ทรรศนะ-บทบาทเอ็นจีโอชายแดนใต้/ปาตานี ในพื้นที่ขัดแย้งซ้อนวิกฤติโควิด-19 ระบาด

สำรวจทรรศนะเอ็นจีโอชายแดนใต้/ปาตานี ทั้งต่อการบริหารจัดการโควิดของรัฐบาลประยุทธ์ และความเป็นพื้นที่สีแดงของโรคระบาดโควิดกับพื้นที่พิเศษที่เรียกว่าพื้นที่สงคราม

  • นายกสมาคมจันทร์เสี้ยวฯ ชี้รัฐบาลชะล่าใจ เลยกลายเป็นจำเลยของสังคม ระบุทำงานประสาน ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านการแพทย์ให้กับองค์กรด้านศาสนา
  • เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ชี้รัฐล้มเหลวในเรื่องบริหารจัดการ ด้านประชาชนมองว่าไม่ใส่ใจมากกว่าขาดองค์ความรู้ ย้ำการก่อเหตุก็เป็นการซ้ำเติมคนในพื้นที่ เผยเครือข่ายเน้นทำงานร่วม ลงพื้นที่แจกถุงยังชีพ ช่วยทั้งพุทธและมุสลิม
  • The Patani มองประชาชนไม่รู้จักโรค รัฐบาลประมาทไม่เรียนรู้ ระบบสาธารณสุขล้มเหลว องค์กรร่อนหนังสือให้ทุกฝ่าย หวังให้จัดการโควิดได้สำเร็จ ระบุขณะที่ BRN ประกาศวางอาวุธ เพื่อการทำงานของแพทย์ แต่รัฐกลับยั่วยุเพื่อเกิดการตอบโต้
  • สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ระบุรัฐสั่งปิดหมู่บ้าน แต่กลับไม่มีมาตราการการดูแล ย้ำเราต้องหวังพึ่งตนเองในการรณรงค์สร้างความเข้าใจ เผยสมัชชาฯ ขับเคลื่อนใน 3 ประเด็น ลงพื้นที่ตามปัจเจกชน สร้างความตระหนักรู้ และเสนอโมเดลชุมชนจัดการตนเอง 

สำหรับประเด็นทรรศนะเอ็นจีโอชายแดนใต้/ปาตานีต่อการบริหารจัดการโควิดของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น จากการสัมภาษณ์ นพ.กิ๊ฟลัน ดอเลาะ นายกสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข รักชาติ สุวรรณ์ ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani และมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) มีทัศนะที่น่าสนใจดังนี้

นายกสมาคมจันทร์เสี้ยวฯ ชี้รัฐบาลชะล่าใจ เลยกลายเป็นจำเลยของสังคม

นพ.กิ๊ฟลัน ดอเลาะ นายกสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวว่า ระลอกแรกรัฐบาลประกาศมาตรการล็อคดาวน์แบบเข้มงวดมาก ฉะนั้น ผลออกมา โควิดค่อนข้างที่จะถูกจัดการได้เร็ว จะมีปัญหาก็แต่เรื่องเศรษฐกิจ ประชาชนไม่สามารถทำมาหากินได้เหมือนปกติ กระนั้นก็ตามระลอกนั้นรัฐบาลได้รับคำชื่นชมในเรื่องการจัดการโควิดจากต่างประเทศด้วย

พอมาระลอกใหม่ล่าสุดกลับเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ก็ใช่ว่าไม่มีการคาดการณ์มาก่อนแล้ว แต่พอมันเกิดขึ้นมาใหม่รัฐบาลก็เลือกวิธีการจัดการโควิดจากการเรียนรู้ในระลอกแรก คือ เลือกรูปแบบที่มันไม่ไปกระทบต่อเรื่องเศรษฐกิจ เลยไม่มีการล็อคดาวน์ในช่วงแรกๆ ออกมาตรการบ้าง แต่ไม่ได้เข้มงวดเหมือนระลอกแรก แต่พอเหตุการณ์มันเริ่มบานปลายถึงขั้นรุนแรง การแพร่เชื้อระบาดหนักขึ้น รัฐเลยต้องประกาศมาตรการอย่างเข้มงวดขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการค้นพบ และการพัฒนาวัคซีนที่สำเร็จ เรื่องวัคซีนเลยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ซึ่งโดยหลักการแล้วมันน่าจะไม่หนักเท่าที่ผ่านมา แต่ปรากฎผลออกมากลายเป็นตรงข้าม คือ หนักกว่าระลอกแรกหลายเท่า อาจเป็นเพราะมาตราการล็อคดาวน์ในช่วงแรกไม่ค่อยเข้มงวด และวัคซีนกลับไม่ได้ตามเป้า ไม่ได้นำวัคซีนตัวที่ดีที่สุดเข้ามา รวมถึงการฉีดวัคซีนไม่ได้เร็วเท่าที่ควร ไม่ได้จำนวนที่สามารถจะหยุดโรคได้ สถานการณ์เลยบานปลายหนักขึ้นอย่างสาหัส

นายกสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข มองว่า ในระลอกล่าสุดประชาชนเริ่มรู้ว่ามีวัคซีนเข้ามาช่วยแล้ว มาตรการส่วนตัวของประชาชนเองก็อาจจะไม่ได้รัดกุมเหมือนก่อนหน้านี้ เพราะพวกเขาหวังพึ่งวัคซีนจากรัฐ แต่ผลปรากฎว่า ประเทศกลับหยุดโรคไม่ได้ทั้งที่มีวัคซีนเข้ามาแล้ว กระแสต่อต้านจากประชาชนเลยเกิดขึ้น มีการกดดันให้รัฐบาลจัดหาวัคซีนที่ดีให้กับบุคลากรทางการแพทย์จนถึงประชาชนทั่วไป รัฐบาลเลยกลายเป็นจำเลยในเรื่องนี้

นพ.กิ๊ฟลัน ดอเลาะ นายกสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข

"ส่วนกิจกรรมด้านศาสนาที่มันเกี่ยวข้องกับโควิดก็จะมีสำนักจุฬาราชมนตรีคอยประกาศถึงมาตรการต่างๆ แต่การนำไปใช้ในพื้นที่มันกลับไม่ชัดเจน ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเขาไม่ได้เป็นองค์กรการปกครองที่มีอำนาจในการจัดการ เลยออกมาในลักษณะขอความร่วมมือมากว่า ส่วนสังคมจะให้ความร่วมมือหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ก็จะให้ความร่วมมือย่างดี มีเพียงแค่บางกลุ่มเท่านั้น" นพ.กิ๊ฟลัน กล่าว

เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ชี้รัฐล้มเหลวในเรื่องบริหารจัดการ ด้านประชาชนมองว่าไม่ใส่ใจมากกว่าขาดองค์ความรู้

รักชาติ สุวรรณ์ ประธาน เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงทรรศนะด้านโรคระบาดโควิดว่า เป็นวิกฤติของคนทั้งโลกที่ได้รับผลกระทบกันทุกคน หากมองย่อส่วนเฉพาะในประเทศไทยมันค่อนข้างที่จะมีปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการ เช่น เรื่องการดูแลผู้ป่วย เรื่องโรงพยาบาลสนาม เรื่องผู้ติดเชื้อเสียชีวิตภายในบ้าน หรือ ริมถนน แม้กระทั้งเรื่องการจัดการวัคซีน เช่น การนำวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ไปฉีดให้กับเจ้าหน้าที่ด่านหน้า แต่กลับเห็นกลุ่มทางการแพทย์ไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการฉีดจริงๆ ซึ่งเราสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า วัคซีนมันหายไปไหน สะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาไม่ไว้วางใจเจ้ากระทรวงแล้ว ซึ่งข้อบกพร่องของรัฐบาลชุดนี้สามารถพิสูจน์ได้มากพอสมควร ถ้าจะใช้คำว่าล้มเหลวก็น่าจะได้อยู่

ส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มันเพิ่มมุมด้านความเชื่อเข้ามาในกลุ่มคนมุสลิมบางส่วนที่เขาไม่ต้องการนำสิ่งแปลกปลอมอย่างวัคซีนเข้ามาในร่างกายของเขา แม้กระทั้งการมองว่าโควิดเป็นเพียงแค่โควิดทิพย์ หรือ เป็นสิ่งสมมุติ หรือ สิ่งที่มโนขึ้นมาเอง มันเป็นชุดความเชื่อว่า หากพระเจ้าส่งโรคนี้มา พระเจ้าก็จะปัดเป่าให้หายไปเอง ซึ่งเป็นชุดความเชื่อของคนมุสลิมบางกลุ่มในพื้นที่

แต่ในส่วนของพี่น้องคนไทยพุทธในพื้นที่จะไม่มีชุดความเชื่อแบบนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะยอมฉีดวัคซีน เพราะคิดว่ามันจะเพิ่มภูมิต้านทานเข้าไปในตัว อาจเป็นเพราะความกลัวต่อโรคก็ได้ แต่มันจะมีชุดความคิดที่เหมือนๆ คนไทยทั้งประเทศ คือ การนำวัคซีนที่ดี มีคุณภาพ และประสิทธิภาพเข้ามาช่วยเหลือคนในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นซิโนแวค (Sinovac) ก็จะไม่เอา หรือ ถ้าเป็นแอสตร้าเซนเนก้า (Astra Zeneca) ก็อาจจะต้องคิดดูก่อน แต่ถ้ามีซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ก็จะขอเป็นซิโนฟาร์มดีกว่า

รักชาติ สุวรรณ์ ประธาน เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

"ผมคิดว่า เป็นสิทธิของเขาที่จะเลือกได้ คุณจะเลือกฉีดวัคซีนยีห้อไหนที่คุณคิดว่าดีก็สุดแล้วแต่คุณ ใครจะฉีด หรือ ไม่ฉีด ก็เป็นสิทธิส่วนตัวของเขา แต่เขาไม่มีสิทธิที่จะนำเชื้อของโรคไปแพร่ให้กับคนอื่นได้ ซึ่งถ้าคุณไม่ฉีด คุณก็ต้องป้องกัน แต่เท่าที่ผมสังเกตตอนลงพื้นที่พี่น้องคนไทยพุทธส่วนใหญ่จะใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน แต่พี่น้องมุสลิมในพื้นที่จะรวมตัวกันตามร้านน้ำชาโดยที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องการใส่ใจมากกว่าเรื่องการขาดองค์ความรู้ แต่ก็ใช่ว่าพี่น้องคนไทยพุทธจะไม่มีการรวมกลุ่ม ก็จะมีให้เห็นบ้างรวมกลุ่มเพื่อสังสรรค์ หรือ รวมกลุ่มเพื่อเล่นการพนัน ก็จะเป็นประเด็นสุ่มเสี่ยงของพี่น้องคนไทยพุทธไป" รักชาติ กล่าว

The Patani มองประชาชนไม่รู้จักโรค รัฐบาลประมาทไม่เรียนรู้ ระบบสาธารณสุขล้มเหลว

อาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ทั้งในนามส่วนตัวและในนามเพื่อนๆ The Patani มองโควิดระลอกล่าสุดค่อนข้างสาหัส อาจจะด้วยความรุนแรงของตัวมันเอง และการจัดการของภาครัฐเอง ถ้าดูปีที่แล้วหลายคนชื่นชมรัฐบาลไทยต่อการจัดการโควิด และมองว่าประเทศไทยอยู่แนวหน้าในด้านสาธารณสุข หรือ เรื่องสุขภาพ จนทำให้หลายๆ คนชะล่าใจในการจัดการโควิดระลอกแรก หลายๆ คนพูดออกมาเสียงเดียวกันว่า เหตุที่มันออกมาดีเป็นเพราะการใช้ยาแรงเกินจำเป็นหรือเปล่า และในทางกลับกันก็มีคนประเมินแล้วว่า มันมีโอกาสที่จะทำให้คนไม่เข้าใจโรคจริงๆ

เมื่อมาระลอกใหม่ปรากฎว่า เป็นแบบนั้นจริงคนไม่เข้าใจโรค ส่วนรัฐเองก็ประมาทมองว่าตัวเองเคยจัดการกับโรคได้ดีเลยเพ้อถึงการจัดการในระลอกแรก พอมาระลอกใหม่เลยไม่รู้ว่าจะไปอย่างไรต่อ แต่ยังไม่นับรวมถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการวัคซีน มาตราการดูแลตัวเองเป็นไปได้อย่างมีข้อจำกัด

สรุปวิกฤติโควิดระลอกใหม่นี้ไม่มีใครคาดคิดว่าตัวเลขของไทยจะมากกว่ามาเลเซีย ทั้งที่ระลอกแรกคนไทยยังกังวลมากว่าจะมีเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียจะพาเชื้อเข้ามาในประเทศไทย และรู้สึกว่าไทยเป็นประเทศที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ต่อการจัดการโควิด แต่มาวันนี้คนไทยกลับอิจฉาประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศกัมพูชา หรือ ประเทศลาว ที่ได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นวัคซีนที่คนให้ความน่าเชื่อถือ

ระลอกใหม่นี้ตนมองว่ามันหนักมาก แต่ความหนักของมันสามารถคาดการณ์ได้ถ้าเกิดเราวางแผนกันดีๆ เพราะว่าเวลาในการทำความเข้าใจ หรือ เวลาในการรับมือมีเวลาปีกว่าที่รัฐควรจะเรียนรู้ อย่างประเทศมาเลเซียจะเห็นว่าระลอกแรกเขายังตั้งหลักไม่ได้ แต่เขาพยายามเรียนรู้อย่างรวดเร็วจนสุดท้ายมันก็ทรงตัว รับมือมันค่อนข้างดี

ตอนนี้ยอดผู้ที่ติดเชื้อมันไม่ได้มีนัยยะสำคัญเท่ากับระบบสาธารณสุขยังดูแลคนป่วยได้หรือเปล่า ในไทยถือว่าจำนวนคนเสียชีวิตต่อยอดของอาการการผู้ที่ติดเชื้อ ถือว่ายอดผู้เสียชีวิตสูงมาก ประเทศที่พัฒนาแล้วถึงจะเจอสายพันธุ์เดลต้าระบาดหนัก แต่เขาก็รักษายอดผู้เสียชีวิตได้ และยังรักษายอดผู้ป่วยอาการหนักได้

อาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani

ประธาน The Patani กล่าวอีกว่าตนมองว่าพอระลอกใหม่มาคนไทยกลับพึ่งจะเรียนรู้ เพราะยังมีคนที่ไม่เชื่ออยู่ว่าโควิดมีจริง และยังมองว่ามันเป็นเรื่องการเมืองของรัฐ ทั้งที่มันควรชัดเจนตั้งนานแล้ว แต่คนกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ ต้องมาสอนกันใหม่ เพราะระลอกแรกเป็นการจัดการของรัฐฝ่ายเดียว โดยไม่ได้ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมตามที่สมควรของภาคส่วนรวม สรุปภาพรวมบอกได้เลยว่าเป็นความล้มเหลวของภาครัฐ ประชาชนไม่รู้จะให้ความร่วมมืออย่างไร จึงกลายเป็นเหยื่อของการจัดการของรัฐ

CAP ระบุรัฐสั่งปิดหมู่บ้าน แต่กลับไม่มีมาตราการการดูแล ย้ำเราต้องหวังพึ่งตนเองในการรณรงค์สร้างความเข้าใจ

มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) เปิดเผยว่า สำหรับวิกฤติการระบาดของโควิดระลอกนี้ทางรัฐบาลล้มเหลวในการบริหารจัดการอย่างสิ้นเชิง ทั้งในเรื่องการป้องกัน การหามาตรการในการดูแล อย่างเช่น สั่งปิดหมู่บ้าน แต่ไม่มีมาตรการการดูแลหลังจากนั้น ซึ่งมันต่างจากระลอกแรก สังเกตจากทีมผู้ว่าราชการจังหวัดดูมีความกระตือรือร้นมากกว่านี้ มีการเปิดพื้นที่รับฟังคำเสนอแนะจากภาคส่วนเอ็นจีโอ มาร่วมแลกเปลี่ยน ขอคำปรึกษา ขอคำชี้แนะ เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน อย่างเช่น ปรึกษากันว่าหากจะปิดมัสยิดสักช่วงหนึ่งเราต้องทำอย่างไร หรือ หากจะซื้อสินค้าการเกษตรจากชาวบ้านเพื่อมาทำอาหารให้คนที่ถูกกักตัวเราต้องทำอย่างไรบ้าง คือ เราจะมาร่วมกันวางแผน และแยกส่วนกันเดินตามบทบาทของแต่ละภาคส่วน แต่พอมาระลอกล่าสุดพวกเราแทบจะไม่เคยเจอหน้าผู้ว่าฯ ด้วยซ้ำ แผนของเขาประกาศปิดหมู่บ้าน ประกาศล็อคดาวน์อย่างเดียว แต่ไม่มีแผนรองรับหลังจากนั้น

แต่พอเขาไม่เปิดพื้นที่ทำงานร่วมกันกับภาคส่วนอื่นๆ เขาก็จะโดดเดี่ยว ยิ่งการรณรงค์ในเรื่องวัคซีน ในเรื่องการป้องกันมันต้องใ้ช้พลังงานอย่างหนัก สุดท้ายเขาก็เลยทำเพื่อผ่านๆ ไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก เพราะยังไงเขาก็อยู่ในพื้นที่แค่แป็บเดียว อีกไม่กี่เดือนก็จะมีการโยกย้ายไปอยู่ในพื้นที่อื่นต่อ ก็ตามกระแสที่เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานีที่ผ่านมาไม่นานเกี่ยวกับ "การไม่ต้อนรับผู้ว่าฯ ที่มาทำงานแค่ปีเดียว" ซึ่งดูแล้วมันก็สมเหตุสมผล

ซึ่งสำหรับพวกเราในฐานะประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ จะอย่างไรก็แล้วแต่เราก็ต้องอยู่กับโควิดให้ได้ เพราะหากเราคิดสู้ก็คงสู้มันไม่ได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราทำได้ คือ เราจะใช้ชีวิตร่วมกับมันได้อย่างไร ฉะนั้น ทุกคนต้องได้ฉีดวัคซีน พวกเราในฐานะเอ็นจีโอก็ต้องพยายามทำงานรณรงค์อย่างหนักต่อโจทย์ 2 ข้อนี้ 1) รณรงค์ให้ทุกคนฉีดวัคซีน 2) ต้องหาข้อมูลเพื่ออธิบายคุณภาพของวัคซีน เพราะประชาชนเริ่มระแวงในเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพของวัคซีนจากการเสพสื่อออนไลน์ที่มันเข้าถึงได้ง่าย

มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP)

"วันนี้เราหวังพึ่งรัฐไม่ได้แล้ว เพราะพิสูจน์แล้วว่าเขาล้มเหลวทุกกระบวนท่า ฉะนั้น สิ่งที่เราควรคิดต่อคือ เราจะจัดการตนเองอย่างไร เราจะดูแลตัวเองอย่างไร เราจะสร้างความตระหนักและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างไร" มูฮำหมัดอาลาดี กล่าว

สำหรับประเด็นความเป็นพื้นที่สีแดงของโรคระบาดโควิดกับพื้นที่พิเศษที่เรียกว่าพื้นที่สงครามนั้น บรรดาภาคประชาสังคมในพื้นที่ให้มุมมองและข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

BRN ประกาศวางอาวุธ เพื่อการทำงานของแพทย์ แต่รัฐกลับยั่วยุเพื่อเกิดการตอบโต้

อาเต็ฟ ประธาน The Patani เปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับโควิดที่เชื่อมโยงกับพื้นที่สงครามว่า เราในฐานะอยู่ในพื้นที่พิเศษ ทำให้หลายคนได้ตั้งคำถามต่อ BRN (ขบวนการปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี) ในฐานะที่เสนอตนว่าเป็นองค์กรปลดปล่อยปาตานีจากรัฐไทย ซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะตั้งคำถามต่อ BRN ได้ แต่อีกทางหนึ่งเราก็ต้อง Fair (ยุติธรรม) กับ BRN เพราะ BRN เองก็ไม่ได้มีความชอบธรรมในทางกฎหมายที่จะเข้ามาทำอะไรในพื้นที่นี้ได้ เป็นองค์กรที่ไม่ได้มีอำนาจในการจัดการบริหารพื้นที่นี้ได้ ยิ่งพูดถึงเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนมันเป็นเรื่องของรัฐระหว่างรัฐที่ต้องจัดการ

ในขณะเดียวกันก็ใช่ว่า BRN ไม่ได้ทำอะไร พวกเขาเคยเสนอวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำในเรื่องโควิดตั้งแต่ระลอกแรกด้วยการสนองข้ออ้อนวอนของเลขาธิการสหประชาชาติหยุดปฏิบัติการทางอาวุธ เพื่อเปิดทางให้การทำงานด้านการแพทย์ดำเนินไปด้วยดี แต่รัฐไทยกลับไม่สนใจต่อเรื่องนี้สักเท่าไหร่ ดูได้จากการปะทะ หรือ การยั่วยุกองกำลัง BRN ที่อยู่ในที่ตั้งเพื่อให้ออกมาตอบโต้เป็นระยะๆ ตนก็ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐไทยเช่นกัน

"แต่เรื่องแบบนี้สามารถตีความแบบที่ไม่ได้ใส่ความอคติเข้าไป ตัวอย่างเช่น การตอบโต้ของ BRN หรือ การโจมตีของรัฐไทย ด้วยตัวของมันเองไม่ได้ไปทำลายการทำงานของแพทย์ แต่มันทำลายบรรยากาศในภาวะการระบาดใหญ่ ซึ่งมันต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สิ่งอื่นทุกคนควรวาง และควรมาโฟกัสกับการจัดการเรื่องโควิด แต่ดูเหมือนรัฐไม่ได้สำนึกถึงเรื่องนี้เท่าไหร่" อาเต็ฟ เปิดเผย

โควิดชายแดนใต้เป็นพื้นที่สีแดง การก่อเหตุก็เป็นการซ้ำเติมคนในพื้นที่

รักชาติ ประธาน เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยด้านเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ว่า การแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่จะเป็นพื้นที่สีแดงทั้งหมด บ่งบอกถึงอาการที่หนักมาก แต่กลับมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการก่อเหตุจากฝ่ายไหนก็ตาม ตนมองว่าเป็นการซ้ำเติมพี่น้องประชาชนมลายูในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นคนมุสลิม หรือ พุทธ ซึ่งดั้งเดิมก็เป็นคนมลายูเช่นกัน แค่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้นเอง

ทั้งๆ ที่พรรค BRN เองเขาก็ได้ลงนามฝ่ายเดียวที่จะไม่ก่อเหตุในช่วงวิกฤติโควิด โดยเฉพาะกับเยาวชน เพื่อเปิดทางให้หน่วยงานด้านการแพทย์ทำงานได้สะดวก และจากที่ตนสังเกตเหตุการณ์การก่อเหตุของฝ่าย BRN เขาจะก่อเหตุโดยตรงกับคู่ขัดแย้งหลักที่ถืออาวุธด้วยกันเท่านั้น อีกทั้งยังมีแถลงการณ์ที่อาจารย์ชินทาโร่ ฮาร่า แปลเป็นภาษาไทยอยู่ว่า BRN ได้ขอให้ประชาชนในพื้นที่ของเขาระมัดระวังจากการแพร่ระบาดของเชื้อด้วย โดยเขาไม่ได้หมายถึงคนมุสลิมเพียงอย่างเดียว เขารวมไปถึงทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ด้วย

