Skip to main content
sharethis

20 ส.ค. 2564 ผู้ป่วยโควิดรวมมากกว่า 1 ล้านคน ใช้วัคซีนสูตรสลับทั่วประเทศ ศบค. เผยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ขณะที่ผลตรวจจาก ATK กักตัวที่บ้านโดยไม่ต้องตรวจยืนยัน สปสช. เตรียมกระจาย ATK ฟรีที่ร้านยาทั่วประเทศ พร้อมให้เภสัชกรช่วยจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วย

ผู้ป่วยโควิด-19 รวมทะลุล้าน ฉีดวัคซีนครบโดส 8.65%

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 20 ส.ค. 2564 ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,851 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 19,516 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 10 คน และติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 325 คน จำนวนผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 1,009,710 คน

ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 20,478 คน ยังรักษาตัวอยู่ 205,279 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 5,388 คน ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,161 คน ฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้ว 5,705,200 คน ฉีดวัคซีน 3 เข็มแล้ว 527,457 คน ประชากรที่ฉีดวัคซีนครบโดสคิดเป็นร้อยละ 8.65 ของประชากร

รายงานสถานการณ์โควิด-19

รายงานสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่อัตราการติดเชื้อจากชุดตรวจแอนติเจนเทสต์คิต (Antigen Test Kit-ATK) ผลเป็นบวกเกินร้อยละ 10 โดยวันที่ 19 ส.ค. 2564 อัตราการติดเชื้อจาก ATK คือ ร้อยละ 14.4 ซึ่งหากตรวจพบผล ATK เป็นบวกสามารถกักตัวที่บ้าน หรือ home isolation ได้ทันที แต่หากจะเข้ากักตัวในศูนย์พักคอย หรือ community isolation หรือเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จะต้องมีผลตรวจยืนยันโดยวิธี RT-PCR

แนวโน้มการตรวจ ATK

แนวโน้มการตรวจ ATK

ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงานอีกว่า ผู้เสียชีวิต 240 คน เสียชีวิตสะสม 8,826 คน อยู่ในกรุงเทพมหานครมากที่สุด แต่เริ่มกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ มากขึ้น อายุระหว่าง 7 เดือน ถึง 93 ปี

รายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19

รายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19

ในกลุ่มผู้เสียชีวิตระหว่างวันที่ 25 ก.ค.-19 ส.ค. 2564 ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน คิดเป็นร้อยละ 63.8 รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 1 เข็ม ก่อนเริ่มป่วยมากกว่า 2 สัปดาห์ วึ่งเป็นช่วงที่อาจจะยังไม่มีภูมิคุ้มกัน เสียชีวิตร้อยละ 7.0 รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 1 เข็ม ก่อนเริ่มป่วยมากกว่า 4 สัปดาห์ เสียชีวิตร้อยละ 2.6 รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ก่อนเริ่มป่วย อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เสียชีวิตร้อยละ 0.6 และข้อมูลไม่ครบถ้วนร้อยละ 19.2 นำมาสู่นโยบายระดมฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ผู้ตั้งครรภ์ และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป

ประวัติการรับวัคซีนของผู้เสียชีวิต

ประวัติการรับวัคซีนของผู้เสียชีวิต

ด้านแนวโน้มการติดเชื้อแยกตามพื้นที่ พบว่าแนวโน้มการติดเชื้อคงที่ ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นเท่าช่วงก่อนหน้า แต่แม้จะฉีดวัคซีนครบแล้วก็ขอให้ประชาชนอย่าประมาท เพราะอาจจะกลายเป็นผู้ติดเชื้อได้ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่สัดส่วนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นกว่าผู้เสียชีวิตในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และในภาคใต้

นโยบายฉีดวัคซีนสูตรสลับทั่วประเทศ

นอกจากนี้ รายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ศึกษาระดับภูมิคุ้มต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา จากผู้เข้าร่วม 125 คน พบว่า ผู้ได้รับวัคซีนซินแวค 2 เข็ม ค่าระดับภูมิคุ้มกัน 24.31 ผู้ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม ค่าระดับภูมิคุ้มกัน 76.52 ผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก และแอสตราเซเนกาเข็มที่ 2 ค่าระดับภูมิคุ้มกัน 78.65 และผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และได้แอสตราเซเนกาเป็นเข็มกระตุ้น (booster dose) ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ค่าระดับภูมิคุ้มกัน 271.17

ผลศึกษาระดับภูมิคุ้มกัน

ผลการศึกษาระดับภูมิคุ้มกัน

ตัวเลขเป็นที่มาที่กระทรวงสาธารณสุขให้นโยบายฉีดวัคซีนในลักษณะของสูตรไขว้ หรือวัคซีนสลับ ซิโนแวคเข็มที่ 1 และตามด้วยแอสตราเซเนกา โดยที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก และกรุงเทพมหานครก็รับนโยบายเดียวกันนี้ไปปฏิบัติ เช่นเดียวกับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในผู้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกาก็ได้ผลดี และมีข้อดี คือ ระยะห่างระหว่างการฉีดเข็มแรกและเข็มที่ 2 เพียง 3 สัปดาห์ ทำให้มีความเหมาะสมกับบริบทการติดเชื้อและการระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่กระจายเป็นวงกว้างทั้งประเทศ

ผล ATK เป็นบวกกักตัวที่บ้าน ไม่ต้องรอยืนยันด้วย RT-PCR

ขณะที่ระดับความรุนแรงของผู้ติดเชื้อที่รอการจัดสรรเตียงในระบบ call center พบว่า เมื่อมีการพัฒนาระบบ home isolation และ community isolation ทำให้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยได้รับการดูแลที่บ้าน หรือที่ community isolation ทำให้มีเตียงว่างเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรืออยู่ในภาวะฉุกเฉินเข้าถึงเตียงได้มากขึ้น แนวโน้มการรอเตียงลดลงในทุกกลุ่มอาการ โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยกลุ่มอาการสีแดงรอเตียงเกิน 1 วัน 28 คน แม้กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะยังมีอัตราครองเตียงค่อนข้างเต็ม แต่ทิศทางจากนี้จะสามารถรองรับผู้ป่วยกลุ่มอาการสีแดงได้มากขึ้น

แนวโน้มการรอจัดสรรเตียง

แนวโน้มการรอจัดสรรเตียง

ด้านการกักตัวที่บ้าน ในกรุงเทพมหานครมีหน่วยปฐมภูมิดูแลทั้งหมด 262 หน่วย และมีทีมค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชนและนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ ตรวจด้วย ATK ไป 40,280 คน ผลเป็นบวก 4,701 คน อัตราการติดเชื้อร้อยละ 11.67 เมื่อค้นพบผู้ป่วยก็จัดสรรให้เข้าระบบ home isolation โดยไม่ต้องรอตรวจยืนยันด้วย RT-PCR ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตนเองที่บ้านได้

ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถกักตัวที่บ้าน สามารถไปที่ community isolation (CI) 14 แห่ง ซึ่งรับตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR แต่อาจต้องนัดหมายล่วงหน้า เพื่อเข้ากักตัวใน CI นั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ระบบทั้งหมดอาจจะยังไม่สมบูรณ์ มีข้อร้องเรียนจากประชาชนและสื่อมวลชนว่า ผู้ที่เข้าสู่การกักตัวแบบ home isolation ที่ควรจะได้รับอาหารและยา แต่ยังไม่ได้รับ กรุงเทพมหานครตรวจสอบแล้วพบว่า เกิดจากการที่ผู้ป่วยเข้าไปอยู่ในระบบรอเตียง CI ดำเนินการแก้ไขให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ข้อมูลผู้ป่วยซ้ำซ้อน ทำให้ได้รับการดูแลจากหลายหน่วยปฐมภูมิ หน่วยงานที่ดูแลรับทราบข้อเสนอแนะและจะพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับสายด่วนเพื่อเข้ารับการรักษา ได้เพิ่มหมายเลขสายด่วนของแต่ละเขตจำนวน 50 หมายเลข ซึ่ง กสทช. รายงานว่ามีคนโทรวันละประมาณ 4-5 พันสาย

ส่วนของ CI plus ศูนย์พักคอยที่รองรับอาการสีส้ม มีเครื่องให้ออกซิเจน เครื่องเอ็กซเรย์ปอด เปิดแล้ว 7 แห่ง กระจายตัวทั่วกรุงเทพมหานคร รองรับได้ 1,036 เตียง

CI plus

CI plus

สปสช. เตรียมกระจายชุดตรวจ ATK ฟรีที่ร้านยาทั่วประเทศ

ด้านทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวถึงแนวทางการให้ร้านขายยาเป็นจุดกระจายชุดตรวจ ATK ฟรี 8.5 ล้านชิ้น ให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศตามมติบอร์ด สปสช. ว่า ร้านขายยาที่จะเป็นจุดกระจายชุดตรวจ ATK นั้นจะต้องเป็นร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่มีเภสัชกรประจำตลอดเวลาทำการ และต้องเปิดทำการอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวันรวมไปถึงต้องขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ด้วย 

สำหรับประชาชนที่จะได้รับชุดตรวจ ATK จะต้องเป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ครอบครัวมีผู้ติดเชื้อ หรือเดินทางไปในที่ที่มีผู้ติดเชื้อ รวมไปถึงผู้ที่มีอาการคล้ายโรคโควิด-19 เช่น ไอ มีไข้ เป็นต้น โดยเมื่อก่อนถ้าในครอบครัวมีผู้ติดเชื้อ ทุกคนจะวุ่นวายในการหาที่ตรวจ RT-PCR และต้องใช้เวลานานกว่าจะรู้ผล ซึ่งการใช้ชุดตรวจ ATK จะทำให้รู้ผลไวขึ้น รวมไปถึงสามารถค้นหาผู้ติดเชื้อได้รวดเร็วขึ้น 

“เมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงเราไม่ได้อยากให้ออกมาเดินกับผู้อื่น เนื่องจากเมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ควรจะต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้าน ฉะนั้น สปสช. จึงมีระบบสำหรับกลุ่มเสี่ยงเพื่อขึ้นทะเบียนก่อน” รศ.ดร.ภญ. จิราพร ระบุ 

รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวต่อว่า เมื่อขึ้นทะเบียนเสร็จสิ้น สปสช. จะแจกจ่ายรายชื่อไปตามร้านยาใกล้บ้าน หรือตามความจำนงของผู้ที่ได้ลงทะเบียนไว้ โดยร้านขายยาจะติดต่อไปยังกลุ่มเสี่ยงเพื่อซักถามอาการ หรือข้อมูลเพื่อยืนยันว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจริงผ่านทางโทรศัพท์ หรือไลน์แอปพลิเคชัน จากนั้นจะดำเนินการส่งชุดตรวจ ATK ไปให้ที่บ้าน พร้อมคำแนะนำและอธิบายให้เข้าใจถึงวิธีการตรวจโควิดด้วยตนเอง

ตรวจแล้วต้องรายงานผลกลับไปที่ร้านขายยา

อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการตรวจแล้ว ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรจะต้องถ่ายรูปส่งกลับมาที่ร้านขายยา เมื่อร้านขายยาพบว่ามีผลเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ) ก็จะแนะนำให้กักตัวที่บ้าน และอีก 3-5 วันก็จะดำเนินการส่งชุดตรวจ ATK ไปให้อีกครั้งเพื่อยืนยันผลตรวจอีกทีหนึ่ง ในกรณีเมื่อตรวจแล้วพบว่าผลเป็นบวก (ติดเชื้อ) เภสัชกรจะสอบถามอาการเพื่อประเมินกลุ่มอาการเขียว-เหลือง-แดง ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มอาการสีเขียวสามารถรักษาตัวที่บ้าน (Home isolation) ได้ ซึ่งเภสัชกรจะจัดชุดยาที่ใช้รักษาตามอาการส่งให้ที่บ้านพร้อมติดตามอาการทุกวัน 

ขณะเดียวกัน ถ้าไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ก็จะแนะนำให้ไปรักษาในชุมชน (Community isolation) เนื่องจากกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ผ่านการลงทะเบียนกับทาง สปสช. แล้ว ในกรณีถ้าเป็นกลุ่มอาการสีเหลือง- แดง สปสช.ก็จะทราบว่าต้องส่งตัวไปที่โรงพยาบาลใด ซึ่งก็จะทำให้ระบบเดินไปได้อย่างรวดเร็ว 

“นั่นแปลว่าก็จะทำให้หาผู้ติดเชื้อได้เพื่อแยกออกมาจากสังคม ขณะเดียวกันก็ลดโอกาสในการพัฒนาเป็นกลุ่มสีเหลือง-แดงของผู้ป่วยจากการรอเตียง ซึ่งเราก็ส่งยาไปให้ได้เลย” รศ.ดร.ภญ.จิราพร ระบุ

ให้ร้านขายยาช่วยจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์

รศ.ดร.ภญ. จิราพร กล่าวอีกว่า สำหรับการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์โดยร้านขายยาก็จะดำเนินการควบคู่กันไปด้วย โดยร้านขายยาจะเป็นหน่วยบริการที่จะทำ Home isolation สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ตรวจแล้วพบผลเป็นบวกและมีอาการ ซึ่งมีการประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการที่จะให้ร้านขายยาสามารถกระจายยาเหล่านี้ไปที่ผู้ป่วยได้ ซึ่งก็จะพยายามเริ่มระบบไปพร้อมกัน 

อย่างไรก็ตาม ร้านขายยาประเภท ข.ย.1 ทั่วประเทศมีอยู่ประมาณหลักหมื่นร้าน โดยขณะนี้มีร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 1,000 ร้าน และกำลังทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งก็จะพยายามประชาสัมพันธ์ให้ร้านขายยาเข้ามาร่วมโครงการ 

“เราจะได้ใช้วิชาชีพเภสัชกรรมในการให้บริการ เพื่อช่วยประเทศในการแก้ปัญหาโรคระบาด เพราะเรามีความรู้เรื่องยาเราก็สามารถให้คำแนะนำการใช้ยา-ชุดตรวจที่ถูกต้อง เหมาะสม ทำให้ระบบเดินต่อไปได้ เพราะตรวจได้เร็วก็สามารถที่จะควบคุมการกระจายของโรคได้” รศ.ดร.ภญ.จิราพร ระบุ กล่าว 

รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวว่า ระหว่างรอชุดตรวจ ATK ที่ยังไม่มานั้น สปสช. พยายามที่จะประสานกับสภาเภสัชกรรม และ อย. เพื่อทำให้ระบบสามารถเดินได้ ในขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังเตรียมตัว-บริหารจัดการ ส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อมีชุดตรวจมาถึง ร้านขายยารวมถึงระบบต่างๆ ก็จะพร้อมและจะสามารถแยกคนที่ติดเชื้อออกจากคนที่ไม่ติดเชื้อ ทำให้การแพร่เชื้อลดลง 

“ตอนนี้ระหว่างรอชุดตรวจ ก็มีการเตรียมงานหลังบ้านให้เรียบร้อย เมื่อไหร่ที่ชุดตรวจมาก็จะสามารถบริหารจัดการได้ด้วยระบบที่โปร่งใส ฉะนั้นก็จะมีระบบการขึ้นทะเบียน และระบบการป้อนข้อมูลก็จะทำให้ทราบว่าชุดตรวจใช้ไปเท่าไหร่ เรามองว่าต้องทำทุกอย่างให้โปร่งใสและไม่มีข้อกังขากับประชาชน” รศ.ดร.ภญ. จิราพร ระบุ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net