Skip to main content
sharethis

‘ก้าวไกล’ สับ ‘งบกลาโหม’ แจงไม่เคลียร์ ไร้รายละเอียด ขอตัดฉับ 30,000 ล้านบาท ขณะที่ 'เพื่อไทย' ชี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีงบฯสำหรับการแก้วิกฤตโควิด-19 เร่งด่วน 

19 ส.ค.2564 การอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในวาระ 2 และ วาระ 3 ของสภาฯ วันนี้ (19 ส.ค.64) เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล โพสต์สิ่งที่อภิปรายผ่านเฟซบุ๊ก 'Bencha Saengchantra - เบญจา แสงจันทร์' ในหัวข้อ "ไร้มาตรฐาน! งบอื่นลดระนาว งบอาคารข้าราชบริพารในพระองค์ ไม่ลดแม้บาทเดียว" 

โดย เบญจา ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่าย 65 ตนขอปรับลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ลง 25 % เป็นจำนวนเงิน 23,995 ล้านบาท เหตุผลในการขอปรับลด มีดังนี้

“โครงการงบประมาณก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกของ สำนักปลัดกลาโหม(สป.กห.)ประชาชื่น ระยะที่ 1” ภายใต้กรอบวงเงิน 943 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายจริงไปได้เพียงแค่ 141 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียงแค่ 68% จะเห็นว่าการเบิกจ่ายล้มเหลวและไม่ตรงเป้า แต่โครงการนี้ในชั้นอนุกรรมาธิการก็ได้ปรับลดไป 25 ล้านบาท

สป.กห.ยังมีอีกโครงการที่ชื่อว่า “โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกของ สป.พื้นที่บางจาก” ภายใต้กรอบวงเงิน 943 ล้านบาทราคาใกล้เคียงกับโครงการแรก และในปี 64 มีการเบิกจ่ายจริงไปได้ 155 ล้านบาท เท่ากับเบิกจ่ายไป 75% แต่ก็มีปัญหาการเบิกจ่ายจริงที่ล่าช้า ไม่ตรงเป้าเช่นกัน

อีกโครงการ คือ “โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกของสป.กห.ประชาชื่น ระยะที่ 2 “ ภายใต้กรอบวงเงิน 948 ล้านบาท โครงการมีการเบิกจ่ายจริงไปได้ 0 บาท นั่นคือไม่มีการเบิกจ่ายเลยและสถานะคือยังไม่มีการลงนามใดๆ ปีที่แล้วก็เบิกจ่ายไม่ได้ และโครงการนี้ไม่ยอมปรับลด

อีกหนึ่งโครงการที่มีชื่อว่า “โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชบริพารในพระองค์” เป็นโครงการที่พักอาศัยสูง 13 ชั้น จำนวน 175 ห้องพร้อมที่จอดรถ ตั้งอยู่ที่ถ.อู่ทองนอก โครงการนี้เป็นการขอจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยให้กับข้าราชบริพารและครอบครัว ภายใต้สังกัดส่วนราชการในพระองค์ ภายใต้กรอบวงเงินพร้อมค่าที่ปรึกษารวม 642 ล้านบาทดำเนินการมา 3 ปีแล้ว แต่กลับเบิกจ่ายไปได้แค่ 54 % เท่านั้นเอง และงบประมาณก็ไม่ถูกปรับลดแม้แต่บาทเดียว เท่ากับบาทเดียวก็ยังตัดไม่ได้เลย

ขณะที่โครงการลักษณะเดียวกันหลายโครงการถูกปรับลด แต่งบประมาณโครงการนี้ก็กลับไม่ถูกปรับลดแต่อย่างใด

อีกทั้งโครงการนี้ก็ยังเป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัย ว่าเหตุใดโครงการนี้จึงยังเป็นภารกิจของ สป.กห. ทำไมจึงยังไม่โอนย้ายไปเป็นภารกิจของส่วนราชการในพระองค์ ทั้งที่โครงการไม่ได้เป็นสวัสดิการสำหรับบุคลากรในสังกัดของ สป.กห. และโครงการนี้เริ่มต้นมาหลัง พรบ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้ถ่ายโอนหน้าที่ด้านการถวายความปลอดภัย ทั้งด้านภารกิจ กำลังพล และงบประมาณทั้งหมดไปไว้ในส่วนราชการในพระองค์แล้ว แต่กลับยังมีการตั้งงบประมาณในส่วนนี้อยู่ใน สป.กห.และนี่ถือเป็นการแอบอ้างหรือไม่

เบญจา ระบุด้วยว่า ในขณะที่ประชาชนต้องดำรงชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก งบประมาณภาพรวมถูกปรับลด หลายหน่วยงานต้องยกเลิกหรือชะลอโครงการ กระทรวงกลาโหม นอกจากไม่จัดลำดับความสำคัญของงบประมาณแล้ว ยังขอจัดสรรงบเข้ามาแบบซ้ำเติมความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอีกด้วย ดังนั้นดิฉันจึงขอปรับลดงบกระทรวงกลาโหมลง 25%

‘ก้าวไกล’ สับ ‘งบกลาโหม’ แจงไม่เคลียร์ ไร้รายละเอียด ขอตัดฉับ 30,000 ล้านบาท

ขณะที่วานนี้ (18 ส.ค.64) ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 วาระที่ 2 ในมาตรา 8 งบประมาณกระทรวงกลาโหม นั้น ศิริกัญญา ตันสกุล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลได้สงวนคำแปรญัตติเพื่อขอตัดลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมลงอีก 30,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ด้วยมีรายละเอียดมากจึงจำเป็นต้องแบ่งกันอภิปราย โดยตนจะรับหน้าที่ในส่วนงบประมาณเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์กองทัพบก ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องที่นายกรัฐตรีได้แถลงนโยบายการจัดสรรงบประมาณต่อสภาด้วย ซึ่งจนถึงตอนนี้ สภายังคงไม่รู้ว่ากองทัพบกตัดงบในเรื่องใดไปบ้าง ที่แสดงมา เช่น โครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์มีแค่สองบรรทัด ระบุ งบประมาณ 3,147 ล้าน ตัดไป 355 ล้าน บาท โดย กมธ.ไม่รู้เลยว่าตัดโครงการอะไร อีกโครงการคือ โครงการที่ผูกพันตามสัญญาและมาตรา 41 จำนวน 21 โครงการ งบประมาณ 9,459 ล้านบาท ตัดไป 687ล้านบาท ก็ไม่รู้ตัดอะไรไปบ้างเช่นกัน ไม่มีรายละเอียด ขอข้อมูลไปก็ไม่ให้ 

“สาเหตุที่ต้องถามคือมีโครงการที่ชอบขอเงินไปแล้วได้ใช้ไม่ทัน อยากทราบว่าโครงการเหล่านี้ถูกตัดงบประมาณไปบ้างหรือไม่ บางโครงการของบตั้งแต่ปี 63 จำนวน 468 ล้านบาท ถึงตอนนี้เบิกจ่ายได้แค่ร้อยละ 5 ปีนี้ก็ขอมาอีก โครงการแบบนี้มีอย่างน้อย 4 โครงการ มีงบประมาณสะสมไม่ใช่น้อยรวมกัน 974 ล้านบาท ปีนี้ก็มีหน้าตั้งงบขอเพิ่มมาอีก 1,088 ล้านบาท ซึ่งงบแบบนี้เคยมีประวัติในการขอเปลี่ยนแปลงไปเป็นงบซื้ออาวุธอื่นๆจึงไม่อยากให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย”

ศิริกัญญา กล่าวว่า ยังมีโครงการประเภทยังไม่ได้ดำเนินการ เช่น โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป ปี 64 ขอระยะแรกไป 845 ล้านบาท ตอนนี้ยังไม่ได้จัดซื้อและลงนาม แต่ปี 65 ก็มาขออีก 1,690 ล้านบาท แล้วก็มาขอสำหรับโครงการที่ 2 อีก 700 ล้านบาท ซึ่งก็น่าจะเบิกจ่ายไม่ทันอยู่ดีในส่วนนี้โครงการแบบนี้ก็จะขอตัดทั้งโครงการ  

"ต้องยืนยันว่านายกฯเคยมาแถลงในสภาแห่งนี้ในวาระที่หนึ่ง หวังว่าจะไม่ใช่แค่ลมปากว่าจะนำผลของการจัดสรรงบประมาณปี 63 และ 64 มาประกอบการพิจารณาให้สอดคล้องกับศักยภาพการใช้งบประมาณของหน่วยรับงบประมาณเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ จึงขอให้ทุกหน่วยงานน้อมนำคำแถลงของนายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติตามด้วย” ศิริกัญญา ระบุ

วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กรุงเทพ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า จะสังเกตได้ว่าหน่วยงานต่างๆในสังกัดกลาโหมจะมีรูปแบบการของบประมาณที่คล้ายกัน บางอย่างเห็นเพื่อนมีก็อยากมีบ้าง เช่น งบยาเสพติด ชายแดนใต้ การข่าว งบบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ ซึ่งบางกลุ่มควรปรับลดลงเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์โควิด หนึ่ง งบกลุ่มบรรเทาสาธารณภัย ขอมาทุกกอง กองละนิดละหน่อยแต่รวมกลับมากถึง 36 ล้าน คำถามคือเป็นหน้าที่พันธกิจหรือไม่ และการที่ขอแบบกระจัดกระจายไปแต่ละหน่วยก็คงไม่สามาถทำอะไรได้ ที่สำคัญก็คืองบก้อนนี้ควรให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งเป็นหน่วยงานตรงจะเหมาะกว่า สองงบกลุ่มปรองดองสมานฉันท์ ลักษณะคือการจัดกิจกรรมเพื่อเอาคนมารวมกันมากๆเพื่อทำกิจกรรมบางอย่าง แต่ในสถานการณ์เช่นนี้คงไม่สามารถทำได้ควรตัดออกไป  สามงบกลุ่มจัดงานเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งขอมาทุกหน่วยรวมกันแล้วเกือบ 200 ล้านบาท โดยกองทัพบกขอมามากสุด 90 ล้านบาท น้อยสุดคือกองทัพอากาศ 3 ล้าน ตัวชี้วัดคือจำนวนครั้งการจัดกิจกรรม  เช่น สำนักปลัดปลัดกลาโหมตั้งเป้าจัดกิจกรรม 65 ครั้ง กองทัพบกตั้งเป้า 182 ครั้งต่อปี หากพิจารณาแล้วก็คือจัดทุก 2 วัน ซึ่งเป็นไปได้ยากและการนำคนมารวมจำนวนมากก็ไม่เหมาะเช่นกัน จึงจะขอปรับลดลง 188 ล้านบาทในส่วนนี้  

ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายว่า เท่าที่สังเกต โครงการเกี่ยวกับการวิจัยของกองทัพ ซึ่งมีสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศเป็นหน่วยหลักได้รับงบลดลงทุกปี โดยปีนี้เหลือแค่ 150 ล้านบาทเท่านั้น จึงเหมือนกับว่ารัฐบาลนี้ไม่สนใจการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อป้องกันประเทศเลย เน้นเป็นสายเปย์ ดีแต่ซื้อ นอกจากนี้ยังตั้งงบซ้ำซ้อน เช่น สำนักปลัดกลาโหมก็ยังได้งบวิจัย ซึ่งโดยหน่วยงานก็ไม่น่ามีหน้าที่เกี่ยวกับการวิจัยและไม่น่าจะมีบุคลากรเฉพาะในหน้าที่นี้ ที่สำคัญคือเมื่อมีสถาบันเทคโนโลยีฯที่ทำหน้าที่เฉพาะอยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องไปตั้งงบที่หน่วยอื่นอีก

นอกจาก ปกรณ์วุฒิ ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณการเช่ารถประจำตำแหน่งของกองทัพบก 319 คัน 99 ล้านบาท ความแปลกคือต่อมาเป็นกองทัพเองที่ขอปรับลดเหลือ 76 ล้านบาท ซึ่งเมื่อพิจารณาย้อนกลับไปพบว่าอาจมีการทำสัญญาเป็นงบผูกพันมาตั้งแต่ปี 64 ไปแล้ว และคาดว่าจะเป็นการทำสัญญาเช่ารถที่เกินราคากลางไปถึงร้อยละ 30 หรือไม่จึงทำให้ต้องมาขอปรับลดทีหลังเช่นนี้

'เพื่อไทย' ชี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีงบฯสำหรับการแก้วิกฤตโควิด-19 เร่งด่วน 

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านอีกพรรคอย่าง พรรคเพื่อไทย เฟซบุ๊กแฟนเพจพรรครายงานวานนี้ (19 ส.ค.64) ว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ชี้ว่า ขณะเริ่มต้นจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ยังไม่มีการระบาดของโควิด ในระลอกสามและระลอกสี่ จึงไม่มีการจัดสรรงบประมาณไว้สำหรับการแก้ไขปัญหาโควิดโดยเฉพาะในงบประมาณฉบับนี้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องหาหนทางในการจัดสรรงบประมาณแก้ไขโควิดเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) งบประมาณ ได้ปรับลดงบประมาณจำนวน 16,300 ล้านบาท แล้วนำไปไว้งบกลาง โดยเพิ่มเติมหมวดรายการในงบกลาง คือ ค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เพื่อใช้แก้ไขปัญหาให้ประชาชนในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนจำเป็นในขณะที่โรคระบาดที่ยังรุนแรง

นพ. ชลน่านย้ำว่าเรื่องนี้ต้องเห็นใจ กมธ. เนื่องจากสังคมไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีผู้ที่จะนำงบกลางก้อนนี้ไปใช้ จึงอยากขอความมั่นใจจาก กมธ. ให้ระบุให้ชัดเจนว่าจะต้องใช้งบกลาง 16,300 ล้านบาทนี้เพื่อแก้ไขปัญหาโควิดเท่านั้น

“ขอให้สภาบันทึกเอาไว้ว่าในงบกลาง 5 แสนกว่าล้านนั้น งบประมาณจำนวน 16,300 ล้านบาท ต้องใช้เพื่อแก้ไขปัญหาโควิดเท่านั้น เพราะจนถึงขณะนี้พี่น้องประชาชนคนไทยยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือระบุให้ชัดเจนเลยว่า สภามอบหมายให้เอาไปซื้อวัคซีน mRNA มาฉีดให้ประชาชนคนไทยเท่านั้น หากไม่ทำอย่างนี้ ประชาชนจะกังวลว่างบกลางก้อนนี้จะถูกใช้อย่างปู้ยี่ปู้ยำ”

เล็ง 'งดออกเสียง' 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน เปิดเผยถึงภาพรวมการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วันแรก ถือว่าเป็นที่พอใจ ผิดความคาดหมายจากที่คิดว่า การอภิปรายจะเยิ่นเย้อ แต่ปรากฏว่า อภิปรายได้อย่างเรียบร้อย ทุกคนอภิปรายอยู่ในกรอบ ไม่มีการประท้วงขัดจังหวะ ทั้งนี้ คาดว่า การอภิปรายงบ น่าจะเสร็จภายในวันที่ 20 ส.ค. เพราะมาตราที่เหลือ เป็นกระทรวงที่ไม่มีรายละเอียดสำคัญมากเท่าไร ส่วนการลงมติวาระ 3 นั้น ขอรอหารือกันก่อน แต่ความเห็นไม่เป็นทางการขณะนี้ น่าจะงดออกเสียง แต่ต้องรอฟังอีก 2 วัน อาจจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ได้

ส่วนกรอบเวลาการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีนั้น ขณะนี้มีอยู่ 2 กรอบเวลา คือ ช่วงวันที่ 31 ส.ค.-4 ก.ย. หรือวันที่ 6-9 ก.ย. ต้องรอหารือกันอีกครั้งจะเป็นช่วงใด และจะอภิปรายกี่วัน แต่จะอยู่ภายใต้กรอบการอภิปราย 56 ชั่วโมง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net