"แต่ในขณะเดียวกันกลับมีเหตุการปิดล้อม ตรวจค้น รวมทั้งวิสามัญโดยรัฐ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า ในกลุ่มการพูดคุยจะมีประเด็นพวกนี้อยู่ในวาระการพูดคุยหรือเปล่า เพราะคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีประเด็นเหล่านี้ในการพูดคุยด้วย ยิ่งช่วงโควิดระบาดหนักจนกลายเป็นพื้นที่สีแดงแล้วนั้น มันควรจะลดเรื่องเหล่านี้ก่อนหรือไม่ พักรบก่อนไหม แล้วมาช่วยคนที่กำลังจะแย่ต่อเรื่องโควิดอยู่ ณ ขณะนี้ก่อน" รักชาติ กล่าว

CAP ขับเคลื่อนใน 3 ประเด็น ลงพื้นที่ตามปัจเจกชน สร้างความตระหนักรู้ และเสนอโมเดลชุมชนจัดการตนเอง

มูฮำหมัดอาลาดี ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ เปิดเผยถึงบทบาทการทำงานเอ็นจีโอในพื้นที่ทั้ง 3 ระลอกว่า เอ็นจีโอในพื้นที่จะมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่ระลอกแรกมีการออกสื่อถี่มากกว่าเลยเห็นภาพการทำงานของเอ็นจีโอได้ชัด ในระลอกนั้นเราลงพื้นที่มากกว่าร้อยชุมชนอย่างต่อเนื่อง เราแบ่งหน้าที่กับทีมสมาคมจันเสี้ยวฯ ให้เขาทำงานประสานงานในระดับนโยบายกับหน่วยงานรัฐ หน่วยงานด้านศาสนา ส่วน CAP จะรับหน้าที่ลงชุมชนตามพื้นที่ต่างๆ ในระลอกนั่นความหนักของมันไม่ได้สาหัสเท่ากับระลอกล่าสุด

แต่พอมาระลอกนี้เราจะลงพื้นที่เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว เพราะทุกพื้นที่เป็นพื้นที่เสี่ยงหมด ทุกพื้นที่ระบาดหมด เราเลยเปลี่ยนนโยบายใหม่ว่า "ใครอยู่ในพื้นที่ไหนก็ให้ทำงานในพื้นที่นั้น" ก็เป็นการแยกกันเดินตามภูมิลำเนาของปัจเจกชน มันเลยไม่เห็นภาพบทบาทเหล่านี้เหมือนระลอกแรก

ประเด็นที่สองที่ CAP ขับเคลื่อนอยู่ตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงวันนี้ คือ งานประชาสัมพันธ์ งานรณรงค์ งานให้ความรู้ งานสร้างเคมเปญ และงานสร้างความตระหนัก ตรงนี้ CAP จะให้องค์กรฐานทุกองค์กรขับเคลื่อนตามประเด็นต่างๆ ที่คาบเกี่ยวกับโควิด ผ่านการจัดวงเสวนาไลฟ์สด โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนั้นๆ

ประเด็นสุดท้าย มูฮำหมัดอาลาดี กล่าวว่าคือ พยายามพลักดันสร้างชุมชนจัดการตนเองโดยการนำเสนอโมเดล เช่น หากต้อง Home Isolation หรือ แยกกักตัวที่บ้านจะต้องทำอย่างไร หรือ แม้แต่โมเดลการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนตาดีกาแต่ละชุมชน (โรงเรียนสอนศาสนาในระดับประถมศึกษา) ตามรูปแบบใหม่ หรือ New Normal จะต้องทำอย่างไร หรือแม้กระทั่งโมเดลการใช้ชีวิตในรูปแบบก็ตาม เราจะมีโมเดลเสนอไป

The Patani ร่อนหนังสือให้ทุกฝ่าย หวังให้จัดการโควิดได้สำเร็จ

อาเต็ฟ เปิดเผยในสิ่งที่ The Patani ได้ทำให้สังคมปาตานีทั้งระลอกแรกและระลอกใหม่ว่า "ระลอกแรกเราทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย ทุกองค์กร ทั้งองค์กรด้านการแพทย์และองค์ภาคประสังคม แต่สิ่งที่ The Patani ทำเต็มที่ที่สุด คือ การเยียวยา การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้ที่เดือดร้อนจากโควิดทั้งผู้ที่ติดเชื้อและหมู่บ้านที่ถูกสั่งปิด เราจะคอยกระจายปัจจัยในการมีชีวิตอยู่ต่อไป เช่น ถุงยังชีพ เงินจำนวนเล็กน้อย เพื่อที่จะทำให้ครอบครัสหนึ่งสามารถอยู่ในภาวะที่ต้อง Quarantine ตัวเอง อีกทั้งยังคอยอำนวยให้ความช่วยเหลือคนปาตานีที่ติดอยู่ในประเทศมาเลเซียด้วย

ส่วนระลอกล่าสุด (เมษายน 2564) มันอยู่เหนือความสามารถของ The Patani จริงๆ ทั้งภูมิภาคปาตานีและสังคมไทยโดยรวมสาหัสอย่างรุนแรง เราเลยสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ แต่หน้าที่เราก็แค่ช่วยประสานหน่วยงานที่ควรรับผิดชอบ รวมทั้งคอยติดตามการช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด และทำอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่ทำงานหลักในประเด็นนี้ คือศูนย์เพื่อการเข้าถึงองค์กรและบริการสาธารณะ

เราตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจโควิด ซึ่งหน้าที่หลัก คือ จะทำอย่างไรให้คนปาตานีได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ เราตั้งคณะทำงานรณรงค์ โดยให้เลขาธิการ The Patani ทั้ง 8 ภูมิภาค สื่อสารกับสมาชิกและเครือข่ายเพื่อประเมินกลุ่มคนที่มีโอกาสต่อต้าน หรือ ทำให้คนในสังคมปาตานีไม่กล้าที่จะรับวัคซีน เราเข้าไปทำความเข้าใจด้านทัศนคติ มีสำเร็จบ้าง และมีปัญหาบ้าง

ส่วนในระดับนโยบาย เราได้ส่งหนังสือฉบับแรกไปยังรัฐบาลไทย สื่อสารให้เขาเปิดรับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะในภาวะวิกฤตแบบนี้ เพราะคสปาตานีมีทัศนคติที่เป็นลบต่อรัฐไทย มีความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจต่อรัฐไทยเป็นอย่างสูง เลยขอให้รัฐไทยเปิดทางใช้กลไกที่คนปาตานีให้ความน่าเชื่อถืออย่างดึงองค์กรระหว่างประเทศในพื้นที่ เช่น ICRC (คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ) หรือ หมอไร้พรมแดน ในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการกระจายเรื่องการฉีดวัคซีนโดยเทียบเคียงให้เหมือนกับการแพทย์พื้นที่สงครามอื่นๆ  หากเป้าหมายหลักของรัฐ คือ การให้คนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเพื่อให้เกิดการคุ้มกันหมู่ การยอมให้เกิดภารกิจแบบนี้ ถือว่าเป็นการช่วย ปกป้องสังคมไทยโดยรวม ไม่เฉพาะสังคมปาตานี

ฉบับที่สอง เราเขียนหนังสือถึงพรรค BRN โดยมีเหตุผลหลักให้ BRN ชี้นำคนปาตานีให้มีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องการรับวัคซีน เราเข้าใจพัฒนาการของการพูดคุยกับรัฐไทยมันไม่ได้มีความก้าวหน้า แต่ในเรื่องวัคซีน หรือ เรื่องมนุษยธรรมเราอยากให้ BRN พยายามหาจุดร่วมกับรัฐบาลไทยให้มากที่สุด

ฉบับที่สาม เรามองว่าตัวของรัฐไทยก็เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ การทำให้องค์กรเหล่านี้เข้ามาให้คำแนะนำต่อรัฐไทยเป็นสิ่งที่ดี รวมทั่งให้เขาบอกถึงความต้องการของเราต่อรัฐไทยว่าตัววัคซีนที่ดีควรเป็นอย่างไร พื้นที่ปาตานีเป็นพื้นที่ด่านหน้าก่อนเข้าประเทศไทย การแพร่เชื้อสายพันธุ์ต่างๆ ก็เสี่ยงที่จะเข้ามายังสังคมไทยโยรวม

ฉบับที่สี่ เราได้ส่งหนังสือไปถึงองค์กร ICRC เพื่อให้เขารับรู้ว่าเราได้ส่งหนังสือให้รัฐไทยและ BRN เล่าให้เขาทราบถึงผลกระทบของผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่ปรากฏว่ายอดผู้ติดเชื้อในเรือนจำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เรากังวลว่าพวกเขาจะไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม และให้เขารับรู้ว่ากลไกแบบ ICRC นั้นมีความสำคัญอย่างไร

ฉบับสุดท้าย เราส่งไปให้รัฐบาลมาเลเซีย ประเด็นที่มีคนปาตานีไม่ได้เป็นผู้ที่มีสถานะทางกฎหมายในมาเลเซีย โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่อยู่ในประเทศมาเลเซียค่อนข้างมาก ซึ่งเรากังวลว่าพวกเขาจะไม่ได้รับการดูแลในเรื่องการรับมือกับโควิดพร้อมอ้อนวอนให้รัฐบาลมาเลเซียดูแลพวกเขาด้วย

 ประธาน The Patani กล่าวต่อว่าหลังจากนั้น  ได้ทำรายงานสรุปเหตุการณ์เพื่อส่งให้นักการฑูต ส่งให้สื่อสารมวลชน เพื่อให้เขารับรู้ถึงความเป็นไปของที่นี่โดยเขียนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย เหตุที่เราเขียนสองภาษาก็เพราะเรามองว่า เป็นเรื่องที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับรู้ไม่เพียงพอ ถ้าทุกคนรับรู้ถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นมันจะเป็นแรงเกื้อหนุนที่ดีในการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเราทำไปแล้ว 4 ฉบับ และจะมีฉบับที่ 5 ในเร็วๆ นี้" อาเต็ฟ กล่าว

"ความจริงแล้วเรื่องทั้งหมดนี้เราไม่ได้ต้องการให้ใครรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของเรา เพราะเราอยากให้ได้ผลสำเร็จ ไม่อยากให้มันกลายเป็นประเด็นการเมือง แต่ตอนนี้มันผ่านช่วงระยะที่เราต้องการสิ่งนั้นแล้ว" อาเต็ฟ กล่าวทิ้งท้าย

จันทร์เสี้ยว ทำงานประสาน ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านการแพทย์ให้กับองค์กรด้านศาสนา

นพ.กิ๊ฟลัน เปิดเผยถึงบทบาทของสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขต่อประเด็นโควิดที่ผ่านมาว่า ระลอกแรกเราร่วมทำงานกันหนักมาก ช่วยในเรื่องการประสานงาน การประชาสัมพันธ์ให้องค์ความรู้เพื่อความตระหนักของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อสังคม เพราะช่วงเวลานั้นภาครัฐยังไม่ได้มีมาตรการอะไร พอมาระลอกล่าสุดเหมือนภาครัฐเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น คนก็เริ่มรู้มากขึ้น บทบาทของจันทร์เสี้ยวเลยเริ่มน้อยลง แต่ก็ยังประชาสัมพันธ์ให้ความรู้อย่างต่อเนื่องตามสื่อต่างๆ

"ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลักตอนนี้ จันทร์เสี้ยวรับบทบาทเป็นที่ปรึกษาให้องค์กรด้านศาสนา โดยเฉพาะสำนักจุฬาราชมนตรีและสำนักคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่างๆ คือ ทีมหมอจากสมาคมจันทร์เสี้ยวจะเป็นคนให้ความเห็นในประเด็นทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับโควิด ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็เป็นเรื่องย่อยๆ ไป เช่น การจัดการมัยยิต (การจัดการศพตามหลักศาสนา) หรือแม้กระทั้งการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป" นพ.กิ๊ฟลัน กล่าว

เครือข่ายชาวพุทธเน้นทำงานร่วม ลงพื้นที่แจกถุงยังชีพ ช่วยทั้งพุทธและมุสลิม

รักชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในประเด็นการให้ความช่วยเหลือช่วงการระบาดของโควิดระลอกแรกและระลอกที่สองทางเจ้าอาวาส วัดตานีสโมสร ก็ช่วยในเรื่องการแจกอาหารให้พี่น้องกลุ่มพุทธ และมุสลิม เปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนพืชผัก ของกิน แต่พอระลอกที่สาม สถานการณ์มันหนักขึ้น แต่ละคนก็ต้องกลับไปดูแลตัวเอง การรวมกลุ่มก็ต้องหลวมๆ กันไป  แต่สำหรับเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้จะทำงานเป็นเครือข่ายมากกว่า เช่น ลงพื้นที่ร่วมกับสมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดยะลา เพื่อนำถุงยังชีพไปแจก หลายองค์กรจะทำเรื่องครัวปั่นสุข ทำอาหารช่วยเหลือชาวบ้าน หรือ แม้แต่เป็นคณะประสานงานในระดับพื้นที่ หรือ สล.3 ซึ่งบทบาทเหล่านี้ในเชิงปฏิบัติกันจริง เราจะช่วยทั้งคนไทยพุทธและคนมุสลิมในกรณีที่เป็นหมู่บ้านที่มีผู้อาศัยอยู่ทั้ง 2 ศาสนา ก็คล้ายๆ กลุ่มองค์กรมุสลิมเขาก็ช่วยกันทุกคนทั้งพุทธและมุสลิมเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท