกระบวนการทางคดีดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ชาวบางกลอยกำลังเผชิญกับปัญหาความยากไร้จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชาวบ้านจำนวนมากกำลังเผชิญกับปัญหาขาดสารอาหาร รายได้ไม่พอต่อการจุนเจือชีวิตและครอบครัว เด็กแรกเกิดในชุมชนจำนวนหนึ่งไม่ได้รับน้ำนมจากแม่ เพราะแม่ขาดอาหารจนไม่มีน้ำนมจากเต้าสำหรับทารก ชาวบ้านทั้งหมดที่ถูกดำเนินคดีอยู่ในสถานะตกงาน ที่ดินบางส่วนที่ได้รับเยียวยาจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไม่สามารถทำกินได้

“ภาคีเซฟบางกลอย เห็นว่าสิ่งเร่งด่วนที่รัฐต้องทำเพื่อแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา คือต้องหามาตรการในการชะลอคดีความของชาวบ้านไปจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย เนื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงมากในจังหวัดเพชรบุรีจากหลายคลัสเตอร์โรงงาน ก่อนหน้านั้นก็มีชาวบ้านบางกลอยติดโควิด 1 คน ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีชาวบ้านบางกลอยคนใดสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ แม้ชาวบ้านจะสามารถลงมาจากบางกลอยได้ ก็ยังไม่มีที่พัก เพราะจะมีการดำเนินคดีสองส่วน คือคดีเยาวชนในวันที่ 17 สิงหาคม และคดี 27 คนในวันที่ 18 สิงหาคม ต้องมีการเดินทางและหาที่พักรองรับ อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงว่าชาวบ้านอาจติดโควิดแล้วนำกลับไปติดในชุมชน” แถลงการณ์ระบุ

นอกจากนั้น แถลงการณ์ยังชี้ว่า วงเงินประกันตัวนั้นสูงถึงคนละ 100,000 บาท รวม 27 คนสูงถึง 2,700,000 บาท ถ้าไม่มีเงินไปประกันก็ต้องถูกคุมขังในเรือนจำ ต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 ในเรือนจำ ฉะนั้น จึงเห็นว่าการชะลอการสั่งฟ้องจึงเป็นประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย ไม่มีใครได้ประโยชน์ในการเร่งรัดคดีนี้ 

พชร คำชำนาญ ผู้ประสานงานภาคีเซฟบางกลอย กล่าวว่า สถานการณ์ภายหลังกลุ่มป่าแก่งกระจานได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แทนที่จะคลี่คลายไปในทางที่ดี ลดความขัดแย้งและหันหน้าเขาพูดคุยกันเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา ปรากฏว่าสถานการณ์กลับรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์ความลำบาก เรื่องอาหาร ปากท้อง ที่ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปหนุนเสริมให้ความช่วยเหลือดังที่รับปาก แล้วยังต้องเผชิญสถานการณ์ทางคดีที่เร่งรัดในช่วงวิกฤตโควิด-19 

“หลังเป็นมรดกโลกก็คิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ไม่เลย ยังเลวร้ายเหมือนเดิม ทนายความปู่คออี้ (โคอิ มีมิ) ก็ถูกอดีตหัวหน้าอุทยานแก่งกระจานฟ้อง ชาวบ้านก็ยังต้องรอรับของบริจาคเหมือนเดิม ยิ่งซ้ำเติมด้วยการเร่งรัดจะสั่งฟ้องชาวบ้านให้ได้ ไม่รู้จะเร่งไปทำไม พื้นที่เป็นเพชรบุรีเป็นพื้นที่สีแดง การที่จะให้ชาวบ้านลงไปขึ้นโรงขึ้นศาลในช่วงนี้เป็นความเสี่ยงอย่างมาก การกระทำเช่นนี้ของรัฐไทยคือภาพตอกย้ำว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไม่เคยถูกมองว่าเป็นคนที่มีสิทธิ มีศักดิ์ศรีเท่าเทียม” พชร กล่าว

นอกจากนั้นผู้ประสานงานภาคีเซฟบางกลอยยังเผยว่า ขณะนี้ทีมทนายความของชาวบ้านได้ทำหนังสือไปถึงอัยการสูงสุดและอัยการจังหวัดเพชรบุรี เพื่อขอเลื่อนนัดการส่งฟ้องคดีต่อศาล และทำหนังสืออีกฉบับถึงสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานเพื่อขอเลื่อนนัดการรับทราบข้อกล่าวหา จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการตอบรับใดๆ แต่ชาวบ้านก็ยืนยันจะไม่เดินทางไปที่ตัวเมืองเพชรบุรีในช่วงนี้เนื่องจากเกรงติดเชื้อโควิด-19

“คดีมันสามารถเลื่อนได้ จริงๆ มันเป็นคดีที่ไม่มีประโยชน์ต่อสาธารณะเลย ยิ่งในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้เราไม่เห็นว่าใครจะได้ประโยชน์จากการเร่งรัดคดี ในระบบกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลมันควรจะเลื่อนได้ ที่ผ่านมามีเพียงคดีทางการเมืองเท่านั้นที่ไม่ค่อยเลื่อน คำถามคือคดีชาวบางกลอยเป็นคดีทางการเมืองไปแล้วหรือ ขอให้ชะลอการสั่งฟ้องชาวบ้านเถอะครับ คืนความเป็นคนให้เขาและหยุดซ้ำเติมความเดือดร้อนและความน้อยเนื้อต่ำใจให้ชาวบ้านเสียที” ผู้ประสานงานภาคีเซฟบางกลอยย้ำ

ด้าน พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หนึ่งในผู้ต้องหา 27 คน กล่าวว่า ตนได้ปรึกษากับทนายว่าทิศทางคดีจะเป็นอย่างไร ในกลุ่มของชาวบ้านต้องเตรียมกันอีกว่าต้องทำอะไร ท้ายที่สุดลงเอยที่ว่าไม่มีสถานที่ให้ชาวบ้านพักในเมืองเลย แม้แต่พื้นที่ตรงแก่งกระจานที่พวกตนเคยไปพักเขาก็ไม่ให้เข้า เพราะมีคนติดโควิด จึงได้หารือกันว่าจะไม่ลงไปในเมืองแก่งกระจาน แม้อาจจะถูกออกหมายศาลเพื่อจับกุมก็ตาม

“ในขณะนี้โควิดระบาด ชาวบ้านลำบากมาก ยังต้องรับของบริจาคอยู่ ไม่รู้ว่าจะเร่งรัดคดีทำไม การไปศาลแต่ละครั้งพวกจนก็ต้องใช้เงินเยอะ ลำพังชาวบ้านเองไม่ได้มีเงินจ่ายค่ารถ ค่ากิน อยู่แล้ว แล้วถ้าต้องประกันตัวอีกไม่มีใครช่วยเราแย่แน่ๆ” พงษ์ศักดิ์ กล่าว

ชาวบ้านบางกลอย ยังย้ำว่าขณะที่มีทั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา และเป็นมรดกโลกไปแล้ว เรื่องคดีความควรจะชะลอไปหรือยกเลิกไป เนื่องจากเป็นคดีที่ไม่มีใครได้ประโยชน์ มีแต่ชาวบ้านที่ได้รับผลเสีย เมื่อมีเร่งรัดตนก็รู้สึกว่าท่าทีของเจ้าหน้าที่รัฐ อัยการ ศาล เหมือนพยายามมากในการเร่งรัดจนน่าสงสัย พวกตนก็ยืนยันจะไม่ลงไปที่ศาลหรือ สภ.แก่งกระจาน จะไปออกหมายจับมาก็ได้ แต่ตอนนี้ชาวบ้านไม่สามารถลงไปในเมืองได้

แถลงการณ์ภาคี Saveบางกลอย

เรื่อง สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังประกาศกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก
    
ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44 ประจำปี 2564 ซึ่งประเทศจีนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผ่านระบบทางไกล เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมนั้น ได้มีการพิจารณาบรรจุให้กลุ่มป่าแก่งกระจานของประเทศไทยเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ของประเทศไทย เนื่องด้วยการเสนอ 3 ครั้งที่ผ่านมาไม่เป็นผลสำเร็จเพราะปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกลุ่มป่าแก่งกระจานที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยเฉพาะที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 

ภาคีเซฟบางกลอย ตระหนักว่าการประกาศให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกธรรมชาติแล้วนั้น ก็มิอาจลดความวิตกกังวลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพี่น้องกะเหรี่ยงในกลุ่มป่าแก่งกระจานได้ โดยเฉพาะพี่น้องชาวบางกลอย ด้วยก่อนที่จะมีการประกาศมรดกโลกทางธรรมชาติ ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2564 ได้มีการจับกุมและดำเนินคดีชาวบางกลอยที่กลับขึ้นไปทำกินในที่ดินดั้งเดิมของตัวเองเพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหารในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 

เพียงไม่นานหลังกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติป่าแก่งกระจาน ยังได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับนางสาววราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความของปู่คออี้ มีมิ ในคดีไล่รื้อหมู่บ้านกะเหรี่ยงบางกลอยบนและเป็นทนายความยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ในคดีอุ้มหายบิลลี่ (พอละจี รักจงเจริญ) ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ได้มีสัญญาณในการเร่งรัดกระบวนการทางคดีของชาวบ้าน โดยพนักงานสอบสวนได้เรียกเยาวชน 2 คนไปให้การที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอแก่งกระจานในวันที่ 17 สิงหาคม อีกทั้งพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีก็ยืนยันจะส่งฟ้องชาวบ้านอีก 27 คนต่อศาลในวันที่ 18 สิงหาคม โดยมีการตั้งวงเงินประกันตัวไว้สูงถึงคนละ 100,000 บาท การเร่งรัดกระบวนการทางคดีดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ชาวบางกลอยกำลังเผชิญกับปัญหาความยากไร้จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชาวบ้านจำนวนมากกำลังเผชิญกับปัญหาขาดสารอาหาร รายได้ไม่พอต่อการจุนเจือชีวิตและครอบครัว เด็กแรกเกิดในชุมชนจำนวนหนึ่งไม่ได้รับน้ำนมจากแม่ เพราะแม่ขาดอาหารจนไม่มีน้ำนมจากเต้าสำหรับทารก ชาวบ้านทั้งหมดที่ถูกดำเนินคดีอยู่ในสถานะตกงาน ที่ดินบางส่วนที่ได้รับเยียวยาจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไม่สามารถทำกินได้ 

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย แต่ในระยะเวลาที่ผ่านกว่า 5 เดือน ภาคีเซฟบางกลอยยังไม่เห็นความคืบหน้าและการทำงานอันเป็นที่ประจักษ์ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว เป็นไปได้หรือไม่ว่าการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวเป็นเพียงการเอาหน้ารอดของรัฐบาล แต่ไม่มีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาให้เกิดความยุติธรรมแก่ชาวบางกลอยอย่างแท้จริง จึงไม่มีการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาในเชิงประจักษ์

ภาคีเซฟบางกลอย เห็นว่าสิ่งเร่งด่วนที่รัฐต้องทำเพื่อแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา คือต้องหามาตรการในการชะลอคดีความของชาวบ้านไปจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย เนื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงมากในจังหวัดเพชรบุรีจาก หลายคลัสเตอร์โรงงาน ก่อนหน้านั้นก็มีชาวบ้านบางกลอยติดโควิด 1 คน ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีชาวบ้านบางกลอยคนใดสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ แม้ชาวบ้านจะสามารถลงมาจากบางกลอยได้ ก็ยังไม่มีที่พัก เพราะจะมีการดำเนินคดีสองส่วน คือ คดีเยาวชนในวันที่ 17 สิงหาคม และคดี 27 คนในวันที่ 18 สิงหาคม ต้องมีการเดินทางและหาที่พักรองรับ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงว่าชาวบ้านอาจติดโควิด-19 แล้วนำกลับไปติดในชุมชน 

นอกจากนั้น วงเงินประกันตัวนั้นสูงถึงคนละ 100,000 บาท รวม 27 คนสูงถึง 2,700,000 บาท ถ้าไม่มีเงินไปประกันก็ต้องถูกคุมขังในเรือนจำ ต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 ในเรือนจำ ฉะนั้นเราจึงเห็นว่าการชะลอการสั่งฟ้องจึงเป็นประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย ไม่มีใครได้ประโยชน์ในการเร่งรัดคดีนี้ 

ในฐานะเพื่อนร่วมสู้และเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาของชาวบ้านเช่นเดียวดั่งนางสาววราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความผู้ทำงานให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และสู้คดีเคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้องบางกลอยมากว่าสิบปี ขอประณามการกระทำของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ซึ่งถือเป็นการแว้งทำร้ายและคล้ายมีเจตนาคุกคามคนทำงานที่ได้เข้ามาร่วมต่อสู้และช่วยเหลือชาวบ้าน

สุดท้ายนี้ภาคีเซฟบางกลอยขอเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบและเร่งรัดการดำเนินการของคณะกรรมการฯ รวมถึงขอให้จริงจังต่อการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับชุมชนบางกลอยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เพื่อดำรงความยุติธรรมให้เกิดขึ้นบนผืนป่ามรดกโลก เพราะเราไม่สามารถภูมิใจกับมรดกโลกที่เปื้อนเลือดและน้ำตาของพี่น้องชาติพันธุ์ได้อย่างแน่แท้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net