Skip to main content
sharethis

รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องหน่วยงานรัฐ เร่งสอบสวนกรณีเยาวชน 3 คน ถูกคมกระสุนบาดเจ็บสาหัสเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 64 พร้อมแนะตำรวจไทยควรเลือกใช้แนวทางเจรจาแก้ปัญหาความไม่พอใจทางการเมืองและต้องปกป้องผู้ชุมนุม

รอยกระสุนตรงข้าม สน.ดินแดง

19 ส.ค. 64 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยทางการไทยต้องสอบสวนอย่างเร่งด่วนต่อกรณีที่มีการยิงผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ ส่งผลให้เด็กคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส  หลังรายงานข่าวยืนยันว่ามีเด็กสามคนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืน ระหว่างการชุมนุมบริเวณหน้าโรงพักเมื่อวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา

แม่ของเยาวชนอายุ 15 ปี กล่าวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ลูกชายของเธออยู่ในอาการโคมา เนื่องจากถูกยิงบริเวณลำคอด้านซ้าย และกระสุนยังคงค้างอยู่บริเวณก้านสมอง 1 นัด และพบกระดูกต้นคอซีกที่ 1 และ 2 แตก และจากรายงานข่าวพบเยาวชนอีกหนึ่งคนอายุ 14 ปี ถูกยิงที่ไหล่ขวา ส่วนเยาวชนรายที่สามอายุ 16 ปี ถูกยิงเข้าที่เท้าขวา ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธว่าไม่มีการใช้กระสุนจริง และไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้ยิง 

เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุมเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ทางการไทยต้องสอบสวนอย่างเร่งด่วนต่อการยิงผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กและเยาวชนทั้งสามคน รวมทั้งการใช้อาวุธปืนอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายทุกกรณี

“รัฐบาลไทยต้องสอบสวนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามการรายงานทั้งหมดที่มีข้อมูลว่า ตำรวจมีการใช้กำลังโดยเกินกว่าเหตุและไม่จำเป็นต่อผู้ชุมนุมในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา และให้นำตัวผู้กระทำอันตรายทางร่างกายที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมหรือผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวเข้ารับการไต่สวนและลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม” จิล กล่าว  

ทั้งนี้ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนทำการชุมนุมตามท้องถนนในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ทั่วไทย เพื่อแสดงความกังวลต่อแนวทางการจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาทางการเมืองอื่นๆ ขณะที่มีรายงานตำรวจไทยใช้กระสุนยาง เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และแก๊สน้ำตาปริมาณมาก เพื่อสลายการชุมนุม แม้ว่าการชุมนุมต่างๆ จะเป็นไปโดยสงบ 

บรรยากาศการชุมนุมเมื่อ 16 ส.ค. 64
 

ในรายงานฉบับล่าสุดเรื่อง “หน้าแสบเหมือนโดนไฟไหม้” (My face burned as if on fire) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทางการไทยเลือกใช้แนวทางที่ไม่รุนแรง รวมทั้งการเจรจา การไกล่เกลี่ยและการสนทนา เพื่อลดความตึงเครียดของสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง  

ทางแอมเนสตี้ยังเรียกร้องให้ทางการไทยประกันว่า จะมีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งแก๊สน้ำตาหรือเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงเฉพาะในสถานการณ์ที่เกิดความรุนแรงอย่างกว้างขวาง โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้บุคคลสลายตัว และให้นำมาใช้เฉพาะเมื่อแนวทางอย่างอื่นไม่สามารถควบคุมความรุนแรงได้แล้วเท่านั้น  

“การควบคุมการชุมนุมที่ผ่านมา รวมทั้งการที่เจ้าหน้าที่มักถูกปล่อยให้ลอยนวลพ้นผิดจากการใช้กำลังเกินกว่าเหตุและบางครั้งมีการใช้อาวุธที่มีความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทางการไทยต้องเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติงาน หากเจ้าหน้าที่มีความจริงใจที่จะป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่จะต้องยุติการปราบปรามหรือสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยสงบ พร้อมทั้งหันมาสนับสนุน และคุ้มครองการชุมนุมแทน” 

“การปฏิบัติต่อการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งการชุมนุมที่ไม่สงบ จะต้องเป็นไปตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน เจ้าหน้าที่ต้องงดเว้นจากการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระหว่างการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 

“เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องคุ้มครองสิทธิของผู้ชุมนุมโดยสงบ ไม่ให้ถูกแทรกแซงหรือถูกกระทำด้วยความรุนแรงจากบุคคลที่สามด้วย” เอ็มเมอร์ลีน จิล กล่าว

สำหรับอาการบาดเจ็บของเยาวชนที่ถูกกระสุนปืน โรงพยาบาลราชวิถีซึ่งให้การรักษาพยาบาลผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ แถลงเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ระบุว่า ผู้ชุมนุมอายุ 15 ปียังอยู่ในอาการโคม่า หลังถูกยิงเข้าที่ศีรษะ ส่วนผู้ชุมนุมอายุ 14 ปีซึ่งถูกยิงที่ไหล่ขวา สามารถออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว  

ทั้งนี้ ประชาชนชาวไทยหลายหมื่นคนได้ร่วมชุมนุมประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปตามระบอบประชาธิปไตย โดยส่วนใหญ่เป็นการชุมนุมอย่างสงบ ในช่วงระหว่างปี 2563 จนถึง 2564 ที่กรุงเทพฯ และตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่า ทางการได้ตอบโต้การชุมนุมด้วยการเพิ่มการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และอาวุธที่ไม่มีความรุนแรงถึงชีวิตโดยพลการ และยังมีการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ทั้งนี้ศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้ตำรวจใช้ความระมัดระวังในการควบคุมการชุมนุม   

ขณะที่การชุมนุมเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาและเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุม อีกทั้งได้จับกุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมอย่างสงบจำนวนมาก รวมทั้งมีการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งในความเป็นจริงเป็นประกาศใช้เพื่อควบคุมโรคโควิด-19 แม้ว่ามีรายงานการติดเชื้อในบรรดาผู้ต้องขังหลายพันคนในสถานคุมขัง ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงสิงหาคม 2564 ระบุด้วยว่า มีบุคคลอย่างน้อย 800 คนที่ถูกดำเนินคดีอาญา รวมทั้งข้อหายุยงปลุกปั่น หมิ่นประมาทกษัตริย์ ความผิดทางคอมพิวเตอร์ การละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยรวมทั้งหมด 374 คดีที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบ ในจำนวนนี้มี 69 คดีเป็นการดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชน

หมายเหตุ มีการปรับเนื้อหาในส่วนของโปรย ด้วยตำแหน่งของเอ็มเมอร์รีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net