'ปิยบุตร' ส่งสารถึงทุกฝ่าย ฝ่าวิกฤติการเมืองด้วยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ - ชี้เป็นข้อเรียกร้องของยุคสมัยที่ฝืนไม่ได้อีกแล้ว

'ปิยบุตร' ส่งสารถึงทุกฝ่าย ฝ่าวิกฤติการเมืองด้วยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ชี้ความจำเป็น - ย้ำหลายรัชสมัยมีการปฏิรูปเกิดขึ้นตลอด-สถานการณ์ยิ่งทำให้จำเป็นต้องปฏิรูป ชง 10 ข้อเสนอแก้ไขหมวด 2 รัฐธรรมนูญ สู่ทางออกการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

 

19 ส.ค.2564 เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ไลฟ์เฟซบุ๊ก “ทำไมต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์?” อธิบายเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ย้ำข้อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขหมวด 2 ที่สามารถนำไปใช้ได้ พร้อมส่งสารถึงทุกฝ่ายในสังคมไทย ให้ร่วมกันเปิดใจมองเห็นเหตุผลความจำเป็น ย้ำ เพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ต่อไป

ชี้ความจำเป็นของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ - ย้ำหลายรัชสมัยมีการปฏิรูปเกิดขึ้นตลอด-สถานการณ์ยิ่งทำให้จำเป็นต้องปฏิรูป

ปิยบุตร ระบุว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะในรัชสมัยก่อนหน้านี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอด ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 9 มีทั้งในทิศทางที่ลดและเพิ่มพระราชอำนาจ การพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การแก้ไขกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จึงไม่ใช่สิ่งที่น่าหวาดกลัว แต่เป็นเรื่องปกติ และทำให้ประเทศไทยยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ เพียงแต่เปลี่ยนแปลงรูปแบบให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้นเท่านั้น

“ระบอบประชาธิปไตยเรียกร้องว่าอำนาจสูงสุดไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่ง แต่อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของคนทุกคน ในชื่อร่วมกันว่า “ประชาชน” ดังนั้น การใช้อำนาจรัฐต้องมีจุดเชื่อมโยงกลับไปที่ประชาชน และเมื่อบรรดาองค์กรต่าง ๆ เมื่อได้ใช้อำนาจแล้ว จะต้องถูกตรวจสอบได้ บรรดาสถาบัน-องค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจรัฐ ก็ต้องสอดคล้องกับหลักการเหล่านี้ในประชาธิปไตย รวมถึงสถาบันกษัตริย์ด้วย” ปิยบุตรกล่าว

ปิยบุตรยังระบุด้วย ว่าสถานการณ์ในขณะนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ นับตั้งแต่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช. มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติต่าง ๆ จำนวนมาก ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เป็นไปในทิศทางที่เพิ่มพระราชอำนาจมากยิ่งขึ้น จนหันเหออกจากระบอบ Constitutional-Parliamentary Monarchy

ประกอบกับการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนที่เริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้เราต้องยอมรับความจริง ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยในสังคมที่กำลังพูดถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และมีคนจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกันเริ่มฝันถึงระบอบการปกครองแบบใหม่แล้ว ซึ่งการออกจากวิกฤติครั้งนี้ มีแต่ทางเลือกของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยเท่านั้น

ชง 10 ข้อเสนอแก้ไขหมวด 2 รัฐธรรมนูญ สู่ทางออกการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ปิยบุตรยังกล่าวถึงข้อเสนอ 10 ข้อ แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 2 หมวดพระมหากษัตริย์ ที่ได้นำเสนอขึ้นมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อให้เป็นข้อเสนอที่สามารถนำไปใช้ได้ทันทีเมื่อสังคมเห็นพ้องต้องกันแล้ว ว่าจะต้องมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้น

ปิยบุตรระบุว่าตนเขียนร่างนี้ขึ้นมา โดยพิจารณาจากรัฐธรรมนูญไทยในอดีต และรัฐธรรมนูญต่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ โดยพยายามใช้วิธีการเขียนให้ง่าย ให้ชัด ไม่ต้องตีความ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 10 ประเด็นด้วยกัน คือ:

1) มาตรา 6 กำหนดพระราชฐานะประมุขของรัฐ ว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจและมีความเป็นกลางทางการเมือง เป็นสัญลักษณ์ที่คนในชาติยึดเหนี่ยวร่วมกัน

2) มาตรา 7 กำหนดตัวขอบเขตของพระราชอำนาจให้ชัด ว่ามีพระราชอำนาจในเรื่องอะไรบ้าง และต้องมีรัฐมนตรี หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องรับสนองพระบรมราชโองการอะไรบ้าง ให้สอดคล้องกับหลักการพระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำอะไรผิดเพราะว่ากษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจในทางการเมืองโดยแท้ ให้รัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ

3) ให้มีการเปลี่ยนสถานะและรูปแบบทางกฎหมายของกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ให้เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนให้เข้ากับรูปแบบของระบอบปัจจุบันแบบรัฐสมัยใหม่

4) ให้ยกเลิกองคมนตรี เพราะในประเทศประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ ที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ที่แท้จริงคือรัฐบาล เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจเอง เพราะที่ผ่านมาองคมนตรีคนใดคนหนึ่ง เมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่ดี หรือไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมจะทำให้กระทบกระเทือนถึงพระมหากษัตริย์ และเกิดการตั้งคำถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามไปด้วย

5) เปลี่ยนแปลงกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งของพระมหากษัตริย์ ให้กลับไปเป็นแบบก่อนปี 2534 ที่ให้สภาพิจารณาให้ความเห็นชอบพระนามของผู้ที่พระมหากษัตริย์องค์ก่อนได้ทรงแต่งตั้งไว้เป็นรัชทายาท หรือพระนามของผู้มีสิทธิสืบพระราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ในกรณีที่พระมหากษัตริย์องต์ก่อนมิได้แต่งตั้งองค์รัชทายาทเอาไว้

6) พระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับตำแหน่งต้องปฏิญาณตน โดยมีข้อความปฏิญาณตนว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และเคารพรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ ให้เป็นสัญลักษณ์ว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ จะเคารพรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ก็เขียนเอาไว้เช่นนี้หมด

7) กระบวนการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้กลับมาเป็นก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 กล่าวคือ ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทุกครั้งในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ประทับอยู่ในประเทศ หรือไม่อาจบริหารพระราชภาระได้

8) การกำหนดเงินรายปีที่สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจพิจารณาอนุมัติให้แก่สถาบันกษัตริย์ใช้จ่าย ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ความจำเป็น และการปฏิบัติหน้าที่กษัตริย์ กำหนดว่าเงินรายปีจะใช้ครอบคลุมถึงเรื่องอะไรได้บ้าง และถูกตรวจสอบได้ โดยสภาและองค์กรตรวจสอบเงินแผ่นดิน 

9) การลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ให้พระมหากษัตริย์ยังคงมีพระราชอำนาจลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง เฉพาะองค์กรผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในระดับรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้แก่รัฐมนตรี ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และองค์กรอิสระ 

10) ยกเลิกอำนาจในการวีโต้กฎหมาย เพราะสภาซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนเมื่อตรากฎหมายออกมาแล้วเกิดพระมหากษัตริย์วีโต้ จะเกิดสภาวะที่พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นบุคคลเพียงคนเดียว สามารถยับยั้งกฎหมายที่ผ่านผู้แทนราษฎรมาได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท