สุรพศ ทวีศักดิ์: การทำพุทธศาสนาให้เป็นยาฝิ่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในฐานะที่สนใจศึกษาและวิพากษ์ความคิดพื้นฐานและปรากฏการณ์เกี่ยวพับพุทธศาสนากับรัฐ การเมือง และสังคม ผมสนใจศึกษาความคิดของปราชญ์พุทธอย่างพุทธทาส, ป.อ. ปยุตฺโต และปัญญาชนพุทธแถวหน้าเช่น สมภาร พรมทา มากเป็นพิเศษ เพราะความคิดของเขาเหล่านี้มีอิทธิพลต่อแวดวงวิชาการพุทธศาสนามากเป็นพิเศษ และมีอิทธิพล (ถูกอ้างอิงใช้) ในทางสังคมและการเมืองในระดับที่แน่นอนหนึ่ง

เฉพาะสมภารหลังเกษียณราชการได้มาเป็นมันสมองสำคัญด้านปรัชญาให้กับมหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) เขาเล่าว่าการมาสอนที่ ม.สงฆ์ทำให้ความคิดเขาพัฒนาไปเร็วกว่าตอนสอนที่จุฬาฯ แต่เครื่องหมายคำถามของคนฟังอย่างผมเกิดขึ้นทันที เมื่อเขาบรรยายในชั้นเรียนว่า Dialectics แบบเฮเกลและมาร์กซ์ไม่ใหญ่และละเอียดเท่า Dialectics ของพระพุทธเจ้า (ดู (MCU 11) Dialectics ของพระพุทธเจ้า สมภาร พรมทา https://www.youtube.com/watch?v=sl6WcsLdfSo)

ก่อนหน้านั้นสมภารก็เคยเขียนไว้ในหนังสือของเขาว่า นักปรัชญาตะวันสมัยใหม่คิดเรื่องจริยธรรมเล็กๆ แต่พุทธะคิดใหญ่และครอบคลุมกว่า และเคยบรรยายว่า จอห์น ล็อค และคาร์ล มาร์กซ์คิดเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาคได้ไม่ลึกเท่าพุทธะ โดยสมภารมักออกตัวว่า “ผมไม่ได้ใช้อคตินะ วิเคราะห์จากที่อ่านมาจริงๆ” เสมอๆ

แต่ผมในฐานะคนฟัง (จากคลิป) ก็นั่งลุ้นจนตัวโก่งว่าสมภารจะบรรยายเปรียบเทียบให้เห็นความใหญ่กว่า ละเอียดกว่า ลึกซึ้งกว่าของความคิดพุทธะเหนือความคิดนักปรัชญาตะวันตกที่เขาอ้างถึงอย่างไรบ้าง เมื่อฟังแต่ต้นจนจบก็เห็นแต่สมภารบรรยายว่า นักคิดตะวันตกคิดอย่างนี้ พุทธะคิดอย่างนี้ ซึ่งเป็น “คนละเรื่อง” แต่สมภารทำให้เป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” แล้วสรุปว่าพุทธะคิดได้ดีกว่า

แต่ที่จริง วิภาษวิธีแบบมาร์กซ์เป็นวัตถุนิยมวิภาษ์วิธีที่แสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นผู้กดขี่กับชนชั้นผู้ถูกกดขี่ โดยอ้างอิงความจริงทางประวัติศาสตร์มาสนับสนุน เพื่อที่จะเสนอสังคมคอมมิวนิสต์ที่ปราศจากชนชั้นให้เป็นสังคมในอุดมคติที่เราควรบรรลุถึง แต่วิภาษวิธีแบบพุทธ เช่น วิภาษวิธีที่ใช้ในปรัชญามาธยมิกของนาคารชุน และไตรลักษณ์ตามที่สมภารตีความมีนัยสำคัญเน้นเรื่องของการปล่อยวางทางจิต หรือการรู้แจ้งสุญญตาอันเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณ ดังนั้น สาระสำคัญจึงเป็นการพูด “คนละเรื่อง” ถ้านำมาเปรียบเทียบว่าใครคิดได้ดีกว่า ก็เป็นการอ้างเหตุผลเปรียบเทียบแบบตรรกวิบัติ

บางทีผมก็นึกอะไรขำๆ ว่า คงเป็นอย่างที่นักปรัชญาพุทธว่าพุทธะคิดใหญ่ คิดเรื่องความเสมอภาค เสรีภาพได้ละเอียดลึกซึ้งกว่านักปรัชญาตะวันตกฝ่ายเสรีนิยมและลึกซึ้งกว่ามาร์กซ์ซินะ บรรดากษัตริย์ถึงได้นับถือพุทธศาสนา, อุปถัมภ์พระสงฆ์ และอวยยศพระสงฆ์ให้มี “ศักดินาพระ” มาจนทุกวันนี้ หรือถ้ามาร์กซ์หันมานับถือพุทธ เขาอาจคิดเรื่องความเสมอภาคได้ละเอียดลึกซึ้งกว่านั้น ดีไม่ดีมาร์กซ์อาจได้รับการอุปถัมภ์จากบรรดากษัตริย์พุทธมามกะกันตรึม


ที่มาภาพ
https://twitter.com/ratinath/status/1019776025461321728/photo/1

แต่บางทีสมภารก็ชื่นชมในหลวง ร.9 ที่ทรงแปล “ติโต” ซึ่งเป็นความคิดแบบคอมมิวนิสต์ แสดงว่าพระองค์ทรงมีใจกว้าง (ดู https://prachatai.com/journal/2013/05/46985)

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่นักปรัชญาพุทธเห็นว่าเรื่องเล่าอย่าง “เวสสันดรชาดก” ที่โพสธิสัตว์ให้ทานลูกเมียเป็นทาส ไม่กระทบต่อ “สาระสำคัญ” ของพุทธธรรม แต่หากเราคิดอีกมุมมันยิ่งเผยให้เห็นปัญหาของสิ่งที่เรียกกันว่า “แก่นพุทธธรรม” หรือไม่ เช่นถ้าเราเล่าเรื่องเชิงตั้งคำถามตรงๆ ว่า

ทำไมมัทรีเป็นคนดีน้อยกว่าเวสสันดร? ตามท้องเรื่อง เวสสันดรออกจากวังไปบำเพ็ญภาวนาอยู่ป่า มัทรีตามไปเป็นข้ารับใช้ผู้ซื่อสัตย์ เป็นกรรมาชีพผู้ใช้แรงงานรับใช้ทุกอย่าง รวมทั้งหาอาหารมา "ถวาย" แก่เวสสันดร 

แน่นอนว่า การเป็นข้ารับใช้ผู้ซื่อสัตย์ต่อโพธิสัตว์ทำให้มัทรีเป็น "คนดี" แต่ก็ไม่มีทางดีเท่าเวสสันดรที่ "ให้ทาน" มัทรีแก่พราหมณ์ที่มาขอ (แต่พระอินทร์แปลงร่างมา เมื่อเวสสันดรให้ทานเมียแล้ว พระอินทร์ก็ให้คืน) อานิสงส์การเสียสละในฐานะข้ารับใช้ของโพธิสัตว์ ทำให้มัทรีเกิดมาเป็น "ยโสธรา" ที่ถูกทิ้งจริงๆ ในชาติต่อมา ส่วนโพธิสัตว์เวสสัดรได้เกิดเป็นสิทธัตถะทิ้งยโสธราออกบวชตรัสรู้เป็นพุทธะ

มัทรีที่รับใช้โพธิสัตว์ก็เปรียบเหมือนไพร่รับใช้เจ้าในสังคมศักดินา คือเป็นมัทรี/ไพร่ที่ไร้ตัวตน ไร้ผลงานที่มีเกียรติยศเป็นของตนเอง เพราะนอกจากเป็นข้ารับใช้ผู้ภักดีแล้ว ประวัติศาสตร์ของมีทรี/ไพร่ก็ไม่มีอะไรโดดเด่น

ผมไม่รู้ว่าผู้รู้พุทธ, นักปรัชญาพุทธบ้านเราจะตอบคำถามข้างบนอย่างไร แต่ปราชญ์พุทธอย่างท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบาย “หน้าที่ต่อธรรม” ของกษัตริย์ไว่ว่า

“(กษัตริย์ผู้ถือธรรมมาธิปไตย) จะต้องพยายามทำให้ศาสนาบริสุทธิ์ เพื่อให้มีธรรมดำรงอยู่สืบต่อไปในสังคมหรือในโลกนี้ การสังคายนาก็ดี การกำจัดชำระล้างศาสนาในบางสมัยก็ดี เป็นเรื่องที่จัดได้ว่าอยู่ในหน้าที่ข้อนี้ นอกจากนี้กษัตริย์ยังมีหน้าที่ตอบแทนคุณพระสงฆ์แทนประชาชนอีกด้วย” (ดู “อำลาพุทธราชาชาตินิยม” หน้า 59) 

ประเด็นคือ มัทรีคือผู้ปรนนิบัติรับใช้เวสสันดรโพธิสัตว์ แต่เธอเป็นเหมือน “สิ่งของ” ที่โพธิสัตว์จะยกให้ใครก็ได้ ขณะที่ประชาชนในยุครัฐพุทธศักดินา คือไพร่ ทาส ที่เป็นแรงงานเลี้ยงดูพวกกษัตริย์ เจ้าขุนมูลนาย และพระสงฆ์ แต่กลายเป็นว่าพระสงฆ์คือผู้มีบุญคุณ และกษัตริย์มีหน้าที่ตอบแทนบุญคุณพระสงฆ์แทนประชาชน และหน้าที่เช่นนี้ของกษัตริย์คือ “หน้าที่ต่อธรรม” เสียด้วย

คำถามคือ ธรรมคืออะไร? ถ้าธรรมคือความจริงของธรรมชาติ ตามที่ปราชญ์พุทธและนักปรัชญาพุทธอธิบาย มันก็คือความจริงธรรมดาๆ คล้ายกับความจริงของสรรพสิ่งในธรรมชาติตามคำอธิบายในวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ แต่ธรรมก็ไม่ได้เป็นแค่นี้ เพราะธรรมถูกทำให้ “มีความเป็นศาสนา” อย่างเข้มข้นและซับซ้อน เช่น ธรรมในเวสสันดรชาดกทำให้มัทรีที่เสียสละตนเองเพื่อสามีมีบุญบารมีน้อยกว่าโพธิสัตว์ที่เสียสละเมียเพื่อเป้าหมายของตนเอง และการทำ “หน้าที่ต่อธรรม” ของกษัตริย์ด้วยการ “ตอบแทนคุณพระสงฆ์” แทนประชาชน ย่อมขัดกับความยุติธรรมทางสังคมที่เน้นความเสมอภาคแบบมาร์กซิสต์อย่างชัดเจน

แล้วที่นักปรัชญาพุทธยืนยันว่าวิภาษวิธีแบบพุทธศาสนาใหญ่กว่า, ละเอียดกว่า, พุทธะคิดเรื่องความเสมอภาคได้ละเอียดกว่า ลึกซึ้งกว่ามาร์กซ์ (เป็นต้น) ถามว่าวิภาษวิธีที่ใหญ่กว่า ความเสมอภาคแบบพุทธที่ละเอียดลึกซึ้งกว่ามันทำงางยังไงถึงได้สร้างรัฐพุทธศักดินาและพุทธราชาชาตินิยมมายาวนานเป็นพันๆ ปี จนปัจจุบันปราชญ์พุทธและนักปรัชญาพุทธ “หลุดพ้น” จากกรอบประเพณีอวยพุทธราชาชาตินิยมกันหรือยัง!  

ดังนั้น การสอนว่า Dialectics, เสรีภาพ, ความเสมอภาค ตามความคิดของพุทธะ/พุทธศาสนาละเอียดลึกซึ้งกว่ามาร์กซ์และนักปรัชญาตะวันตกทั้งปวง โดยที่ผู้สอนเองมีสมณศักดิ์ฐานันดรหรือเป็นนักวิชาการในกรอบประเพณีของพุทธราชาชาตินิยม โดยไม่เคยใช้ไอเดียเสรีภาพและความเสมอภาคแบบพุทธตามที่อ้างนั้นตั้งคำถามต่ออำนาจของ “ราชา” และ “ศาสนจักร” เลย นับเป็นความย้อนแย้งในตัวเองสุดๆ

ถ้าพูดแบบมาร์กซ์ การทำเช่นนั้นก็คือการทำให้พุทธศาสนาเป็น “ยาฝิ่น” ที่ตนเองและพวกเสพแล้วปรื้มปีติซาบซึ้งโดยไม่ตระหนักเลยว่า สิ่งที่ตนเองพูดถึงและซาบซึ้งกันนั้น “ไม่เคยทำงานได้จริง” ภายใต้ระบบพุทธราชาชาตินิยม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท