Skip to main content
sharethis

กรมการจัดหางานเผยแรงงานข้ามชาติมีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายมีสิทธิฉีดวัคซีนโควิด

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางานเปิดเผยว่ารัฐบาลโดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยภายในปี 2564 มีเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร จำนวน 50 ล้านคน หรือคิดเป็น 70 เปอร์เซนต์ ของจำนวนประชากร อย่างไรก็ตามในส่วนแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยและมีใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมายสามารถฉีดวัคซีนได้ทุกคน โดยมีกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ในการจัดสรรจำนวน และมีแนวทางการดำเนินการดังนี้

1.แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบประกันสังคม (มาตรา 33 ) แรงงานต่างด้าวแจ้งความประสงค์เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับนายจ้าง สถานประกอบการ เพื่อนายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อและจำนวนลูกจ้างทั้งคนไทยและคนต่างด้าวไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาจัดสรรจำนวนวัคซีน หลังจากนั้นสำนักงานประกันสังคมจะทำการแจ้งนัดวันและสถานที่ฉีดให้นายจ้างทราบ และจัดให้ลูกจ้างมาฉีดตามกำหนดนัดหมาย

และ2.แรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แรงงานต่างด้าวที่ประสงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถดำเนินการจองฉีดวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลที่เปิดจองวัคซีนทางเลือก ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดสรรวัคซีน เบื้องต้นอยู่ระหว่างการกำหนดเลขประจำตัวสำหรับบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เพื่อรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ติดต่อสายด่วน 1506 กด 7 เจ้าหน้าที่พร้อมให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 น.- 17.00 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 19/8/2564

รมว.แรงงาน สั่ง กสร.ออกประกาศกระทรวงขอความร่วมมือนายจ้างให้หญิงตั้งครรภ์ทำงานที่บ้าน ลดเสี่ยงโควิด

19 ส.ค. 2564 สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน (Labour Network for People Rights) และตัวแทนครอบครัวแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเป็นเครือข่ายที่รวมตัวกันของแรงงานจากหลายจังหวัดหลายภาคธุรกิจทั้งจากพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นำโดย นางสาวศรีไพร นนทรี ผู้แทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง นางสาวธนพร วิจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน คุณจเด็ด เชาวิไล มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และผู้แทนเครือข่ายฯจากพื้นที่สมุทรปราการ สระบุรี รังสิต และปทุมธานี จำนวน 10 คน ขอเข้าพบ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ในฐานะกำกับดูแลงานด้านนโยบายคุณภาพชีวิตแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อดังนี้ 1) สนับสนุนให้บริษัทมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกให้กับคนงาน เพื่อคัดกรองคนงานที่ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง

2) มีมาตรการให้บริษัทจัดหาสถานที่สำหรับคนงานที่ต้องแยกกักตัว รักษา (Community Isolation) ทั้งในส่วนพื้นที่ของบริษัทหรือการประสานชุมชนในการจัดหาสถานที่ 3) มีมาตรการในการดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มคนงานหญิงตั้งครรภ์ โดยจัดสถานที่ทำงานใหม่ให้เหมาะสมกับหญิงตั้งครรภ์ให้มีความปลอดภัย 4) ต้องเร่งจัดหาวัคซีนเพื่อคนงานอย่างเร่งด่วน และ 5) มีมาตรการชัดเชนในการเยียวยาตามสิทธิของลูกจ้างที่มีอยู่ และสิทธิในการเยียวยาเพิ่มเติมตามมาตรการของภาครัฐ ทั้งกลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนงานหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มครอบครัวคนงานที่เสียชีวิตจากโควิด-19

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานกล่าวว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้น ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งการตรวจคัดกรองโควิดเชิงรุก ในสถานประกอบการ การส่งเสริมให้สถานประกอบการดำเนินการตามโครงการ Factory Sandbox การฉีดวัคซีนโควิดแก่ผู้ประกันตน และการเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนมาตรการดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มคนงานหญิงตั้งครรภ์ โดยจัดสถานที่ทำงานใหม่ให้เหมาะสมกับหญิงตั้งครรภ์ให้มีความปลอดภัยนั้น ผมได้ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งออกร่างประกาศกระทรวงโดยเร็วที่สุด และเร่งประชาสัมพันธ์ออกไป เพื่อขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการให้สตรีที่มีผลตรวจว่าตั้งครรภ์ ควรกำหนดให้มีการทำงานที่บ้าน (Work from Home) โดยให้จ่ายค่าแรงเต็มจำนวน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19

น.ส.ศรีไพร นนทรี ผู้แทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า ขอบคุณท่าน รมว.แรงงาน ที่ท่านได้รับเรื่อง รับลูก และแจ้งให้เราทราบในทันทีว่าจะออกประกาศกระทรวง เพื่อแยกคนท้องออกจากพื้นที่เสี่ยงโควิด ให้สามารถทำงานที่บ้านได้ และได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน ซึ่งทางเราที่มาในวันนี้รู้สึกหายห่วงที่อย่างน้อยสิ่งที่ได้มาเข้าพบท่าน ได้รับการดูแลและดำเนินการโดยทันที เพื่อให้เครือข่ายแรงงานได้มีความปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่จากมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลดูแล

ที่มา: สยามรัฐ, 19/8/2564

กลุ่มผู้ใช้แรงงานแต่งชุดคลุมท้องเรียกร้อง ก.แรงงาน หาทางออกคนงานติดเชื้อโควิค-19 หวั่นคลัสเตอร์โรงงานบานปลาย

19 ส.ค. 2564 ที่บริเวณด้านหน้ากระทรวงแรงงาน นายสุทัศน์ เอี่ยมแสง ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง นางสาวอัณธิกา โคตะมะ รองเลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง พร้อมด้วย เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิค-19พื้นที่สมุทรปราการ สระบุรี รังสิต และปทุมธานี กว่า 20 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทวงแรงงาน เพื่อหาทางออกวิกฤตโควิด-19

ทั้งนี้กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้แต่งตัวด้วยชุดคลุมท้องและชูป้ายข้อเรียกร้องด้วย จากนั้นเวลา 11.30 น. ผู้แทนกระทรวง ได้เชิญกลุ่มเครือข่ายฯ เข้าประชุมเพื่อหารือร่วมกับ นายสุชาติ รมว.แรงงาน ที่ชั้น 6 ของกระทรวงแรงงาน

ต่อมา นายสุชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังหารือร่วมกับกลุ่มเครือข่ายแรงงานว่ามาตรการดูแลกลุ่มคนงานหญิงตั้งครรภ์นั้น ควรมีสถานที่ทำงานที่เหมาะสม มีความปลอดภัย พร้อมให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งออกร่างประกาศกระทรวงโดยเร็วที่สุด และเร่งประชาสัมพันธ์ เพื่อขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการให้สตรีที่มีผลตรวจว่าตั้งครรภ์ ควรกำหนดให้มีการทำงานที่บ้าน โดยให้จ่ายค่าแรงเต็มจำนวน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ดำเนิน ทั้งการตรวจคัดกรองโควิดเชิงรุก ในสถานประกอบการ การส่งเสริมให้สถานประกอบการดำเนินการตามโครงการ Factory Sandbox การฉีดวัคซีนโควิดแก่ ผู้ประกันตน และการเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 19/8/2564

‘ลาว’ เรียกร้อง 'ไทย' ดูแลแรงงาน ชี้กลุ่มเดินทางกลับ ติดโควิด 30%

หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์รายงานว่า นายชัยสมพร พรหมวิหาร ประธานสมัชชาแห่งชาติลาว ได้หารือกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านทางออนไลน์ในวานนี้ (17 ส.ค.) โดยขอให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือแรงงานลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอำนวยความสะดวก เพื่อเดินทางกลับประเทศ

สถิติล่าสุดรายงานว่า มีแรงงานลาว มากกว่า 246,000 คนที่เดินทางกลับจากประเทศไทย ตั้งแต่เกิดโรคระบาด โดยมีแรงงานราว 150,000 คนกลับเข้ามายังลาวในปี 2563

การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ในประเทศไทยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาส่งผลให้มีผู้ตกงานจำนวนมาก และบีบบังคับให้แรงงานลาวหลายร้อยคนต้องเดินทางกลับประเทศ

ในจำนวนผู้ที่เดินทางกลับประเทศมี 30% ที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งทำให้การควบคุมโรคระบาดในลาวยากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ นายชัยสมพร ยังได้กล่าวขอบคุณประเทศไทยที่ช่วยแรงงานชาวลาว รวมทั้งยังช่วยจัดหาอุปกรณ์การแพทย์เพื่อช่วยลาวเอาชนะโรคระบาดไวรัส

ประธานทั้งสองกล่าวว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี และความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ, การค้า, การลงทุน, การท่องเที่ยว, การศึกษา และสุขภาพ

นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงจะผลักดันให้มีการดำเนินการตามข้อตกลงที่ลงนามร่วมกันในปีที่ผ่านมา เพื่อผลประโยชน์สูงสุดร่วมกัน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 18/8/2564

ก.อุตสาหกรรม ขอโรงงานเข้มมาตรการป้องกันโควิด ด้วย “Bubble and Seal” และเข้าประเมินตนเองออนไลน์ TSC ชี้ลดการระบาดโควิดได้ 4.5 เท่า

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งขับเคลื่อนมาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อโควิดต่อเนื่อง เพื่อให้การผลิตของภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งต่อการพยุงเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ จากการส่งออก การบริโภค การจ้างงาน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องภายในประเทศ โดยจะมีการดำเนินการดังนี้

1. ปรับมาตรการ Bubble and Seal และ Factory Isolation ภายในสถานประกอบการ ให้เหมาะสมกับโรงงานทุกขนาด พร้อมกับการสื่อสารให้แรงงานและชุมชนเข้าใจถึงเหตุผลที่ไม่หยุดประกอบกิจการ

2. สร้างความรู้ความเข้าใจและให้คำแนะนำการทำ Bubble and Seal ในรูปแบบ Coaching เพื่อให้โรงงานทุกขนาดสามารถดำเนินมาตรการได้พร้อมกันทั่วประเทศ

3. ปรับเกณฑ์ Good Factory Practice : GFP เพื่อปิดช่องว่างที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด โดยเสนอเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK) และเข้มงวดการตรวจกำกับหอพัก การจัดรถรับส่งแรงงาน รวมทั้งการเว้นระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน

4. เร่งขอความร่วมมือโรงงาน โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็ก เข้าประเมินตนเอง Online ในแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC) และการสุ่มตรวจประเมินโรงงาน (Onsite) เพื่อแนะนำการใช้มาตรการต่างๆ ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลที่ได้รับจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า โรงงานที่เข้าประเมิน TSC แล้ว มีแนวโน้มการติดเชื้อโควิดน้อยกว่าโรงงานที่ไม่ได้เข้าประเมินถึง 4.5 เท่า ดังนั้น จึงขอเชิญชวนโรงงานทุกขนาดเข้าประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม TSC ควบคู่ไปกับการทำ Bubble and Seal เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงงาน

นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตกระทรวงอุตสาหกรรม หรือศูนย์ CMC : Crisis Management Center กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจากการเก็บรวบรวมข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 17 สิงหาคม 2564 พบการระบาดในโรงงาน 749 แห่ง มีผู้ติดเชื้อ 53,135 คน ใน 62 จังหวัด โดย 5 อันดับจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด คือ เพชรบุรี 4,597 คน ฉะเชิงเทรา 3,648 คน สระบุรี 3,647 คน สมุทรสาคร 3,571 คน และเพชรบูรณ์ 3,487 คน ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร 136 โรงงาน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 103 โรงงาน อุตสาหกรรมโลหะ 65 โรงงาน อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 64 โรงงาน และอุตสาหกรรมพลาสติก 57 โรงงาน

“ปัจจุบันพบมีผู้ติดเชื้อใหม่ในโรงงานเพิ่มวันละประมาณ 13 แห่ง เฉลี่ยวันละกว่า 800 คน หรือประมาณ 4% ของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของประเทศ โดยแนวโน้มการระบาดในช่วงนี้จะไม่พบผู้ติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ แต่จะกระจายตัวไปในหลายโรงงาน หลายจังหวัด และพบผู้ติดเชื้อเป็นหลักสิบ ขณะที่ผู้ติดเชื้อในช่วงเมษายน-17 สิงหาคม 2564 มีจำนวนผู้หายป่วยและกลับมาทำงานได้แล้วจำนวนมาก” นายเดชา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีโรงงานเข้าประเมินออนไลน์ใน TSC แล้ว 20,032 แห่ง คิดเป็น 31% จากโรงงานทุกขนาด 64,038 แห่ง โดยรวมพบโรงงานผ่านเกณฑ์ จำนวน 13,235 แห่ง หรือคิดเป็น 66% และไม่ผ่านเกณฑ์ 6,797 แห่ง หรือคิดเป็น 34%

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 18/8/2564

เปิด "คู่มือต่อต้านค้ามนุษย์บนโลกไซเบอร์" มหิดลพัฒนาต่อยอดเป็น 3 ภาษาครั้งแรก

ปัญหาการค้ามนุษย์บนโลกไซเบอร์ หรือ โลกออนไลน์ นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จากการใช้โลกออนไลน์เป็นเครื่องมือประกอบอาชญากรรมดังกล่าว อาจารย์ ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา (IHRP) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำงานพัฒนาส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติในส่วนของกลุ่มเปราะบางที่เป็นเด็ก ซึ่งพบว่ามักตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ที่มีสาเหตุหลักมาจากปัญหาความยากจนและการขาดโอกาส โดยได้มีการสร้างนวัตกรรม "คู่มือต่อต้านการค้ามนุษย์" จากการลงพื้นที่จริง เพื่อศึกษาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น จนได้แนวทางอันเป็นประโยชน์ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้เท่าทัน จนไม่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ โดยพัฒนาเป็น "คู่มือต่อต้านการค้ามนุษย์บนโลกไซเบอร์" ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยหวังให้เกิดความรู้เท่าทัน และขยายผลสู่การแก้ไขในระดับนโยบายของประเทศต่อไป

ผศ.ดร.นภารัตน์ กรรณรัตนสูตร ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิทธิมนุษยชน(นานาชาติ) โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา (IHRP) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะหัวหน้าทีมผู้วิจัยและพัฒนา "คู่มือต่อต้านการค้ามนุษย์บนโลกไซเบอร์" ซึ่งเกิดจากการได้ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาแรงงานเด็กข้ามชาติที่จังหวัดสมุทรสาคร แล้วพบว่า เด็กกลุ่มเปราะบางที่เป็นแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ต้องหยุดเรียนกลางคันตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษา เนื่องจากพ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ต้องการเกษียณตัวเอง แล้วให้ลูกออกมาหางานทำเพื่อช่วยเหลือครอบครัว เหมือนตัวเองที่ต้องเริ่มทำงานตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งทำให้เด็กๆ ส่วนใหญ่ใช้เวลาบนโลกออนไลน์ และมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เนื่องจากขาดความตระหนักรู้ถึงกลยุทธ์ในการหลอกลวงของผู้ค้ามนุษย์ จากที่มาของการไม่ตระหนักรู้ถึงการค้ามนุษย์บนโลกออนไลน์นี้ จึงนำมาสู่การสร้างคู่มือพร้อมสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ เช่น สื่อนิทานที่เป็นการ์ตูน ซึ่งแปลออกเป็น 3 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษาพม่า รวมถึงเพลงประกอบชื่อ Cyber Zone

"ปัจจุบันการค้ามนุษย์ได้ขยายสู่โลกออนไลน์ จึงขอแนะนำให้ผู้ที่กำลังหางานทำ ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือ คนข้ามชาติ ศึกษาหาข้อมูลรายละเอียดสถานการณ์การจ้างงานหรือ การปฏิบัติของนายจ้างต่อแรงงานจากแหล่งที่น่าเชื่อถือไว้ใจได้ เช่น เว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชนหรือภาคประชาสังคมที่ทำงานกับกลุ่มแรงงานโดยตรง หรือติดต่อกับกลุ่มแรงงานที่ทำงานในพื้นที่ผ่านทาง Facebook เป็นต้น นอกจากนี้ อย่าหลงเชื่อการโฆษณาชวนเชื่อทางโลกออนไลน์ที่ว่า เงินดี งานสบาย และไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นเพราะผู้ที่มีส่วนร่วมในการค้ามนุษย์ เช่น นายหน้า หรือ ผู้ค้ามนุษย์ ไม่ได้ข้อมูลที่เป็นจริง เมื่อผู้ที่กำลังหางานนั้นหลงเชื่อคำสัญญาที่หลอกลวงของกลุ่มผู้ค้ามนุษย์ให้เดินทางมาทำงาน พวกเขามักจะมีโอกาสตกเป็นเหยื่อแรงงานที่มีพันธนาการหนี้ (debt bandage) เพราะต้องชำระค่าสมัคร ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ"ผศ.ดร.นภารัตน์กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: ไทยโพสต์, 17/8/2564

ผู้ประกอบการร้านนวดยื่นฟ้องศาลแพ่งเอาผิดรัฐ 200 ล.-ชี้ล็อกดาวน์ไร้เยียวยา

ผู้ประกอบการร้านนวดเพื่อสุขภาพ นำโดย นายพิทักษ์ โยธา นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย และนางอักษิกา จันทรวินิจ เจ้าของกิจการธรรญานวดเพื่อสุขภาพ เป็นโจทก์ฟ้องรัฐบาลร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการร้านนวดและสปาในกรุงเทพมหานครและจังหวัดในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม เรียกร้องค่าเสียหายให้ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกสั่งปิดสถานประกอบการร้านนวดตามคำสั่งของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาได้เรียกร้องไปหลายหน่วยงาน

นายพิทักษ์ โยธา เปิดเผยว่ากลุ่มผู้ประกอบการร้านนวดได้รับผลกระทบจากนโยบายสั่งปิดกิจการร้านนวดตั้งแต่ปี 2563 และถูกสั่งปิดต่อเนื่องทุกครั้งของการล็อกดาวน์ ซึ่งร้านนวดไม่เคยเป็นสถานที่เสี่ยงและไม่เคยมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้น แต่รัฐบาลก็ยังสั่งปิดร้านนวดทุกครั้ง จนผู้ประกอบการบางรายต้องปิดกิจการ จนถึงขณะนี้ยังไม่รับการเยียวยาจากภาครัฐเลยสักครั้ง และในวันนี้กลุ่มผู้ประกอบการได้เรียกร้องค่าเสียหายจากภาครัฐเป็นเงินจำนวน 200 ล้านบาท

ด้าน นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวเพิ่มเติมว่า พรรคก้าวไกลเป็นตัวกลางยื่นฟ้องให้กลุ่มผู้ประกอบการ โดยกล่าวว่าการฟ้องในครั้งนี้เป็นการฟ้องแพ่งแบบรวมกลุ่มหรือ Class Action ครั้งแรก ซึ่งคดีดังกล่าวจะเป็นเพียงหมุดหมายประวัติศาสตร์แรก ที่รัฐบาลจะตัองรับผิดชอบต่อชีวิตของประชาชนและความเสียหายที่เกิดขึ้นของผู้ประกอบการ ทั้งๆที่เป็นมาตรการที่รัฐบาลสั่งแต่ไม่มีมาตรการที่จะมารองรับความเสียหายที่เกิดขึ้น

ซึ่งขณะนี้ผ่านมากว่าหนึ่งปีแล้วที่ผู้ประกอบการร้านนวดเหล่านี้ยังไม่เคยได้รับการเยียวยาจากภาครัฐเลย แต่ถ้าหากจะมาเยียวยาตอนนี้ก็สายเกินไปแล้ว เพราะไม่ได้สัดส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยต้องพึ่งศาลแพ่งว่าละเมิดกับประชาชนในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ที่ผิดพลาดขนาดนี้ ก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับประชาชน

จากนั้นเราก็จะยื่นฟ้องสำหรับกลุ่มต่อๆไป ก็อาจเป็นนักดนตรี คนจัดงานอีเวนท์ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์ ญาติผู้เสียชีวิต กลุ่มแรงงานที่ถูกเลือกปฏิบัติจากมาตรการของรัฐที่มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานต่างชาติ และผู้ที่ทำงานในแคมป์ก่อสร้างหรือโรงงานขนาดใหญ่

โดยการแบ่งการฟ้องเป็นกลุ่มๆ เพราะการได้รับผลกระทบของแต่ละกลุ่มนั้นมีลักษณะค่าเสียหายที่เอามาคำนวณต่างกัน อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดศาลอาจเห็นสมควรให้รวมคดีก็เป็นได้

ดังนั้น ตนจึงขอเรียนเชิญ ประชาชนและสื่อมวลชนติดตามการดำเนินคดีครั้งประวัติศาสตร์นี้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต ว่ารัฐบาลจะต้องดูแลรับผิดชอบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนอย่างดีที่สุด อย่างเสมอภาคเท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศเกิดวิกฤตเช่นนี้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 17/8/2564

พิษโควิด-19 กระทบคนพิการไม่มีงานทำเกือบแสนคน เสี่ยงไม่มีรายได้

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดเป็นวงกว้างส่งผลกระทบต่อทุกคนจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาแรงงานถูกเลิกจ้างงาน สถานประกอบการบางแห่งต้องปรับลดอัตรากำลังการจ้างงานให้น้อยลง ลดเวลาการทำงาน ส่งผลกระทบต่อรายได้ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี 2564 พบคนพิการวัยทำงานที่ยังไม่มีอาชีพ จำนวน 72,466 คน จากจำนวนคนพิการวัยทำงานทั้งหมดที่มีอยู่ในระบบ 857,253 คน สสส. ได้ร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพความมั่นคงทางอาหารสู่การพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านสุขภาวะ เพื่อพัฒนาการจ้างงานคนพิการระยะยาวในวิกฤตโควิด-19 โดยใช้กลไกชุมชนด้านความมั่นคงทางอาหารมาจ้างงานเชิงสังคม ให้คนพิการทำงานที่บ้านและในท้องถิ่นของตัวเองได้ เช่น เกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ เพราะการจ้างงานลักษณะนี้คนพิการมีความรู้พื้นฐานเป็นทุนเดิม ทำให้ไม่ต้องปรับตัวจากการทำงานมาก และเป็นอาชีพที่สามารถทำงานที่บ้านและไม่ขาดแคลนอาหารในการบริโภค โดยโมเดลความมั่นคงทางอาหารและสนับสนุนอาชีพคนพิการมีเป้าหมาย 3 อย่าง คือ 1. พัฒนาทักษะคนพิการให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพที่ท้องถิ่นของตัวเองในภาวะวิกฤต 2. พัฒนาให้คนพิการทำงานตามแผนการประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 3.พัฒนาเป็นพื้นที่นำร่องเพื่อถอดบทเรียนการทำชุมชนต้นแบบด้านสุขภาวะ ระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ในอนาคต

