การล่วงละเมิดทางเพศที่ 'อาลีบาบา' ภาพสะท้อนปัญหาที่ฝังรากลึกในจีน

การล่วงละเมิดทางเพศที่ 'อาลีบาบา' ภาพสะท้อนปัญหาที่ฝังรากลึกในจีน ที่บริษัทต่าง ๆ มักจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงหลังจากกรณีล่วงละเมิดทางเพศถูกเปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว ทั้งที่ควรสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ปกป้องคนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพไว้เนิ่น ๆ เสียก่อน


การล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในทุกภาคส่วนและทุกอาชีพในประเทศจีน ตั้งแต่อุตสาหกรรมไฮเทคไปจนถึงโรงงาน สถาบันการศึกษา สื่อ หรือแม้กระทั่งภาคประชาสังคม | ที่มาภาพประกอบ: mohamed_hassan (Pixabay License)

แม้ 'อาลีบาบา' (Alibaba) ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงนโยบายการล่วงละเมิดทางเพศ หลังจากพนักงานหญิงรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความลงบนอินทราเน็ตของบริษัท ว่าเธอถูกผู้จัดการข่มขืนระหว่างเดินทางไปติดต่อธุรกิจ ส่งผลให้เกิดการโต้กลับอย่างรุนแรงต่อบริษัทบนโซเชียลมีเดีย ต่อมาอาลีบาบาได้เลิกจ้างผู้จัดการที่ถูกกล่าวหา และหัวหน้างานอีก 2 คน ที่เพิกเฉยต่อกรณีที่เกิดขึ้นลาออกแล้ว เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา

ผู้บริการของอาลีบาบาระบุในจดหมายชี้แจงผลการสอบสวนภายในของบริษัทต่อพนักงาน ระบุว่าผู้จัดการคนดังกล่าวยอมรับสารภาพว่าก่อเหตุจริง ในระหว่างที่พนักงานหญิงอยู่ในอาการเมาสุราที่โรงแรม ผู้เสียหายเล่าว่าผู้จัดการรายนี้พยายามบีบให้ตนเดินทางไปเป็นเพื่อนในการพบปะลูกค้าต่างเมือง ทั้งยังสั่งให้ตนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเหตุเกิดตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค. 2564

หลังเดินทางกลับมายังสำนักงานใหญ่ เธอได้นำเรื่องดังกล่าวเข้ารายงานกับฝ่ายบุคคลและหัวหน้างาน พร้อมขอให้ฝ่ายบุคคลเลิกจ้างผู้จัดการที่ก่อเหตุขึ้น โดยช่วงแรกฝ่ายบุคคลตกลงตามที่ตนขอไว้ แต่เรื่องก็เงียบไปไม่มีความคืบหน้า เธอจึงได้โพสต์ข้อความลงบนอินทราเน็ตของบริษัท

ในการชี้แจงของอาลีบาบา ระบุว่าในกรณีนี้กระบวนการที่เกิดขึ้นของฝ่ายบุคคลนั้นไม่ได้ให้ความใส่ใจต่อพนักงานอย่างเพียงพอรวมทั้งทีมรับมือเหตุฉุกเฉินนั้นไม่ได้มีส่วนร่วม ส่งผลให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาดอย่างร้ายแรง

นักกิจกรรมจีนสู้กับการเซนเซอร์ของรัฐบาล เพื่อให้ได้พูดเรื่อง #MeToo แบบที่อื่น

 

ปัญหาที่ฝังรากลึก

ในปี 2561 มีการเปิดเผยแบบสอบถามพนักงานหญิงจีนที่ทำงานในเมืองใหญ่ พบว่า 87 คน จากทั้งหมด 106 คน ระบุว่ามีประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานเองโดยตร
ในปี 2561 มีการเปิดเผยแบบสอบถามพนักงานหญิงจีนที่ทำงานในเมืองใหญ่ พบว่า 87 คน จากทั้งหมด 106 คน ระบุว่ามีประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานเองโดยตรง | ที่มาภาพประกอบ: 搜狐

สื่อ China Labour Bulletin (CLB) ที่เกาะติดประเด็นแรงงานในจีน ระบุว่ากรณีนี้ได้กลายเป็นหัวข้อข่าวไปทั่วโลกเนื่องจากชื่อเสียงของบริษัทอาลีบาบา แต่การล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในทุกภาคส่วนและทุกอาชีพในประเทศจีน ตั้งแต่อุตสาหกรรมไฮเทคไปจนถึงโรงงาน สถาบันการศึกษา สื่อ หรือแม้กระทั่งภาคประชาสังคม

ส่วนใหญ่บริษัทต่าง ๆ ในจีนมักจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงหลังจากกรณีการล่วงละเมิดทางเพศถูกเปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว ทั้งที่ควรสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ปกป้องคนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพไว้เนิ่น ๆ เสียก่อน

การตอบสนองของบริษัทในจีนต่อข้อกล่าวหาเรื่องการล่วงละเมิดนั้น ส่วนใหญ่เน้นไปที่การนิ่งเฉยและการกล่าวโทษเหยื่อมากกว่าที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ตัวอย่างเช่นในปี 2561 ขับรถแท็กซี่ Didi ได้ก่อเหตุข่มขืนและฆ่าผู้โดยสารหญิงก่อนนำศพโยนทิ้งหน้าผา เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจและวิพากษ์วิจารณ์บริษัท Didi จนทำให้บริษัทต้องปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับความปลอดภัย

สถาบันวิจัยเรื่องเพศและเพศของมหาวิทยาลัยเหรินหมินแห่งประเทศจีนได้ทำการสุ่มตัวอย่างสี่สุ่มตัวอย่างในหมู่ประชากรในประเทศในปี 2543, 2549, 2553 และ 2558 ตามลำดับ จากสถิติพบว่าสัดส่วนของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอยู่ที่ร้อยละ 21.2, 35.1, 29.9 และ 22.5 ตามลำดับ

ในปี 2561 มีการเปิดเผยแบบสอบถามพนักงานหญิงจีนที่ทำงานในเมืองใหญ่ พบว่า 87 คน จากทั้งหมด 106 คน ของผู้ตอบแบบสอบถามมีประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานเองโดยตรง, 40 คน เคยได้ยินเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนพูดถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่ถูกล่วงละเมิด, เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือการถูกล่วงละเมิดโดยผู้บังคับบัญชา

ในที่ทำงานความเหลื่อมล้ำทางเพศมีความรุนแรงขึ้น ตามรายงานช่องว่างระหว่างเพศทั่วโลกปี 2564 (Global Gender Gap Report 2021) จีนอยู่ในอันดับที่ 132 จาก 156 ประเทศ ผู้หญิงคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 16.8 ของสมาชิกสภานิติบัญญัติ เจ้าหน้าที่อาวุโส และผู้บริหารในประเทศจีน มีบริษัทเพียงร้อยละ 17.5 เท่านั้นที่มีผู้จัดการอาวุโสที่เป็นผู้หญิง เนื่องจากผู้ชายมักดำรงตำแหน่งผู้บริหารและผู้หญิงมักจะมีบทบาทสนับสนุนเท่านั้น ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อจึงต้องเผชิญกับอุปสรรคเมื่อขอความช่วยเหลือ 

กรณีที่อาลีบาบาแสดงให้เห็นความพยายามที่จะแสวงหาความยุติธรรมภายในองค์กรธุรกิจจีนนั้น มักจะถูกขัดขวางและมีความล่าช้าเป็นอย่างยิ่ง

ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา จีนได้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิสตรี โดยมีมาตราที่ว่า "นายจ้างควรใช้มาตรการเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน" รวมอยู่ด้วย แต่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ มีความเห็นว่า "คำถามเช่นว่าการล่วงละเมิดทางเพศจำกัดในสถานที่ทำงานหรือไม่ และมาตรการป้องกันใดที่นายจ้างควรนำมาใช้นั้นค่อนข้างซับซ้อนและจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม" ท้ายสุดมาตรานี้ก็ถูกตัดออกไปจากกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิสตรี ต่อมาในปี 2563 มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งฉบับแก้ไข ที่ได้รวมความผิดเกี่ยวกับ "การล่วงละเมิดทางเพศ" ไว้ด้วย

ทั้งนี้การล่วงละเมิดทางเพศอาจเป็นอาชญากรรมของการข่มขืนหรือการใช้กำลังอนาจารและการดูถูก ซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายอาญาของจีน อย่างไรก็ตาม การล่วงละเมิดทางเพศไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนภายใต้กฎหมายจีน กรณีทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ ได้แก่ พฤติกรรมที่มีความหมายทางเพศ ความประพฤติที่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกรังเกียจและ/หรือรู้สึกไม่สบายใจทางจิตใจ หรือการกระทำที่นอกเหนือไปจากการเกี้ยวพาราสีที่ยอมรับกันโดยทั่วไประหว่างชายและหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน

CLB ยังระบุว่ากฎหมายคุ้มครองคนทำงานหญิงในประเทศจีนนั้นมักจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ โดยเฉพาะประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานด้วยเช่นกัน ถึงแม้เหยื่อจะสามารถชนะคดีความ แต่กลับพบว่าบทลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นเบามาก ตัวอย่างคำตัดสินของศาลในเมืองเฉิงตูเมื่อปี 2563 ศาลตัดสินให้ผู้จัดการที่มีความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศขอโทษเหยื่อของเขาเพียงเท่านั้น

ที่มาเรียบเรียงจาก
Alibaba to sack manager accused of rape, according to memo seen by BBC (Peter Hoskins, BBC, 9 August 2021)
Alibaba employee's stand shows failure of corporate anti-harassment policies (China Labour Bulletin, 12 August 2021)
"การล่วงละเมิดทางเพศ" ในกฎหมายของจีน (กั่วตงดู 杜国栋, China Justice Observer, 11 July 2021)
ศาลจีนระบุสถานที่ทำงานล่วงละเมิดทางเพศได้อย่างไร? (เมิ่งหยู่ 余萌, China Justice Observer, 15 August 2021)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท