นักปกป้องสิทธิ 'กลุ่มด้วยใจรัก(รักษ์ลาหู่)' ไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ แม้ศาลเชียงใหม่ยกฟ้องคดีและถูกขังคุกเกือบปี

นาหวะ จะอื่อ หญิงผู้ปกป้องสิทธิฯ จากกลุ่มด้วยใจรัก(รักษ์ลาหู่) และผู้เรียกร้องความยุติธรรมให้กับชัยภูมิ ป่าแส ไม่ได้รับค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา แม้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ยกฟ้องคดียาเสพติดและถูกควบคุมตัวถึง 331 วัน เนื่องจากศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับคำตัดสินของ คกก.พิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ไม่จ่ายค่าทดแทนให้ “นาหวะ” ซึ่งนาหวะ ระบุว่า การถูกควบคุมตัวจากความผิดที่ไม่ได้ก่อ ทำให้สูญเสียทั้งอิสรภาพ และขาดโอกาสในการดูแลลูกชายและครอบครัว ระบุแม้ผิดหวังกับผลตัดสินก็จะสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมต่อไป  

นาหวะ จะอื่อ นักปกป้องสิทธิจากกลุ่มด้วยใจรัก (รักษ์ลาหู่) (ถ่ายโดย จิตรภณ ไข่คำ)

19 ส.ค. 64 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจากกลุ่มด้วยใจรัก(รักษ์ลาหู่) ระบุว่า วานนี้ (18 ส.ค. 64) เวลา 09.30 น. ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ น.ส.นาหวะ จะอื่อ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มด้วยใจรัก(รักษ์ลาหู่) ที่ดูแลและเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ นายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจบ้านรินหลวงวิสามัญฆาตกรรม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 วานนี้ น.ส.นาหวะ ได้เดินทางเข้ารับฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในกรณีที่ น.ส.นาหวะ ได้ยื่นอุทธรณ์คำร้องที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการพิจารณาตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ที่ยกคำขอในการอนุมัติค่าทดแทนหรือค่าใช้จ่ายในระหว่างที่เธอถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีที่เธอถูกกล่าวหาในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดีของนายชัยภูมิ ป่าแส

คดีของ น.ส.นาหวะ สืบเนื่องมาจากวันที่ 29 พ.ค. 2560 เป็นวันที่ น.ส.นาหวะ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และหน่วยอื่นๆ ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าทำการบุกค้นบ้านของนายไมตรี จำเริญสุขสกุล นักปกป้องสิทธิฯ ซึ่งทั้งนายไมตรี และ น.ส. นาหวะ เป็นผู้ดูแลนายชัยภูมิ ป่าแส ขณะนั้นที่มีการตรวจค้นดังกล่าวนายไมตรี ไม่อยู่บ้าน เพราะกำลังเดินทางกลับจากการประชุมกับผู้แทนพิเศษว่าด้วยนักปกป้องสิทธิฯ ของสหประชาชาติที่กรุงเทพฯ ในกรณีการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนายชัยภูมิ ป่าแส ที่ถูกทหารวิสามัญฆาตกรรม

ผลการค้นบ้านไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ แต่เจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายจับ น.ส.นาหวะ ที่อยู่บ้านในขณะนั้น ในข้อหาตาม พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ที่ถูกกล่าวอ้างว่าเชื่อมโยงมาจากกรณีนายชัยภูมิ ปาแส ภายหลังจากนั้น น.ส.นาหวะ ถูกควบคุมตัวไปขออำนาจฝากขังที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งศาลอนุญาติให้ฝากขัง โดยนาหวะ ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาทั้งในชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นศาล ซึ่งมีการพิสูจน์ว่า น.ส.นาหวะ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น และเกี่ยวกับการประกันตัวของ น.ส.นาหวะ ครอบครัวก็ทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้ น.ส.นาหวะ ได้รับการประกันตัว โดยต้องใช้หลักทรัพย์ประมาณ 2 ล้านบาท ครอบครัวจึงยื่นขอรับการสนับสนุนจากกองทุนยุติธรรม ในเวลาต่อมากองทุนยุติธรรมก็อนุมัติหลักทรัพย์การประกันตัว พร้อมทั้งดำเนินการยื่นประกัน น.ส.นาหวะ ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ แต่ศาลไม่อนุญาตให้มีการปล่อยตัวชั่วดังกล่าว

จนกระทั่งวันที่ 24 เมษายน 2561 ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษายกฟ้อง เป็นวันที่ น.ส.นาหวะ ได้อิสรภาพคืนหลังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำถึง 331 วัน แม้ศาลจะยกฟ้อง แต่ราคาของอิสรภาพที่สูญเสียไปไม่อาจเรียกคืนมาได้

ในปี 2562 น.ส.นาหวะ จึงยื่นขอรับค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่าย ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาฯ เนื่องจากในช่วงที่ น.ส.นาหวะ ต้องถูกควบคุมตัวนั้น มีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งค่าข้าวของเครื่องใช้ ค่าเดินทางไปเยี่ยม น.ส.นาหวะ เพื่อเติมกำลังใจให้กันและกัน และเป็นช่วงเวลาที่แม่และลูกที่ยังเล็กก็จะได้เจอกันในช่วงเวลาสั้นๆ หนี้สินของครอบครัวก็เพิ่มขึ้น เพราะรายจ่ายเพิ่มแต่รายได้ลดลง หรือการสูญเสียอิสรภาพ ซึ่งในช่วงเวลานั้นควรเป็นช่วง น.ส.นาหวะ จะทำมาหากินและสามารถไปทำสิ่งที่มีคุณประโยชน์กับเยาวชนของกลุ่มด้วยใจรัก(รักษ์ลาหู่) ได้

เมื่อเธอได้ยื่นขอใช้กลไกตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาฯ แล้วนั้น คณะกรรมการตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ก็ไม่อนุมัติคำขอ น.ส.นาหวะ จึงขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์

โดยวานนี้ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเห็นพ้องกับคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาไม่จ่ายค่าทดแทนให้กับนาหวะตามคำอุทธรณ์ โดยศาลได้ให้เหตุผลประกอบว่า คำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงใหม่หมายเลขแดงที่ 1571/2561 คดีถึงที่สุดแล้วโดยให้ยกฟ้องนาหวะ เนื่องมาจากพยานหลักฐานที่พนักงานอัยการ (โจทก์) นำสืบมาไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า น.ส.นาหวะ (จำเลยในคดีดังกล่าว) กระทำความผิดตามฟ้องของพนักงานอัยการ (โจทก์) จึงต้องยกผลประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่ น.ส.นาหวะ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ซึ่งถือได้ว่าพยานหลักฐานของพนักงานอัยการ (โจทก์) ที่นำสืบไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดของนาหวะ จึงมิใช่ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า นาหวะไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของ น.ส.นาหวะ ไม่เป็นความผิด นาหวะจึงไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาตามคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญามีคำวินิจฉัยให้ยกคำขอนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับคณะกรรมการฯ จึงพิพากษายกอุทธรณ์คำขอดังกล่าว

น.ส.นาหวะ กล่าวความรู้สึกหลังจากฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วว่า ตนรู้สึกเสียใจมาก เหมือนเรามีความหวังว่าจะต้องได้รับการเยียวยา เพราะระหว่างที่เราถูกคุมขังจากข้อหาที่เราไม่ได้เป็นคนก่อ นอกจากการทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจที่ถูกพรากอิสรภาพในการที่เราจะได้ใช้ชีวิตไปแล้ว เราต้องสูญเสียโอกาสในอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่จะได้ทำหน้าที่แม่ในการดูแลลูก โอกาสในการที่จะได้อยู่กับครอบครัว งานการที่เคยทำก่อนถูกจับก็ไม่สามารถกลับไปทำได้อีก ทำให้เราเสียโอกาสในการหารายได้ เพื่อจุนเจือครอบครัวของเรา ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเราแต่เกิดขึ้นกับครอบครัว และคนใกล้ชิดเราด้วย

น.ส.นาหวะ กล่าวต่อว่า "สิ่งที่ต้องการและเราเรียกร้องกันมาตั้งแต่ต้น คือ ความยุติธรรม หากมีความยุติธรรมให้กับเราและครอบครัว หากมีการเยียวยาให้กับเราและครอบครัวยังจะทำให้เราได้วางแผนและใช้เวลาของชีวิตต่อจากนี้ทดแทนวันเวลาที่ถูกพรากอิสระไปจากกระบวนการยุติธรรมของรัฐ แต่ตนและครอบครัวจะไม่ยอมแพ้ หากมีการช่องทางไหนที่จะยื่นเรื่องร้องเรียนได้อีกก็จะไปจะเรียกร้องความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับตัวเองและครอบครัวให้ได้"

นาหวะและครอบครัวหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่ (ถ่ายโดย จิตรภณ ไข่คำ)
 

ขณะที่ น.ส.ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International ซึ่งทำงานเพื่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า ด้วยความเคารพในกระบวนการยุติธรรม หลักการสำคัญคือการสันนิษฐานว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ตามมาตรา 29 วรรค 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่ง น.ส.นาหวะ ในฐานะที่เป็นจำเลยในคดียาเสพติด ศาลชั้นต้นยกฟ้องยกประโยชน์แห่งความสงสัย และโจทก์คืออัยการไม่ได้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์ เพื่อนำประเด็นชี้ในศาลสูง เราจึงเห็นว่า การยกฟ้องแม้จะยกประโยชน์แห่งความสงสัยประกอบกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวทำให้คดีถึงที่สุดแล้ว น.ส.นาหวะ ควรเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดตามสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนพึงมี และได้ระบุในรัฐธรรมนูญไว้แล้ว

น.ส.ปรานม ยังมีความคิดเห็นต่อว่า การพิจารณาค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายให้กับบุคคลที่เคยตกเป็นจำเลยและภายหลังพิพากษายกฟ้อง เราหวังไว้ว่าทั้งคณะกรรมการฯ และศาลจะพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาให้เพื่อเป็นการส่งเสริมสิทธิพื้นฐานสำคัญในการให้การคุ้มครองในสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนธรรมดาอย่าง น.ส.นาหวะ และยึดหลักแห่งความรับผิดชอบของรัฐ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างสอดคล้องกับหลักกฎหมาย หลักนิติธรรมและความยุติธรรม เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะหากมีการเรียกร้องขอความยุติธรรมทั้งในชั้นคณะกรรมการฯ ที่มีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน และการใช้สิทธิในกระบวนการชั้นศาล แต่ไม่ได้รับการทดแทนชดเชยเยียวยาใดๆ คำถามที่ยังคงต้องการคำตอบคือแล้วประชาชนจะไปแสวงหาความยุติธรรมที่ใดได้อีก

ในกรณีนี้ในช่วงที่ น.ส.นาหวะ ถูกควบคุมตัวภายในทัณฑสถานหญิงจังหวัดเชียงใหม่ สามีและครอบครัวของต้องย้ายที่อยู่จากอำเภอเชียงดาวมาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้ครอบครัวยังคงอยู่และเป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน การที่ต้องย้ายที่อยู่เพื่อให้ น.ส.นาหวะ ในฐานะแม่ได้เจอหน้าลูกชาย ซึ่งเป็นกำลังใจที่ดีให้กับ น.ส.นาหวะ ที่ต่อสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น และสามีจึงต้องเป็นกำลังหลักในการหาเลี้ยงดูครอบครัว และลูก มีความจำเป็นที่ต้องกู้หนี้สินมาเป็นค่าใช้จ่ายและสร้างภาระหนี้สินให้คนในครอบครัวเป็นอย่างมาก

ภายหลังจาก น.ส.นาหวะ ถูกศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้องแล้ว เมื่อเธอได้รับอิสรภาพ น.ส.นาหวะ และครอบครัวต้องทำงานเพื่อที่จะหารายได้และส่วนหนึ่งจ่ายภาระหนี้สินที่กู้ยืมมาในช่วงที่ น.ส.นาหวะ อยู่ในทัณฑสถานหญิง มีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นและต้องขาดรายได้จากการรับจ้าง สูญเสียโอกาสในการเห็นพัฒนาการการเติบโตของลูก รายได้ของสามีเพียงคนเดียวก็ไม่เพียงพอที่จะมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว

อีกทั้ง น.ส.นาหวะ ถูกชุมชนและสังคมตีตราว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เมื่อถูกดำเนินคดีและตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่ถูกควบคุมตัว ไม่มีการเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่กล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับความผิดดังกล่าว น.ส.นาหวะ เองรู้สึกไม่ปลอดภัย มีภาวะความเครียดและมีความกังวลตลอดระยะเวลาการถูกดำเนินคดีและถูกควบคุมตัวทั้งๆ ที่ไม่มีความผิด เกียรติยศ ศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในการได้รับการตระหนักว่าเป็นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกกัดกร่อนและบั่นทอนตลอดระยะเวลาที่สิทธิเสรีภาพของ น.ส.นาหวะ ถูกควบคุมตัว น.ส.นาหวะ จึงยืนยันว่าเธอมีสิทธิที่จะร้องขอค่าชดเชยขาดรายได้ในระหว่างการสูญเสียอิสรภาพในถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาอยู่ในเรือนจำถึง 331 วัน      

น.ส.นาหวะ หวังมาตลอดว่า ศาลจะพิจารณาและเข้าใจได้ว่าเธอต้องการเรียกร้องและยืนยันถึงความบริสุทธิ์และคำนึงถึงในสิ่งที่ น.ส.นาหวะ ต้องสูญเสียอิสรภาพในระหว่างการถูกควบคุมตัวถึง 331 วัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท