Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตยชวนคนข่าวหน้าเก่า-หน้าใหม่ คุยเรื่องการทำข่าวในพื้นที่ขัดแย้งทางการเมือง ศาสนา สิ่งแวดล้อม ชวนดูความซับซ้อนเมื่อมีความขัดแย้งสะสม และมีอุดมการณ์ชาตินิยมหรือความเชื่อ แต่ต้องวางตัวและสื่อสารอย่างระมัดระวังเพื่อสร้างความเข้าใจ ให้ข้อเท็จจริง หาทางออกของปัญหา และเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับมนุษย์ด้วยกัน

20 ส.ค. 2564 สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) จัดวงเสวนาในแอปพลิเคชั่น Clubhouse ในหัวข้อ “สื่อสารอย่างไรในความขัดแย้ง” โดยมีสันติวิธี พรหมบุตร ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวไทย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการคนสุดท้ายของหนังสือพิมพ์ The Nation, นวลน้อย ธรรมเสถียร สื่อมวลชนอิสระ, ธัญญารัตน์ ถาม่อย ผู้สื่อข่าวภาคสนาม, และณิชา เวชพานิช ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวสิ่งแวดล้อมเป็นแขกรับเชิญ ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดยณรรธราวุธ เมืองสุข และวศินี พบูประภาพ

ฐานคิดสื่อเปลี่ยนหลังตั้งแต่พฤษภาทมิฬ

เวทีเปิดด้วยการพูดถึงบทบาทสื่อในความขัดแย้งร่วมสมัยในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 ผ่านสายตาของผู้อยู่ในเหตุการณ์อย่างนวลน้อยและสุภลักษณ์ โดยนวลน้อยเล่าว่าสมัยนั้นยังทำงานอยู่กับสำนักข่าวบีบีซีที่กรุงลอนดอน และได้เดินทางมาลงพื้นที่ที่กรุงเทพฯ ในช่วงนั้นสื่อที่เป็นของทหารจะไม่ค่อยมีเรื่องของคนที่ไปชุมนุม บทบาทการรายงานข่าวการชุมนุมจึงเป็นหน้าที่ของสื่อเอกชนและสื่อชายขอบ ตอนนั้นบีบีซีได้รับข้อมูลมาเยอะมาก ได้ไปคุยกับคนที่มาชุมนุมและคนที่ไม่ได้ไปชุมนุม จนกระทั่งตอนที่มีการสลายการชุมนุม ในฐานะนักข่าววิทยุ ก็เดินสัมภาษณ์คนและเก็บเสียงในพื้นที่ต่างๆ จนกระทั่งเมื่อสถานการณ์ลุกลามเป็นมิคสัญญีก็ต้องถอยออกมา

ด้านสุภลักษณ์เล่าว่า ช่วงนั้นเป็นนักข่าวให้สำนักข่าวผู้จัดการ และก็อยู่ในที่เกิดเหตุที่มีการปราบปราม แต่จำได้ว่าไม่ได้รายงานข่าวเลยแม้แต่คำเดียว ตอนนั้นสื่อมวลชนที่เป็นเอกชนโดยรวมกลับลำต่อต้านรัฐบาลหมดอย่างเห็นได้ชัด เพราะชนชั้นนำค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าไม่เอารัฐบาล สำนักข่าวผู้จัดการก็แทงม้าแล้วว่าจะต่อต้านเผด็จการเต็มที่ มีการเปิดเซฟเฮาส์เพื่อผลิตสิ่งพิมพ์พิเศษเกี่ยวกับเหตุการณ์พฤษภาและการไล่รัฐบาล แต่ด้วยความที่ตอนนั้นก็เด็กมากเขาก็ไม่ได้ให้ทำอะไร จนตอนค่ำๆ ที่จะมีการสลายการชุมนุมก็มีรุ่นพี่มาบอกว่า พวกมึงรีบออกไปเลย เขาจะปราบกันแล้ว เช็ควงในกันมาแล้ว หลังจากนั้นก็มีการเริ่มยิง ก็หลบกระสุนหนีไปเรื่อยๆ จนมีตำรวจพาออกจากพื้นที่ จากนั้นก็ตามข่าวทางวิทยุจนมารู้อีกทีหลังจากนั้นหนึ่งอาทิตย์ว่ารัฐบาลสุจินดา คราประยูรแพ้แล้ว

สุภลักษณ์เล่าว่า ในช่วงปี 2535 สื่อมวลชนไทยมีฉันทามติว่าไม่อยากให้ทหารมาปกครองประเทศ ไม่อยากให้สื่อตกอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐบาลอีก แต่หลังปี 2535 เรื่อยมาถึงปี 2549 พัฒนาการของสังคมเปลี่ยน หลังจากสื่อมวลชนมีเสรีภาพมากขึ้น รายงานอย่างเป็นมืออาชีพมากขึ้น ก็มีเรื่องการเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อได้ผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง การรัฐประหารในปี 2549 ก็เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางธุรกิจที่มีสื่อมวลชนเกี่ยวข้อง ก็มีการใช้โมเดลปี 2535 ที่ว่าสื่อสามารถล้มรัฐบาลได้ ก็เห็นการเกิดขึ้นของกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่นำโดยสื่อมวลชน หลังจากนั้นก็มีสื่อที่ประกาศเลือกข้างแล้วก็ทิ้งความเป็นมืออาชีพ ถือเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจในวงการสื่อมวลชนไทย ที่เกิดการรวมหัวต่อต้านทักษิณ ชินวัตรที่ผูกขาดผลประโยชน์ของวงการสื่อมวลชนหลายอย่าง

แต่หลังจากที่ทักษิณไม่แพ้ในทางการเมือง สื่อก็ยังเป็นกระบอกเสียงในการต่อต้านอยู่ จะเห็นว่าช่วงปี 2553 นั้น สื่อสามัคคีต่อต้านกลุ่มคนเสื้อแดง และคนเสื้อแดงก็มีสื่อของตัวเองตามสื่อดาวเทียมหรือวิทยุชุมชน จนมาถึงยุคท้ายๆ การเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้ประชาชนเข้าถึงสื่อได้ง่ายขึ้น ใครๆ ก็สามารถอัปโหลดคลิปได้ ทำให้นักข่าวเกือบเป็นอาชีพที่ไม่จำเป็น สื่อก็ไปตามเซเลบต่างๆ แล้วเอามาปั้นเป็นข่าวเพื่อดึงเรตติ้ง แล้วเอารายได้จากการติดตาม (subscribtion) หรือค่าโฆษณาเข้ามาบ้าง ก็ถือเป็นความกดดันที่สื่อมวลชนที่จะเลือกกระโจนเข้าไปในความขัดแย้ง เกิดการเลือกขางชัดเจน แล้วสถานการณ์ก็พาไปให้เลือกพูดให้อีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายก็จะมีสื่อที่คอยโต้ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน กลายเป็นว่าประชาธิปไตยกลายเป็นเรื่องที่แย่ในสายตาคนบางกลุ่มไปแล้ว ซึ่งจะเป็นปัญหามาก เกิดสิ่งที่เรียกว่าข้อมูลบิดเบือน หรือข่าวปลอม

ความท้าทายที่ไกลกว่าการรายงานเหตุการณ์

นวลน้อยกล่าวว่า ความท้าทายในการทำข่าว ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมหรือในสถานการณ์ความขัดแย้งอื่นๆ คือการทำให้เรื่องราวลึกลงไป ให้ผู้อ่านหรือคนที่อยู่ไกลออกไปจากสถานที่หรือประเด็นนั้นได้มีส่วนร่วมกับประเด็นนั้นๆ

"เรื่องการชุมนุมเป็นระนาบข้างบนของปัญหา เพราะก่อนมาชุมนุมมันมีปัญหาที่ถูกแช่อยู่ข้างล่าง การชุมนุมมันเป็นการแสดงออกที่เป็นจุดยอดของมัน หลังชุมนุม ปัญหาหลายอย่างมันยังอยู่ เวลามีการตกลงกับรัฐหรือถูกสลายการชุมนุม มันไม่ใช่การแก้ปัญหา"

"ความท้าทายของนักข่าวคือการทำยังไงให้คนรับสารเห็นว่า ก่อนที่เขาตัดสินใจมาชุมนุมที่เป็นการตัดสินใจของปัจเจก มันเกิดอะไรกับการตัดสินใจของเขา มันเป็นเรื่องต้นทุนของผู้ชุมนุมที่ไม่เหมือนกัน แต่ก่อนจะมีคำว่าจ้างมาชุมนุม ก็ว่ากันไปตามกรณี แต่มันไม่ใช่ทฤษฎีที่ใช้ไม่ได้ทุกครั้ง"

"ความท้าทายของนักข่าวคือทำอย่างไรในการทำสิ่งเหล่านี้ให้คนได้เห็น คือเชื่อมโยงความเป็นมนุษย์เข้ากับมนุษย์ด้วยกัน ให้เห็นว่าคนที่มาชุมนุมมีเดิมพันกับสิ่งเหล่านั้นด้วย มันไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองไม่เกี่ยวข้อง" นวลน้อยกล่าว

สุภลักษณ์มองว่าการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งนั้น ควรรายงานอย่างเป็นภววิสัย คือรายงานอย่างที่เป็น ไม่ใช่รายงานอย่างที่อยากให้เป็น และไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (non partisan) ที่จะทำให้การรายงานเป็นกระบอกเสียงให้อีกฝ่าย หากเคร่งครัดจริงๆ การปราศจากอคตินั้นหมายถึงในทางอุดมการณ์ด้วย ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ยาก หากมีเรื่องอุดมการณ์ชาตินิยมหรือความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นกรณีเขาพระวิหารหรือตาลีบัน ดังนั้นต้องมีความละเอียดอ่อนในการไม่ผูกตัวเองกับคู่ขัดแย้ง แสดงตัวให้ชัดว่าไม่ได้อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 

นอกจากนั้น ต้องประเมินความขัดแย้งว่าใครกำลังขัดแย้งกับใคร ด้วยเรื่องอะไร รากเหง้าความขัดแย้งนั้นมาจากไหน ใครได้รับผลกระทบบ้าง และหาความเห็นของคนที่มองจากจุดยืนของคนข้างนอก เพื่อหาโอกาสว่าใครพูดจริงหรือเท็จ ก็จะถือเป็นความพยายามที่สื่อมวลชนจะต้องทำ เพื่อไม่ให้เป็นการรายงานข่าวแบบโต้ไปโต้มา และไม่ทำให้การรายงานข่าวเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ท้ายที่สุดคือการหาทางออกให้ปัญหา ไปดูว่ามีทางเลือกอะไรที่สามารถยุติความขัดแย้งนั้นได้ เช่น หาว่าใครกำลังแก้ปัญหาอยู่ หรือใครมีโอกาสจะเป็นคู่เจรจากัน เป็นต้น

ทำงานอย่างไรเมื่อเห็นคู่ขัดแย้งชัดเจน

ธัญญารัตน์​ยกตัวอย่างการทำงานเมื่อไปทำข่าวกรณีที่มีการปิดล้อมวัดธรรมกาย ว่าได้เห็นภาวะความขัดแย้งจากมุมมองที่แตกต่าง เมื่อบวกกับเรื่องศาสนา ความเชื่อ ก็ทำให้มีความซับซ้อน และสะท้อนถึงความพยายามการจัดการอำนาจต่างๆ หลังการรัฐประหาร เมื่อสื่อไปอยู่ตรงกลาง การนำเสนอว่าใครถูกหรือผิดก็ยากมาก ก็รายงานข่าวที่เป็นลักษณะเชิงเหตุการณ์และคดีความที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้รายงานในมิติความเชื่อ ตอนที่เข้าไปก็มีคนเดินตาม มีคนจำชื่อได้ มีคนพยายามให้ข้อมูลจากฝั่งของเขา สื่อก็กลายเป็นคู่ขัดแย้ง เข้าไปรายงานข่าวก็โดนสวดมนต์ใส่ การรายงานข่าวจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน

จนมาถึงการทำข่าวเรื่องการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ เรื่อยมาจนถึงการชุมนุมทุกวันนี้ ธัญญารัตน์เล่าว่า ข่าวการชุมนุมนั้นมีคู่ขัดแย้งที่ชัดเจน สิ่งสำคัญในการทำข่าวคือการหาข้อมูลปูมหลังของกลุ่มต่างๆ ไปจนถึงท้องที่ของตำรวจที่ควบคุมพื้นที่ เพราะปฏิบัติการตำรวจเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ที่จะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปด้วย นอกจากนั้น ยังต้องพยายามรายงานข่าวให้ครบทุกด้าน ทั้งสิ่งที่ผู้ชุมนุมพยายามทำ พยายามสื่อสาร และข้อความจากทางตำรวจ และต้องเลือกใช้คำอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีความหลากหลาย

"สิ่งที่ท้าทายก็คือเรื่องของการรายงานข่าวออกไปให้มันเป็นกลาง ให้มันตรงไปตรงมาที่สุดอย่างที่เราเห็น และอีกเรื่องก็คือเรื่องความปลอดภัย มีสื่อหลายคนที่ได้รับบาดเจ็บขณะที่ทำข่าว อย่างจุดดินแดง เราว่ามันเป็นจุดที่สุ่มเสี่ยงในการลงพื้นที่ไปรายงานข่าว ช่วงนี้อยู่ทั้งจุดดินแดงและจุดชุมนุมหลัก เวลาเราไปรายงานที่ดินแดง ตัวเองก็แทบจะไม่ใช้คำว่าผู้ชุมนุม เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมก็พยายามปฏิเสธว่านี่ไม่ใช่การชุมนุมที่เป็นหัวใจหลัก"

ด้านณิชาเล่าว่า ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่กินเวลายาวนานหลายปี มีความสะสมของความกดดันและความขัดแย้ง จนทำให้มีความขัดแย้งสะสมอยู่ในพื้นที่ และมีผลกับคนภายนอกที่จะเข้าไป ณิชายกตัวอย่างกรณีหมู่บ้านคลิตี้ จ.กาญจนบุรี ที่มีประเด็นเรื่องการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจากผลกระทบของเหมือง ประชาชน หน่วยงานรัฐ และผู้เข้ามาทำการเยียวยาฟื้นฟูพื้นที่ต่างมีความขัดแย้งกัน ทำให้เวลาลงไปพื้นที่ก็ถูกตีตราว่าอยู่ฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ เมื่อสอบถามคำถามให้รอบด้านกับหน่วยงานรัฐ ก็มีที่ถูกตั้งคำถามว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามหรือเปล่า เคยมีชาวบ้านมาถามว่าทำไมถึงทำข่าวแค่ฝ่ายเดียว คนในพื้นที่มีการเก็บข่าวไว้ในแฟ้ม วงข้อมูลเอาไว้หมดว่ารายงานอะไรไป

เธอเล่าว่า การทำข่าวก็ไม่จำเป็นต้องลงไปเป็นคู่ขัดแย้งได้ ยังมีการนำเสนอแบบอื่นที่ทำให้ผู้อ่านเห็นถึงความเป็นการเมืองหรือนัยต่างๆ มากไปกว่าเพียงการไปสัมภาษณ์คน เช่น ทำงานกับข้อมูลหรือเอกสารมากขึ้น แล้วนำข้อมูลในเอกสารสัญญาหรือสัมปทานออกมาเผยแพร่ ถอดเอกสารภาษาอังกฤษแบบคำต่อคำ หรือในช่วงโควิด-19 ระบาด ก็คิดอยู่ว่าจะเอาเรื่องการระบาดมารวมกับงานข่าวสิ่งแวดล้อมที่ทำอยู่ เพื่อสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมให้คนไทยได้อย่างไรบ้าง

"การทำข่าวไม่จำเป็นต้องไปสัมภาษณ์คนอย่างเดียว หรืออยากให้คนนี้พูด ว่ามีปัญหายังไง โครงการรัฐอันนี้มันมีปัญหา แต่ข่าวมันทำได้หลายวิธีที่คนอ่านสามารถสังเกตได้เองว่าเกิดอะไรขึ้น หรือมีความทะแม่งๆ" ณิชากล่าว

บทเรียนจากเส้นทางทำข่าวในหลายพื้นที่ขัดแย้ง

สันติวิธีเล่าว่า ได้ลงไปทำข่าวที่พื้นที่ชายแดนใต้ครั้งแรกตอนเข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์คมชัดลึก จากนั้นมีเหตุที่ต้องกลับ กทม. พอเกิดความรุนแรงในปี 2547 ก็ได้กลับไปในพื้นที่อีกครั้งเมื่อทำงานกับสำนักข่าวไทย ก่อนไปก็ศึกษาข้อมูล สถานการณ์ต่างๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น แต่เมื่อลงไปจริงๆ ก็ยังมึนว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะข้อมูลที่ได้รับจากแต่ละแหล่งนั้นแตกต่างกันมาก ช่วงนั้นมีศูนย์ข่าวอิศราก็ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสื่ออื่นๆ และสามารถทำงานได้ลึกมากขึ้น

สันติวิธีเล่าว่า บทเรียนที่ได้จากการทำงานในสนามข่าวมายาวนาน คือ ความสำคัญในการร่วมงาน แลกเปลี่ยนข้อมูลกับสื่ออื่นๆ และไม่แต่งตัวให้เหมือนกับคู่ขัดแย้งในพื้นที่ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากความเข้าใจผิด เขายกตัวอย่างเรื่องการแต่งกายด้วยชุดเดินป่าสีหม่น ที่ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่กัมพูชาติดตามตัวเมื่อครั้งไปทำข่าวที่ชายแดนไทย-กัมพูชาในประเด็นปราสาทเขาพระวิหาร หรือการเลือกที่จะแต่งตัวด้วยสีฟ้า ที่ไม่เหมือนผู้ชุมนุม นปช. หรือ กปปส.

สันติวิธีเล่าด้วยว่า ในการทำข่าวการชุมนุม เขาจะเตรียมอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ และแผนผังของพื้นที่เอาไปแจกให้ทีมงาน เผื่อเอาไว้ในสถานการณ์ที่ต้องใช้เพื่อเดินทางหรือเพื่อหนีออกจากพื้นที่ และที่สำคัญที่ต้องมีคือข้อมูลพื้นฐานการชุมนุม เช่น ที่มาของการชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุม ตำรวจมากี่กองร้อย เป็นต้น เพื่อให้รายงานสถานการณ์สดได้ง่าย หากเกิดการเผชิญหน้า ก็จะหลบฉากไปอยู่ด้านข้างที่สามารถเห็นคู่ขัดแย้งทั้งสองฝั่ง แต่ในสถานการณ์ที่อันตรายมากและทำเช่นนั้นไม่ได้ เช่น การสลายการชุมนุมปี 2553 ก็จะรายงานตามที่ตาเห็น ตระเวนไปเรื่อยๆ จากนั้นค่อยไปลงรายละเอียดในรายงานพิเศษทีหลัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net