สหรัฐฯ ใช้งบ 2.26 ล้านล้านในอัฟกานิสถานไปกับอะไร และพวกเขาทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง

20 ปีสงครามอัฟกานิสถาน กำลังจะจบลง ดูเหมือนว่าฝ่ายกลุ่มติดอาวุธตอลีบันจะชนะ ในขณะที่สหรัฐฯ ถูกมองว่าเป็นฝ่าย "พ่ายแพ้" ในสายตาสื่อหลายแห่ง ขณะเดียวกันสื่อยังนำเสนอว่างบประมาณที่ทุ่มลงไป 2.26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสงครามยาวในครั้งนี้นั้นถูกนำไปใช้กับอะไรบ้าง และอะไรที่ทำให้สหรัฐฯ ผิดพลาดในครั้งนี้

โครงการ "คอสต์ออฟวอร์" ของมหาวิทยาลัยบราวน์ประเมินไว้ว่านับตั้งแต่ปี 2544 จนถึงตอนนี้ สหรัฐฯได้ใช้งบประมาณถึง 2.26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในสงคราอัฟกานิสถานและความพยายามเปลี่ยนแปลงประเทศที่ยาวนาน 20 ปี และจบลงด้วย "ความโกลาหล" และ การสิ้นสุดของสงครามในแบบที่ชวนให้สหรัฐฯ รู้สึกเสียหน้า

รายงานจากอัลจาซีราระบุถึงที่มาที่ไปของเรื่องที่ว่าถึงแม้สหรัฐฯ จะพยายามทุ่มเงินไปมากขนาดนี้แต่ก็ยังล้มเหลวโดยมีการย้อนไปถึงตั้งแต่ปี 2544 ปีที่เริ่มต้นสงครามอัฟกานิสถานรอบใหม่ ซึ่งในปีนั้นเศรษฐกิจของอัฟกานิสถานก็อยู่ในสภาพที่ผุพังพออยู่แล้วจากสงครามที่มีมาก่อนหน้านี้มากกว่า 2 ทศวรรษ ก่อนหน้าที่สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรจะบุกอัฟกานิสถานในเดือน ต.ค. ของปีนั้นเสียอีก

มีการประเมินในรายงานของอัลจาซีราว่าว่าในสภาพที่ขาดความมั่นคงอย่างอัฟกานิสถาน ทำให้ผู้คนรู้สึกไม่ปลอดภัย ชาดเสถียรภาพ มีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นมากในขณะที่เศรษฐกิจในระบบเลื่อมถอย

ในจำนวน 2.26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ใช้ไปกับสงครามครั้งล่าสุดตั้งแต่ปี 2544-2564 มีเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ที่ใช้ไปกับปฏิบัติการฉุกเฉินในต่างประเทศ (Overseas Contingency Operations) สำหรับกระทรวงกลาโหม อีกก้อนหนึ่งที่ใหญ่เป็นอันดับสองใช้ไปกับการจ่ายดอกเบี้ยให้กับเงินทุนที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยืมมาใช้ในการนี้เป็นวงเงิน 530,000 ล้านดอลลาร์

แต่ด้วยงบประมาณมหาศาลขนาดนี้แล้วเศรษฐกิจในระบบของอัฟกานิสถานยังถูกจัดว่าเป็นมีขนาดเล็กที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในปี 2563 ประธานาธิบดี อัชราฟ กานี กล่าวว่าประชากรอัฟกานิสถานร้อยละ 90 มีรายได้น้อยกว่า 2 ดอลลาร์ ต่อวัน หรือเทียบเป็นเงินไทยได้ไม่ถึง 80 บาทในค่าเงินปัจจุบัน

ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจนอกกฎหมายของอัฟกานิสถานกลับเติบโต หลังจากที่สหรัฐฯ ขับไล่ตอลีบันออกจากอำนาจได้ในปี 2544 อัฟกานิสถานก็กลายเป็นประเทศที่ส่งออกฝิ่นและเฮโรอีนมากเป็นอันดับชั้นนำของโลก ซึ่งเศรษฐกิจแบบนี้น่าจะยังคงอยู่หลังจากที่ตอลีบันเข้ามาครองอำนาจอีกครั้ง

สภาพในตอนนี้ดูย้ำแย่สำหรับภาพลักษณ์สหรัฐฯ ที่แม้จะลงทุนไปถึงมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ก็ได้ผลลัพธ์ที่ตอนนี้ประธานาธิบดีกานีหนีออกนอกประเทศ กลุ่มตอลีบันถ่ายเซลฟีกันหลังโต๊ะทำงานประธานาธิบดีที่เพิ่งหนีไป ภาพข่าวหลายแห่งมีชาวอัฟกันที่แห่กันไปที่สนามบินเพื่ออพยพออกนอกประเทศ สงคราม 20 ปี ราคาแพงนี้ดูเหมือนจะจบลงด้วยความโกลาหลและความอัปยศ

อัลจาซีราได้นำเสนอแผนภาพที่ระบุว่าสหรัฐฯ จะยังคงจ่ายงบประมาณ 2.26 ล้านล้านดอลลาร์นี้ต่อไปถึงแม้ว่าพวกเขาจะถอนทัพออกจากอัฟกานิสถานแล้ว นอกเหนือจากรายจ่าย 2 อย่างที่ระบุไปข้างต้น รายจ่ายอื่นๆ ในงบประมาณนี้ได้แก่ งบประมาณเพิ่มเติมสำหรับกระทรวงกลาโหม 443,000 ล้านดอลลาร์, งบประมาณด้านการรักษาพยาบาลและทุพพลภาพสำหรับทหารผ่านศึก 296,000 ล้านดอลลาร์ และงบประมาณสงครามของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ 59,000 ล้านดอลลาร์

นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาจนถึงตอนนี้มีจำนวน 144,000 ล้านดอลลาร์ที่จัดสรรไว้สำหรับการบูรณะอัฟกานิสถานกลับมาใหม่อีกครั้ง ซึ่งเงินจำนวนนี้ถูกส่งให้กับผู้รับเหมาเอกชนและเอ็นจีโอที่รัฐบาลสหรัฐฯ จ้างวานให้ทำโครงการในแง่ต่างๆ ทั้งด้านส่งเสริมกองกำลังความมั่นคงของอัฟกานิสถาน, พัฒนาการเมืองการปกครอง, ส่งเสริมเศรษฐกิจ และพัฒนาการทางสังคม รวมถึงต่อต้านยาเสพติด

อัลจาซีราประเมินว่างบประมาณที่ใช้ไปอย่างล้มเหลวมากที่สุดและใช้ไปมากที่สุดในส่วนของการบูรณะนี้คืองบประมาณ 88,300 ล้านดอลลาร์ที่จัดสรรให้กับการฝึกซ้อมและติดอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพอัฟกานิสถานซึ่งกินเวลาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2545 มาจนถึง มี.ค. ปีนี้

กองทัพอัฟกานิสถานได้รับมอบหมายให้สู้รบขับไล่กลุ่มตอลีบันและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆอย่างอัลกออิดะฮ์และไอซิสที่เป็นภัยต่อรัฐบาลอัฟกานิสถานซึ่งได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ แต่การที่กองทัพ 300,000 นาย ยอมวางอาวุธอย่างรวดเร็วเมื่อเผชิญหน้ากับการบุกรุกของตอลีบันนับเป็นการทำลายความเชื่อมั่นต่อสถาบันกองทัพอัฟกานิสถานในฐานะสถาบันที่ควรจะรับใช้รัฐบาลแห่งชาติที่พวกเขาให้สัตย์ปฏิญาณจะรับใช้

อัลจาซีราวิเคราะห์อีกว่าปัจจัยทางประวัติศาสตร์และทางวัฒนธรรมของอัฟกานิสถานเองก็มีส่วนในการทำให้เกิดผลลัพธ์เช่นนี้ แต่ทางสหรัฐฯ เองก็ทำพลาดในเรื่องการจัดการตรวจสอบและประเมินผลที่ไม่ดีพอ ทำให้พวกเขากลายเป็นเอาเงินไปทิ้งเปล่าๆ ในการนี้

ความผิดพลาดในการตรวจสอบนี้ยังเคยเป็นเหตุทำให้สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ก่อตั้งหน่วยงาน SIGAR ขึ้นในปี 2551 ซึ่งก็คือหน่วยงานที่คอยตรวจสอบบัญชีและประเมินเรื่องการฟื้นฟูอัฟกานิสถาน แต่รายงานขององค์กรนี้ก็กลับไม่มีน้ำยาในการเน้นย้ำให้เห็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้จ่ายอย่างเปล่าประโยชน์, การฉ้อโกง และการทุจริต

มีตัวอย่างจากรายงานปี 2561 ระบุว่าการวางเงื่อนไขทางการเมืองของสหรัฐฯ มีการประเมินความอึดทนของกลุ่มติดอาวุธอัฟกานิสถานต่ำเกินไป ในขณะเดียวกันก็ประเมินประสิทธิภาพของรัฐบาลอัฟกานิสถานสูงเกินไป นอกจากนี้สหรัฐฯ พลาดที่พยายามติดอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ล้ำสมัยและมีระบบการควบคุมแบบสมัยใหม่ให้กับกองทัพที่แทบจะทำอะไรกับมันไม่เป็นทำให้กองทัพอัฟกานิสถานต้องคอยพึ่งพิงกองทัพสหรัฐฯ แทนที่จะทำให้เกิดกองกำลังอัฟกานิสถานที่สามารถต่อสู้ได้ด้วยตนเอง

นอกจากนี้ SIGAR ยังระบุอีกว่าเครื่องมือที่สหรัฐฯ ใช้ตรวจวัดและประเมินผลความคืบหน้าในการฝึกซ้อมรบได้ปกปิดไม่นับรวมปัจจัยที่ไม่ใช่ทางวัตถุอย่างการคอร์รัปชันและความเต็มใจสู้รบ

หัวหน้าผู้ตรวจการ จอห์น เอฟ ซอปโก เคยระบุไว้ในสรุปรายงานของ SIGAR เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาว่า ในพื้นที่ๆ โกลาหลและคาดเดาไม่ได้อย่างอัฟกานิสถานนั้น การละเลยหรือการดำเนินงานอย่างไม่เหมาะสมอาจจะเป็นภัยต่อความสัมพันธ์กับชุมชนในพื้นที่ ทำให้ทั้งบุคลากรของสหรัฐฯ และรัฐบาลอัฟกานิสถานรวมถึงพลเรือนต้องเสี่ยงชีวิต เป็นการทำลายเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ

ซอฟโกยังระบุในรายงานว่าเขาหวังให้รายงาน 324 หน้าฉบับนี้เป็นบทเรียนสำหรับสหรัฐฯ ถ้าหากพวกเขาอยากจะดำเนินการ "บูรณะ" ประเทศขนานใหญ่อีก ไม่ว่าจะในอีกหลายปีหรือแม้กระทั่งหลายสิบปีข้างหน้า เหตุการณ์ความผิดพลาดในอัฟกานิสถานจะเป็นบทเรียนได้

เรียบเรียงจาก

The US spent $2 trillion in Afghanistan – and for what?, Aljazeera, 16-08-2021
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท