Skip to main content
sharethis

ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 20,571 ราย ป่วยสะสม 1,030,281 ราย รักษาหาย 23,159 ราย หายสะสม 818,964 ราย เสียชีวิต 261 ราย เสียชีวิตสะสม 9,087 ราย - กรมอนามัย แนะผู้สูงอายุคุมเข้มสูงสุด เลี่ยงออกจากบ้าน สวมหน้ากาก ไม่กินอาหารร่วมกัน

21 ส.ค. 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยรวม 20,571 คน จำแนกเป็นติดเชื้อใหม่ 20,336 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ-ที่ต้องขัง 235 คน หายป่วยกลับบ้านเพิ่ม 23,159 คน และเสียชีวิตอีก 261 คน

ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสมระลอกเดือน เม.ย.2564 จำนวน 1,001,418 คน หายป่วยสะสม 791,538 คน และเสียชีวิตสะสม 8,993 คน

สำหรับสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลก เว็บไซต์ worldometers รายงานยอดผู้ติดเชื้อ เมื่อเวลา 08.30 น. มีจำนวน 211,502,805 คน หายป่วยแล้ว 189,255,438 คน และเสียชีวิต 4,426,531 คน

ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกยังเป็น สหรัฐอเมริกา ติดเชื้อสะสม 38,398,596 คน รองลงมา อินเดีย 32,392,506 คน และบราซิล 20,528,099 คน

กรมอนามัย แนะผู้สูงอายุคุมเข้มสูงสุด เลี่ยงออกจากบ้าน สวมหน้ากาก ไม่กินอาหารร่วมกัน

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายในช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เนื่องจากส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว และมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำ หากติดเชื้อแล้วอาจทำให้มีอาการอย่างรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 20 สิงหาคม 2564 พบผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุติดเชื้อรวม จำนวน 79,700 ราย จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด จำนวน 980,847 คน คิดเป็นร้อยละ 8.13 โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวที่ต้องไปรับยาที่โรงพยาบาล มีโอกาสออกจากบ้านไปสัมผัสผู้ติดเชื้อได้ รวมทั้งผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม ที่ยังไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้ จะมีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อได้เช่นกัน ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อจากผู้ดูแล หรือบุคคลในครอบครัวได้ นอกจากนี้ ยังพบผู้สูงอายุเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จำนวน 5,604 คน ส่วนมากมีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โดยพบอัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุค่อนข้างสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การปฏิบัติตัวของผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันโควิด-19 ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นสูงสุดครอบจักรวาล (Universal Prevention) ดังนี้1) ยึดหลัก DMHTT คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ตรวจวัดอุณหภูมิ และตรวจเชื้อโควิด-19 2) ควรรับวัคซีน เพื่อลดการเจ็บป่วยรุนแรงและอัตราการเสียชีวิต 3) ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น และบุคคลในครอบครัว 4) หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน 5) หากเป็นไปได้ควรแยกห้องพักและของใช้ส่วนตัว 6) กรณีมีโรคประจำตัว และอาการคงที่ ให้ติดต่อโรงพยาบาลประจำเพื่อขอรับยาทางไปรษณีย์ หรือหากมียาพอให้เลื่อนนัดออกไปก่อน 7) ส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรงสม่ำเสมอ โดยรับประทานอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ มีกิจกรรมทางกายสม่ำเสมอ ดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน หลีกเลี่ยงการรับข่าวสารที่มากเกินไป พักผ่อนให้เพียงพอ

“ทั้งนี้ สำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุต้องดูแลสุขภาพตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากสงสัยว่าป่วย ให้สับเปลี่ยนผู้ดูแล และเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด หรือตรวจด้วยชุดตรวจ ATK เพื่อเป็นการคัดกรองเบื้องต้น และสำหรับญาติที่ไม่ใช่ผู้ดูแล ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้สูงอายุ ให้เปลี่ยนเป็นการเยี่ยมผู้สูงอายุผ่านสื่อออนไลน์แทน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

สธ. เผยสถิติผู้ไม่ฉีดวัคซีน-ฉีดไม่ครบ เสียชีวิตสูงกว่าผู้ฉีดวัคซีนครบ 30 เท่า

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยมีปัจจัยหลักจากเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตรอบโลกยังคงที่ สะท้อนจากประเทศอินเดีย บราซิล รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ ที่แม้มีการติดเชื้อเกิน 2,000 รายต่อวัน แต่เนื่องจากมีการปูพรมวัคซีนได้มาก จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตไม่สูง

สำหรับประเทศไทยวันนี้ (21 ส.ค.) มีผู้ติดเชื้อใหม่ 20,571 ราย และเสียชีวิต 261 ราย ส่วนหนึ่งเป็นผู้เสียชีวิตที่เพิ่งเสียชีวิตกับที่ตกค้างมารวมด้วย เฉลี่ยตกวันละ 20,000 ราย เฉพาะ กทม. และ ปริมณฑล ประมาณวันละกว่า 8,000 คน หรือคิดเป็น 72% ที่เหลือเป็นตัวเลขจากต่างจังหวัด ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์

อย่างไรก็ดี จากผลการศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนโดยกรมควบคุมโรค กรณีซิโนแวค 2 เข็ม ที่มีการประเมินทุกเดือนตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค. พบว่าซิโนแวคกันการป่วยหนักและเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 72% ถือว่ายังมีประสิทธิภาพสูง

ส่วนกรณีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า ป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ประมาณ 70-80% สำหรับข้อมูลในประเทศไทยมีอัตราลดการป่วยหนักและเสียชีวิต แบ่งตามเดือนได้ดังนี้ พ.ค. 84% มิ.ย. 93% และ ก.ค. 85% หรือกล่าวได้ว่าสามารถป้องกันได้สูงถึง 80-90% แต่หากฉีดเข็มที่ 2 จะได้ประโยชน์สูงกว่านี้อีกมาก

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศิริราชพยาบาล ที่ศึกษาระดับภูมิคุ้มกันการฉีดวัคซีนที่มีต่อสายพันธุ์เดลต้า สำหรับการฉีดวัคซีนซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ซิโนแวค+ซิโนแวค, แอสตร้าฯ+แอสตร้าฯ หรือสูตรไขว้วัคซีน ซิโนแวค+แอสตร้าฯ

และเมื่อดูข้อมูลประสิทธิผลการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต จะเห็นว่าคนที่ป่วยหนักและเสียชีวิตที่ได้วัคซีนครบสองเข็มมี 26 ราย เมื่อคิดอัตราการเสียชีวิตต่อคนฉีดวัคซีน 100 คน อยู่ที่ 4.4 ต่อล้านคน ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับคนไม่ได้ฉีดวัคซีนและเสียชีวิต ซึ่งเป็นกลุ่มส่วนใหญ่ขณะนี้

โดยกลุ่มไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบ หรือยังฉีดไม่ถึง 14 วัน ซึ่งภูมิคุ้มกันยังไม่ขึ้น จะมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 140 ต่อล้านคน ต่างกันประมาณ 30 เท่า

“ขอเชิญชวนกลุ่มเสี่ยงเป้าหมาย โดยเฉพาะสูงวัย ผู้ป่วยเรื้อรัง ให้เร่งเข้ารับการฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นสูตรใดก็ตาม แต่ สธ. ขอแนะนำสูตรซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าฯ ภูมิจะขึ้นสูงและเร็วมาก” นพ.โสภณ กล่าวทิ้งท้าย


ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS | สำนักข่าวไทย | ประชาชาติธุรกิจ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net