“ในวิกฤตโควิด-19 นี้ ถือเป็นโอกาสสร้างอาชีพแก่คนพิการซึ่งเป็นอีกกลุ่มประชากรที่ควรได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาพในทุกมิติ ทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม การที่คนพิการสามารถประกอบอาชีพ และมีรายได้จากการทำงานเหมือนคนทั่วไป ทำให้เกิดความภูมิใจในตัวเอง และช่วยให้คนพิการมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีขึ้น เกิดการยอมรับจากสังคม โดยที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนเรื่องการส่งเสริมโอกาสการมีงานทำ ทั้งเรื่องการเตรียมความพร้อมของทั้งคนพิการ สถานประกอบการ และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการผ่านการมีส่วนร่วมในชุมชนอยู่แล้ว” นางภรณี กล่าว

นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่า โครงการส่งเสริมอาชีพความมั่นคงทางอาหารสู่การพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านสุขภาวะ สนับสนุนโดย สสส. จะเป็นการร่วมกันพัฒนาอาชีพไปยังคนพิการและครอบครัวในต่างจังหวัด ที่ตั้งใจพัฒนาเรื่องอาชีพและต้องการมีรายได้ในช่วงโควิด-19 ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างหรือมีรายได้น้อยลง โดยบริษัทที่จ้างงานจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายเรื่องวัตถุดิบอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ และประสานเรื่องการจัดทำเอกสารและติดตามส่งรายงานให้บริษัทที่เข้าร่วมการจ้างงานเชิงสังคม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550

โดยคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องมีบัตรคนพิการ อายุ 20 – 70 ปี และผู้ดูแลจะต้องมีชื่อหลังบัตรคนพิการให้สามารถใช้สิทธิแทนคนพิการ เพื่อนำเงินไปเตรียมพื้นที่สำหรับการประกอบอาชีพ ซึ่งครอบครัวคนพิการส่วนใหญ่จะนิยมปลูกผัก สมุนไพร ผลไม้ และเลี้ยงสัตว์ และหลังจากผลผลิตถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็จะถูกจำหน่ายหรือมีผู้ค้าเข้ามารับซื้อ และผลผลิตส่วนที่เหลือหรือแบ่งเก็บไว้ครอบครัวคนพิการจะนำมาบริโภคเป็นอาหาร ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในภาวะวิกฤตโควิด-19 โดยผลกำไรหรือรายได้ทั้งหมดที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของคนพิการและครอบครัว บริษัทจะไม่เรียกรับเงินคืน เพราะต้องการสร้างอาชีพให้คนพิการในระยะยาวและสามารถต่อยอดไปถึงอนาคตได้ ปัจจุบันได้จัดทำนำร่องไปแล้วตั้งแต่โควิด-19 ระลอกแรกเมื่อปี 2563 ที่บ้านยางชุม และบ้านวังศิลา อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ และเตรียมขยายพื้นที่เพิ่มไปยังจังหวัดต่างๆ ในอนาคตโดยมีโมเดลนำร่องจากที่นี่เป็นแบบอย่าง ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก คนพิการต้องมีงานทำ-มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่ 02 279- 9385

ที่มา: แนวหน้า, 16/8/2564

เผยแรงงานไทยทำงานต่างแดนรวม 110 ประเทศ 118,572 คน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 153,006 ล้านบาท เป้าหมายปีนี้จัดส่งอีก 100,000 คน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 100,000 คน โดยจัดส่งแล้ว 38,019 คน แบ่งเป็นไต้หวัน 10,641 คน อิสราเอล 5,593 คน สวีเดน 5,287 คน ฟินแลนด์ 3,363 คน ญี่ปุ่น 1,948 คน ประเทศอื่นๆ 11,187 คน และอยู่ระหว่างจัดส่งตามแผนอีก 61,981 คน ซึ่งจากข้อมูล ณ เดือน ก.ค. 64 มีแรงงานไทยที่ยังทำงานอยู่ในต่างประเทศรวม 110 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 118,572 คน ส่งรายได้กลับประเทศผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว 153,006 ล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างมาก โดยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 จะมุ่งเน้นการรักษาตลาดแรงงานเดิมซึ่งก็คือการส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่องกับงานภาคการเกษตรในรัฐอิสราเอล ภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (TIC) งานภาคอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่น ผ่านองค์กร IM JAPAN และงานภาคก่อสร้าง อุตสาหกรรม และการเกษตรในสาธารณรัฐเกาหลี ผ่านระบบ EPS ควบคู่การขยายตลาดแรงงานใหม่ที่มีแนวโน้มความต้องการแรงงานไทย

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน มีกำหนดการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ก่อนสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ จำนวน 410 คน แบ่งเป็น สาธารณรัฐเกาหลี 60 คน เดินทางระหว่างวันที่ 17 – 19 สิงหาคม และรัฐอิสราเอล 350 คน ทยอยเดินทางวันที่ 25 สิงหาคม จำนวน 150 คน และวันที่ 30 สิงหาคม จำนวน 200 คน โดยแรงงานไทยสามารถเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย 5 วิธี คือ 1.กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 2.บริษัทจัดหางานจัดส่ง 3.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานต่างประเทศ 4.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานในต่างประเทศ 5.คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตัวเอง ซึ่งวิธีเดินทางถูกกฎหมายดังกล่าวจะทำให้แรงงานไทยได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ได้ค่าจ้างที่เหมาะสม และยังได้รับการดูแลที่ดีตามสิทธิที่พึงมีด้วย

ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ www.doe.go.th/overseas

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 16/8/2564

เตรียมเสนอ 'แฟกตอรี่แซนด์บอกซ์' เข้า ศบค.ช่วยส่งออกหลัง โควิด-19 ระบาดไม่หยุด โรงงานอุตสาหกรรมหวั่นกระทบซัพพลายเชน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 16 สิงหาคม 64 จะเสนอวาระมาตรการรักษาระดับการส่งออกผ่านมาตรการ Factory Sandbox เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณาด้วย

ทั้งนี้ มาตรการ Factory Sandbox จะโฟกัสไปที่โรงงานส่งออก ตรวจเชิงรุก 100% แยกคนป่วย แยกปลาแยกน้ำ ฉีดวัคซีนให้ครบ 100% เพื่อรักษาการจ้างงานและดำเนินธุรกิจส่งออกต่อได้ ภาคส่งออกเดินได้ต่อไป คาดว่าถ้าที่ประชุมเห็นชอบจะเริ่มมาตรการได้ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งนี้ ได้ผ่านการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครบหมดแล้ว ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย

“ขณะนี้มีบริษัทส่งออกขนาดใหญ่ให้ความสนใจจำนวนมาก โดยจะเริ่มจากอุตสาหกรรมส่งออก 4 สาขา ได้แก่ อาหาร เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์”

นายสุชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็นการตรวจ รักษา ควบคุมและดูแล โดยเข้าไปตรวจ RT-PCR ในโรงงาน 100% แยกคนติดเชื้อออกจากโรงงานและเข้าสู่ระบบรักษาในโรงพยาบาลในเครือประกันสังคม หลังจากนั้น รัฐบาลจะจัดสรรฉีดวัคซีนให้ครบ 100% ต่อจากนั้นให้ผู้ประกอบการจัดซื้อชุดตรวจ ATK พนักงานในโรงงานทุกสัปดาห์ และต้องควบคุมเส้นทางการเดินทางจากโรงงานไปที่พัก-ที่พักไปโรงงาน หรือ bubble and seal

หากผู้ประกอบการปฏิบัติได้ตามมาตรการทุกข้อจะให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกใบ Certificate ให้โรงงานไว้สำหรับยืนยันกับต่างประเทศ เพื่อรับรองว่าโรงงานแห่งนี้ปลอดเชื้อโควิดเพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยจะเริ่มจากอุตสาหกรรมส่งออก 4 สาขา ได้แก่ อาหาร เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด คือ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร และชลบุรี

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 15/8/2564

โรงงานสมุทรสาคร 233 แห่ง ตรวจ ATK ผลบวกโควิด-กลุ่มเสี่ยง 5,845 คน

14 ส.ค. 2564 รายงานข่าวจากสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ทางจังหวัดได้รายงานความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมและการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อแยกกักตัวผู้ติดเขื้อโควิด-19 ของสถานประกอบการ (Factory Accommodation Isolation – FAI ) ว่า ที่ผ่านมามีโรงงานดำเนินการจัดตั้ง FAI ทั้งหมด 1,581 แห่ง มีจำนวนเตียง 44,733 เตียง

ปรากฎว่า ณ วันที่ 13 ส.ค. 2564 มีโรงงานรับผู้ถูกกักตัว 233 แห่ง ใช้เตียงไป 3,512 เตียง รวมมีเตียงที่เหลือพร้อมใช้งาน 41,221 เตียง ทั้งนี้ มียอดสะสมผู้ถูกกักตัวเข้ามาใช้งานตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม ถึง 13 สิงหาคม 2564 มียอดผู้เข้ามากักตัว 5,845 ราย มียอดผู้กักตัวออกไป 2,333 ราย มียอดผู้มากักตัวคงเหลือ 3,512 คน

แหล่งข่าวจากจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่าโรงงานส่วนใหญ่ลงทุนหาซื้อชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตัวเอง (Antigen Test Kits -ATK) มาใช้ และจะแยกพนักงานที่ผลตรวจเป็นบวกมาเข้า FAI ซึ่งขณะนี้พบว่า มีโรงงานทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก จำนวน 233 แห่ง และมีในทุกอุตสาหกรรม โดยพบพนักงานที่มีผลเป็นบวก และกลุ่มเสี่ยงสูงถึง 5,845 คน ซึ่งสถานการณ์นี้น่าเป็นห่วงมาก เกรงส่งผลกระทบต่อการผลิตของแต่ละโรงงาน จึงอยากให้รัฐบาลต้องเร่งจัดหาวัคซีนมาให้พนักงาน

“แม้ชุดตรวจ ATK บางครั้งอาจจะมีผลคลาดเคลื่อนกว่าการตรวจด้วยวิธี RT-PCR แต่ไม่ได้คลาดเคลื่อนมากนัก เช่น หากพนักงานในแผนก 20 คน ผลเป็นบวก 15 คน ที่เหลืออีก 5 คนผลเป็นลบ ต้องนำ 5 คนนี้ไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งส่วนใหญ่ผล 5 คนนี้ออกมาเป็นบวก เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่ทำงานด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม จำนวนตัวเลขพนักงานผลบวกเหล่านี้ ทางจังหวัดไม่ได้นำไปรวมในตารางรายวัน แต่แนวโน้มตัวเลขที่สูงขึ้นหวั่นเกรงผลกระทบต่อการภาคการผลิต

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 13 ส.ค. 2564 เวลา 24.00 น. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 1,847 ราย แบ่งเป็น 1.ผู้ติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุก 427 ราย 2.โรงพยาบาล 1,420 ราย แบ่งเป็นในจังหวัด 1,090 ราย และนอกจังหวัด 330 ราย เสียชีวิต 11 ราย รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสม 67,207 ราย ขณะนี้มีผู้ป่วยอยู่ระหว่างรักษา 19,620 ราย รักษาหาย 30,037 ราย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 14/8/2564

แรงงานกัมพูชา กว่า 300 คน กักตัวครบ 14 วันขอกลับประเทศ เหตุนายจ้างไม่รับทำงานอีกแล้ว

13 ส.ค. 2564 ที่บริเวณถนนหน้าตลาดโกลเด็นเกต พลาซา ติดกับตลาดโรงเกลือเก่า ได้มีแรงงานชาวกัมพูชากว่า 300 คน ที่ผ่านการกักตัวในโรงพยาบาล สนาม 14 วันแล้ว ตามแนวชายแดนไทย และได้ขอเดินทางกลับไปประเทศกัมพูชา เนื่องจากนายจ้างไม่รับเข้าทำงานแล้ว จึงขอเดินทางไปตายเอาดาบหน้าที่บ้านเกิด

สำหรับบรรยากาศ ที่บริเวณถนนในตลาดโกลเด็นเกต พลาซา พบแรงงานกัมพูชา กว่า 300 คน แบกสัมภาระของตนเองมาเรียงแถวยาวเพื่อลงชื่อขอกลับประเทศกัมพูชา จากนั้นได้ประสานไปที่กงสุลกัมพูชา เพื่อยื่นหนังสือและจำนวนแรงงานทั้งหมดที่ผ่านการกักตัวแล้ว 14 วัน และประสานกับฝ่ายไทยเพื่อกลับบ้านเกิดในประเทศกัมพูชา

จากการสอบถามแรงงานชาวกัมพูชา ทราบว่า ที่มาวันนี้ทั้งหมดเป็นแรงงานประกอบอาชีพ ซักรองเท้ามือสองพนักงานเย็บกระเป๋า กรรมกรรับจ้างทั่วไป ที่ผ่านกักตัวจาก รพ.สนามเป็นเวลา 14วัน และวันนี่ครบ 14วันแล้ว ถูกปล่อยตัว และจะทำการกักตัวเองเพิ่มอีก 14วัน กลับมาไม่มีงานทำ นายจ้างเลิกจ้าง ไม่รับเข้าทำงาน อ้างว่าแบกรับภาระไม่ไหวจำเป็นที่ต้องเลิกจ้างไปก่อน พวกตนก็หาเงินไม่ได้ ค่าเช่าที่พักก็ไม่มีจ่าย เงินซื้อกินก็ไม่มี ทางฝั่งกัมพูชาก็ว่าจะมาฉีดวัคซีนให้กับพวกตนที่อยู่ในตลาดโรงเกลือ ตอนแรกก็ดีใจคิดว่าจะได้ฉีดและได้ลงทะเบียนฉีดวัคซีน 2-3เดือนแล้ว แต่ทางประเทศไทยยังไม่มีคำตอบให้ฝั่งกัมพูชา กระทั่งมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างรวดเร็ว จึงได้รวมตัวกันในวันนี้ขอกลับประเทศดีกว่ามานั่งรอ ยอมพาลูกหลานไปตายดาบหน้าถ้ากลับประเทศได้ก็มีความหวังที่จะได้ฉีดวัคซีนในประเทศอีกด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 13/8/2564

ทางการกัมพูชาเสนอขอฉีดวัคซีนให้แรงงานตัวเองในตลาดโรงเกลือ 1.2 หมื่นคน

13 ส.ค. 2564 นายเสรี เนต กงสุลใหญ่ราชอาณาจักรกัมพูชา ประจำจังหวัดสระเเก้ว ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เพื่อหารือแนวทางในการร่วมมือช่วยเหลือแรงงานกัมพูชา จำนวน 12,000 คน ที่อาศัยภายในตลาดโรงเกลือ อำเภออรัญประเทศ หลังพบว่าที่ผ่านมา มีแรงงานกัมพูชาที่อยู่ในตลาดแห่งนี้ ติดเชื้อโควิดไปแล้วมากกว่า 1,000 คน

นายเสรี เนต กล่าวว่าประเทศกัมพูชา ได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ในการขอความร่วมมือช่วยเหลือแรงงานกัมพูชา โดยขอให้ทางผู้ว่าฯ เปิดด่าน เพื่อให้ทางการกัมพูชาสามารถนำวัคซีนเข้ามาฉีดให้แก่แรงงานกัมพูชา ซึ่งจะมีการเข้ามาตั้งเต้นท์และจุดชั่วคราวในตลาด หรือบริเวณด่านชายแดนก็ได้ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ก็ขอแค่ให้แรงงานกลุ่มนี้สามารถเดินเข้าไปฉีดวัคซีนในฝั่งกัมพูชา และเมื่อฉีดเสร็จให้สามารถเดินกลับมาฝั่งไทยได้

นายเสรี เนต กล่าวว่าขณะนี้ทางการกัมพูชามีความพร้อมเรื่องของวัคซีน ทั้งยี่ห้อซิโนฟาร์ม ซิโนแวค และแอดต้าเซนิก้า ที่สามารถนำเข้ามาฉีดให้แรงงานกัมพูชา จำนวน 12,000 คน อย่างน้อยคนละ 1 เข็ม โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งตอนนี้ผู้ว่าฯจังหวัดสระแก้วได้รับเรื่องไว้แล้ว แต่ยังไม่รับปากจะว่าสามารถอนุมัติได้หรือไม่ เพราะต้องนำเรื่องเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พิจารณา

ขณะที่ น.ส.ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ซึ่งเดินทางลงพื้นที่ในจังหวัดสระแก้วเพื่อช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติกัมพูชากล่าวว่า เมื่อโลกไร้พรมแดนแล้ว การช่วยเหลือก็ควรต้องไร้พรมแดนด้วย เรื่องนี้เป็นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เราอยากเห็นความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาที่ช่วยกันแก้ปัญหาเพราะตอนนี้ แรงงานกัมพูชาเองก็ทยอยหลั่งไหลมาจากพื้นที่ชั้นใน และพื้นที่เขตอื่นมาอยู่ตามชายแดนเยอะมาก เพราะเขาเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีน และอยากฉีดวัคซีน แต่พวกเขากลับประเทศไม่ได้เพราะด่านปิด ก็เลยติดอยู่ตามป่า มีทั้งเด็กผู้ใหญ่นับร้อยคน ประกอบกับพื้นที่โรงเกลือมีความเสี่ยงมาก เพราะมีแรงงานอาศัยอยู่เป็นหลักหมื่น และเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่หล่อเลี้ยงทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชา เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ได้รับผลกระทบร่วมกันหมด

ที่มา: สยามรัฐ, 13/8/2564

ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ผู้ประกันตน ม.33 สลับวัคซีน และวัคซีนเดิม เริ่ม 16 ส.ค. 2564 นี้

พญ.นิธยาพร ลิมปะพันธุ์ รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม แจ้งผลการเตรียมความพร้อมสำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยคณะทำงานบริหารจัดการและกระจายวัคซีนได้เตรียมจัดศูนย์ฉีดวัคซีน เพื่อให้บริการผู้ประกันตนมาตรา 33 ในการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หลังจากที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับวัคซีนเข็มแรกจากประกันสังคมแล้ว เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้วกว่า 1.3 ล้านคน

พญ.นิธยาพร กล่าวว่า วัคซีนเข็มที่ 2 จะเริ่มฉีดในวันที่ 16 ส.ค. 2564 เป็นต้นไป เป็นวัคซีนยี่ห้อ AstraZeneca ทั้งหมด โดยแบ่งผู้ประกันตนตามสูตรการฉีด ดังนี้

สูตร 1 (AZ+AZ) คือผู้ประกันตนที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เป็น AstraZeneca และจะครบกำหนดฉีดเข็ม 2 ภายใน 12-16 สัปดาห์ จะฉีดเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนยี่ห้อ AstraZeneca เหมือนเดิม โดยผู้ประกันตนในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ได้รับเข็ม 1 ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. ถึง 21 ก.ค. 2564 จะได้รับเข็ม 2 ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. – 28 ก.ย. 2564

สูตร 2 (SV+AZ) แบบฉีดสลับวัคซีน ตามมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2564 คือผู้ประกันตนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นยี่ห้อ Sinovac จะได้รับเข็ม 2 ภายใน 3-4 สัปดาห์ เป็นยี่ห้อ AstraZeneca ทั้งหมดเช่นกัน โดยผู้ประกันตนในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ได้รับเข็ม 1 ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. – 6 ส.ค. 2564 จะได้รับเข็ม 2 ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม – 27 สิงหาคม 2564

และผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกลุ่มจังหวัดภาคผลิตสำคัญ 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และนครปฐม ที่ได้รับวัคซีนตามสูตร 2 (SV+AZ) ตั้งแต่ 22 ก.ค. – 13 ส.ค. 2564 จะได้รับเข็ม 2 เป็นยี่ห้อ AstraZeneca ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. – 27 ส.ค. 2564

โดยสำนักงานประกันสังคมได้เตรียมพร้อมศูนย์ฉีดวัคซีนกระจายทั่วพื้นที่ กทม.ทั้ง 12 เขตความรับผิดชอบ รวม 26 จุดฉีด และทั้ง 5 จังหวัดเรียบร้อยแล้ว จะส่งแจ้งนัดหมายให้ผู้ประกันตนทราบล่วงหน้าผ่าน SMS เข้าโทรศัพท์มือถือให้ผู้ประกันตนทราบโดยเร็วที่สุด

พญ.นิธยาพร กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ขอให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ทุกท่าน เมื่อทราบกำหนดนัดหมายแล้ว โปรดเตรียมตัวให้พร้อม เหมือนกันกับการฉีดเข็มแรก คือ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดการออกกำลังกายหนัก สวมเสื้อที่สะดวกในการฉีด เช่น เสื้อแขนสั้น

ที่สำคัญคือ เตรียมบัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง) ติดตัวมาด้วยในวันที่ฉีดวัคซีน และมาให้ทันตามกำหนดนัดหมาย เพื่อร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไปด้วยกัน

หากท่านอยู่ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็ม 2 ตามกำหนดข้างต้น แต่ไม่ได้รับ SMS นัดหมาย สามารถตรวจสอบวันนัดหมายฉีดวัคซีน เข็มที่ 2 ได้ที่หน้าเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th อีกช่องทางหนึ่ง หากไม่พบข้อมูล ขอให้รีบแจ้งนายจ้าง หรือ HR บริษัท ด่วน หรือหากมีข้อสงสัย ติดต่อสายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 12/8/2564

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net